"บริษัทประเทศไทย จะโตหรือแท้ง ?"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

"ความเป็นบริษัทประเทศไทยเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว ช่วง 4 ปีผ่านมา การออกไปลงทุนต่างประเทศของบริษัทคนไทยสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัว เหตุผลคือเพื่อขยายโอกาสปัจจัยของความได้เปรียบในการผลิตและตลาด แต่อุปสรรคหลายอย่างมีมากไม่น้อย บริษัทประเทศไทยมีเทคนิคของการปรับตัวอย่างไรเพื่อหาโอกาสโตต่อไป"

กว่า 10 ปีก่อน ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มซี.พี. นั่งใช้ความคิดอย่างหนักในสำนักงานบนตึกอาคารทวิช คลองเตย สายตาเหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง เพื่อค้นหาคำตอบอะไรบางอย่างสำหรับอนาคตข้างหน้าของกลุ่มซี.พี.

กลุ่มซี.พี. มักตกเป็นจำเลยในสายตาของผู้มีอำนาจบางคนและกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศไทยว่า เป็นกลุ่มอิทธิพลที่มีอำนาจผูกขาดเศรษฐกิจ พวกเขามักอ้างตัวอย่างความใหญ่โตในอุตสาหกรรมปศุศัตว์ของซี.พี. เป็นสัญลักษณ์ของการให้ความหมายของการผูกขาด

ธนินท์ซึ่งผ่านโลกมาอย่างโชกโชน วิสัยทัศน์ (vision) ที่มาจากสัญชาตญาณแห่งประสบการณ์ของเขาให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าคนไทยบางคนจะมองกลุ่มซี.พี.ด้วยภาพอย่างไร กลุ่มซี.พี.ของตระกูล เจียรวนนท์ ที่ชนรุ่นพ่อได้ถากถางมาก่อน จะต้องโตต่อไป

เพียงแต่ว่า จะเลือกโตที่ไหนเท่านั้น

"เราจะโตทุกที่ ที่เรามีโอกาสโดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก" ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดในซี.พี.ที่กรุงเทพฯ พยายามถอดผนึกความคิดจากวิสัยทัศน์ของธนินท์ให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

กว่า 5 ปีที่ผ่านมา ธนินท์เดินทางระหว่างกรุงเทพ-ฮ่องกง-ปักกิ่ง เป็นว่าเล่น เขามองตลาดที่มีประชากรกว่า 1,000 ล้านคนของจีนอย่างมีความหวัง จีนยังขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค และสาธารณูปโภคพื้นฐาน" ธนินท์พูดอยู่เสมอเมื่อถูกถามว่าเขามองตลาดเมืองจีนอย่างไร

ความสนใจอย่างจริงจังของธนินท์ต่อเมืองจีนทุกจังหวัดในเมืองจีน ข้อมูลตั้งแต่ผู้ว่าราชการไปจนถึงทรัพยากรธรรมชาติ ถูกลำเลียงจากพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่บริษัทโรงงานอาหารสัตว์ เข้าสู่สำนักงานที่ฮ่องกงและที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง

"บริษัทของบริษัทเจิ้นใต้ ได้รับความนิยมนับถือจากผู้นำของเราที่ปักกิ่งมาก เท่าที่ผมรู้ดูเหมือนเขาจะเป็นคนเดียวจากเมืองไทยที่ได้รับเกียรติจากผู้นำของเรามากเช่นนี้" เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในกรมวิเทศสัมพันธ์เคยกล่าวกับแขกผู้มาเยือนจากเมืองไทยถึงสถานะของ "ธนินท์" ในสายตาของคนที่ทำเนียบ "จง-หนานไฮ่" ในปักกิ่ง

เตถผลสำคัญของความนับถือที่ผู้ใหญ่ในปักกิ่งมีต่อเจิ้นใต้ มาจากการแสดงออกอย่างจริงจังต่อการบริหารทุน กำไรทุกบาททุกสตางค์ที่เกิดขึ้นในจีน จะถูกนำไปลงทุนต่อไม่มีการนำกลับเข้ามาที่กรุงเทพฯ แม้รัฐบาลปักกิ่งกับรัฐบาลที่กรุงเทพฯ จะมีข้อตกลงเรื่องภาษีซ้อนกันก็ตาม

