"แวง แลบอราทอรี่ส์ อาณาจักรแห่งนี้ฤาไม่มีวันล่มสลาย"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงระยะ 30 ปีที่ผ่านมา แวง แลอราทอรี่ส์ ก้าวหน้าเติบโตขึ้นจนนับอยู่ในแถวหน้าของธุรกิจคอมพิวเตอร์สหรัฐฯ และเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่วงการต่างจับตาดูไม่กะพริบ ขณะเดียวกันความสำเร็จของอัน หวาง ชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพไปอยู่ที่สหรัฐฯ และก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์ ก็คือตำนานคลาสสิกที่น่าศึกษาเป็นบทเรียนทางธุรกิจอีกบทหนึ่ง โดยในภาคที่ว่าด้วยความล้มเหลว

ช่วงทศวรรษ 1960 อัน หวาง เปิดฉากธุรกิจของเขาด้วยการผลิตเครื่องคำนวณราคาถูกสำหรับใช้กับโปรแกรมประยุกต์บางโปรแกรมในคอมพิวเตอร์เมนเฟรม อีกหนึ่งทศวรรษถัดมาก็เริ่มผลิตเครื่องเวิร์ดโพรเซสเซอร์ที่ช่วยให้บรรดาเลขานุการทั้งหลายหลุดพ้นจากงานพิมพ์ดีดอันเคร่งเครียด ขณะที่แวง แลบอราทอรี่ส์ ได้ขยับฐานะขึ้นเป็นหนึ่งในกิจการบริษัทธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก และเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้าสร้างสรรค์ที่สุด

"มันเป็นเรื่องที่ทั้งน่าตื่นเต้น เต็มไปด้วยพลวัตและน่าอัศจรรย์" เจค จาคอบสัน อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของแวงในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 เล่าถึงบรรยากาศขณะนั้น "สถานการณ์ตอนนั้นทำให้คุณรู้ว่าคุณไม่มีวันก้าวหน้าในอาชีพการงานได้ อย่างในช่วง 13 ปีนั้นอีกแน่ๆ การเติบโตของแวง นับเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งทางธุรกิจของสหรัฐฯ ทุกๆ วันเราคอยไล่กวดไอบีเอ็ม เราได้ติดอันดับบริษัทเด่น 500 แห่งของฟอร์จูน เราเริ่มออกโฆษณาทางดทรทัศน์ เข้าไปสนับสนุนการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดัน "ยูเอสโอเพ่น" และการแข่งขันกอล์ฟ เราเข้าไปร่วมในกิจกรรมชุมชนพนักงานของเราได้ค่าตอบแทนในอัตราที่สูง และดูเหมือนว่ากิจการจะมั่นคงดี"

ทว่า ตำนานความสำเร็จเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ เท่านั้น กลางทศวรรษ 1980 ขณะที่แวงมีพนักงานราว 30,000 คนและยอดขายต่อปีเกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์ ผู้บริหารของแวงกลับดำเนินการผิดพลาด ส่งผลให้บริษัทมีภาระหนี้สินสูงมาก การพัฒนาคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ขึ้นในตลาดคอมพิวเตอร์ ทำให้ระบบเวิร์ดโพรเซสซิ่งของแวงกลายเป็นสิ่งล้าสมัย กิจการที่เคยทำยอดรายได้เพิ่มขึ้น 10 เท่าตัวในช่วงเวลาระหว่างปี 1977 ถึง 1982 กลับต้องตกเป็นหนี้สูงถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ ในระหว่างปี 1987-1991

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แวงถึงกับต้องยื่นขอความคุ้มครองจากศาลภายใต้กฎหมายล้มละลาย Chpter 11 เพื่อขอเวลาสำหรับการปรับโครงสร้างกิจการ และสางปัญหาภายใน ราคาหุ้นของแวงที่เคยวิ่งขึ้นไปถึง 42.5 ดอลลาร์ต่อหุ้น ก็กลับดิ่งลงมาอยู่ที่ 25 เซ็นต์ สำหรับพนักงานที่เคยฝากความหวังในบั้นปลายการทำงานกับหุ้นของแวงจึงนับว่าเผชิญกับโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ทีเดียว และนับเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจครอบครัว พึงเก็บรับและศึกษาอย่างละเอียดเช่นกัน

บทเริ่มต้นของคนบุกเบิก

โดยบุคลิกแล้ว อัน หวาง ไม่ได้เหมือนกับนักธุรกิจทั่วๆ ไป เขาเป็นคนรูปร่างเล็ก ออกจะเหนียมอาย และเมื่อต้องพบปะผู้คนที่ไม่คุ้นเคยก็มักจาตะกุกตะกัก ทว่า หวางมีความคิดในแบบวิทยาศาสตร์ และเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก

"เขาไม่ใช่คนช่างพูด" แฟรงค์ เฉิน ผู้จัดการฝ่ายการตลาดผู้ดูแลธุรกิจเครื่องคำนวณของแวงในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ให้ความเห็น "แต่ถ้าเขาพูดขึ้นมาล่ะก็ แปลว่ามีเรื่องต้องพูดกันยาวทีเดียว"

หวางเกิดที่เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 1920 เมื่ออายุ 16 ปี จึงได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเฉียว ตุง แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะถูกญี่ปุ่นโจมตีในปีถัดมา หวางก็ได้ศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าในวิทยาลัยของฝรั่งเศส และยามว่างก็เล่นกีฬาปิงปอง โดยมีงานแปลนิตยสารด้านวิทยาศาสตร์จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาจีนเป็นงานอดิเรก จนกระทั่งปี 1940 จึงจบการศึกษาและปี 1941จึงย้ายไปอยู่ที่กุ้ยหลิน เริ่มออกแบบและผลิตอุปกรณ์วิทยุให้กับรัฐบาลจนกระทั่งกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อีกสี่ปีถัดมารัฐบาลจีนส่งหวางไปศึกษาต่อด้านฟิสิกส์ประยุกต์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจนจบปริญญาเอกในปี 1948

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจากชีวิตในช่วงสงครามโลกไปสู่การเป็นนักศึกษาในสหรัฐฯ นั้นจะเป็นการพลิกผันเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่หวางกลับพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาสามารถปรับตัวได้อย่างดี ต่อมาเมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์กำราบรัฐบาลเจียง ไค-เช็ค ได้สำเร็จ และหวางได้ทราบข่าวว่าพ่อแม่ของเขาเสียชีวิตแล้ว ส่วนพี่น้องก็พรัดพรากจากกันไปในระหว่างสงคราม เขาจึงตัดสินใจปักหลักอยู่ที่สหรัฐฯ อย่างถาวร ปี 1948 หวางได้เข้าทำงานที่ "ฮาร์วาร์ด คอมพิวเทชั่นแลบอราทอรี่" โดยจับงานในส่วนการวิจัยเกี่ยวกับระบบความจำแบบแม่เหล็กเพื่อใช้กับคอมพิวเตอร์ จากนั้นอีก 3 ปีเขาก็รวบรวมเงินออมได้ราว 600 ดอลลาร์ และนำไปเช่าพื้นที่สำนักงานขนาด 19 ตารางเมตรในอาคารแห่งหนึ่งในเมืองบอสตัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการ "แวง แลบอราทอรี่ส์" นั่นเอง

อีกสามทศวรรษหลังจากนั้น แวง แลบอราทอรี่ส์ก็ก้าวขึ้นเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ที่ได้รับความเชื่อถือสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเริ่มต้นจากการผลิตเครื่องคำนวณ แล้วขยับขยายไปผลิตคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก เวิร์คสเตชั่นสำหรับสำนักงานและมินิคอมพิวเตอร์ สำหรับหวางแล้ว ความสำเร็จได้มาอย่างง่ายดายด้วยการผสมผสานหลักคำสอนของขงจื๊อเข้ากับหลักการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจในแบบอเมริกัน และความสามารถที่จะผลักดันธุรกิจไปข้างหน้าโดยไม่ก่อศัตรูด้วยการขัดขวางผู้อื่น

ไม่ปรับตัวเท่ากับ "ล้มเหลว

ความสำเร็จอันโดดเด่นที่สุดและถือเป็นการปฏิวัติทางธุรกิจครั้งสำคัญของแวงก็คือ การพัฒนาเครื่องเวิร์ดโพรเซสเซอร์ที่ใช้งานได้สะดวกในช่วงกลางทศวรรษ 1970 สินค้าตัวนี้ทำกำไรให้กับแวงอย่างมหาศาลและดูเหมือนจะไม่มีวันหมดเลยทีเดียว

กระนั้น ปัญหาประการหนึ่งที่ซุกซ่อนตัวอยู่ภายในองค์กรแวงมาตลอดก็คือ ระบบการผลิตที่จำกัดตัวเองอยู่กับเวิร์ดโพรเซสซิ่ง โดยไม่อาจปรับเข้ากับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อื่นๆ เลย ครั้งหนึ่งบ๊อบ โคลด์ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายพัฒนา เคยเสนอความเห็นว่าบริษัทควรจะขยายแนวธุรกิจไปสู่การผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลด้วย ปรากฏว่าหวางกลับแสดงท่าทีกราดเกรี้ยวและตะโกนตอบเขาว่า "ไม่"

