พ.ร.บ.คนต่างด้าวฯป่วนชินคอร์ป เทมาเส็กทำใจรับขาดทุน 4 หมื่นล.


ผู้จัดการรายวัน(11 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

กลุ่มชินคอร์ป รับผลกระทบโดยตรงจากแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว นักวิเคราะห์ ชี้เทมาเล็กลดสัดส่วนการถือหุ้นให้เหลือ 49% ทำได้ยาก เหตุผู้สนใจเข้ามาลงทุนต้องมีเงินก้อนใหญ่ซื้อหุ้น 1.3 พันล้านหุ้น และต้องแบกรับผลขาดทุนไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท จากราคาหุ้นบนกระดานรูดเหลือแค่ 23.50 บาท ต่ำกว่าต้นทุนที่ 49.25 บาท

วานนี้ (10 ม.ค.) ภาวะตลาดหุ้นไทยค่อนข้างผันผวนจากการที่นักลงทุนวิติกกังวลเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ทำให้ภาคเช้าดัชนีตลาดหุ้นได้ปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้า แต่เริ่มคลี่คลายในช่วงบ่าย หลังจากที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดัชนีตลาดหุ้นจึงได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น

โดยดัชนีปิดที่ 622.27 จุด เพิ่มขึ้น 5.25 จุด หรือ 0.90% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของวัน ขณะที่ระหว่างวันมีจุดต่ำสุดที่ 608.14 จุด มูลค่าการซื้อขาย 16,660.90 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,405.32 ล้าน บาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 122.71 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 1,282.62 ล้านบาท

ขณะที่ราคาหุ้นในกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ค่อนข้างผันผวนเช่นกัน โดย SHIN ปิดที่ระดับสูงสุดระหว่างวัน 23.50 บาท ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากวันก่อน ราคาต่ำสุดที่ 22.40 บาท มูลค่าการซื้อขาย 8.52 ล้านบาท บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ปิดที่ระดับสูงสุดของวัน 75 บาท ต่ำสุดที่ 70.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 291.99 ล้านบาท

บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)หรือ ITV ปิดที่ 1.02 บาท สูงสุด 1.05 บาท ต่ำสุดที่ 0.99 บาท มูลค่าการซื้อขาย 9.03 ล้านบาท บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL ปิดที่ 5.60 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือลดลง 1.75% สูงสุดที่ 5.75 บาท ต่ำสุด 5.30 บาท มูลค่าการซื้อขาย 12.69 ล้านบาท และบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL ปิดที่ 3.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท หรือเพิ่มขึ้น 3.03% ราคาสูงสุด 3.40 บาท ต่ำสุดที่ 3.16 บาท มูลค่าการซื้อขาย 7.28 แสนบาท

นายวิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าวจะส่งผลต่อนักลงทุนต่างชาติในช่วงสั้น เพราะเห็นว่าผลตอบแทนที่ได้รับจะลดลงตามสัดส่วนที่ถือหุ้นและหากเป็นธุรกิจที่ต่างชาติถือส่วนใหญ่ในลักษณะอ้อมไปอ้อมมาจะทำได้ยาก

"ยอมรับว่ามาตรการนี้มีผลกระทบต่อความรู้สึกเพราะเป็นเรื่องที่ตอบสนองจากข้อมูลที่เกิดขึ้นแต่เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นต่างชาติจะตัดสินใจและรอ แต่เชื่อว่าต่างชาติจะไม่หนีไปลงทุนที่อื่น" นายวิเชฐ กล่าว

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวหากต่างชาติยอมรับในสัดส่วนการถือหุ้นภายใต้ธุรกิจที่เติบโตและมีกำไรก็ยังทำให้บริษัทสามารถเดินต่อไปได้ และถือว่าดีเพราะทำให้ภาพทุกอย่างมีความชัดเจนขึ้นและทำให้ต่างชาติเห็นถึงโครงสร้างการถือหุ้น

นางสาวจิตรา อมรธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ SYRUS กล่าวว่า บริษัทคาดว่าทางกลุ่มเทมาเส็กจะต้องลดสัดส่วนการถือหุ้น SHIN ให้เหลือต่ำกว่า 49% ซึ่งจะต้องมีการขายหุ้นออกมาประมาณ 47% เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542

ทั้งนี้ คาดว่าราคาเสนอขายหุ้นดังกล่าวจะต่ำกว่าช่วงที่เทมาเส็กเข้ามาลงทุนที่ราคาหุ้นละ 49.25 บาท ต่อหุ้น ทำให้เทมาเส็กขาดทุนจากการขายหุ้นดังกล่าว แต่มากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาเสนอขาย หากประเมินจากราคาหุ้นปัจจุบันที่ปรับตัวลดลงมาเหลือประมาณหุ้นละ 20 บาทต่อหุ้นจะทำให้กลุ่มเทมาเส็กขาดทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 40,700 ล้านบาท (คำนวณอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ต่อ 37 บาท)

"การที่เทมาเส็กจะขายหุ้นออกมาได้หรือไม่ ต้องติดตามว่านักลงทุนไทยรายใดที่จะเข้ามารับซื้อ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้ามารับซื้อในจำนวนที่สูง เพราะจะต้องใช้เงินก้อนใหญ่ และเป็นนักลงทุนที่มองเห็นถึงการเติบโตของหุ้นดังกล่าว" นางสาวจิตรา กล่าว

อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามในเรื่องของวิธีการขายว่าจะทำอย่างไร จะเป็นลักษณะการขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง หรือจะมีการขายออกมาผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นมีระยะเวลาในการดำเนินงานให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ต่างด้าว ภายใน 1 ปี

นักวิเคราะห์จากบล.พัฒนสิน จำกัด (มหาชน)หรือ CNS กล่าวว่า ราคาหุ้นที่เทมาเส็กจะขายออกมานั้นจะขึ้นอยู่กับที่ปรึกษาทางการเงินเป็นผู้ประเมิน และอ้างอิงกับราคาหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในกระดาน แต่จากการที่ภาวะตลาดไม่ดีอาจจะมีผลต่อการขายหุ้นออกมาของเทมาเส็กทำได้ลำบากมากขึ้น และจะทำให้มีผลขาดทุนจากการเข้ามาลงทุนในหุ้น SHIN แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนในขณะนี้

"กลุ่มเทมาเส็กจะต้องมีการขายหุ้น SHIN ออกมาเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นให้ไม่เกิน 50% ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถขายได้หรือเปล่า ส่วนราคาขายน่าจะต่ำกว่าราคาที่เทมาเส็กซื้อมา เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้อ และหุ้นกลุ่มสื่อสารเองไม่ค่อยเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน หลังจากที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องภาษีที่กระทรวงไอซีทีจะมีการแก้ไข สัญญาสัมปทานฯลฯ"

อย่างไรก็ตาม ต้องมีการติดตามว่าบริษัทดังกล่าวจะมีการเสนอขายออกมาในรูปใด เช่น การขายให้กับนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) หรือขายให้กับประชาชนทั่วไป (PO) โดยส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะมีการทยอยเสนอขายออกมาคงจะไม่ขายครั้งเดียวทั้งหมด

ส่วนหุ้นที่อยู่ในกลุ่มชินคอร์ป จะต้องมีการตรวจสอบดูว่าในแต่ละบริษัทใดมีนักลงทุนต่างชาติถือทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมเท่าไร ซึ่งคาดว่าบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)หรือ ITV จะมีสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศเกิน 50% ที่ต้องมีการลดสัดส่วนลง แต่ บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL นั้นมีนักลงทุนไทยถือหุ้นเกิน50% ซึ่งไม่เข้าข่าย

ทั้งนี้ในหุ้นกลุ่มชิน นั้น บริษัทแนะนำซื้อเพียง ADVANC โดยให้ราคาเหมาะสมหุ้นปีนี้ที่ 112 บาท ซึ่งคาดว่ารายได้ปีนี้จะอยู่ที่98,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปี 49 มีกำไรสุทธิ 21,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อน เนื่องจาก สงครามราคาในปีนี้จะไม่รุนแรงเหมือนในปีที่ผ่านมา และมีการรับรู้ในเรื่องค่าเชื่อมโยงเครือข่าย ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท

ส่วนบริษัท SATTEL นั้นยังมีความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนของลูกค้าอินเดียที่จะเซ็นสัญญา แต่คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาได้ภายในปีนี้ ซึ่งบล.พัฒนสิน เตรียมที่จะมีการประมาณรายได้ปี 50 ลดลง ขณะที่บริษัทแนะนำขายหุ้น บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน)หรือ CSL เพราะ ธุรกิจด้านอินเตอร์เน็ตมีการแข่งขันที่สูง มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ต่ำ (มาร์จิ้น) ทำให้มีผลประกอบการไม่ดี โดยคาดว่ากำไรสุทธิ 190 ล้านบาท ลดลง 17% จากปีก่อนจึงแนะนำขาย ด้านITV บริษัททำประมาณการผลขาดทุนปีนี้อยู่ที่ 411 ล้านบาท โดยบริษัทแนะนำขาย

สำหรับหุ้นกลุ่มสื่อสารปีนี้คาดว่าจะไม่ค่อยดี จากยังมีความไม่ชัดเจนในหลายด้าน ทางด้านภาษีสรรพสารมิตรของธุรกิจโทรคมนาคมที่จะมีการปรับเปลี่ยน ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย(อินเตอร์คอนเน็คชั่นชาร์ท )การแก้ไขสัญญาสัปทาน ความถึงความกดดันในเรื่องนอมินี แต่ก็มีบางบริษัทที่สามารถลงทุนได้ ซึ่งจะต้องเลือกลงทุนเป็นรายบริษัท เช่น หุ้นในกลุ่ม บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น ADVANC

ด้านนักวิเคราะห์บล.โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า แนวทางในการแก้ปัญหาโครงสร้างการถือหุ้น SHIN หากมีการตัดสินว่า บริษัท กุหลาบแก้วเป็นต่างชาติ มี 2 แนวทาง คือ การขายหุ้นในส่วนที่บริษัทกุหลาบแก้วถือโดย ดาโต๊ะสุรินทร์ ให้กับนักลงทุนสัญญาชาติไทยซึ่งมีความเป็นไปได้ แต่ที่สำคัญจะขายให้กับใคร และแนวทางที่สอง คือเทมาเส็กยอดลดสัดส่วนการงทุนในหุ้น SHIN โดยวิธี การเพิ่มทุนอีกเท่าตัว หรือขายหุ้นออกมา ให้กับนักลงทุนไทย แต่มีความเป็นไปได้น้อยที่จะขายให้กับใคร ซึ่งวิธีดังกล่าวทำได้ลำบากกว่าวิธีแรก และมีผลขาดทุนจากขายหุ้นออกมาจากราคาขายต่ำกว่าต้นทุนที่ซื้อ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.