วัฒนา อัศวเหม เจ้าพ่อสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่หลายคน เริ่มจับตามองพื้นที่รอยต่อ 4 ประเทศ คือไทย พม่า ลาว และจีน ที่มีโครงการพัฒนาร่วมกันในรูปสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ แต่คนชื่อ วัฒนา อัศเหม นักการเมืองชื่อดังคนหนึ่ง ของไทย ไปจับจองการลงทุนในพื้นที่แล้วหลายโครงการ ด้วยอาศัยการมองการณ์ไกล และที่ดี ที่เขามีกับจีน ตั้งแต่ยังไม่เล่นการเมือง ผ่านคนรุ่นพ่อ เขาไปทำอะไรที่นั่น??!!!

" วัฒนา อัศวเหม เป็นคนโชดดีที่มีผู้ใหญ่รัก" คนรู้จักวัฒนาดีคนหนึ่งกล่าว

แน่นอน เป็นเรื่องที่ไม่ผิดกับคำกล่าวเลย หากมองย้อนไปในอดีต ของ " มังกรหนุ่มแซ่เบ๊" คนนี้ เพราะการเติบโตบนเส้นทางทางการเมืองและธุรกิจของเขาวันนี้ มาจากการได้รับการสนับสนุนด้วยความรักและเอ็นดูจากผู้ใหญ่สองคนเป็นอย่างน้อย

คนแรก สังข์ พัธโนทัยคนสนิทจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นที่สุดคนหนึ่ง กับประเทศจีนในอดีต คนที่สอง ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ อดีตรัฐมนตรีหลายหระทรวงและอดีตประธานสภาผู้แทนราษฏร หนึ่งในผู้แทนตลอดกาลของแปดริ้วฉะเชิงเทรา

คนแรกดึงวัฒนาเข้าสู่งวงการธุรกิจ ขณะที่ คนหลัง คือผู้เปิดโลกการเมืองให้เขา

วันนี้ เขากำลังเดินอยู่บนถนนทั้งสองสายอย่างท้าทาย!!

และไม่เพียงแต่กังลังท้าทายในเมืองไทย หากแต่วัฒนากำลังพลิกตัวเองไปสู่การเป็นนักธุรกิจระดับ international ด้วยการลงทุนในพื้นที่รอยต่อ 4 ประเทศ คือ ไทย สาธารณรัฐประชาชนลาว พม่า และสาธารณรับประชาชนจีน ตามโครงการร่วมมือระหว่างประเทศที่ขานชื่อว่า " สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ"

"ก่อนเข้าไป เราศึกษามา 5 ปีแล้ว จากผลการศึกษาของ มร.แสตน แมทธิว อดีตผุ้อำนวยการเอเชียอาคเนย์ วิทยาลัยโยนก ซึ่งศึกษาถึงศักยภาพตรงพื้นที่นี้เอาไว้ดีมาก" วัฒนา กล่าวกับ " ผู้จัดการ"

สำหรับผลการศึกษาของแสตน แมทธิว ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในเรื่องการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม 4 ชาติ ซึ่งมี " รากเหง้า" มาจากที่เดียวกัน คือจีน ( ตอนใต้) พม่า และประเทศไทย โดยอรรถาธิบายถึงเส้นทางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ว่า สามารถที่จะเดินทางเชื่อมกันได้ โดยเน้นการเดินทางในลำน้ำโขง ขณะที่ในบางช่วง จะต้องใช้เฮลิคอปเตอร์

" ภาพของสามเหลี่ยมทองคำเป็นภาพที่ไม่ดีนัก แต่ผลการศึกษาของมร.สแตน ระบุว่า สามารถที่จะแปรสภาพของสามเหลี่ยมทองคำเป็นภาพที่ดีได้" วัฒนา กล่าวย้ำ กับผู้จัดการ ถึงรายงานการศึกษาของที่เขานำมาใช้ในการตัดสินใจเข้าทำธุรกิจในพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษญกิจก่อนคนอื่น ๆ

การเริ่มต้นของวัฒนา ก็ด้วยการให้ทีมงานของเขาเข้าไปในประเทศจีน เพื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปของการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ทั้ง 4 โดยจับตาการเปลี่ยนแปลงภูมิภาคอินโดจีน เข้ามาประกอบด้วย

ถือเป็นความสามารถอย่างมาก สำหรับคนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาอย่างวัฒนา

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การทำธุรกิจดังกล่าวของวัฒนา มาจาการคัดเลือกทีมงามาใช้ ตั้งแต่สมัยที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่

สามารถให้ข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่เป็นอย่างดี ด้วยการผนวกผลการศึกษาของแสตน แมทธิว เข้ากับการศึกษาของทีมงานในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ที่มีนโยบาย" เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" ในภูมิภาคอินโดจีน เป็นอย่างดี

ทันทีที่ผลการศึกษาของความเป็นไปได้ปรากฏขึ้น วัฒนาเตรียมที่จะวาดฝันทันที

ไม่ว่าฝันของเขาจะเป็นจริงหรทอไม่ แต่วัฒนาก็เริ่มทำในสิ่งที่เขาเคยฝันไว้แล้ว!!!