แล้วคำตอบดังกล่าวก็ย้อนมาให้ร้ายต่อหวางในภายหลัง โดยเมื่อปี 1984 ซึ่งเป็นปีที่ยักษ์ใหญ่วงการคอมพิวเตอร์เริ่มเปิดตัวคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไปได้ 3 ปีแล้ว กิจการแวงได้ก้าวเข้าสู่มุมอับอย่างชัดเจน หวางผู้เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีสายตายาวไกล กลับต้องเผชิญความล้มเหลวครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์อย่างที่แซม แกกลิเอียโน อดีตหัวหน้าฝ่ายผลิตสินค้าของแวงให้ทัศนะว่า "หวางมองข้ามความสำคัญของพีซีไป" ซ้ำร้ายตัวหวางเองก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จากที่เคยเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน หวางกลับเชื่อมั่นแต่ความคิดของตนเองเป็นใหญ่ ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่ว่าเขาจะไปที่ไหน ผู้คนแวดล้อมตลอดจนสื่อมวลชนต่างพากันยกย่องเขาว่าเป็นคนฉลาดปราดเปรื่อง เขาเคยได้รับเหรียญรางวัลชมเชยจากโรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วย ชื่อเสียงและความร่ำรวยของเขาได้กลายเป็นสิ่งที่บังตาจนเขาไม่เชื่อว่าเขาได้ก่อความผิดพลาดใหญ่หลวงเสียแล้ว

วังวนของธุรกิจครอบครัว

ยิ่งกว่านั้น บรรดาพนักงานผู้มีความรู้ความสามารถของแวง แลบอราทอรี่ส์ต่างต้องตกตะลึงครั้งใหญ่ เมื่อหวางประกาศในปี 1980 ว่าจะให้เฟรด หวาง บุตรชายคนโตเข้าไปบริหารงานในส่วนการวิจัยและพัฒนา แม้ว่าเฟรดจะมีความรู้ความสามารถแต่ความที่เป็นคนรักสงบ และประนีประนอมทำให้เขาขาดบุคลิกการเป็นผู้นำองค์กรที่ต้องแข่งขันกันอย่างหนักในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์

หลังจากเฟรดเข้ารับผิดชอบงานในส่วนการวิจัยและพัฒนาได้ 3 ปี เขาได้ประกาศว่าจะเปิดตัวสินค้าใหม่ในวันที่ 4 ตุลาคม 1983 ครั้งนั้นับเป็นช่วงเวลที่สำคัญมากเพราะบริษัทไม่ได้วางตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการมาเป็นเวลาราว 5 ปีแล้ว ทว่า เมื่อจาคอบสันซึ่งดูแลด้านการตลาดต่างประเทศมาพบความจริงว่า ผลิตภัณฑ์ที่เฟรดเตรียมเปิดแถลงข่าวนั้นยังเป็นเพียงแนวคิดที่ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะยังไม่ได้เริ่มแม้แต่ขั้นการเขียนรหัสซอฟต์แวร์ อีกทั้งบริษัทไม่สามารถระบุกำหนดเวลาในการนำผลิตภัณฑ์นี้ออกตลาดได้แน่นอน เขาจึงเสนอความเห็นแย้ง

แต่ทั้งเฟรด หวาง และอัน หวาง ก็ไม่ได้สนใจแม้แต่น้อย เมื่อถึงวันแถลงข่าว สื่อมวลชนต่างพากันสรรเสริญว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นการก้าวกระโดดของวงการ ทั้งยังดันให้ราคาหุ้นของแวงพุ่งขึ้นถึง 10% ภายในเวลา 2 วัน และจนแล้วจนรอด สินค้าใหม่ทั้ง 13 รายการของแวงก็ไม่ได้วางตลาดหรือวางตลาดล่าช้ามาก แถมสินค้าเหล่านี้ก็ไม่ได้มีขีดความสามารถอย่างที่แถลงไว้เสียด้วย ความน่าเชื่อถือของแวงจึงเริ่มลดน้อยถอยลงโดยลำดับ

นอกจากตัวหวางแล้ว ผู้บริหารคนสำคัญของแวงอีกคนหนึ่งก็คือ จอห์น คันนิ่งแฮม กรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งเข้าทำงานที่แวงตั้งแต่ปี 1967 จากตำแหน่งพนักงานขายประจำชิคาโกแล้วไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารดังกล่าวในปี 1983

