|
ธปท.ชี้ช่องเลี่ยงมาตรการ30%
ผู้จัดการรายวัน(11 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
บริษัทยักษ์ใหญ่ปรับแผนกู้นอกอุตลุต หลังได้รับผลกระทบจากมาตรการกันสำรองเงินนำเข้า 30% กดดันผู้บริหารแบงก์ชาติต้องออกมาชี้ช่องลดผลกระทบจากมาตรการฯ แนะ ปตท.ไม่ต้องเอาเงินกู้เข้าเพื่อแลกเป็นเงินบาททั้งจำนวน แต่ให้กันส่วนที่ใช้ซื้อวัตถุดิบหรือเครื่องจักรจากต่างประเทศเป็นสกุลดอลลาร์ ลดภาระกันสำรอง ผู้บริหาร ปตท.สผ.ครวญจำเป็นต้องออกหุ้นกู้สกุลบาทไตรมาสแรก 3-4 พันล้าน ขณะที่ "ไออาร์พีซี" หันออกบาทบอนด์ขายในประเทศ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแผนปรับปรุงโรงกลั่นต้องเลื่อน 1-2 ปี
กรณีที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อนำเข้ามาลงทุนขยายกิจการว่าจะเข้าข่ายการกันสำรองเงินนำเข้า 30%หรือไม่นั้น วานนี้ นายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการแลกเงินและสินเชื่อ ธปท. กล่าวว่า ได้คุย ปตท.แล้วว่า เกณฑ์กันสำรองเงินทุนเป็นเกณฑ์ที่ใช้ครอบคลุมกับทุกกรณี รวมทั้งเงินกู้ กรณีของ ปตท.จึงต้องกันสำรองเงินทุนนำเข้า 30% ด้วย
"จะถือเป็นการเอาเงินมาลงทุนโดยตรงไม่ได้ เพราะเป็นเงินที่กู้เข้ามา ดังนั้น ต้องกันสำรองตามเกณฑ์แบงก์ชาติ" นายสุชาติกล่าวและว่า
ได้แนะนำผู้บริหาร ปตท.ไปด้วยว่าวงเงินที่จะกู้เข้ามาลงทุนนั้น ให้แยกระหว่างส่วนที่ต้องใช้ในการซื้อวัตถุดิบ เครื่องจักรหรืออุปกรณ์การก่อสร้างจากต่างประเทศ ส่วนนี้ให้ถือเป็นเงินดอลลาร์ฝากไว้ในต่างประเทศไม่ต้องนำมาแลกเป็นเงินบาท ซึ่งส่วนนี้ทำให้ไม่ต้องเสียต้นทุนในการกันสำรองเงินทุน 30% ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ เพราะการลงทุนของ ปตท.พึ่งพาสินค้านำเข้า นอกจากนั้นเท่าที่ประเมินต้นทุนการกู้เงินจากต่างประเทศแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่ ปตท.ต้องเสียรวมกับต้นทุนที่เกิดจากกันสำรองเงินทุน 30% ยังต่ำกว่าการกู้ในประเทศมาก จึงถือว่าคุ้มค่า
ปตท.สผ.เล็งออกหุ้นกู้ 3-4 พันล.Q1นี้
ด้านนายชัชวาล เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงินและบัญชี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯเตรียมออกหุ้นกู้วงเงิน 3,000-4,000 ล้านบาท อายุ 3 ปีภายในไตรมาส 1/2550 เพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจผลิตและสำรวจทั้งในและต่างประเทศ การออกหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นไปตามแผนงานเดิมก่อนที่แบงก์ชาติจะออกมาตรการสกัดค่าเงินบาท ซึ่งเชื่อว่าหุ้นกู้ดังกล่าวจะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกันสำรองของแบงก์ชาติมากนัก เนื่องจากมาตรการดังกล่าวมีผลทำให้การออกบอนด์ระยะยาวทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น และในปี 2551 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้ที่ดีขึ้น เนื่องจากรายได้จากแหล่งปิโตรเลียมอาทิตย์จะเริ่มรับรู้แล้ว
นอกจากนี้ ในช่วงเดือนก.ย. 2550 จะครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ซามูไรบอนด์จำนวน 8,000 ล้านบาท ซึ่งปตท.สผ.มีแผนจะรีไฟแนนซ์เป็นเงินบาทแทน ขณะที่กระแสเงินหมุนเวียนของปตท.สผ. 1.7 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ในการลงทุน
ปตท.เคมิคอลออกหุ้นกู้ 300 ล.ดอลล์
นายอดิเทพ พิศาลบุตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯมีแผนการลงทุนใน 3ปีนี้วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินทุนจะมาจากเงินเพิ่มทุนก่อนหน้านี้ 2.8หมื่นล้านบาท เงินทุนหมุนเวียน และเงินกู้อีก 700-800 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวอาจจะออกเป็นหุ้นกู้สกุลบาทล็อตแรกจะออก 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะดำเนินการในครึ่งปีหลังนี้ เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างโรงงานโอเลฟินส์กำลังการผลิต 1 ล้านตันต่อปี และโรงงานผลิตแคกเกอร์และแอลดีพีอี
