"โอกาสใหม่ที่ยูนนาน !"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

รัฐบาลไทยยังขาดความกระตือรือร้นในการมองโอกาสใหม่ๆ ทางจีนตอนใต้ รัฐบาลมณฑลยูนนานได้ริเริ่มแผนยุทธศาสตร์เชื่อมต่อกับไทยภาคเหนือแล้ว อนาคตของเขตการค้าและอุตสาหกรรมทางเหนือตอนบน จะเป็นไปได้ถ้าแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลมณฑลยูนนานได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทย

ดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลของจีน รายรอบด้วยประเทศที่ยากจน นับแต่มองโกเลีย และสหภาพโซเวียตเดิมในตอนเหนือ อัฟกานิสถาน อินเดีย ทางทิศตะวันตก พม่า ลาว และเวียดนามตอนเหนือ ดินแดนส่วนใหญ่ของจีน และประชาชนส่วนใหญ่ของจีนจึงไม่มีทางออกสู่ทะเลและท่าเรือของตนเอง ลักษณะเด่นของจีนคือประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (land lock)

พื้นที่ส่วนที่อยู่ติดทะเล นับแต่ปักกิ่งลงมาจนถึงมณฑลกวางตุ้งจึงเป็นเขตที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากนโยบายเปิดประเทศเพราะสามารถเชื่อมต่อกับฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประเทศกลุ่มอาเซียน และตลาดภายนอกอื่นได้สะดวก

ด้วยอัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจ 13 เปอร์เซ็นต์ในพ.ศ.2535 ความเจริญเติบโตส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในเขตชายฝั่งทะเล จีนกลับพบว่าตนเองมีปัญหากดดันหนักหน่วงยิ่งขึ้นด้วยหลายสาเหตุ

ความแตกต่างระหว่างมณฑลชายฝั่งทะเลกับมณฑลที่ตั้งอยู่ห่างไกลทะเลทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รายได้จากมณฑลชายฝั่งต้องถูกส่งกลับมาเลี้ยงดูมณฑลภายใน และจีนพบว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่พอเพียงกับความต้องการ ประชาชนที่ต้องรับความช่วยเหลือมีมากกว่าประชาชนที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้

เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ หน่วยงานที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีน พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า จีนยังมีปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองภายในสูงมากประชาชนหนุ่มสาวในเขตเมือง ต้องการมีเสรีภาพแบบตะวันตก ในขณะที่ผู้คนในประเทศยังแบ่งเป็นเชื่อชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ร่วม 50 เผ่าพันธุ์ หากจีนไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาให้รวดเร็วพอ ปัญหาความไม่สงบภายในจะเกิดขึ้น เมื่อใดที่เกิดความระส่ำระสายในประเทศ ความอดอยาก การอพยพหลั่งไหลออกสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเกิดขึ้นอีกครั้ง ความมั่นคงภายในของจีนจึงมีผลกระทบต่อประเทศเอเชียทั้งหมด

แผนงานเปิดประตูสู่ทิศใต้จึงเริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ เหตุใดจีนจึงต้องเปิดประตูสู่ทิศใต้ ? เพราประตูบานนี้จะเปิดออกสู่ภูมิภาคที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงสุดในโลก คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน

วัตถุดิบจำนวนมากคือ ถ่านหิน ฟอสฟอรัส หินอ่อน เหล็ก ที่ฝังตัวอยู่ในแผ่นดินมากมาย จะมีราคา เพราะสามารถส่งออกได้ แหล่งพลังงานจากแม่น้ำลำโขงที่ทอดตัวด้วยความยาว 165 กิโลเมตรในแผ่นดินจีนใต้ จะกลายเป็นแหล่งรายได้จากการผลิตไฟฟ้าขายให้ไทย

และประตูสู่ทิศใต้ของจีน คือ มณฑลยูนนาน ดินแดนแห่งขุนเขาพันลูก และความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ

มณฑลยูนนาน : ประตูสู่จีนใต้

หากแต่ประวัติศาสตร์พรมแดนประเทศเปลี่ยนแปรเพียงเล็กน้อย ประเทศไทยจะมีพรมแดนติดกับมณฑลยูนนาน พื้นที่ระยะความยาว 300 กิโลเมตรที่ยังแบ่งทั้งสองประเทศอยู่คือ พม่า และลาว

มณฑลยูนนานเป็นมณฑลที่ยากจนเป็นอันดับ 3 ของจีน รายได้เฉลี่ยประมาณ 3,600 บาทต่อคน ต่อปี ประชากรในเมืองหลวงที่ชื่อว่าคุนหมิง มีรายได้ราว 6,000 บาทต่อคน

แต่ผู้คนในเขตเมืองหลวงมีเพียง 1.4 ล้านคนจากประชากรของมณฑล 38 ล้านคน หรือเพียง 3.7 เปอร์เซ็นต์ ผู้คนที่มีรายได้สูงพอสมควรจึงมีอยู่น้อย

รายได้หลัก 40 เปอร์เซ็นต์มาจากภาคเกษตรกรรมอีก 60 เปอร์เซ็นต์มาจากภาคอุตสาหกรรม และบริการ อุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงคือ บุหรี่ เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า ปุ๋ยเคมี ยาง เครื่องจักรกล และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ สินค้าเกษตรสำคัญคือ ข้าว ยางพารา ผัก ยาสูบ ผลไม้ และการเลี้ยงสัตว์

ภาคอุตสาหกรรมควบคุมโดยวิสาหกิจของรัฐเป็นหลักประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของสินเชื่อปล่อยกู้แก่รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ ประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจในจีน เวียดนาม และอินเดียนั้นไม่ต่างกัน ในแง่ของความด้อยประสิทธิภาพ เพราะในระบบ "กินข้าวหม้อใหญ่" ไม่มีใครยอมทุ่มเทททำงานหนัก ผลผลิตจะเป้นอย่างไร ทุกคนรับผิดชอบร่วมกัน

เช่นเดียวกับเวียดนาม วิสาหกิจของรัฐควบคุมการผลิตอุตสาหกรรม การค้าต่างประเทศ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ธนาคาร การขนส่ง และบริการ เช่น โรงแรม

โครงการยุทธศาสตร์เปิดประตูสู่ใต้

ในขณะที่ไทยพยายามผลักดันตนเองเป็นศูนย์กลางอินโดจีน โดยไม่มีแผนงานใดๆ รองรับประเทศเพื่อนบ้านของไทยทุกประเทศได้ศึกษาข้อมูลตระเตรียมแผนงานและลงมือปฏิบัติงานเพื่อขยายเศรษฐกิจของตน ประเทศไทยกลายเป็นประเทศหน้าด่านในการรวมตัวกับประเทศที่มีความแตกต่างทางรายได้ ขนาดประชากร

จนบัดนี้ยังขาดคำตอบที่แน่ใจ ที่มั่นใจ และที่มีข้อมูลว่าไทยต้องการอะไรจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจ

มณฑลยูนนาน จัดทำแผนงานเพื่อเชื่อมต่อกับไทย 3 โครงการแล้วคือ

1. ถนนเชื่อมมณฑลยูนนานกับไทย โดยผ่านพม่า เชื่อมไทยที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย

2. แล่นเรือตามลำน้ำโขงถึงอ.เชียงแส จ.เชียงราย

3. ผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้ไทย

ทุกวันนี้ รัฐบาลจีน โดยคณะผู้ปกครองระดับมณฑลยูนนาน ได้จัดทำโครงการเชื่อมเศรษฐกิจไทยกับภาคใต้ของจีน โดยผ่านมณฑลยูนนานแล้วดังนี้