คันนิ่งแฮมเป็นคนฉลาดปราดเปรื่องและคล่องแคล่ว อันเป็นบุคลิกด้านตรงข้ามของหวาง เขาจึงมักได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานกับธนาคาร นักวิเคราะห์ และลูกค้า ขณะเดียวกันพนักงานในบริษัทก็เชื่อถือเขามาก ส่วนลอร์เรน หวาง ภรรยาของอัน หวาง ถึงกับถือเขาเป็นลูกชายคนหนึ่งทีเดียว แต่ต่อมาหวางกลับย้ายเขาไปดูแลงานในโรงงานแล้วให้เฟรด หวาง ผู้อ่อนประสบการณ์ รับผิดชอบงานส่วนการผลิตแทน ซึ่งครั้งนี้นับเป็นความผิดพลาดครั้งที่สองของหวาง และสร้างความตึงเครียดขึ้นภายในองค์กร ตัวคันนิ่งแฮมเองก็ถึงกับตะลึงงันและสิ้นหวัง เพราะเคยคิดอยู่เสมอว่าเขาจะต้องเป็นประธานกรรมการของบริษัทหลังจากที่หวางเกษียณไปแล้ว ต้นปี 1985 คันนิ่งแฮมไม่อาจรับสภาพที่เกิดขึ้นกับเขาได้จึงตัดสินใจลาออกจากแวง พร้อมกับขายหุ้นในบริษัทที่เขาถืออยู่ทั้งหมด แล้วใช้เวลาอีกครึ่งปีกับการเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก และพบปะเพื่อนฝูง

ช่วงปลายปี 1985 เกิดข่าวลือในวงการคอมพิวเตอร์ว่า แวง แลบอราทอรี่ส์ กำลังเผชิญกับปัญหายุ่งยากอย่างหนัก เนื่องจากตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเติบโตชนิดพุ่งพรวดและทำให้อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ปรากฏว่าแวงกลับไม่สามารถปรับตัวเองตามกระแสได้ทัน ชื่อเสียงในฐานะกิจการของผู้มองการณ์ไกลจึงเลือนจางไปตามกาลเวลา

ยักษ์ใหญ่ล้มดัง

5 มิถุนายน 1985 คือดีเดย์ที่แวง แลบอราทอรี่ส์ เริ่มดำเนินการปลดพนักงานออกจำนวน 1,600 คนทั่วโลก นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัทและทำลายขวัญและกำลังใจพนักงานโดยเฉพาะที่สำนักงานใหญ่ในโลเวลล์, แมสซาชูเซตต์ อย่างรุนแรง หลังจากนั้น แวงต้องประกาศปลดพนักงานออกอีกเป็นระลอกๆ ทั้งที่เคยเป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินมั่นคง และดูแลพนักงานราวกับเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน

ในอดีตนั้นแวงเคยส่งพนักงานขายราว 2,000 คนไปท่องเที่ยวที่โรม, อิตาลี กับคู่สามีหรือภรรยา เคยซื้อสนามกอล์ฟขนาด 9 หลุมและสโมสรสำหรับรับรองพนักงานโดยเฉพาะ เคยให้สวัสดิการดูแลบุตรพนักงานและสวัสดิการด้านสุขภาพถึงระดับที่เหนือกว่าบริษัทอื่นอย่างเทียบกันไม่ได้ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของแวงรายหนึ่งกล่าวชมหวางว่า "พนักงานทุกคนชอบเขา และชื่ชมในตัวเขาอย่างมากว่าเป็นผู้นำด้วยการปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง เขาทำงานหนัก"

มันเป็นสัญญาณบอกถึงความตกต่ำของดร.หวาง" จาคอบสันให้ความเห็น ต่อกรณีที่หวางมักเข้มงวดกวดขันกับการใช้จ่ายภายในบริษัททุกๆ ด้านถึงขนาดที่เคยนำเอาประเด็นการลดค่าใช้จ่าย สำหรับซื้อผ้าอนามัยในห้องน้ำสตรีมาถกเถียงกัน และดร.หวางผู้เคยประกาศว่าจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำวงการคอมพิวเตอร์แทนไอบีเอ็มภายในปี 1995 กลับคอยวุ่นวายกับการออกคำสั่งให้พนักงานปิดไฟในอาคารสลับดวงเว้นดวงเพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า

เดือนมกราคม 1987 คณะกรรมการบริษัทของแวงเริ่มตั้งคำถามกับการบริหารงานของเฟรด หวาง และไม่อาจยอมรับคำยืนยันจากอัน หวาง ที่เคยรับประกันว่าเฟรดจะบริหารงานได้อีกต่อไป ยิ่งกว่านั้นบรรดาผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างก็แสดงท่าทีไม่พอใจต่อสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ของบริษัทด้วย และยังพยายามหาทางกดดันให้หวางเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทเสีย ทว่า คำตอบของหวางคือ "เขาเป็นลูกชายของผม...ผมเชื่อว่าเขาทำได้"

