"มลพิษในอากาศสามารถแก้ไขได้"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

มลภาวะทางอากาศของประเทศกำลังเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ไฮโดรคาร์บอน (HC) ตะกั่ว (Pb) และสารฝุ่นละออง (ควันดำ) มลสารเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยแหล่งที่ก่อมลพิษทางอากาศที่สำคัญคือการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในยานพาหนะ ปัจจุบันมลภาวะทางอากาศกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ที่สภาพปัญหามีความรุนแรงมากที่สุด คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์เบนซินอยู่ในระดับสูงมาก และในบางพื้นที่ก็เกินมาตรฐาน ซึ่งได้กำหนดไว้ 20 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เฉลี่ย 8 ชั่วโมง ในกรุงเทพฯ มีการบันทึกค่าสูงสุดของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ 32 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร บริเวณวงเวียนใหญ่ ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์จะทำให้คาร์บ็อกซีฮีโมโกลบิลอยู่ในเลือด 3.5% ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดศีรษะ เหนื่อยงาน และอาจทำให้เกิดอาการต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้อีกด้วย

ปริมาณฝุ่นละออง (Suspended Particulate Materials : SPM) อยู่ในระดับสูงกว่ามาตรฐานมาก ฝุ่นละอองเป็นผลมาจากควันของเครื่องยนต์ดีเซล และกิจกรรมต่างๆ เช่น การก่อสร้าง

ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ อยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานแต่มีแนวโน้มที่สูงขึ้น ผลกระทบต่อสุขภาพที่สำคัญก็คืออาจเกิดอาการระคายเคืองต่อระบบหายใจ อันมีผลให้เกิดมะเร็งระบบหายใจและมะเร็งผิวหนัง

ปริมาณสารตะกั่ว อยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานในต่างประเทศ แต่มีแนวโน้มลดลง เพราะได้มีการลดปริมาณสารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน แต่พิษจากสารตะกั่วก็มีอันตรายต่อสุขภาพมาก เช่น ถ้าได้รับในระดับความเข้มข้น 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะทำให้เกิดอาการสติปัญญาเสื่อม สมองอักเษบ กล้ามเนื้ออัมพาต และไตอักเสบได้

การนำน้ำมันไร้สารตะกั่วมาใช้ในประเทศตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เป็นแนวทางหนึ่งในการลดปริมาณตะกั่วในอากาศ ทั้งนี้เพราะน้ำมันเบนซินเดิมมีสารตะกั่วผสมอยู่สูง เมื่อน้ำมันเบนซินเผาไหม้ในเครื่องยนต์ ตะกั่วจะถูกปล่อยออกจากท่อไอเสียและฟุ้งกระจายในอากาศ โดยปริมาณตะกั่วในอากาศมีความสัมพันธ์กับสภาพการจราจร

ในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่นจะมีปริมาณตะกั่วในอากาศสูงกว่าบริเวณที่มีการจราจรเบาบาง และในชั่วโมงเร่งด่วนจะมีปริมาณตะกั่วสูงสุด ระดับความเข้มข้นของตะกั่วจะมีอยู่สูงที่บริเวณริมถนน เมื่อห่างออกมาระดับความเข้มข้นจะลดลง

สาเหตุของมลภาวะทางอากาศไม่ได้เกิดจากเพียงตะกั่วเท่านั้นยังคงมีสาเหตุมาจากมลสารอื่นๆ อีก ดังนั้นเพื่อลดปริมาณมลสารอื่นๆ จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์เบนซิน จึงมีการนำอุปกรณ์ลดมลพิษ (Catalytic Converter) มาบังคับติดตั้งในรถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1600 ซีซี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา และ 1 กันยายน สำหรับเครื่องยนต์ที่ต่ำกว่า 1600 ซีซี ทั้งนี้เพราะอุปกรณ์นี้สามารถลดปริมาณมลสาร CO, NOx, HC ลงได้

นอกจากนี้สาร CFC ในเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ที่มีผลต่อการลดลงของปริมาณก๊าซ Ozone ซึ่งทำให้รังสี UV มีระดับรุนแรงขึ้นในชั้นบรรยากาศ และยังมีผลต่อการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) อีกด้วย การลดลงของโอโซนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง โรคตาต้อ ฯลฯ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมดทรมลง โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพ เป็นผลต่อเนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนรูปแบบของการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการของมนุษย์ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันในทุกๆ ฝ่ายในภาครัฐบาลเองก็เริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ มีการดำเนินงานเพื่อให้การส่งเสริมและอนุรักษ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วยมาตรการต่างๆ ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนก็ควรคำนึงถึงสังคมด้วยนอกเหนือจากผลประโยชน์ของตนเอง (private benefit) เพราะถ้ามุ่งหวังแต่ผลประโยชน์มากเกินไปโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางสังคม (social cost) แล้วในอนาคตระบบสังคมก็คงอยู่ไม่ได้ ในส่วนของภาคเอกชนนี้ก็ได้มีหลายๆ ส่วนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง หรือช่วยลดสภาพปัญหาลงด้วย การนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วมาผ่านขบวนการผลิตอีกครั้ง (recycle) การพัฒนาสารต่างๆ มาทดแทนสารที่ใช้อยู่เดิมแล้วก่อมลพิษ เช่น ในเครื่องปรับอากาศ เครื่องดับเพลิง โดยเฉพาะในรถยนต์ที่นอกจากการใช้เชื้อเพลิงที่ช่วยลดมลพิษแล้วยังมีความพยายามที่จะลดชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ที่ก่อมลพิษลง เช่น ส่วนของผ้าเบรกที่มีการพัฒนาให้ใช้สารที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และผู้ใช้ถ้าต้องสัมผัสโดยตรงมีการนำเข้ามาจำหน่ายบ้างแล้ว อาทิ Ferodo การลดชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้สาร CFC ในการผลิตลง เป็นต้น

ในปัจจุบันผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ที่ก่อปัญหามลพิษทั้งทางตรงและทางอ้อม และก็ยังเป็นผู้ที่รับเอามลพิษเหล่านั้นด้วย ได้มีความเข้าใจต่อสภาพปัญหามลภาวะเพิ่มขึ้น จะสังเกตได้จากผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่มีส่วนสัมพันธ์ต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

ปรีชา พรนำพา ผู้จัดการบริษัทซีอีแกนต์ จำกัด ซึ่งจำหน่ายเครื่องฟอกอากาศ ได้ชี้แจงว่า "ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ความต้องการเครื่องฟอกอากาศทั้งในอาคารที่พักอาศัยและในรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นมาก ขณะเดียวกันก็มีผู้สนใจที่จะประกอบธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก"

สภาพมลภาวะเสื่อโทรมที่กระทบต่อผู้บริโภค ก่อให้ผู้บริโภคมีความห่วงใยในสุขภาพของตนเองมากขึ้นด้วย ดังนั้นการอนุรักษ์และพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ผู้บริโภคและผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรให้ความสนใจถึงสาเหตุแลผลกระทบที่จะทำให้เข้าใจถึงสภาพของปัญหาอย่างชัดเจน เพื่อการดำเนินการแก้ไขได้อย่างถูกวิธี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.