พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจต่างด้าว กระทบน้อยหวั่นจีดีพีร่วงฉุดอสังหาฯ


ผู้จัดการรายวัน(11 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ชี้ แก้ไขพ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตอกย้ำต่างชาติไม่เชื่อมั่นรัฐบาล สับสนนโยบาย ชะลอการลงทุน ด้านธุรกิจอสังหาฯ กระทบทางอ้อม เชื่อรุนแรงในระยะสั้น แต่ระยะยาวจะส่งผลดี เหตุกฎหมายในการปฏิบัติของต่างชาติชัดจน ระบุนักลงทุนต่างชาติสนใจผลตอบแทนมากกว่าการถือครองกรรมสิทธ์หรืออำนาจบริหาร ยกจีนเป็นแบบอย่างผลตอบแทนสูงดึงต่างชาติแห่ลงทุน ด้านบิ๊กเอพี ระบุโรงแรม รีสอร์ทเมืองท่องเที่ยวอ่วม เข้าข่ายเพียบ ห่วงตัวเลขจีดีพีฉุดตลาดร่วง

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในฐานะอุปนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การที่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรองรับในหลักการ แก้ไข พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยให้แก้ไขใน 2 ประเด็นคือ กรณีการใช้สิทธิ์ออกเสียงของผู้ถือหุ้นต่างชาติเกิน 50% และการถือหุ้นโดยชาวต่างชาติ รวมทั้งการถือหุ้นแทนโดยคนไทยเกิน 50% (นอมินี) นั้น ถือ เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศให้เกิดการชะงัดการลงทุนออก ในประเทศไทยออกไป เนื่องจากสับสนในมาตรการของรัฐบาลไทยว่า ยังมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติหรือไม่ หลังจากที่ ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออกมาตรการสำรองเงินนำเข้า 30% ซึ่งส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินลงทุนในประเทศ เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นในท่าทีของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดในอตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น หากถามว่ามีผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนในตลาดหรือไม่นั้น คาดว่าผลกระทบคงไม่เกิดต่อตลาดอสังหาฯ โดยตรงแต่อาจะเกิดขึ้นโดยทางอ้อม ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วนักลงทุนต่างชาติ มีการชะลอตัวกันตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่หลังจากที่มีการแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าวจึงยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เกิดการชะลอการลงทุนของต่างชาติออกไปเพราะความสับสนใจมาตรการภาครัฐฯ

"เมื่อผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการลงทุนในภาคธุรกิจย่อมเกี่ยวเนื่องถึงการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในตลาดอสังหาฯด้วย เพราะเมื่อต่างชาติชะลอการลงทุนก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ซึ่งต้องส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชน ในลักษณะระบบลูกโซ่" นายอิสระกล่าว

นายอิสระ กล่าวว่า การแก้กฏมหายดังกล่าวไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลให้เกิดการชะลอการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ แต่การชะลอการลงทุนของต่างชาติมีปัจจัยหลายๆ อย่าง ซึ่งเกิดขึ้นจากการขาดความเชื่อมั่นตั้งแต่ก่อนหน้านี้ อาทิ ปัจจัยการปฏิรูปการปกครอง เมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 การออกมาตรากาสำรองเงินนำเข้าจากต่างประเทศ 30% เหตุการณ์รอบวางระเบิดในกทม. เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.49 ส่วนการแก้กฎหมายดังกล่าวนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งที่เข้ามากระทบ และย้ำให้เกิดการขาดความเชื่อมั่นมาตราการของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นกว่าที่เกิดในขณะนี้

ทั้งนี้ เดิมทีธุรกิจอสังหาฯ เองมีกฎหมายบังคับในเรื่องการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวที่ชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องการถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนไม่เกิน 49% หรือการไม่อนุญาตให้คนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ ก่อนหน้าได้มีการส่งหนังเวียนในกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการโอนที่ดิน การถือครองที่ดินของนอมินี ทำให้กรมที่ดินมีการเข้มงวดในการตรวจสอบการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ และการโอนที่ดินของบริษัทที่มีการถือหุ้นโดยนักลงทุนจากต่างชาติ

