4อุตสาหกรรมแฟชั่นเปิดใจ วิเคราะห์ทิศทางแฟชั่นปีหมู


ผู้จัดการรายวัน(9 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

โครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชั่นดึง 4 อุตสาหกรรมแฟชั่น อัญมณี เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และเครื่องหนัง เปิดใจวิเคราะห์ทิศทางและอุตสาหกรรมแฟชั่นปีหมู พร้อมฟันธงทิศทางธุรกิจแฟชั่นไทยจะก้าวต่อไปได้ต้องทำงานเป็นทีมในลักษณะคลัสเตอร์ และยกระดับสินค้าหนีการแข่งขันตลาดล่างให้ได้

รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการโครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแฟชั่นสาขาอุตสาหกรรมรองเท้า กล่าวว่า สำหรับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรองเท้าในปี 2550 นั้น ต้องการให้ผู้ประกอบการสร้างความร่วมมือทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อทำงานเป็นระบบเครือข่าย ซึ่งจะช่วยในเรื่องต้นทุนและการตลาด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรเร่งพัฒนาและปรับปรุงสินค้าหนีตลาดล่าง ยกระดับสู่ระดับกลางและบนให้ได้ โดยนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ในภาคอุตสาหกรรมมาปรับใช้ด้วยตัวเองเพื่อพัฒนาให้ก้าวทันตลาดที่กำลังเติบโต

ในส่วนของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับนั้น รศ.ดร.กาญจนา ชูครุวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแฟชั่นสาขาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (JARAD) ให้ความเห็นว่า ถึงแม้ปีหน้าอุตสาหกรรมนี้ยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อเตรียมพร้อมรับการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้าน และจีน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องยกระดับการผลิตสู่ขั้นสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตชิ้นงานให้มีมูลค่ามากขึ้นทั้งในเชิงการออกแบบและคุณภาพ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตมากขึ้น

สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมแฟชั่นสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ กล่าวถึงแผนงานในปี 2550 ว่า เพื่อเป็นการเสริมสร้างการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คิดว่าควรมีการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อบูรณาการห่วงโซ่อุปทาน พร้อมกับกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในลักษณะของคัสเตอร์ในทุกส่วนอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กิจกรรมต่างๆ ของผู้ประกอบการในคัสเตอร์ได้

ด้าน รศ.ดร.สุเทพ บุตรดี ผู้อำนวยการโครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแฟชั่นสาขาอุตสาหกรรมเครื่องหนัง กล่าวถึงทิศทางอุตสาหกรรมเครื่องหนังในปี 2550 ว่า อุตสาหกรรมนี้มีจุดแข็งที่ความละเอียดประณีต แต่ยังขาดแคลนบุคลากรทางด้านการออกแบบ เทคนิคการผลิต และการตลาด ทำให้อุตสาหกรรมนี้พัฒนาช้ามาก ดังนั้น การดำเนินงานของโครงการฯ จึงเน้นการสร้างและถ่ายทอด องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาในด้านการออกแบบ การผลิต การสร้างช่องทางการจัดจำหน่าย การศึกษาตลาด รวมถึง

การสร้างตราสินค้า และสร้างโอกาสทางอุตสาหกรรม โดยเน้นการแข่งขันในตลาดด้วยการออกแบบและคุณภาพเป็นหลัก นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีการจัดทำฐานข้อมูลแฟชั่นด้านเครื่องหนัง ด้วยการจัดทำ website นำเสนอข้อมูลแฟชั่นเกี่ยวกับหนังและเครื่องหนัง(www.debre.tfic.kmitnb.ac.th/index.php) และการจัดทำระบบฐานข้อมูลสนับสนุนการออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ซึ่งจะมีการจัดทำซอฟต์แวร์ต้นแบบสำหรับช่วยผู้ออกแบบในการออกแบบกระเป๋า ชื่อว่า Casepert System เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการออกแบบ อีกทั้งมีการนำเข้าซอฟต์แวร์ Lectra ของฝรั่งเศสเพื่อที่ใช้ในการออกแบบเครื่องหนังโดยเฉพาะด้วย

ทั้งนี้ ดร.สุเทพ มองแนวโน้มอุตสาหกรรมแฟชั่นในปี 2550 ว่าตลาดอุตสาหกรรมเครื่องหนังในระดับบนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะในทวีปเอเชียซึ่งมีกำลังซื้อมากขึ้นผู้ประกอบการไทยควรให้ความสนใจตลาดในทวีปเอเชียให้มากขึ้น และใช้คุณภาพเป็นตัวนำ รวมถึงเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจแฟชั่นอย่างครบวงจร ตั้งแต่เทคโนโลยีวัสดุ การออกแบบ เทคนิคการผลิต การตลาด การสร้างตราเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้มีบุคลากรมารองรับ การพัฒนาก็จะเกิดขึ้นเอง ศูนย์กลางนี้ควรได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านสถาบันการศึกษา และมีผู้ประกอบการมาร่วมบริหารเพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.