และความใฝ่ฝันของเขา ไม่ได้ เป็นความใฝ่ฝันเล็ก ๆ เพราะในการเข้าไปลงทุนในพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจนั้น วัฒนาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ถึง 9 โครงการ ด้วยวงเงินทุนที่สูงถึง 1,500 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและยกระดับตนให้เป็นตามที่ฝัน

ปริศนาก็คือ เงินลงทุนของเขาจำนวนมหาศาลมาจากไหน

วัฒนา บอกว่า การลงทุนของเขา มาจากการสนับสนุนของสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่เขาใช้บริการมานาน ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ๆ โดยไม่มีการให้รายละเอียดชัดเจน

หลาย ๆ คน พยายามที่จะอ้างว่า การเข้าไปในประเทศจีนจนมีการลงทุนในหลาย ๆธุรกิจ ของเขานั้น มาจากสายสัมพันธ์ที่ผู้ใหญ่ที่เขานับถือ คือสังข์ พัทโนทัย เป็นผู้วางไว้ แต่ในความเห็นของพนักงานในเครือพวกเขาให้ความเห็นว่า สายสัมพันธ์ที่มีในจีนนั้น มาจากตัวของวัฒนาเอง

สุทธิศักดิ์ ปวาธิสันต์ กรรมการบริหารกลุ่มเอ็มพี ของวัฒนา ยืนยัน ให้ " ผู้จัดการ" เห็นภาพว่า สายสัมพันธ์ที่มีในจีนจนทำให้วัฒนาสามารถขยายเครือข่ายการลงทุนในประเทศจีน เป็นสิ่งที่เขาสร้างไว้ตั้งแต่สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช

กล่าวคือ ในช่วงปี 2518-2519 รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้เปิดสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ทำให้วัฒนามีโอกาสเดินทางไปยังประเทศจีน ด้วย และเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่จะลงทุนในประเทศจีนของเขา

ประการแรก ตัวของวัฒนาเอง สามารถที่จะติดต่อสื่อสารกับประเทศจีนได้ง่ายเนื่องจากตัวเชื้อสายเป็นคนจีน สามารถที่จะพูดจีนได้

ประการที่สอง การเปิดสัมพันธ์ทางการทูต เป็นโอกาสให้วัฒนาเข้าไปติดต่อในประเทศจีน และมองเห็นศักยภาพของการลงทุนในประเทศดังกล่าว

ประการที่สาม และเป็นประการทีสำคัญ ที่สุด ก็คือ การที่เขาเป็นหนึ่งในคนไทยกลุ่มแรกที่เข้าไปยังประเทศจีน ยิ่งบวกด้วยสถานภาพของการเป็นรัฐมนตรี ทำให้เขาสามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น จนกระทั่งในวันนี้ บุคคลที่เขารู้จักมาตั้งแต่ช่วงปี 2518-2519 ได้เติบโตในสายงานราชการ และยังคงมีการติดต่อสื่อสารกับเขาอยู่

" ส่วนใหญ่คนพวกนี้ตอนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลท้องถิ่นยูนาน ทำให้บางคนโยงใยว่า คุณวัฒนาสนิทกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งที่จริงก็คือเจ้าหน้าที่รัฐบาล เพราะจีนเขามีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว" สุทธิศักดิ์ ให้ความกระจ่างถึงสายสัมพันธ์ของวัฒนาในประเทศจีน

เกือบ 20 ปีของสายสัมพันธ์ กับคนจีนทั้งภาครัฐและเอกชน วันนี้เขาจึงบ่มความสัมพัน์และแปรจาก " นามธรรม" เป็น " รูปธรรม" ในเขตภาคใต้ของจีน!!

" ผมว่าการลงทุนในประเทศจีน นอกจากลุ่มซีพี ( เจริญโภคภัณฑ์) แล้วกลุ่มเอ็มพีของคุณวัฒนา นับเป็นกลุ่มที่เข้าไปเป็นกลุ่มการลงทุนเป็นรูปธรรมมากที่สุด" สุทธิศักด์ ย้ำกับ " ผู้จัดการ"

สุทธิศักดิ์ คือบุคคลสำคัญที่สุดของเครือเอ็มพี ในการดูการบุกเบิกธุรกิจในพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจของกลุ่ม และไม่เป็นที่แปลกนัก ที่คนในพม่า ลาว หรือการะทั่งจีน รู้จักชายคนนี้เป็นอย่างดี

คนในเอ็มพี กรุ๊ป กล่าวถึงเขาว่า เป็นคนดูแลเรื่องต่างประเทศ ให้กับวัฒนา ที่วัฒนาเชื่อถือและวางใจมากที่สุด!!