กล่าวคือจีนเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 10 ขณะที่กรุงเทพเก็บร้อยละ 30 ข้อตกลงภาษีซ้อนจะเปิดช่องให้ผู้ลงทุนในประเทศคู่สัญญา สามารถเลือกแหล่งเสียภาษีที่ถูกที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีซ้ำอีกเมื่อนำกำไรกลับเข้าประเทศ

จีนให้โอกาสแก่กลุ่มซี.พี.ขณะที่ความขาดแคลนของจีนเปิดกว้างอย่างมหาศาลสำหรับระดับขีดความสามารถทางการผลิตและลงทุนของซี.พี. ตรรกะแห่งการเปิดกว้างเช่นนี้คือรากฐานของการเติบโตอย่างรุนแรงและต่อเนื่องของซี.พี.ในจีน

ทศวรรษที่ 90 นี้ คือทศวรรษของการโตที่เมืองจีนของกลุ่มซี.พี. หลังจากที่ลงทุนไปแล้วกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในกว่า 30 โครงการ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา "จากนี้ไปเราพร้อมลงทุนอีกกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จีนมีทรัพยากร" ธนินท์กล่าวถึงเป้าหมายยุทธศาสตร์ของกลุ่มซีพี

ความเป็นบริษัทประเทศไทยในนามกลุ่ม "เจิ้นใต้" ของซี.พี.ในจีน เริ่มมาจากการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หลังจากปักกิ่งปฏิรูปนโยบาย และกฎหมายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามจังหวัดที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของประเทศเมื่อต้นทศวรรษ 80 ไม่นานนัก

การเข้าลงทุนในจีน กลุ่มซี.พี.จะใช้เครดิตเรตติ้งของตัวเองในตลาดฮ่องกง ระดมทุนจากที่ฮ่องกงเข้าไปลงทุนในจีนเสียเป็นส่วนมาก "มันเป็นเทคนิคธรรมดาของบริษัทข้ามชาติที่ใช้ ซี.พี.จะใช้เครดิตเรตติ้งของตัวเองในตลาดฮ่องกง ระดมทุนจากที่ฮ่องกงเข้าไปลงทุนในจีนเสียเป็นส่วนมาก "มันเป็นเทคนิคธรรมดาของบริษัทข้ามชาติที่ใช้ Credit Worthiness ของตัวเองมาเป็นทุนในการลงทุนต่างประเทศ" มือบริหารการเงินของซี.พี.ที่กรุงเทพฯ กล่าว

แบงเกอร์ที่กรุงเทพฯ เล่าให้ฟังว่า เครดิตเรตติ้งของซี.พี.ที่ฮ่องกงอยู่ในระดับชั้นดีมาก จะสังเกตว่า แบงก์หลักๆ ของซี.พี.ในฮ่องกงและที่กรุงเทพฯ ไม่ใช่แบงก์ท้องถิ่น แต่เป็นแบงก์ระดับเกรด A ของยุโรปและสหรัฐฯ ทั้งนั้น เช่น กลุ่มสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และเชส แมนฮัตตัน

นั่นหมายความว่า ซี.พี.สามารถระดมทุนได้ทุกสกุลไม่ว่าจะเป็นสกุล Hard Currency หรือ Exotic Currency ของท้องถิ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสกุลหยวนของจีน หรือบาทไทย

ยังไม่เคยมีใครเปิดเผยฐานะของเงินกองทุนของซี.พี.ที่เมืองจีนว่ามีสกุลหยวนเท่าไร แต่หลายคนเชื่อว่า ปัจจุบันสกุลหยวนของซี.พี.มีมากกว่าบาทแน่นอน

"เมืองจีนเป็นตลาดใหญ่โตที่มีความเป็นลักษณะเฉพาะ คุณธนินท์เป็นคนมองการณ์ไกล เขาเป็นคนจีนย่อมเข้าใจตลาดได้ดี บวกกับความเป็นผู้บุกเบิก การแข่งขันที่จะมาถึงในตลาดที่เมืองจีนในอนาคตอันใกล้ กลุ่มซี.พี.ย่อมได้เปรียบกว่าบริษัทข้ามชาติทุกราย" นักวิเคราะห์กลยุทธ์องค์กรจากสถาบันวิจัยสังคมศาสตร์กล่าวถึงฐานะการแข่งขันระหว่างชาติของกลุ่มซีพี

