|

ธปท.หวังยอดขาดดุลสกัดบาทแข็งแจงเหตุคงสำรอง30%หวั่นเงินร้อนไหลกลับ
ผู้จัดการรายวัน(9 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติพอใจค่าบาทเริ่มนิ่งหลังเจอยาแรง เชื่อปีนี้ไม่เหวี่ยงแรง เหตุการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะช่วยกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว พร้อมยันยังไม่ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% หวั่นเงินร้อนไหลกลับมาป่วนอีกระลอก แต่จะมีการทบทวนในบางส่วนที่ซ้ำซ้อน "ธาริษา"แจงรายละเอียดหลังถูกกดดันให้ยกเลิกมาตรการ ระบุต่างชาติมีผลตอบแทนจากตลาดหุ้นเป็นกำไรจากค่าเงินบาทมากกว่ากำไรจากการลงทุนมาก หลังหักสำรองต้นทุนเพิ่มไม่มาก
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของเงินบาทว่า ในช่วงปี 49 ที่ผ่านมา เงินบาทของไทยมีการแข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆในภูมิภาค โดยหากเทียบสัดส่วนแล้ว ค่าเงินต่างๆในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเพียง 7-8% ขณะที่ค่าเงินบาทไทยทั้งปีแข็งค่าขึ้นถึง 17% ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากเงินร้อนที่เกิดจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนอย่างมาก ดังนั้น ธปท.อยากจะให้ค่าเงินบาทของไทยมีการเคลื่อนไหวไปทิศทางเดียวกันค่าเงินในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่าในปีนี้จากการขาดดุลของดุลบัญชีเดินสะพัด ส่งผลให้ค่าเงินบาทไทยจะแข็งค่าน้อยลง ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวดีขึ้นด้วย
"การแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาทในช่วงปีที่แล้วนั้น เป็นเพราะเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไร แต่ในปีนี้เชื่อว่าจะช้าลงแล้ว และค่าเงินบาทก็เริ่มนิ่งหลังจากใช้มาตรการ ขณะนี้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้จะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทด้วย"นางธาริษากล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธปท.ยังคงมาตรการกันเงินสำรอง 30% ไว้อย่างเดิม แต่อาจจะมีการทบทวนบางมาตรการที่ซ้ำซ้อนหรือมีความจำเป็นน้อยลงภายหลังนำมาตรการกันเงินสำรองมาใช้ โดยขณะนี้ธปท.ได้ยกเลิกบางมาตรการที่เคยขอความร่วมมือสถาบันการเงินในส่วนของการลงทุนพันธบัตรอายุ 6 เดือนขึ้นไปให้แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ( Non-Resident) หรือ NR ดังนั้นในส่วนของธุรกรรมอื่นๆ ที่เคยกำหนดมาตรการต่างๆ ไว้รวมไปถึงการกันเงินสำรอง 30%ด้วยยังคงใช้มาตรการเดิมอยู่ รวมทั้งการลงทุนในกองทุนรวมและกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนได้ขอผ่อนผันมาก่อนหน้านี้ด้วย
“เรายังคงเดินตามนโยบายเดิม คือ กันเงินสำรอง 30% เช่นเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งค่าเงินบาทในช่วงนี้ค่อนข้างนิ่งแล้ว แต่เราก็ต้องเก็บมาตรการนี้ไว้ก่อน เผื่อเงินร้อนพวกนั้นจะกลับเข้ามาลงทุนในไทยใหม่ ยิ่งทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากขึ้น แล้วเราก็กำลังทบทวนบางมาตรการที่อาจมีความซ้ำซ้อนหรือมีความจำเป็นน้อยลงเมื่อใช้มาตรการกันเงินสำรองแล้ว ทั้งนี้เพื่อจูนให้วิธีปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน”
นอกจากนี้ ธปท.กลับมากำหนดยอดคงค้างสิ้นวันในบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศไม่ให้เกิน 300 ล้านบาทอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ธปท.ได้ผ่อนผันให้ไม่ต้องจำกัดวงเงินดังกล่าวในช่วงที่นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นเข้าบัญชีดังกล่าวมากขึ้นในช่วงธปท.ออกมาตรการกันเงินสำรอง 30%ออกไป อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็ต้องมีบัญชีเงินบาทเพิ่มขึ้นมาอีก 1 บัญชี หรือที่เรียกว่า บัญชีเงินบาทที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ (Special Non-resident Bath Account for Equity Securities: SNS) ซึ่งยอดคงค้าง ณ สิ้นวันก็ได้มีการจำกัดอยู่ที่ 300 ล้านบาทเช่นกัน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติสามารถมีบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศได้ 2 บัญชี และมีวงเงินคงค้างรวมกันไม่เกิน 600 ล้านบาท ณ สิ้นวัน
สำหรับการผ่อนผันในเรื่องระยะเวลาการลงทุนให้ลดลงต่ำกว่า 1 ปีนั้น นางธาริษา กล่าวว่า ธปท.คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขระยะเวลาเช่นกัน เพราะมาตรการดังกล่าวที่ออกไปต้องการป้องกันเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรจากการลงทุนระยะสั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1 ปีนั้นนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยก็สามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ได้ ดังนั้น มาตรการที่ออกมาไม่ได้จำกัดในเรื่องการลงทุนแต่ต้องการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้นมาอีกหากนักลงทุนต่างชาติมีการเก็งกำไรจากค่าเงินบาทในช่วงสั้นๆ
อย่างไรก็ตามหลังจากที่ธปท.ออกมาตรการดังกล่าวไป ขณะนี้ค่าเงินบาทค่อนข้างนิ่งแล้ว และธปท.ไม่ตรวจพบว่ามีเงินไหลออกนอกประเทศแต่อย่างใด เพราะในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนที่มีวันหยุดยาวในช่วงปีใหม่ ทำให้ตลาดยังมีการซื้อขายกันเบาบาง แต่ธปท.เชื่อว่านักลงทุนจะกลับมาซื้อขายกันตามปกติในช่วงกลางเดือนมกราคมนี้
“ในส่วนที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่ที่ 22% โดยเกิดจากผลตอบแทนจากการลงทุนเพียง 5% ส่วนที่เหลืออีก 17% เกิดจากผลตอบแทนที่ได้รับจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่เมื่อเทียบกับค่าเสียโอกาสที่เราได้ออกมาตรการกันเงินสำรอง 30%ออกไป ก็เป็นการเพิ่มต้นทุนไม่มากนัก”
สำหรับเงินสำรองระหว่างประเทศล่าสุดในวันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 64.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ฐานะสุทธิ(Forward) ซึ่งแสดงสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าลดลง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นางธาริษา กล่าวว่า เงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจำนวน 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจาก ธปท.ไม่ได้มีการต่ออายุสัญญาซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ทั้งนี้ไม่ได้เกิดจากที่ธปท.เข้าไปซื้อดอลลาร์เพื่อแทรกแซงค่าเงินแต่อย่างใด
ด้านนักค้าเงินธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าวานนี้ (8 ม.ค.) ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าที่ 35.98-36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าสุดที่ 36.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และเคลื่อนไหวแข็งค่าสุดที่ระดับ 35.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบดังกล่าวมาจากทิศทางของค่าเงินเยนที่มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้น ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง
สำหรับแนวโน้มในระยะสั้นๆ เชื่อว่าแนวโน้มค่าเงินบาทน่าจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|