จากพื้นฐานเป็นคนเหนือของประเทศ และรู้เรื่องเส้นทางและพื้นที่รอยต่อไทย-พม่า -ลาว เป็นอย่างดี เมื่อมีโอกาสมาทำงานที่เขารู้ดี การขยายเครือข่ายของเอ็มพีเทรดดิ้ง จึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ยุคแห่ง " โลกานุวัตร" ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หาทางออกทะเลให้กับรัฐทางตอนใต้ อย่างเช่น มณฑลยูนาน การเข้าไปทำธุรกิจของวัฒนา จึงเป็นการเข้าไปในเวลาที่เหมาะสมมาก

เช่นเดียวกับเส้นทางทางการเมือง วัฒนาเองก็หวังว่า เขาน่าจะก้าวไปไกลกว่าอดีตและปัจจุบัน ที่เส้นทางเสนาบดีของเขาอยู่แค่ตำแหน่งรัฐมนตรี ช่วยเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่พรรคชาติไทย เ ป็นรัฐบาลมาหลายครั้ง

ความจริงแล้ว ความใฝ่ฝันดั้งดิมอยู่บนเส้นทางการเป็นนักธุรกิจมากกว่าเป็นนัการเมือง ตามแนวคิดดั้งเดิมของชาวจีนโพ้นทะเล ที่ต้องการค้าขายมากกว่ารับราชการ ดังจะเห็นได้จากเมื่อเริ่มต้นทางธุรกิจ และสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นนายกสโมสรไลอ้อนส์จังหวัดสมุทรปราการ เขายังไม่คิดที่จะลงสมัครในวิถีการเมืองเลย

ความล้มเหลวทางธุรกิจน้ำมัน ทำให้เขาตัดสินใจลงเลือกตั้ง

เพราะในการล้มเหลวทางธุรกิจครั้งนั้น วัฒนาบอกว่า เป็นเพราะ การเมือง!!

ความล้มเหลวในครั้งนั้น แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เนื่องจากการริเริ่มธุรกิจน้ำมันนั้น เขายังใหม่ต่อธุรกิจมาก มิหนำซ้ำ ในการร่วมเจรจากับทางจีน ผู้ร่วมทุนฝ่ายจีนก็มีเงื่อนไขมาก อย่างเช่น จะต้องไม่ขาดทุนซ้ำ ฝ่ายจีนยังมีการจ้างนักวิเคราะห์ศึกษาถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจน้ำมันในไทย ปรากฏว่า ผลออกมาไม่น่าที่จะลงทุน เพราะธุรกิจน้ำมันในประเทศไทยในช่วงดังกล่าว ยังอยู่ในรูปแบบผูกขาดของยักษ์ใหญ่ทางตะวันตก 2-3 บริษัท

ที่สำคัญก็คือ กฏหมายในประเทศ ไม่สามารถที่จะเอื้ออำนวยให้ผู้ลงทุนหน้าใหม่เข้ามาอยู่ในธุรกิจน้ำมันได้ โดยเฉพาะคนใหม่อย่างเขา ที่อาจหาญถึงขั้นประกาศจะสร้างโรงกลั่นน้ำมันขึ้นมาใหม่ ( ดูเหมือนว่าเรื่องกฏหมายน้ำมันนี้เป็นเรื่องที่วัฒนาสนใจมาก ดังจะเห็นฯได้ว่า เมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เขาคือตัวตั้งตัวตีคนหนึ่งในการร่างพระราชบัญญัติก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย)

คนใกล้ชิดวัฒนา อัศวเหม คนหนึ่ง บอกกับ " ผู้จัดการ" ว่าวัฒนาใช้เวลาในการตัดสินใจไม่นาน นัก ในการลงสมัครเลือกตั้งจังหวัดสมุทรปราการ ในนามพรรค " ชาตินิยม" ของประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ในปี 2518 และได้รับการเลือกตั้งสมความตั้งใจ

จนวันนี้ เขากลายเป็น ส.ส. ผูกขาดของจังหวัด สมุทรนปราการ เช่นเดียวกับ ชวน หลีกภับย ของตรัง บรรหาร ศิลปอาชา ของสุพรรณบุรี หรือเสนาะ เทียนทอง ของปราจีนบุรี เป็นต้น

มิหนำซ้ำ ทั้ง ๆ ที่เป็น ส.ส. สมัยแรก แต่เขาก็ ได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นเสนาบดี ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นผู้ดูแลเรื่องน้ำมันของประเทศ ซึ่งนั่นทำให้เขามองเห็นว่า น้ำมันเป็นเรื่องที่ไทยเองควรจะเข้าไปสนใจและทำการค้ามากว่าที่จะให้ผูกขาดอยู่กับบริาทของต่างชาติไม่กี่บริษัท

" การได้รับการเลือกตั้งครั้งแรกนั้น เป็นการช่วยเหลือของสังข์มาก" คนใกล้ชิดคนเดิมกล่าว

ความช่วยเหลือของสังข์ในวันนั้น จึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลก ที่เขาให้ความอนุเคราะห์ทางการเมืองต่อมั่น พัธโนทัย ทายาทของสังข์ จนสามารถที่จะหอบหิ้วเข้าสู่สภาด้วยในวันนี้