ต้นทศวรรษที่ 90 กลุ่มซี.พี.ถูกประเมินจากวาณิชธนากรในกรุงเทพฯ ว่าเป็นกลุ่มบริษัทข้ามชาติของคนไทยกลุ่มแรกที่มีเครือข่ายของการผลิต และการบริหารทุนทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก "เราต้องยอมรับว่า เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญตลาดเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะจีนอย่างแท้จริง"

เป็นที่เชื่อกันแล้วว่า ธนินท์มองเอเชียแปซิฟิกคือตลาดของการเติบโตของซี.พี. ตลาดส่วนใดของภูมิภาคนี้ที่มีโอกาส เขาจะนำซี.พี.เข้าไปทันที สิ่งนี้คือตรรกะที่สังเกตได้จากตัวอย่างการลงทุนโครงการดาวเทียมในจีน พร้อมๆ กับลงทุนโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายที่กรุงเทพฯ และ 300,000 เลขหมายนอกกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย

หรือในทางกลับกัน ตรงข้ามเมื่อไม่มีโอกาสเขาจะถอนการลงทุนทันที แม้ตลาดส่วนนั้นจะเป็นที่เมืองไทย ยกตัวอย่างถอนโครงการลงทุนผลิตเบียร์ไฮเนเก้นที่กรุงเทพฯ ทันทีเมื่อคาดการณ์ทางการตลาดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะแย่งส่วนแบ่งตลาด กว่า 90% จากบุญรอดบริวเวอรี่ขณะที่เขาเตรียมขยายกำลังผลิตเบียร์ไฮเนเก้นที่เมืองจีน

เฉลียว สุวรรณกิติ เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าธนินท์เป็นคนยืดหยุ่นสูง และเร็วในการตัดสินใจมาก เขามีสัญชาตญาณของการเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจทางธุรกิจที่ชาญฉลาดมาก

แบงเกอร์ในกรุงเทพฯ มีความเชื่อว่าธนินท์เป็นคนไทยที่มีความเป็นจีนสูงมาก และทำนองเดียวกัน กลุ่มซี.พี.ก็คือกลุ่มบริษัทคนไทยที่มีความเป็น "นานาชาติ" สูงมากเช่นกัน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในแบงก์ชาติที่กรุงเทพฯ ยอมรับว่า กลุ่มบริษัทซี.พี.เป็นรายแรกๆ ที่กล้าตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศอย่างจริงจังในขณะที่การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในด้านการปริวรรตทุนระหว่างประเทศยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ

ประสบการณ์จากการเบิกทางสู่ต่างประเทศของซี.พี.ก่อให้เกิดคำถามตามมาในภายหลังว่า อะไรคือหนทางของโอกาสในการเติบโตของความเป็นบริษัทประเทศไทยในต่างประเทศ ภายใต้ยุคสมัยที่เคนอิชิ โอมาเอะ นักวิจัยและที่ปรึกษาชื่อดังชาวญี่ปุ่น เรียกมันว่า "ยุคธุรกิจที่ไร้พรมแดน"

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บริษัทชั้นนำแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ซีพีเติบโตในจีนมาก รากฐานสำคัญมาจากความสัมพันธ์กับผู้นำระดับสูงในปักกิ่ง "ท่านจูหล่งเจีย รองนายกรัฐมนตรีที่คุมงานด้านการเศรษฐกิจของประเทศ เป็นบุคคลระดับสูงในปักกิ่งที่มีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับคุณธนินท์มาตั้งแต่สมัยเป็นผู้ว่าการมณฑลเซี่ยงไฮ้" แหล่งข่าวยกตัวอย่าง

การใช้กลไกความสัมพันธ์กับผู้นำระดับสูงในจีนเป็นองค์ประกอบสำคัญมากที่สุดที่ทำให้ซี.พี.เติบโตในจีนกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ ตรรกะข้อนี้นำมาโยงเข้ากับเหตุผลทางธุรกิจของซี.พี.ได้อย่างน้อย 2 ข้อ ข้อแรกกระบวนการตัดสินใจลงทุนของซี.พี.ในจีนแม้เหตุผลบางประการจะเป็นไปเพื่อ "เอาใจผู้ใหญ่ในปักกิ่ง" แต่ท้ายสุดแล้วก็ต้องอาศัยเหตุผลความสอดคล้องทางธุรกิจเป็นตัวชี้ขาด