แต่แล้ววันที่ 31 กรกฎาคม 1989 แวง แลบอราทอรี่ส์ก็ประกาศว่าบริษัทประสบผลขาดทุนในช่วงไตรมาสก่อนหน้านั้นถึง 375 ล้านดอลลาร์ อีก 8 วันถัดมา หวางซึ่งล้มป่วยลงด้วยโรคหัวใจก็ประกาศเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในชั้นแรกนั้นหวางต้องการดึงตัวคันนิ่งแฮมกลับมา แต่เมื่อคันนิ่งแฮมเรียกร้องผลตอบแทนสูงมากพร้อมกับเงื่อนไขอื่นๆ อีก หวางกลับไม่ยอมตาม และการปฏิเสธครั้งนี้ของหวางก็นับเป็นความผิดพลาดอีกครั้งหนึ่ง เพราะในสถานการณ์ขณะนั้น มีเพียงคันนิ่งแฮมเท่านั้นที่สามารถกอบกู้กิจการขึ้นมาได้เพราะเคยได้รับความเชื่อถือจากบรรดาธนาคารและลูกค้า

สถานการณ์ของแวงยิ่งเลวร้ายหนักลงอีกเมื่อหวางเป็นมะเร็งที่คอจนไม่อาจดูแลกิจการได้ด้วยตนเองอีก เขาตัดสินใจจ้างริชาร์ด มิลเลอร์ ประธานฝ่ายสินค้าคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ของเจเนอรัล อิเล็กทริค โค.เข้ามาสางปัญหา แต่ความที่มิลเลอร์ไม่เคยอยู่ในธุรกิจคอมพิวเตอร์มาก่อน แวงจึงไม่อาจฟื้นตัวได้เสียที ปี 1991 มิลเลอร์จึงยอมลงนามในสัญญารับเป็นผู้จำหน่ายคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็มแก่ลูกค้าของตน โดยที่ไอบีเอ็มจะจ่ายเงินให้กับแวงทันทีเป็นจำนวน 25 ล้านดอลลาร์และจะจ่ายในภายหลังอีก 75 ล้านดอลลาร์

การตัดสินใจของมิลเลอร์ครั้งนี้ถูกโจมตีอย่างหนักว่า ทำให้ชื่อเสียงของแวงต้องตกต่ำลงไปอีกเพราะเป็นการประกาศให้คนทั่วไปรับรู้ว่าแวงนั้นไม่มีศักยภาพในเชิงเทคโนโลยีอีกแล้ว ยิ่งกว่านั้นแม้แต่พนักงานขายของแวงเองก็ยังสับสนเกี่ยวกับการแนะนำลูกค้า เพราะไม่อาจอธิบายได้ว่าทำไมลูกค้าจึงควรซื้อเครื่องไอบีเอ็มจากแวง ในเมื่อเขาสามารถซื้อได้จากพนักงานของไอบีเอ็มได้โดยตรง ท้ายที่สุด อัน หวาง จึงต้องตัดสินใจแจ้งขอความคุ้มครองจากศาลภายใต้กฎหมายล้มละลาย Chapter 11 เพื่อขอเวลาในการดำเนินการปรับโครงสร้างกิจการซึ่งนับได้ว่าความพยายามเฮือกสุดท้ายของหวางก่อนที่จะเสียชีวิตเมื่อ 24 มิถุนายน 1990

ทว่า สิ่งที่น่าประหลาดก็คือ ผู้ที่เข้าใจดีถึงการตัดสินใจของดร.หวางในการเลือกเฟรด หวาง เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทกก็คือ จอห์น คันนิ่งแฮม นั่นเอง เขาชี้ว่าเหตุผลของอัน หวาง นั้นไม่ใช่ความเชื่อมั่นแต่ตัวตัวอเงจนกระหายที่จะสร้างอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ แต่เป็นเพราะว่า "บทบาทในการส่งมอบอำนาจในการบริหารดูแลธุรกิจนั้นก็มีลักษณะเหมือนกับแบบแผนของชาวเอเชียในเรื่องอื่นๆ คือบุตรชายจะเป็นผู้ที่มีสิทธิโดยชอบธรรม"

เมื่อเป็นเช่นนี้ การตัดสินใจของอัน หวาง ก็ไม่ใช่เพียงความใฝ่ฝันอันแรงกล้าของเขาเท่านั้นหากยังเป็นภาระหน้าที่ของเขาด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.