นอกจากเรื่องบารมีจากธุรกิจที่ทำให้วัฒนาสามารถเดินเข้าสู่สภาผู้แทนได้อย่างมีเกียรติ ในด้านธุรกิจ สายสัมพันธ์และคู่ค้าทางธุรกิจของสังข์ ยังทำให้วัฒนาหันมาทำธุรกิจที่ไม่มีเอกชนคนไหนทำมาก่อน นั่นคือ ธุรกิจน้ำมัน ซึ่งอยู่ในช่วงของการ " ผูกขาด" โดยต่างด้าว

แต่การเข้าสู่ธุรกิจน้ำมัน ของเขาในอดีต คือการเปิดปั๊มสามทหาร ( ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นปั๊ม ปตท.) ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก แต่วันนี้ ธุรกิจน้ำมันของกลุ่มอัศวกเหม คือ เอ็มพี ยังมีการพัฒนาอย่างมาก ซึ่งวัฒนา เปิดเผยว่า แผนงานที่จะตั้งปั๊มน้ำมัน ทั่วประเทศให้ได้ 2,100 ปั๊มภายใน 2 ปี ไม่ได้เป็นเรื่องเกินเลยสำหรับเขาเลย

เป็นการก้าวกระโดดมาก ทั้ง ๆ ที่เขาเข้าสู่ธุรกิจน้ำมัน เพราะมีธุรกิจประมง!!

วัฒนายอมรับว่า การตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจน้ำมันนั้น เนื่องจากธุรกิจครอบครัวคือธุรกิจประมง จำเป็นที่จะต้องเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมาก เพราะส่วนใหญ่ของต้นทุนในการทำประมง คือต้นทุนเรื่องน้ำมัน เพื่อเป็นการลดต้นทุน เขา และเพื่อน ๆ จึงลงทุนในธุรกิจน้ำมัน

" ก่อนตาย ผมต้องมีโรงกลั่นน้ำมันเป็นของตนเองแน่นอน " วัฒนา กล่าวถึงความในใจของเขาในธุกริจน้ำมัน ซึ่งมีข่าวเกี่ยวกับการประกาศซื้อโรงกลั่น ไทยออยส์ ของเขาในวันวาน ที่เป็นข่าวใหญ่มาก การประกาศของเขาว่า การซื้อขายในยุครัฐบาลอานันท์ เป็นเรื่องที่ " ไม่โปร่งใส"

แม้จะไม่สามารถที่จะซื้อโรงกลั่นจากไทยออยส์ ได้ เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันยืนยันว่า การซื้อขายในครั้งนั้นถูกต้องและสมบูรณ์ทุกประการ แต่ปณิธานเรื่องโรงกลั่นของเขายังไม่จบ

น้ำมันดิบจากประเทศจีนที่เขามีคอนเน็คชั่นอยู่ คือจุดหมายของการสร้างโรงกลั่นของเขา

ท่ามกลางความกังขาของคนในวงการ เพราะมองไม่เห็นถึงความเป็นไปได้ของการส่งน้ำมันดิบ จากจีนมากลั่น เนื่องจาก " ต้นทุนค่าขนส่ง" น้ำมันจากประเทศจีนสูงกว่าการนำเข้าจากที่อื่น ๆ

แม้หลาย ๆ คน ได้รับอรรถาธิบายว่า โรงกลั่นน้ำมันของวัฒนา จะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเขาซื้อที่ดินไว้มากทั้งในเชียงราย เชียงแสน และเชียงของ ที่มีแนวโน้มที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมหรือโรงกลั่นน้ำมันในแถบนั้น

การลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันของเอ็มพีนั้น เป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มอัศวเหมและพัธโนทัย กับกลุ่มทุนของประเทืสจีน คือไซโนเปค และไซโนเคม เพื่อนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศจีนมาขายในไทย

" ไซโนเปคเป็นบริษัทผู้ผลิต ไซโนเคมเป็นผู้ขาย ทั้งสองบริษัทเป็นเครือเดียวกันของรัฐบาลท้องถิ่น ยูนนาน" วัฒนา อธิบายถึงบริษัททั้งสองที่เข้ามาร่วมทุนกับเอ็มพี. ปิโตรเลียม

แหล่งข่าวในเอ็มพีปิโตรเลียม เปิดเผยว่า การทำตลาดค้าปลีกในรูปสถานีบริการเอ็มพี ปิโตรเลียมนั้น มีแหล่งที่มาของน้ำมันจากบริษัทเจริญมั่นคง ซึ่งเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ของประเทศ ที่มีสัญญาการนำเข้าน้ำมันจากประเทศจีน โดยผ่านเครือข่ายของกลุ่มเอ็มพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เจริญมั่นคงนั่นเอง

แต่ในวันนี้ ภาพพจน์ในวงการน้ำมันของวัฒนาเขาคือผู้ค้าน้ำมัรนสำเร็จรูปกลายทะเลรายใหญ่

น้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่เติมในเรือประมงในประเทศไทย ส่วนใหญ่นำเข้าจากสิงคโปร์ และนิยมที่จะเติมกันในทะเลหลวง ในเมื่อเขาเป็นเจ้าของกลุ่มธุรกิจประมงใหญ่ มีหรือที่จะไม่รู้เรื่องดังกล่าว