1. ถนนเชื่อมมณฑลยูนนานกับไทยที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ถนนสายนี้เริ่มจากคุนหมิง ผ่านสิบสองปันนา เมืองลอง เมืองยอง มาจดที่อ.แม่สาย ความยาวประมาณ 790 กิโลเมตร ภายในปี 1995 ถนนสายนี้จะร่นระยะเวลาเดินทางจาก 42 ชั่วโมงครึ่งเหลือเพียง 15 ชั่วโมงโดยมีระยะทางร่นจาก 790 กิโลเมตรเหลือ 670 กิโลเมตร

เท่าที่ทราบ การเจรจากับรัฐบาลไทยสำหรับโครงการนี้ยังไม่เกิดขึ้น ขณะที่กับทางรัฐบาลพม่า ทางมณฑลยูนนานได้ทำแล้วกว่า 80%

2. โครงการแล่นเรือตามลำน้ำโขงถึง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

เส้นทางเดินเรือจะเริ่มจากเชียงรุ้ง ผ่านพม่า ลาว มาจดที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ทุกวันนี้เส้นทางเดินเรือสายนี้ใช้เวลาเดินทางไปกลับ 7 วัน ในปี 1985 ทางรัฐบาลมณฑลยูนนานจะย่นเวลาเดินทางไปกลับเหลือเพียง 3 วัน มีความสามารถในการบรรทุกผู้โดยสาร 1 ล้านคนต่อปี และสินค้าประมาณ 600,000 ตัน/ปี และมีเป้าหมายเพิ่มเวลาการเดินเรือจากปีละ 5 เดือนในเวลานี้เป็น 9 เดือน

โครงการนี้ทางรัฐบาลมณฑลยูนนานได้เจรจากับรัฐบาลพม่าและลาวไปแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่มีการเจรจากับรัฐบาลไทย

3. โครงการผลอตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้ไทย

โครงการนี้ทางรัฐบาลมณฑลยูนนานได้ทำการเจรจากับทางรัฐบาลไทยคืบหน้าไปแล้ว 20%โดยเจตที่ตั้งโรงงานไฟฟ้าจะอยู่ที่สิบสองปันนา และตรงตำแหน่งที่ 6 กิโลเมตร เหนือท่าเชียงรุ้งทั้งหมด 2 โรง มีกำลังผลิตสำรอง 20 ล้านเมกะวัตต์

เท่าที่สืบค้นมาพบว่าทางรัฐบาลมณฑลยูนนานได้จัดหาผู้ร่วมลงทุนก่อสร้างแบบ BOT เรียบร้อยแล้วและงานสำรวจออกแบบได้กระทำแล้วกว่า 60%

ใครได้ใครเสียอะไรจากโครงการ

ทุกโครงกาพัฒนาท่เกิดขึ้นย่อมจะต้องมีผู้ได้รับประโยชน์ เพราะผลประโยชน์คือตัวกระตุ้นให้เกิดโครงการขึ้น เส้นทางเชื่อมเศรษฐกิจไทยกับจีนภาคใต้ก็เช่นกัน ผู้มีส่วนได้เสียในโครงการคือรัฐบาลจีน ณ กรุงปักกิ่ง, มณฑลยูนนาน เขตอิสระสิบสองปันนา (ใต้สุดของมณฑล) ที่ตั้งเขื่อน ท่าเรือ และจุดเริ่มต้นถนนฝั่งจีน, มณฑลอื่นๆ จังหวัดเชียงราย, ลาว, พม่า, เวียดนาม ฯลฯ


ใครได้ใครเสียอะไร จำแนกได้ดังนี้

จากโครงการนี้ ไทยจะได้รับผลประโยชน์ประมาณ 3 ประการ ขณะที่เสียผลประโยชน์ประมาณ 9 ประการ กระนั้นก็ดี ผลดีที่ไทยจะได้รับ นับว่ามีความหมายมากถ้ามองในแง่โอกาสความเป็นไปได้ในการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมใหม่ทางภาคเหนือตอนบน และแหล่งธาตุ วัตถุดิบในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กกล้า และไฟฟ้า เช่น ถ่านหินที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนลิกไนต์ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