ประจักษ์พยานข้อนี้ จะสังเกตได้จากการตัดสินใจลงทุนกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร 2 ดวงในจีน และโครงการลงทุนนับร้อยล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนด้วยกำลังผลิตปีละ 1.8 ล้านเมกะวัตต์ทางมณฑลยูนนานตอนใต้ของจีน
โครงการทั้งสองนี้ เป็นโครงการสาธารณูปโภคที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวมากไม่น้อยกว่า 5 ปีขึ้นไป ซึ่งทางผู้นำในปักกิ่งต้องการให้เกิดขึ้น

ซี.พี.รู้ความต้องการของผู้นำในปักกิ่งต่อโครงการสาธารณูปโภคนี้ดี จึงใช้เครดิตเรตติ้งของตัวเองระดมทุนมาสร้างโครงการนี้ "ทางรัฐบาลที่ปักกิ่งสนับสนุนการตัดสินใจของซี.พี.ต่อโครงการนี้มากถึงขนาดให้สัมปทานเขื่อนถึง 8 เขื่อนจากเดิม 3 เขื่อนแก่ซี.พี.เพื่อนำน้ำมาผลิตไฟฟ้าปีละ 1.8 ล้านเมกะวัตต์และเก็บสำรอง 20 ล้านเมกะวัตต์ต่อปี" สมเกียรติ โอสถสภา นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจีนกล่าว

ข้อสอง-ซีพีใช้กลยุทธ์ "หว่านพืชเพื่อหวังผล" เป็นแนวทางสร้างการเติบดตในจีน ธนินท์เข้าใจความเป็นผู้นำในรัฐสังคมนิยมจีนดี เขารู้ว่าการสร้างสังคมนิยมของผู้นำในปักกิ่งต้องอาศัยกลไกของทุนเอกชนที่มีความจริงใจต่อการสร้างสังคมนิยมที่แท้จริง สิ่งนี้คือเบื้องหลังของตรรกะในการนำกำไรเข่าลงทุนต่อในจีนของซี.พี.

กว่า 10 ปีที่หว่านพืช สิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อผลกำไรของโครงการที่ทางการจีนในปักกิ่งให้กับโครงการลงทุนของซี.พี. เริ่มปรากฏให้เห็น เช่นตัวอย่างจากโครงการลงทุนเรียลเอสเตท สร้างศูนย์การค้าที่ปักกิ่ง และอพาร์ตเมนต์ที่เซี่ยงไฮ้ ทางซี.พี.ได้สิทธิประโยชน์ด้านการเช่าที่ดินฟรี เทอมระยะยาวนานถึง 70 ปีทั้ง 2 โครงการขณะที่บริษัทของเครือมั่นคงเคหะการได้เงื่อนไขเช่าที่ดินเพียง 50 ปีจากโครงการสร้างศูนย์การค้าที่กวางตุ้ง

กลยุทธ์หรือเทคนิคของซี.พี.ในจีน เป็นตัวแบบของความสำเร็จในโครงการลงทุนต่างประเทศของบริษัทคนไทย ที่หลายบริษัทกำลังศึกษาช่องทางของตัววเองในตลาด "สวรรค์ของนักลงทุน" ทางซีกมหาสมุทรแปซิฟิกนี้

สิ่งที่เรียกว่า "ช่องทางของตัวเอง" ในตลาดเอเชียแปซิฟิกที่กำลังเติบโตสูง กำลังเป็นแนวโน้มใหม่ของนักวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การลงทุนของบริษัทใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดในภูมิภาคแห่งนี้กำลังถูกซอยย่อยออกเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่หลายเขต