เรื่องราวเกี่ยวกับ " น้ำมันเถื่อน" กลางทะเล จึงมักจะถูกโยงถึงตัวเขาด้วยเสมอ โดยไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน

" ในยุคที่ธุรกิจประมงไม่ดี ใครเติมน้ำมันราคาถูกได้จะไม่ขาดทุน คุณจะเห็นเรือประมงส่วนใหญ่นิยมที่จะเติมน้ำมันไปเพียงพอกับระยะทางที่จะออกไปเติมน้ำมันกลางทะเล" คนในวงการประมง เล่าให้ " ผู้จัดการ" ฟัง พร้อมทั้งบอกว่า น้ำมันดังกล่าวซึ่งมีมากในอ่าวไทยส่วนใหญ่จะมาจากประเทศสิงคโปร์ จึงมีต้นทุนถูกกว่าประเทศไทย ดังนั้นราคาจึงต่ำกว่าราคาในประเทศไทยมาก

อย่างไรก็ดี ชาวประมงส่วนใหญ่ยอมรับง่าเพื่อการอยู่รอด พวกเขานิยมที่จะเติมน้ำมันกลางทะเล ที่พวกเขาไม่เรียกว่า " น้ำมันเพื่อน" อย่างที่คนทั่วไปเรียกกัน

" มันเหมือนคุณขับรถอกไปต่างประเทศแล้วน้ำมันหมด คุณก็เติมน้ำมันแล้วขับต่อไป เมื่อกลับมาแล้วยังมีน้ำมันเหลือในถัง อย่างนี้คุณว่าคุณซื้อน้ำมันเถื่อนมั๊ย? อดีตนายกสมาคมประมงในจังหวัดภาคใต้คนหนึ่ง เคยเปรียบเทียบให้ " ผู้จัดการ" ฟัง

สายสัมพันธ์ที่วัฒนาสร้างในเรื่องธุรกิจน้ำมันตั้งแต่ สมัยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ และเดินทางไปลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำมันระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนในระหว่างปี 2518-2519 ไม่เพียงแต่ทำให้วัฒนาสามารถสานต่อสายสัมพันธ์ทางธุรกิจน้ำมันของตนเองกับประเทศจีนยเพียงอย่างเดียว

เพราะวัฒนายังมองที่จะทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อรองรับการพัฒนาโลก ที่เขามีศักยภาพเพียงพอที่จะทำธุรกิจระดับโลกได้

และเขาก็เลือกพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจทางตอนเหนือของไทยในฐานใหม่ของการลงทุน!!

อันโครงการพัฒนาประเทศสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจนั้น ถือเป็นแนวโน้มของการพัฒนาประเทศ ที่มีการดึงประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมในการพัฒนาด้วย โดยแต่ละประเทศ ต่างก็อาศัยจุดเด่นของศักยภาพของตนเองเป็นหลัก ในการร่วมมือ อันเป็นรูปแบบใหม่ของการพัฒนาประเทศในยุคโลกานุวัตร หรือโลกไร้พรมแดน

ในส่วนของสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ นั้น ศักยภาพที่เหมาะสม จะเป็นในด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก อันต่างจากโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งเป้นความร่วมมือระหว่างไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่เน้นในเรื่องการลงทุนและอุตสาหกรรมเป็นหลัก

วัฒนาจึงกลายเป็นนักธุรกิจไทยรายแรก ที่สนใจลงทุนในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยเขาให้ความสนใจในการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวโดยตรง หรือกระทั่งการพัฒนาที่ดินที่จะมีผลต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว

ถือเป็นการฉวยประโยชน์จากการเป็นนักการเมืองอย่างไม่เสียเวลา!!

และเป็นที่น่าสังเกตว่า การเข้าไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องกับพรรคชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิ์ โพธิสุธน พี่ชายประภัทร โพธิสุธน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ส.สน. สุพรรณบุรี พรรคชาติไทย หรือไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์ศานต์ นักธุรกิจชื่อดังของภาคตะวันออก ที่เคยเป้นเลขาส่วนตัวของ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย

วัฒนาเอง ปัจจุบัน เขาคือรองหัวหน้าพรรคชาติไทย สาย พล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรค และเป็นผู้ที่พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรค และเป็นผู้ที่พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรค และเป็นผู้ที่พล.ต.อ. ประมาณ ไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง ดังจะเห็นได้จาก เมื่อมีปัญหาภายในพรรค วัฒนาคือคนที่หัวหน้าพรรคมอบหมายให้ดูเรื่อง " จดหมายลับ" ที่เชื่อกันว่า เป็น " พินัยกรรมทางการเมือง" ของพล.ต.อ.ประมาณ

การเข้าไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวของวัฒนาในครั้งนี้ ก็มาจากสายสัมพันธืทางธุรกิจกับประเทนสจีน ที่เขาสร้างขึ้นมา กล่าวคือ เมื่อเขาตัดสินใจเปิดบริษัทเกียรตินันทวัฒน์ ซึ่งดำเนินธุกริจเกี่ยวกับน้ำมันลงลงในปี 2520 แล้ว ในปี 2529 เขากลับสู่ธุรกิจน้ำมันอีกครั้ง ด้วยการจับมือกับกลุ่มทุนของประเทศจีน ตั้งบริษัท เจริญมั่นคง ขึ้นมา

