|
กม.สกัดทุนนอกถล่มตลาดหุ้น ดัชนีจ่อ 600-S&P เล็งลดเกรด
ผู้จัดการรายวัน(10 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดหุ้นยังไม่หมดเคราะห์รับผลกระทบจากการอนุมัติแก้พ.ร.บ.ต่างชาติฉุดดัชนีรูดต่อ 17 จุด นักลงทุนต่างชาติยังกระหน่ำขายไม่หยุด ตลท.เร่งแจงข้อมูลเชื่อกระทบบริษัทจดทะเบียนไม่เกิน 15 บริษัท เตือนนักลงทุนอย่าตระหนกกับข่าวที่เกิดขึ้นจนเกินไป ขณะที่ก้องเกียรติ ระบุเรื่องที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการปิดประตูตอนรับต่างประเทศ หวั่นโดนตอบโต้ด้วยมาตรการกีดกั้นการส่งออก ด้านโบรกฯเตือนข่าวร้ายยังไม่จบหาก S&P ลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย
ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (ม.ค.) ตลอดช่วงเช้าดัชนียังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆก่อนจะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงหลังคณะรัฐมนตรีมีการอนุมัติการแก้ไขพรบ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยดัชนีปิดที่ระดับ 616.75 จุด ลดลง 17.07 จุด หรือ 2.69% โดยระหว่างวันจุดสูงสุดอยู่ที่ระดับ 636.59 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 615.66 จุด มูลค่าการซื้อขาย 21,808.91 ล้านบาท
นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 273.94 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 406.27 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 680.20 ล้านบาท
นางภัทรียา เบญพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่าจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจต่างด้าว พ.ศ.2542 พบว่ามีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขพรบ.ต่างด้าวไม่เกิน 15 บริษัท โดยอยู่ในธุรกิจสื่อสาร อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำให้ต้องมีการลดสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ แต่บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะอยู่ในบัญชีที่ 3 ซึ่งไม่ต้องมีการดำเนินการใด
ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ขอให้ทางบริษัทจดทะเบียนมีการทำความเข้าใจในเรื่องการแก้ไขนิยามดังกล่าว ซึ่งหากบริษัทจดทะเบียนแห่งใดต้องการชี้แจงว่าบริษัทไม่ได้รับผลกระทบหรือต้องการชี้แจงข้อมูลเพื่อให้นักลงทุนทราบถึงแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขคำนิยามคนต่างด้าวที่มีการระบุในพ.ร.บต่างด้าว
“การที่ดัชนีฯมีการปรับตัวลดลง เกิดจากนักลงทุนมีความกังวล ซึ่งปกติแล้วเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามก็จะทำให้นักลงทุนมีความกังวล ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลจะมีการชี้แจงข้อมูลให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจได้”นางภัทรียา กล่าว
สำหรับการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลในเรื่องการแก้ไขพ.ร.บ.ต่างด้าว จึงมีการขายหุ้นออกมาก่อน แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากนัก อย่างไรก็ตามนักลงทุนในประเทศไม่ควรที่จะกังวลในเรื่องดังกล่าวมากนัก
นางภัทรียา กล่าวอีกว่า การสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยให้กับคืนมาจะได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับภาครัฐบาลว่าจะมีการชี้แจงให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าใจรวมถึงการอธิบายรายละเอียดของพ.ร.บ.ที่มีการแก้ไขให้นักลงทุนเข้าใจมากที่สุด
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (สธท.) กล่าวว่า จากการที่ครม.อนุมัติหลักการตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอขอแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เรื่องดังกล่าวบ่งชัดว่าเป็นการไม่ต้อนรับการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งน่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติคงจะไม่มีการลงทุนเพิ่มในประเทศไทย
ทั้งนี้ นักลงทุนไทยในประเทศก็ไม่มั่นใจต่อการเข้ามาลงทุนในประเทศ ซึ่งบริษัทใดที่จำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นให้มีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 49 ตามที่กฎหมายกำหนดด้วยการหานักลงทุนไทยเข้ามาถือหุ้นให้เกิน 51% น่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย เพราะมีนักลงทุนไทยเพียงไม่กี่รายที่มีเงินที่มากพอที่จะรองรับการปรับโครงสร้างดังกล่าว