ผู้นำระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทยมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคแห่งนี้มานานแล้ว การปรากฏขึ้นของสถาบันทางการเงินและการคลังใหม่ๆ เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมการลงทุนออกต่างประเทศเพื่อการแข่งขันที่ได้เปรียบ เช่น ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก การปล่อยเสรีการปริวรรตทุนระหว่างประเทศ การปูพื้นฐานกฎเกณฑ์ทางตลาดทุน เพื่อส่งเสริมการระดมทุนราคาถูกจากตลาดของบริษัทเอกชน (ที่ขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน) การจัดตั้งวิเทศธนกิจ (BIBFs) การทำสัญญาข้อตกลงภาษีซ้อนกับประเทศในเวียดนามและจีน เป็นต้น

จึงเป็นความพยายามของธนาคารกลางที่จะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะทิศทางการไหลเวียนของทุนเอกชนยุคใหม่

"การออกไปลงทุนโดยตรงยังต่างประเทศทั่วโลกของบริษัทไทยกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากประมาณกว่า 800 ล้านบาทในปี 1988 เป็นกว่า 11,000 ล้านบาทในปี 1990 และเพิ่มกว่าเท่าตัวเป็น 27,000 ล้านบาทในปี 1991" รางานของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุ

ข้อมูลนี้นักวิเคราะห์ระดับสูงในแบงก์ชาติเชื่อว่า ถ้ารวมเงินลงทุนที่จีนของบริษัทซี.พี. ที่ระดมมาจากตลาดเงินในฮ่องกงด้วยแล้วมูลค่าการลงทุนของบริษัทไทยในต่างประเทศจะสูงถึงเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท

"เงื่อนไขเพื่อการเติบโตโดยอาศัยทรัพยากรในประเทศเพียงแหล่งเดียวมันหมดไปแล้ว" ธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล ผู้บริหารระดับสูงด้านการธนาคารแบงก์ชาติกล่าวเพื่อโยงเข้าหาเหตุผลการออกไปลงทุนต่างประเทศของบริษัทไทย

เขาชี้ว่า ข้แรก-แรงงานราคาถูกของไทยหมดไปแล้ว และแรงงานที่มีทักษะก็หายากมาก ถ้าการผลิตยังต้องอาศัยแรงงานราคาถูก ต้องโยกย้ายฐานการผลิตไปยังแหล่งที่มีแรงงานราคาถูกเช่นเวียดนาม

ข้อสอง-การแข่งขันรับจ้างผลิตสินค้าให้เจ้าของลิขสิทธิ์จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น ความข้อนี้ ศิวะ งานทวี กรรมการบริหารบริษัทกลุ่มพี่น้องงานทวีกล่าวเห็นด้วย เขายกตัวอย่างให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าการที่บริษัทเซ็นจูรี่ อีเล็คทรอนิคส์ (เครือพี่น้องงานทวี) ตัดสินใจลงทุน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อสินทรัพย์ของไทร์ คอมมิวนิเคชั่นส์ในยุโรปและแคนาดาเพราะต้องการสินทรัพย์สิทธิบัตรคีย์โฟนซิสเต็มของไทรที่โตรอนโต แคนาดา ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาคีย์โฟนซิสเต็ม

"เรารับจ้างเขาประกอบคีย์โฟนได้กำไรน้อยมากชิ้นละ 2 ดอลลาร์เท่านั้น ถ้าเขาเลิกจ้างประกอบเราก็จะลำบาก เราจะแสวงหากำไรได้เพิ่มขึ้น เราต้องเปลี่ยนจากการรับจ้างเป็นผู้ผลิตเสียเอง"

ก่อนหน้าการเข้าซื้อไทร์ฯ ศิวะยอมรับว่าเซ็นจูรี่ฯ มีความเสี่ยงพอสมควรในฐานะเป็นซัปพลายเออร์ของไทร์ฯ "เรามีส่วนแบ่งเพียง 20% เท่านั้นส่วนที่เหลือกว่าครึ่งเป็นซัปพลายเออร์จากเกาหลี ซึ่งหากทางไทร์ฯ เลิกจ้างเรา เขาไม่เดือดร้อน แต่เราจะเดือดร้อน" ศิวะเล่าให้ฟังถึงความเสี่ยงจากการขาดอำนาจต่อรองในฐานะเป็นซัปพลายเออร์รายเล็ก

