แบงก์ตุนบาทดันสภาพคล่องตึง ธาริษาชี้แค่ระยะสั้นธปท.คุมได้


ผู้จัดการรายวัน(11 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติปัดมาตรการ 30% ทำสภาพคล่องตึงตัว เผยแบงก์สำรองเงินไว้เพื่อรองรับการเปลี่ยนดอกเบี้ยนโยบายจากอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตร 14 วันเป็น 1 วันและการเปลี่ยนการกันสำรองรายปักษ์ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 17ม.ค.นี้ ทำแบงก์ต้องสำรองเงินเตรียมไว้ "ธาริษา" แจงกฎหมายต่างด้าวเข้มไม่กระทบแบงก์ไทย

กรณีที่ค่าเงินบาทในขณะนี้ยังไม่อ่อนค่าเท่าที่ควรจะเป็นหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการกันสำรองเงินนำเข้า 30% วานนี้ (10 ม.ค.) นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า ยังไม่ผิดปกติ ดังนั้นที่ตั้งข้อสังเกตกันว่าค่าบาทไม่อ่อนค่าเกิดจากตลาดเงินบาทต่างประเทศแยกจากตลาดเงินบาทในประเทศ เพราะตลาดนอกประเทศเล็กและมีเงินบาทน้อย แม้ค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศแข็งแต่ก็ไม่สามารถชี้นำตลาดในต่างประเทศที่ใหญ่กว่ามากได้

ส่วนสภาพคล่องในตลาดเงินตึงตัวในขณะนี้ นางธาริษากล่าวว่า เป็นเรื่องการตึงตัวชั่วคราว เพราะธนาคารพาณิชย์เตรียมสำรองเงินไว้เพื่อดูผลที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.จากอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร 14 วันเป็น 1 วัน และมีการปรับปักษ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องให้สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 17 ม.ค.ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่ไม่ได้หมายความว่าธนาคารพาณิชย์หรือต่างชาติจะหาเงินบาทไม่ได้ เพราะ ธปท.มีหน้าที่จะต้องดูแลสภาพคล่องทุกวันให้เหมาะสมกับความต้องการอยู่แล้ว ทั้งนี้ สภาพคล่องเงินบาทไม่ได้ตึงตัวทุกวัน แต่มีบางช่วงบางและบางธนาคารเท่านั้น หากมีธนาคารตึง ก็จะมีธนาคารที่มีสภาพคล่องล้น ขึ้นกับการกู้ยืมระหว่างกัน

"ขณะนี้หากจะถามว่าสภาพคล่องในตลาดเงินบาทตึงตัวหรือไม่นั้นจะต้องดูด้วยว่าพิจารณาว่านักบริหารเงินคิดสภาพคล่องจากตัวไหนบ้าง เหมือนกับ ธปท.หรือไม่ เพราะการคิดสภาพคล่องนั้นคิดได้หลายแบบ สภาพคล่องที่ตึงตัวไม่ได้เกิดขึ้นจากมาตรการการกันสำรอง30%"

นอกจากนี้ คงไม่เกิดจากการเตรียมเงินไว้สำหรับมาตรการบัญชีใหม่ไอเอเอส 39 หรือบาเซิล 2 เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่น่าที่จะเตรียมเงินสำรองไว้จำนวนมากก่อนเป็นเวลานาน เพราะมาตรฐานบัญชีดังกล่าวทยอยกันในงวดครึ่งปี 2550 และสิ้นปี 2550 และบาเซิล 2 ใช้ในปี 2551

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าอาจจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบ้าง และหากสภาพคล่องตึงตัวจริงๆ ธปท.สามารถหยุดการออกพันธบัตร

ธปท.ที่ออกมาตลอดไว้ชั่วคราวเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบได้อยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่ใช้เรื่องที่ต้องเป็นห่วง เพราะทุกธนาคารสามารถบริหารเงินได้อยู่แล้วและมี ธปท.เป็นหน้าต่างการเงินสุดท้ายสำหรับการปรับสภาพคล่องและฐานะการเงินรายวันอยู่แล้ว

ป้องแบงก์ไม่เกี่ยว กม.ต่างด้าว

นางธาริษากล่าวถึงการแก้ไขนิยาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นักลงทุนต่างชาติเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ที่ออกมากระทบน้อยกว่าที่คาดไว้ในครั้งแรก และเรื่องนี้ไม่กระทบกับการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในธนาคารพาณิชย์ไทย เนื่องจากตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ได้มีข้อกำหนดในการถือหุ้นของต่างชาติอยู่แล้ว และมีการดูแลในเรื่องการถือหุ้นแทน (นอมีนี) ไว้ชัดเจนอยู่แล้ว โดยแต่ละรายไม่สามารถถือหุ้นเกิน 5%ยกเว้นจะมีการขออนุญาตจาก ธปท.เป็นรายๆ และต้องรายงานการถือหุ้นแทนให้ ธปท.ทราบ

นายสามารถ บูรณวัฒนาโชคผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.สายกำกับสถาบันการเงิน กล่าวว่า ช่วงที่ต่างชาติมาขอถือหุ้นเพิ่ม ธปท.ได้ชี้แจงแล้วว่าจะต้องแจ้งการถือหุ้นทั้งการถือหุ้นทางตรง การถือหุ้นทางอ้อมและการถือหุ้นแทน จึงไม่มีปัญหาเพราะใน 49% ได้รวมสัดส่วนการถือหุ้นแทนต่างชาติไว้แล้ว

นอกจากนั้น การดูเรื่องนี้ ธปท.ยังดูสิทธิการโหวตของต่างชาติและอำนาจการบริหารงานควบคู่ไปด้วยอยู่แล้ว ทำให้พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจต่างด้าว ไม่กระทบกับธนาคารพาณิชย์ เพราะความจริง พ.ร.บ.นี้ก็เอาแนวทางที่ธนาคารแบงก์ใช้ไปใช้กับธุรกิจอื่น

สำหรับการถือหุ้นของต่างชาติในธนาคารพาณิชย์ไทยในลักษณะของใบแสดงสิทธิประโยชน์ ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (NVDR) ซึ่งมีจำนวนสูงมากในแต่ละธนาคาร และเมื่อรวมกับหุ้นอื่นจะทำให้หุ้นที่ต่างชาติถือในธนาคารพาณิชย์ไทยสูงกว่า 49% นายสามารถกล่าวว่า ธปท.ไม่คิดว่าเป็นการถือหุ้นแทนแต่เห็นว่าเป็นการกู้เงินจากต่างชาติเข้ามาเท่านั้น เพราะหุ้นในส่วนนี้ไม่มีสิทธิการออกเสียง
ไม่มีสิทธิในการบริหาร และบางส่วนได้เงินปันผลบางส่วนไม่ได้ จึงไม่นำมาคิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติในธนาคารพาณิชย์ไทย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.