การเข้าไปลงทุนในพื้นพี่ดังกล่าวของวัฒนาในครั้งนี้ ก็มาจากสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับประเทศจีน ที่เขาสร้างขึ้นมา กล่าวคือ เมื่อเขาตัดสินใจปิดบริษัทเกียรตินันทวัฒน์ ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันลงในปี 2520 แล้ว ในปี 2529 เขากลับสู่ธุรกิจน้ำมันอีกครั้ง ด้วยการจับมือกับกลุ่มทุนของประเทศจีน ตั้งบริษัท เจริญมั่นคง ขึ้นมา

บริษัทเจริญมั่นคง มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท เพื่อทำการค้าน้ำมัน โดยการร่วมทุนระหว่างบริษัทเทียนสิน อินเดตอร์เนชั่นแนลทรัสต์ ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่น เมืองเทียนสิน กับนักธุรกิจไทย 2 ตระกูล คือตระกูล " อัศวเหม" และตระกูล " พัธโนทัย" ในสัดส่วน 49-51

มั่น พัธโนทัย รองกรรมการผุ้จัดการ เจริญ มั่นคง ทายาทของสังข์ ยอมรับว่า นอกจากเทียนสินแล้ว ยังมีบริษัทน้ำมันของจีนอีกรายเสนอตัวเข้าร่วมทุนด้วย คือกลุ่ม"ซโนเปค ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่ทำธุรกิจน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลจีน

แต่การเสนอตัวเข้ามาของไซโนเปคไม่ได้ระสบความสำเร็จ จนกระทั่งกลุ่มทุนจากจีนกลุ่มนี้ ตัดสินใจเข้ากับกลุ่มซีพี หรือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของไทยในการเข้าร่วมทุนและลงทุนในประเทศจีน ในการนำเข้าน้ำมันดิบและสำเร็จรูปเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย

คนในวงการธุรกิจน้ำมันให้ความเห็นว่า การล้มเหลวในการเจรจาร่วมทุนกับไซโนแปค อาจจะให้เหตุผลที่ทำให้เครือข่ายด้านธุรกิจน้ำมันของเจริญมั่นคง ไม่สามารถขยายครือข่ายได้มากอย่างที่วัฒนาและพาร์ทเนอร์วางแผนเอาไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม

แต่กลับเป็นการเปิดโอกาสให้วัฒนาทะยานเข้าสู่ธุรกิจอื่น ๆ ในวันนี้

มิหนำซ้ำ การขยายเครือข่ายธุรกิจของวัฒนา จาการตรวจสอบ ของ " ผู้จัดการ" ยังพบว่า มีความเป็นระบบอย่างยิ่ง โดยมีการศึกษาถึงโครงการพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจเป็นอย่างดี เพื่อวางแผนที่จะเป็นผู้ทำธุรกิจที่ต่อเนื่องกับโครงการได้ดี ทั้งโครงการธุรกิจท่องเที่ยวทางเรือ ธุรกิจโรงแรม จนถึงธุรกิจต่อเรือนำเที่ยว และการเข้าไปลงทุนในประเทศจีนในมณฑลยูนนาน

อย่างไรก็ดี อุปสรรคในเรื่องธรรมชาติสำหรับการเดินเรือในแม่น้ำโขง ทำให้วัฒนามีความคิดในเรื่องการเดินทางเพื่อทำธุรกิจในเขตพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจมากว่าทางเรือ ซึ่งมีอุปสรรคในเรื่องร่องน้ำโขง และทางบก ซึ่งเส้นทางยังอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนัก

จากการประชุมผลสำรวจเส้นทารงแม่น้ำโขง 4 ชาติ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่เมืองคุนหมิง มีการเสนอรายงานผลการสำรวจเส้นทางแม่น้ำโขงของทั้ง 3 ประเทศ คือจีน พม่า และ ลาว ได้ระบุว่า เรือที่มีระวางบรรทุกไม่เกิน 60 ตัน สามารถเดินเรือตามแนวแม่น้ำโขง จากท่าเรือเมืองเชียงรุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศจีน ผ่านท่าเรือเมืองเชียงแสน ในประเทศไทย ซึ่งคือพื้นที่ตรงสามเหลี่ยมทองคำ ไปจนถึงเมืองเยบทอง หรือเมืองหลวงพระบาง ในระยะทางประมาณ 562 กิโลเมตร ได้ทั้งปี

ในส่วนของเรือที่มีระวางบรรทุก ระหว่าง 60-150 ตันนั้น สามารถที่จะเป็นเรือได้ในเส้นทางดังกล่าวได้ปีละ 8 เดือน กล่าวคือ ในช่วงฤดูแล้ง ไม่สามารถที่จะเดินเรือได้เพราะบางช่วงของแม่น้ำจะตื้นมาก

จีนเป้นประเทศที่ต้องการให้มีการเดินเรือได้ทั้งปี เพราะเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลของพวกเขา ในทางนี้เส้นทางเดียว!!!