การเข้าซื้อไทร์ฯ ของศิวะเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว แบงเกอร์ในกรุงเทพฯ ถือว่า เป็นการบุกเบิกการลงทุนต่างประเทศของบริษัทคนไทยในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์การสื่อสารรายแรกที่กล้าหาญมาก "เราและแบงเกอร์ทรัสต์สนับสนุนโครงการนี้ เพราะไทร์ฯ มีสิทธิบัตรเทคโนโลยีการผลิตคีย์โฟน ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ซ่อนเร้น" ปลิว มังกรกนก หัวหน้าวาณิชธนากรและผู้บริหารระดับสูงทิสโก้กล่าว

เป็นเวลากว่า 2 ปีหลังการซื้อไทร์ฯ ผลตอบแทนจากการลงทุนเริ่มส่งผลที่ดีขึ้น เมื่อไทร์อิตาลีทำกำไรได้ประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ไทร์อังกฤษยังขาดทุนจากภาวะตลาดที่ตกต่ำ "สิ่งสำคัญกว่าคือเราสามารถจัดตั้งเครือข่ายบริษัทในยุโรปได้สำเร็จในอนาคตเมื่อไทร์แสดงผลงานดี ก็อาจสามารถหาเงินทุน (Equity) จากตลาดยุโรปได้เอง" ศิวะกล่าวถึงผลตอบแทนในรูปเครดิตเรตติ้งของไทร์ในอนาคต

วิสัยทัศน์ของศิวะในแง่มุมนี้ สอดคล้องกับข้อเสนอที่สามของธีรชัยแห่งแบงก์ชาติ ที่มองประเด็นการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทไทยว่ามาจากความต้องการหาแหล่งเงินทุนสกุลแข็งราคาถูก (กว่าในประเทศ)

ยูนิคอร์ดเป็นตัวอย่าง เมื่อเข้าซื้อบับเบิ้ล บี ที่แคลิฟอร์เนีย ต้องใช้เงิน 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบงเกอร์ทรัสต์เป็นคนจัดไฟแนนซ์แพ็กเกจสกุลดอลลาร์สหรัฐ โดยหวังว่ากว่า 50% ของวงเงินจะให้บับเบิลบีที่สหรัฐฯ (ในนามยูนิกรุ๊ป) ใช้เครดิตเรตติ้งของตัวเอง ออกจังค์บอนด์สู่ตลาด

แต่ไม่สำเร็จจนทำให้ยูนิคอร์ดต้องให้เฟิร์สแพ็คมาจัดรีไฟแนนซ์ให้ใหม่ในภายหลัง ก็เพราะตลาดจังค์บอนด์พังทลายจากผลสะเทือนวิกฤติการณ์ของเดร็กเซล แลมเบิร์ต

การคาดหวังของศิวะต่ออนาคตในการหาเงินทุนสกุลแข็งในยุโรป โดยอาศัยเครดิตเรตติ้งของไทร์และความล้มเหลวในแผนการออกจังค์บอนด์ของยูนิกรุ๊ป

เหตุการณ์ 2 เหตุการณ์เป็นความเสี่ยงภัยที่มีต้นทุนสูงในการออกสู่ต่างประเทศของบริษัทไทย ซึ่งโยงมาสู่ประเด็นว่าจะมีโอกาสตรงไหนและอย่างไรในการปรับตัวเพื่อ "อำนวยความสะดวก" ให้ความเป็นบริษัทประเทศไทยเกิดขึ้นและโตต่อไปได้ในต่างประเทศ

ธีรชัยจากแบงก์ชาติกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าเขาเห็นโอกาสของประเด็นนี้ ตรงการเกิดขึ้นของกลไกปฏิรูประบบสถาบันการเงินที่แบงก์ชาติทำอยู่ เขาเห็นว่าการที่แบงก์ท้องถิ่นของไทยออกไปลงทุนเปิดกิจการสาขาหรือสำนักงานตัวแทนในตลาดการเงินและการค้าที่สำคัญๆ ของโลก จะเป็นกลไกสนับสนุนทางการเงิน (สกุลแข็ง) แก่บริษัทคนไทยในโครงการลงทุนในต่างประเทศเหมือนญี่ปุ่น