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนการลงทุน 5 ปีข้างหน้าในเครือปตท.จะใช้เงินลงทุน 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้ยืมประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท ขณะที่ปตท.เองลงทุน 2 แสนล้านบาท โดยจะกู้เงิน 5 หมื่นล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า โดยปีนี้ยังไม่ได้มีการวางแผนว่าจะกู้เงินในและต่างประเทศจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของตลาดโดยมีต้นทุนทางการเงินน้อยที่สุด แต่คงต้องหารือกับแบงก์ชาติ เนื่องจากมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่กำหนดให้กันสำรอง 30%ของเงินทุนไหลเข้านั้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น
ส่วนผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ความต้องการใช้พลังงานในประเทศลดลง ซึ่งปตท.คงไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในประเทศมากนัก ขณะที่ปัจจัยตลาดพลังงานในตลาดโลกจะส่งผลกระทบมากกว่า อาทิ ราคาน้ำมันตลาดโลก มาร์จินปิโตรเคมีและค่าการกลั่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่ายอดขายปีนี้จะขยายตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้วประมาณ 5-10 %
IRPCออกบาทบอนด์ขายใน ปท.
นายปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)(IRPC) เปิดเผยว่า แผนการลงทุนในปีนี้จะเดินหน้าต่อ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการสกัดเก็งกำไรค่างินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีผลต่อการออกหุ้นกู้ต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯต้องปรับแผนการออกหุ้นกู้ 800 ล้านเหรียญสหรัฐใหม่เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ที่จะครบกำหนดชำระในเดือนกันยายนนี้ โดยบริษัทจะหารือกับธปท.ว่ากรณีการรีไฟแนนซ์หนี้เข้าข่ายที่ต้องกันสำรอง 30% หรือไม่ หากธปท.ยืนยันว่ามาตรการดังกล่าวครอบคลุมทั้งหมด บริษัทก็คงไม่สามารถที่จะไปกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อนำมารีไฟแนนซ์หนี้ดังกล่าวได้
จึงมีความเป็นไปได้ที่จะออกพันธบัตร(บอนด์)สกุลเงินบาทเพื่อจำหน่ายในประเทศวงเงิน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำไปรีไฟแนนซ์ ส่วนหนี้ที่เหลืออีก 400 ล้านเหรียญสหรัฐก็จะกู้จากสถาบันการเงินในประเทศหรือนำเงินทุนหมุนเวียนที่มีอยู่ประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาทหลังจ่ายเงินปันผลงวดปี 2549แล้ว นำมาชำระหนี้บางส่วน เชื่อว่าระยะยาวสถานการณ์จะคลี่คลายหลังมีการเลือกตั้งใหม่
ส่วนแนวทางการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมนั้น แม้ว่าจะไม่เข้าข่ายต้องกันสำรอง 30% แต่เชื่อว่าผู้ถือหุ้นก็คงไม่ยินยอม เนื่องจากสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัท(D/E)ต่ำมากเพียง 0.4 เท่า ซึ่งมีเพดานการกู้เงินอีกมาก
"การรีไฟแนนซ์ในประเทศไทยไม่มีปัญหา เพราะจะนำเงินหมุนเวียนที่เหลือมาใช้ได้ และก็เตรียมออกบอนด์ในประเทศ แต่คงได้ไม่มากนัก แต่ถ้ามากกว่านั้นไม่น่าทำได้ เราก็ต้องไประดมทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นจริงๆถึงจะทำ เพราะจะทำให้ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นถึง 30% หากแบงก์ชาติผ่อนผันก็อาจปรัรบแผนการออกหุ้นกู้เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐและกู้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐก็เป็นได้" นายปิติกล่าว
ซึ่งแผนการลงทุนของไออาร์ซีพีจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง โครงการขุดรอกท่าเรือน้ำ ส่วนโครงการปรับปรุงคุณภาพโรงกลั่นน้ำมัน จากเดิมที่จะดำเนินการในปีนี้ ก็อาจจะต้องเลื่อนออกไปอีก 1-2 ปี เนื่องจากต้นทุนการเงินสูงและมาตรฐานยูโร 4 เลื่อนออกไป
นายปิติ กล่าวถึงพระราชบัญญัติประกอบกิจการของคนต่างด้าวใหม่นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ เพราะมีผู้ถือหุ้นต่างชาติถือหุ้น IRPC อยู่ไม่ถึง 20%.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|