|
ความเสี่ยงไทยในสายตาของบริษัทจัดอันดับเครดิต
โดย
อนุสรณ์ ธรรมใจ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้นว่า มูดี้ส์ และ เอสแอนด์พี สองบริษัทจัดอันดับเครดิตระดับโลกจะยังไม่ปรับอันดับเครดิตประเทศไทย และ ยังคงมองว่ายังมีเสถียรภาพ แต่เอสแอนด์พี ระบุว่า เหตุลอบวางระเบิด กทม ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความน่าเชื่อถือของไทยแต่การเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ต่างๆจะพัฒนาไปอย่างไรอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
หากพิจารณาดูอันดับเครดิตของไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย เห็นได้ชัดว่า ก็ไม่ได้มีอันดับดีนัก อยู่ในอันดับดีกว่าฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย เท่านั้นเอง เหตุระเบิดใน กทม บวกเข้ากับ หลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นมาตรการควบคุมเงินทุนกันสำรอง ๓๐% การส่งสัญญาณเหมือนกับว่าไม่ค่อยอยากจะต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ หรือดูเหมือนกับว่าจะเปิดประเทศน้อยลง ตลอดจน การแก้ไขกฏหมายธุรกิจต่างด้าว
ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนทั้งสิ้น และ ทำให้ ไทย ไม่น่าดึงดูดในสายตานักลงทุนต่างประเทศ เมื่อการลงทุนถดถอยลงมากย่อมทำให้ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่พอไปได้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป
ระดับความเสี่ยงของประเทศอาจจะเพิ่มขึ้นมาพร้อมกับความน่าเชื่อถือที่อาจจะลงไปอยู่ระดับเดียวกับอินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ แทนที่จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับมาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ หรือ จีน
พันธบัตรระยะยาวสกุลต่างประเทศ Moody และ S & P
ประเทศ อันดับเครดิตMoody แนวโน้ม อันดับเครดิตS&P แนวโน้ม
ไทย Baa1 มีเสถียรภาพ BBB+ มีเสถียรภาพ
จีน A2 เชิงบวก A มีเสถียรภาพ
ฮ่องกง A1 เชิงบวกพร้อมปรับอันดับ AA มีเสถียรภาพ
อินเดีย Baa3 มีเสถียรภาพ BB+ เชิงบวก
อินโดนีเซีย B1 มีเสถียรภาพ BB- มีเสถียรภาพ
เกาหลี A3 เชิงบวก A มีเสถียรภาพ
มาเลเซีย A3 มีเสถียรภาพ A- มีเสถียรภาพ
ฟิลิปปินส์ B1 เชิงลบ BB- มีเสถียรภาพ
สถานการณ์หลังรัฐประหาร ภาพความเสี่ยงโดยรวมของประเทศดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองและปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ในส่วนปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจนั้น เราเผชิญกับปัญหาการชะลอทั้งการบริโภค การลงทุนและการส่งออก ขณะที่ยังพอมีปัจจัยบวกอยู่บ้างในเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และ สัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าราคาน้ำมันอาจจะไม่ปรับตัวสูงเหมือนปีที่แล้ว
ช่วงต้นสัปดาห์มีความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนหลายกลุ่ม ตั้งแต่ กกร จัดประชุมประเมินสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีการประชุมของโปรกเกอร์ต่างประเทศกับสภาตลาดทุนไทยและตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเน้นหนักเรื่องมาตรการควบคุมเงินทุนโดยมีการเสนอให้ทบทวนและยกเลิก
ขณะที่มีการแถลงจุดยืนของกลุ่มหอการค้าต่างชาติและผู้แทนของสถานฑูตต่างๆคัดค้านไม่เห็นด้วยกับคำนิยามใหม่ของบริษัทธุรกิจต่างด้าว
หากพิจารณาปัจจัยเสี่ยงของประเทศในสายตาของบริษัทจัดอันดับเครดิตสามารถแบ่งองค์ประกอบได้เป็นสามองค์ประกอบใหญ่ เริ่มตั้งแต่ องค์ประกอบแรก คือ ปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง อันเป็นปัจจัยที่เป็นปัญหาต่อไทยในวันนี้ เขาจะเริ่มพิจารณาตั้งแต่ เสถียรภาพของรัฐบาล (Government stability) ตามด้วย ระดับการคอร์รัปชัน (Corruption) การแทรกแซงทหารในทางการเมือง (Military in Politics) รวมถึงความน่าเชื่อถือทางประชาธิปไตย ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา ความเป็นนิติรัฐ (Rule of Law) ความขัดแย้งทางการเมืองกับต่างประเทศ เป็นต้น
องค์ประกอบที่สอง คือ ความเสี่ยงทางการเงิน ปัจจัยเสี่ยงนี้จะเน้นดูศักยภาพในการชำระหนี้ของประเทศเป็นสำคัญเริ่มต้นตั้งแต่ หนี้ต่างประเทศเทียบกับจีดีพี สัดส่วนหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดเทียบกับจีดีพี สภาพคล่องสุทธิทางการเงินเทียบกับยอดมูลค่าการนำเข้า เสถียรภาพค่าเงิน เป็นต้น
องค์ประกอบที่สาม ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ก็จะมีการพิจารณา อัตราเงินเฟ้อดัชนีตัวนี้จะช่วยวัดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริง รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชาชน อัตราการเติบโตของการลงทุนและการบริโภค เป็นต้น
หากประเมินโดยภาพรวมทั้งปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง เศรษฐกิจ และการเงินสามารถสรุปได้ว่า ระดับความเสี่ยงของประเทศเพิ่มขึ้น หากเพิ่มมากถึงจุดหนึ่งบริษัทจัดอันดับเครดิตก็อาจจะปรับลดอันดับเครดิต จะเป็นซ้ำเติมต่อปัญหาของประเทศ
ฉะนั้น สิ่งที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาชน ต้องทำตอนนี้ คือ การสมานฉันท์เพื่อดูแลประเทศให้ผ่านพ้นความยากลำบากไปให้ได้ ครับ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|