กล่าวคือ เมื่อบริษัทญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดกลางหรือยักษ์ใหญ่ ออกไปลงทุนในต่างประเทศเช่นประเทศไทย กว่าร้อยละ 80 ของแหล่งที่มาของเงินทุนจะมาจากการ Financing Package ของแบงก์ญี่ปุ่นในประเทศไทย

ข้อสังเกตในประเด็นนี้ของธีรชัยสอดคล้องกับข้อสังเกตของไพบูลย์ อิงคะวัต ผู้บริหารระดับสูงด้านกิจการทางการเงินเพื่อธุรกิจระหว่างประเทศของแบงก์กรุงเทพ ไพบูลย์เคยมีประสบการณ์มากมายในการบริหารกิจการสาขาของแบงก์กรุงเทพในลอนดอนและอินโดนีเซีย

เขากล่าวในประเด็นนี้ โดยโยงเข้ากับตัวอย่างการออกไปลงทุนเปิดสาขาในต่างประเทศของแบงก์ว่า เหตุผลสำคัญของการออกไปลงทุนเปิดสาขาต่างประเทศของแบงก์กรุงเทพ มาจากการมองเห็นโอกาสที่จะเข้าไปขายบริการทางการเงินให้พ่อค้าไทยที่มีเครือข่ายทางการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ

"เมื่อกว่า 30 ปีก่อน นายห้างชินเห็นพ่อค้าไทยติดต่อค้าขายกับพ่อค้าทางฮ่องกงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าข้าว การเปิดสาขาขึ้นที่ฮ่องกงจะช่วยเชื่อมธุรกิจเทรดไฟแนนซิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-ฮ่องกง และฮ่องกง-กรุงเทพฯ ได้"

การเป็นผู้บุกเบิกออกไปลงทุนต่างประเทศในธุรกิจบริการทางการเงินของธนาคารกรุงเทพยาวนานกว่า 30 ปี โดยเริ่มจากการเกาะติดไปกับกระแสของทิศทางการนำเข้า และส่งออกของพ่อค้าไทยก่อนที่จะตามนักธุรกิจที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะในตลาดบางตลาดของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

"เวลานี้เรามีเครือข่ายสาขาในตลาดต่างประเทศทุกภูมิภาคถึง 18 แห่ง กว่าครึ่งเครือข่ายสาขาของเราอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวได้ว่าในเวลานี้ เราเป็นแบงก์ไทยที่มีบทบาทเป็นผู้นำรายหนึ่งในตลาดส่วนนี้" วิชิต สุรพงษ์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพกล่าว

วิชิตเน้นว่าลูกค้าชั้นนำ (ทั้งไทยและเทศ) ในตลาดส่วนนี้รู้จักชื่อเสียงธนาคารกรุงเทพดี เขายกตัวอย่างบริษัทกลุ่มโฮปเวลล์ของกอร์ดอน วู นักธุรกิจยักษ์ใหญ่ชาวฮ่องกง เป็นลูกค้าของธนาคารกรุงเทพที่เข้ามาลงทุนทำโครงการที่เข้ามาลงทุนทำโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาทในกรุงเทพฯ

การเกิดขึ้น การดำรงอยู่ และการเติบโตของความเป็นบริษัทประเทศไทย กล่าวสำหรับธุรกิจบริการทางการเงินแล้ว ธนาคารกรุงเทพคือตัวแทนของความสำเร็จในความเป็น "บริษัทแห่งประเทศไทย" ที่เป็นที่ยอมรับกันในตลาดเอเชียอาคเนย์แห่งนี้ หลังจากใช้เวลาในการบุกเบิกมากว่า 30 ปี

ขณะเดียวกัน กลุ่มซี.พี.ก็บรรลุความสำเร็จการเป็นตัวแทนของความเป็น "บริษัทแห่งประเทศไทย" ที่เป็นที่ยอมรับในตลาดภูมิภาคชายฝั่งแปซิฟิก ตั้งแต่สหรัฐฯ ลงมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในธุรกิจอุตสาหกรรมปศุสัตว์ หลังจากบุกเบิกมากว่า 10 ปี

ความสำเร็จของธนาคารกรุงเทพ และซี.พี.กลายเป็นตัวแบบของความพยายาม ที่บริษัทคนไทยหลายรายกำลังแสวงหาหนทางที่เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง เพื่อการดำรงอยู่และเติบโตต่อไปในตลาดต่างประเทศ