วัฒนา บอกกับ " ผู้จัดการ" ว่า ทางการจีนอนุมัติเงินงบประมาณ 7 ล้านบาท เพื่อระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงที่เป็นอุปสรรคการเดินเรือแล้ว

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวในจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า งบประมาณดังกล่าวนั้น เป็นงบประมาณที่ใช้ในการระเบิดแก่งที่อยู่ในเขตพื้นที่ประเทศจีนเท่านั้น แต่เมื่อออกนอกพื้นที่ประเทศจีน ก็จะต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐบาลประเทศอืน ๆ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ด้วย

จากากรประชุมของทั้ง 4 ประเทศ ที่คุนหมิง ระบุว่า เงินงบประมาณที่จะต้องใช้ในการระเบิดแก่ง ซึ่งจะต้องระเบิดประมาณ 100 แง นั้น จะต้องใช้เงินประมาณ ถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อให้เรือที่มีระวางบรรทุกขนาด 300 ตัน สามารถวิ่งได้ทั้งปี

สำหรับการลงทุนในการระเบิดแก่งนั้น ทางรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลยูนนานของประเทศจีน มีนโยบายสนับสนุนเต็มที่ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้าไปมณฑลยูนนาน ปีละประมาณ 2.5 ล้านคน รวมทั้งจะเปิดเส้นทางระบายสินค้าเกษตรกรรมของมณฑล เช่น ใบยาสูบ ใบชา ผลไม้ อ้อย ลงทางใต้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน

แต่ไม่ว่าการระเบิดแก่งจะเริ่มต้น และสำเร็จเมื่อไร ดูเหมือนไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจเดินเร์อท่องเที่ยวของเอ็มพีเวิลด์ทัวร์ในเครือของวัฒนาแต่อย่างใด เพราะเรือเจ็ตฟรอยด์ของเขา มีระวางขับน้ำเพียง 45 ตัน

" ท่านอยู่กับเรือกับน้ำมานาน จึงรู้ว่าทำอย่างไร สามารถที่จะทำให้เรือวิ่งได้ทั้งปี" สุทธิศักดิ์ กล่าวกับ " ผู้จัดการ" ถึงธุรกิจเดินเรือของเอ็มพีเวิลด์ ทัวร์ ซึ่งเป็นเรือที่วัฒนาเป็นผู้เสนอความคิดในการออกแบบ

แต่ในระหว่างที่มีปัญหาเรื่องร่องน้ำโขงอยู่ในระหว่างการเจรจาตกลง วัฒนากำลังติดต่อที่จะร่วมทุนกับสายการบิน " ยูนนานแอร์ไลน์" เพื่อเปิดเส้นทางบินในพื้นที่สำคัญในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ

สุทธิศักดิ์ ปวราธิสัตน์ กรรมการบริหารกลุ่มเอ็มพี เปิดเผยให้ " ผู้จัดการ" ฟังว่า เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม ที่ผ่านมา วัฒนาได้เดินทางไปยังเมืองคุนหมิง และเจรจาร่วมทุนกับผู้บริหารของสายการบินยูนนานแอร์ไลน์ เพื่อขยายเส่นทารงการบินมายังพื้นที่สำคัญในภูมิภาคที่จะเป็นที่ตั้งสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ

" ผมเชื่อว่า เราคงไม่มีปัญหาอะไร สุทธิศักดิ์บอก "ผู้จัดการ" ถึงบันทึก ความทรงจำ ( MOU) ที่วัฒนาทำกับผู้บริหารยูนนาน แอร์ไลน์

ปัจจุบัน ตามข้อตกลงการบินระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนนั้น การบินไทยมีเส้นทางบินตรงกรุงเทพ-คุนหมิง-สัปดาห์ละ 5 เที่ยว แต่ในส่วนของประเทศจีน ยังไม่มีสายการบินใดบินตรงระหว่างยูนนานมาไทยเลย

สำหรับเส้นทางที่จะเพิ่มนอกเหนือจากที่มีการบินระหว่างกรุงเทพ-คุนหมิง ของการบินไทย ก็คือการบินเพื่อเพิ่มเส้นทางเชื่อมเชียงรุ้ง เชียงราย เชียงตุง หรือเส้นทางใกล้เคียง

นอกจากนี้ วัฒนายังมีข้อเสนอให้กับยูนนานแอร์ไลน์ ที่จะสร้างอาคารสำนักงานขึ้นในเมืองคุนหมิง ด้วย

" อาคารที่จะสร้างใหม่จะเป็นอาคารสูง 39 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุด เพราะในปัจจุบัน ตึกสูงที่สุด ของเมืองคุนหมิง สูงแค่ 25 ชั้นน " สุทธิศักดิ์ กล่าวถึง อาคารที่จะสร้างเพื่อทั้งเป็นสำนักงาน สำรักงานขาย ตั๋วสายการบินทุกแห่งที่บินเข้าคุนหมิง และเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งด้วย

นั่นหมายความว่า วัฒนาจะมีโรงแรมถึง 2 แห่งในประเทศจีนในวันหน้า !!

เพราะเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2536 ที่ผ่านมา วัฒนาได้ลงนามที่เมืองคุนหมิง เข้าร่วมทุนในกิจการโรงแรมสิบสองปันนา เพื่อเข้าสู่บูรณะและและร่วมบริหารโรงแรมดังกล่าว ในรูปของ
การร่วมทุน 50-50 เป็นวงเงินประมาณ 200 ล้านบาท ( ประมาณ 86 ล้านหยวน) คือคนละ 100 ล้านบาท

ผลการเข้ามาลงทุนในโรงแรมสิบสองปันนา วัฒนาก็ขยายโครงการต่อเนื่องในฝั่งไทยมากมาย โดยเฉพาะพื้นที่ตรงสามเหลี่ยมทองคำ ไม่ว่าจะเป็นที่อำเภอเชียงแสนหรืออำเภอเชียงของ

พื้นที่ดังกล่าว ประกอบไปด้วยโครงการ " ห้าเชียงพลาซ่า" ซึ่งใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ โดยคาดว่า พลาซ่าจะเป็นศูนย์สรรพสินค้าและวัฒนธรรมทั้ง 4 ชาติ ขนาด 100 ยูนิต ดังกล่าว สามารถที่จะเปิดดำเนินการได้ประมาณเดือนเมษายน หรือ พฤาภาคม นี้ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท

เช่นเดียวกับท่าเทียบเรือที่มีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับห้างห้าเชียงพลาซ่า อันจะเป็นที่จอดเรือท่องเที่ยวของเอ็มพีเวิลด์ทัวร์ ที่จะวิ่งท่องเที่ยว ในแม่น้ำโขงที่เชื่อมทั้ง 4 ประเทศ ก็กำลังอยู่ในระหว่างการปรับที่ดิน ขณะที่เรือซึ่งนำเข้ามาจากเยอรมันนี ก็กำลังอยู่ในระหว่างการตกแต่งและปรับปรุงอยู่ที่บริษัท ม้าทองชิพบิลดิ้ง ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งของพลาซ่าและท่าเรือไม่มากนัก ที่เขาซื้อที่ไว้ประมาณ 200 ไร่ ที่จะเป็นอู่ต่อเรือขนาด 588 ตีนกรอสขึ้นไป รวมทั้งจะเป็นสถานที่สำหรับต่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพื่อผลิตส่งไปในประเทศจีนในอนาคตด้วย

สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า โครงการลงทุนของวัฒนาในฝั่งของไทยแถบรอยต่อเชียงแสน-เชียงของ ไม่ได้มีแค่ พลาซ่า ท่าเรือเท่านั้น หากแต่โครงการสร้างโรงแรม ขนาด 250 ห้องก็ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาเบื้องต้น พบว่า โรงแรมระดับชั้นหนึ่ง เพื่อรองรับนักท่าองเที่ยวที่เดินทางมายังสามเหลี่ยมทองคำ มีไม่มากพอที่จะรองรับ

" ที่ดินดังกล่าว คุณวัฒนา ซื้อมาจากท่านผุ้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ โดยตอนแรกท่านผู้หญิงเสนอราคา 12 ล้าน แต่คุณวัฒนาสามารถต่อเหลือแค่ 6 ล้านบาท" คนในพื้นที่ เล่าให้ " ผู้จัดการ" ฟังถึงที่ดินที่อยู่ติดกับเอ็มพีวิลล่า ที่จะสร้างเป็นโรงแรมใหม่ ขณะที่สุทธิศักดิ์ บอกว่า เนื่องจากพื้นที่มีไม่มากนัก ดังนั้น บางส่วนของเอ็มพีเวิลด์วิลล่า อาจจะต้องมีการทุบทิ้ง เพื่อเป็นที่สร้างโรงแรม

นอกจากนั้น พื้นที่ตรงข้ามโครงการต่าง ๆ ของวัฒนา เขาได้รวบรวมที่ดินเพื่อที่จะสร้างสนามกอล์ฟด้วย

แต่เมื่อถามเรื่องที่ดิน วัฒนาบอกกับ " ผู้จัดการ" ว่า เขาขอไม่พูดถึงเรื่องที่ดิน เพราะเกรงว่าจะมีผลต่อราคาที่ดินในเชียงราย

การลงทุนในโครงการต่าง ๆ มากมาย ในวันนี้ สำหรับคนเชียงรายและทางเหนือ วัฒนา จึงไม่ใช่ " คนแปลกหน้า" อีกต่อไปแล้ว

เช่นเดียวกับ ในลาว พม่า หรือจีน ที่พวกเขาจะต้องรู้จักคนแซ่เบ๊คนนี้ ในฐานะตัวแทนธุรกิจของไทยที่ใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในการพัฒนาร่วมกันในดินแดนดังกล่าว

เจ้าพ่อกรรมกรจากไทย กำลังขยายปีกไปเป็นเจ้าพ่อในสี่ประเทศในวันหน้า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.