การแข่งขันระหว่างสินค้าไทยกับสินค้าจากยูนนาน

หากสมมติว่ามีการติดต่อเชื่อมโยงทางถนน และทางแม่น้ำโขงระหว่างไทยกับมณฑลยูนนาน ผลกระทบในเชิงการแข่งขันธุรกิจระหว่างไทยกับมณฑลยูนนานจะมีรูปร่างหน้าตา ดังนี้

1. ใบยาสูบและบุหรี่มวน

ในอนาคต ประเทศไทยไม่น่าจะมีความได้เปรียบในการผลิตใบยาสูบ เพราะขาดเชื้อเพลิง ต้นทุนสังคม (ไม้) ในการผลิตใบยาสูบสูงเกินมูลค่าเพิ่มจากการผลิตยาสูบ เมื่อเทียบกับจีนซึ่งสามารถบริหารป่าไม้ได้ดีกว่า มีถ่านหินจำนวนมากและไทยจะมีความเสียเปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน ราคา ที่ดิน ดินฟ้าอากาศด้วย

ในระยะยาวอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อรายได้เฉลี่ยของคนไทยขึ้นสู่ระดับ 100,000 บาท/คน/ปี ในปีค.ศ.2000 ใบยาสูบและบุหรี่มวนจากจีนจะแข่งกับบุหรี่ต่างประเทศในไทย

อย่างไรก็ตาม ราคบุหรี่ในประเทศจีนสูงมาก (36 บาท) ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเกิดจากภาษีสูงหรือไม่ ความสามารถในการแข่งขันจึงขึ้นอยู่กับต้นทุนของจีน และการโฆษณา

2. โลหะและเหล็กกล้า

อุตสาหกรรมของจีนจะแข่งขันโดยตรงกับอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ และจากญี่ปุ่น เกาหลี อันน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย

3. ยางพารา

ความต้องการยานพาหนะที่เพิ่มขึ้น น่าจะทำให้ไทยได้เปรียบในการแข่งขัน พื้นที่ปลูกยางพาราในจีนขยายมากไม่ได้ เพราะปัญหาฝนเซาะภูเขา และการทำลายป่าไม้ ไทยจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ หากจีนเข้าเป็นสมาชิก GATT ในอีก 3 ปีข้างหน้า

4. อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า-เครื่องจักรเบา

จีนจะได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะราคาสินค้ามิได้ติดตามราคาตลาด จีนน่าจะเป็นฝ่ายยึดตลาดลาว และพม่า สินค้าหมวดนี้จะแข่งขันในตลาดระดับล่างที่ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อต่ำ

5. การป่าไม้และกระดาษ

จีนน่าจะมีความได้เปรียบในด้านนี้ เพราะที่ดินมาก แต่จะเสียเปรียบในด้านการคมนาคมขนส่ง ไทยควรมีไม้จากจีนเป็นแหล่งซัปพลายอีกแหล่งหนึ่ง

โอกาสใหม่ของการลงทุนเพื่อการพัฒนาเขตการค้าและอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนบนของไทย ว่ากันจริงแล้วความเป็นไปได้ส่วนหนึ่ง อยู่ที่ความร่วมมือของรัฐบาลไทยในความพยายามที่จะส่งเสริมร่วมมือในวงการยุทธศาสตร์ของรัฐบาลมณฑลยูนนานให้สำเร็จ เพราะเอกชนไทยโดยสายสัมพันธ์ที่มีอยู่แน่นแฟ้นกับจีนต่างรอโอกาสอยู่แล้ว ที่จะให้รัฐบาลเป็นผู้นำในการสร้างกรอบของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล

เหมือนกับที่กลุ่มซี.พี.และบริษัทยักษ์ใหญ่อีกหลายรายของไทยต่างเข้าไปลงทุนสร้างข่ายธุรกิจในจีนใต้ทางแถบชายฝั่งทะเลกันคิดเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.