บริษัทกลุ่มแพรนด้า ผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับรายใหญ่ของไทย กำลังแสวงหาการดำรงอยู่ หลังจากออกสู่ต่างประเทศมาได้เพียงปีเดียวโดยลงทุนตั้งสาขาบริษัทการค้าอัญมณีและเครื่องประดับขึ้นในนิวยอร์ก โรดส์ไอแลนด์ และฝรั่งเศส

ปรีดา เตียสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มแพรนด้ากล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าเขาต้องออกไปเพราะธุรกิจนี้ต้องอาศัยเครือข่ายการขายที่ใกล้ลูกค้ามากที่สุด โดยใช้ฐานการผลิตจากประเทศไทยซึ่งมีแหล่งวัตถุดิบพลอยชั้นดีและรัฐให้การส่งเสริมลงทุนอย่างเต็มที่ ในฐานะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานสูงและแรงงานมีทักษะในการเจียระไน

"ต้นทุนค่าแรงงานมีสัดส่วนประมาณ 6-7% ของต้นทุนรวมเท่านั้นที่เหลือกว่า 60% เป็นค่าวัตถุดิบและกว่า 20% เป็นค่าการตลาด ดังนั้นธุรกิจของเราจึงไม่ใช่ประเภท Labour Cost Advantage อย่างที่เข้าใจกัน" ปรีดากล่าวถึงโครงสร้างต้นทุนเพื่อโยงให้เห็นว่าเหตุผลที่ต้องออกไปลงทุนต่างประเทศส่วนหนึ่งก็เพื่อต้องการลดค่าการตลาดลง

ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดที่ประเทศผู้ผลิตอุตสาหกรรมเบาชั้นนำอย่างไต้หวันเข้าไปลงทุนนานแล้ว ปรีดาชี้ให้เห็นว่าตลาดสหรัฐฯ เป็นหัวใจของการเติบโตความเป็นบริษัทประเทศไทยของบริษัทคนไทย กว่าร้อยละ 20 สหรัฐฯ เป็นตลาดสินค้าของไทย การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันสู่ตลาดสหรัฐฯ หนทางหนึ่งคือการมีเครือข่ายการผลิตหรือการขายอย่างใดอย่างหนึ่งที่นั่น

"กระนั้นก็ดี ผมยังกังวลอยู่ว่าการที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงภาษีซ้อนกับสหรัฐฯ เราจะปรับตัวอย่างไร" ปรีดายกอุปสรรคด้านภาษีต่อการดำรงอยู่ของบริษัทคนไทยในสหรัฐฯ

การปราศจากข้อตกลงเรื่องภาษีซ้อนทำให้บริษัทคนไทยที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในสหรัฐฯ ร้อยละ 34 และถ้าหากโอนกำไรเข้าบริษัทแม่ที่กรุงเทพฯ ต้องเสียภาษีอีก 30%
ประมนต์ สุธีวงศ์ ผู้บริหารระดับสูงของปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งเข้าไปลงทุนผลิตเซรามิกที่รัฐเทนเนสซี่ สหรัฐฯ ในนามบริษัท ไทล์เซอราอิงค์ เป็นเวลาเกือบ 2 ปี กล่าวถึงหนทางการปรับตัวของบริษัทไทยต่อปัญหานี้ว่า ต้องนำกำไรไปลงทุนต่อที่นั่นเหมือนกับที่ซี.พี.ใช้ในจีน

สถานะของเครดิตเรตติ้งของปูนซิเมนต์ไทยอาจจะต่างกับยูนิคอร์ด, แพรนด้าฯ ในตลาดสหรัฐฯ การดำรงอยู่ในตลาดที่นั่น ท่ามกลางอุปสรรคเรื่องภาษีและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสกุลแข็งราคาถูกการเติบโตต่อไปเพื่อสร้างความเป็น "บริษัทประเทศไทย" อาจจะมีโอกาสเข้าถึงความสำเร็จที่แตกต่างกัน

กระนั้นก็ตาม ความเป็นบริษัทแห่งประเทศไทย โอกาสเปิดขึ้นแล้วท่ามกลางอุปสรรคบางประการที่ดำรงอยู่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.