ดังนั้น การแก้กฎหมายในประเด็นดังกล่าวจึง ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดอสังหาฯ ซึ่งเท่าที่ทราบในเบื้องต้นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ที่เข้าข่ายบัญชีที่ 1 มีอยู่ 6 รายเท่านั้น ซึ่งทั้ง 6รายนี้ต้องเร่งแก้ไขโดยการลดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติลงในระยะเร่งด่วนตาม กม. กำหนด ส่วนรายอื่น ๆนั้นส่วนใหญ่อยู่ในข่ายบัญชีที่ 2 และ 3 ซึ่งมีระยะเวลาที่ต้องแก้ไขยืดออกไป สำหรับในส่วนของอสังหาฯเองหากเป็นหากเป็นธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ที่มีผู้ถือหุ้นหรือร่วมทุนโดยชาวต่างชาติ นั้นโดยมากก็อยู่ในขอบข่ายบัญชีที่ 3 ซึ่งไม่กระทบมาก ส่วนในภาคธุรกิจก่อสร้างนั้น ก็ยังอยู่ในส่วนของบัญชีที่ 3

อย่างไรก็ตามในส่วนของการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมนั้น ต้องแล้วแต่ละกรณีเพราะไม่แน่ใจว่ามีการถือหุ้นทางตรงหรือทางอ้อมกันอย่างไร โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าการแก้กฎหมายดังกล่าว ถือว่าเป็นการยืนยัน และสร้างความชัดเจนด้านการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทย เพื่อให้มีแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม มีบรรทัดฐานในการปฏิบัติซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาว ส่วนในระยะสั้นนี้ จะมีผลกระทบต่อการชะลอตัวของการลงทุนแน่นอน แต่ในระยะยาวแล้วเชื่อว่าจะส่งผลให้การลงทุนของชาวต่างชาติมีบรรทัดฐานในการปฏิบัติที่ชัดเจน และมั่นใจว่านักลงทุนจะกลับเข้ามาลงทุนในประเทศเหมือนเดิม เนื่องจากการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติโดยหลักแล้วให้ความสำคัญกับผลตอบแทนในการลงทุนมากกว่าการถือครองกรรมสิทธิ์ เป็นหลัก เช่นเดียวกับประเทศจีนที่มีกฎหมายห้ามถือครองกรรมสิทธิ์ท่ดินแต่เปิดให้มีการเช่าระยะยาวแทน ซึ่งต่างชาติก็เข้าไปลงทุนจำนวนมากเพราะผลตอบแทนสูง

**รร.-รีสอร์ทเมืองท่องเที่ยวกระทบหนัก**

นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอเชียน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจต่างด้าว ที่รัฐบาลออกมาเพิ่มความเข้มงวดนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวมนัก แต่จะกระทบในผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทในจังหวัดหรือหัวเมืองท่องเที่ยวใหญ่ อาทิ ภูเก็ต สมุย ส่วนบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้รับผลกระทบประมาณ 1-2 รายเท่านั้น อีกทั้งเชื่อว่ารัฐบาลต้องการเข้างวดในบางธุรกิจเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความเข้างวดดังกล่าวจะกระทบต่ออสังหาริมทรัพย์ในทางอ้อม เมื่อเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ จีดีพี ลดลง ถึงจะส่งผลกระทบ เนื่องจากความเชื่อมั่นและรายได้ของผู้บริโภคขึ้นอยู่กับตัวเลขจีดดีพี หากจีดีพีมีอัตราการเติบโตก็จะทำให้ประชาชนกล้าจับจ่ายใช้สอย ซื้อบ้าน และในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีสถาบันใดออกมาคาดการณ์ตัวเลขจีดีพี เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา

“ยังไม่สามารถบอกได้ตอนนี้ว่าจะดีหรือแย่ แต่สิ่งที่กระทบน่าจะมาจากเหตุระเบิด และมีผู้เสียชีวิต ทำให้กระทบต่อจิตวิทยาของคนซื้อ อีกทั้งยอดขายในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของปีใหม่จะขายไม่ค่อยได้อยู่แล้ว เพราะคนไปเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในส่วนของบริษัทยังขายได้ปกติ หากมีเหตุการณ์เข้ามาอีกก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ทุกอย่างน่าจะมีความชัดเจนขึ้น ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร” นายอนุพงษ์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.