นอกจากนี้ เชื่อว่าจากสิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้นักลงทุนต่างชาติจะไม่สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีก และจะมีการถอนเงินออกอย่างต่อเนื่องซึ่งก็จะทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงมา โดยกลุ่มธุรกิจทีได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก รถยนต์ และธุรกิจโทรคมนาคม
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในตลาดหุ้นก่อนหน้าทยอยถอนเงินออกจากไทย เพราะนโยบายภาครัฐไม่สนับสนุนการลงทุนของต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนที่เตรียมที่เข้ามาลงทุนก็จะยกเลิกการเข้ามาลงทุน
“ผมเตือนหลายครั้งแล้วว่าหากผ่าน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เท่ากับเป็นการไม่ต้อนรับนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเงินลงทุนต่างชาติอยู่ ดังนั้นเท่ากับเป็นการกีดกันต่างชาติ ซึ่งไม่มั่นใจว่าต่างชาติจะมีมาตรการตอบโต้ประเทศไทยด้วยการกีดกันการส่งออกหรือไม่” นายก้องเกียรติกล่าว
เศรษฐกิจพลอยได้รับผลกระทบ
นายอมฤต ศุขะวนิช กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ผลกระทบจะเกิดขึ้นทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นไทย และระบบเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นการจำกัดในเรื่องการลงทุนซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างประเทศมีการลดการลงทุนในประเทศไทยลง
ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้ภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงจากนี้จะยังแกว่งตัวในกรอบแคบๆ หรือปรับตัวลดลงได้ต่อเพราะยังมีแรงเทขายทยอยขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่การขายหุ้นออกมาในช่วงนี้อาจจะทำได้ไม่ง่ายนักเพราะไม่มีนักลงทุนในประเทศที่สามารถเข้ารองรับการขายหุ้นได้ทั้งหมด
"ขณะนี้นักลงทุนต่างประเทศที่ไม่มีความจำเป็นที่จะลงทุนในตลาดหุ้นไทยแล้วเชื่อว่าจะมีการขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แต่การที่นักลงทุนต่างประเทศจะมีการลดสัดส่วนการถือหุ้นลดลงนั้นก็สามารถทำได้ลำบาก เพราะติดปัญหาอยู่ที่อยากขายแต่มีใครเข้ามารับซื้อ "นายอมฤต กล่าว
S&Pอาจลดความน่าเชื่อถือไทย
นายกัณฑรา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ SYRUS กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สถาบันจัดอันดับความน่าลงทุนแสตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส หรือ S&P อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ BBB+ มุมมองมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ จากเรื่องดังกล่าวอาจจะทำให้ในช่วงสั้นๆจะยังมีแรงเทขายออกมาอย่างต่อเนื่องจนทำให้ดัชนีปรับตัวลดลง เพราะปัจจัยลบก่อนหน้าทั้งเรื่องมารตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ การแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าน (นอมินี) ที่ยังไม่มีความชัดเจนและยังเป็นปัจจัยหลักๆที่กระทบต่อการลงทุน
จ่อหลุด600จุดสัปดาห์นี้
นายชัย จีระเสรีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.พัฒนสิน กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยก็มีการปรับตัวลดลงทันทีหลังการอนุมัติแก้ไขพ.ร.บ. โดยส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อภาวะตลาดหุ้นไทยให้มีการแกว่งตัวในกรอบแคบๆไปอีก 1 -3 เดือนข้างหน้า
สำหรับแนวโน้มภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ เชื่อว่าดัชนีตลาดหุ้นจะยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง จากนักลงทุนกังวลของนักลงทุนว ซึ่งจะต้องติดคาดว่าทางการจะมีการชี้แจงให้นักลงทุนต่างประเทศมีความเข้าใจเรื่องดังกล่าวได้มากน้อยแค่ไหน โดยส่วนตัวเชื่อว่าดัชนีมีโอกาสสูงที่จะหลุด 600 จุด ในสัปดาห์นี้ โดยบริษัทประเมินแนวรับที่ระดับ 605-600 จุด แนวต้านที่ระดับ 625 จุด
นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห็ทางเทคนิค บล.ทิสโก้ กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้บริษัทแนะนำให้นักลงทุนขายทำกำไร เพื่อรอประเมินสถานการณ์ภายในประเทศก่อนที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุน โดยแนวโน้มตลาดหุ้นในวันนี้คาดว่าดัชนีจะปรับตัวลดลงต่อได้ โดยประเมินแนวรับที่ 600 จุด และแนวต้านที่ 621-625 จุด
“แนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งเราวางเป้าหมายตลาดหุ้น 6 เดือนข้างหน้าดัชนีอยู่ที่ระดับ 585 –560 จุด”นายวิวัฒน์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|