เอกชนตื่นดึงทุนนอก 3บ.ยักษ์นำทีมโฆษณา


ผู้จัดการรายวัน(9 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เอกชนเริ่มรู้ หวังภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ กกร.เตรียมพบหอการค้าต่างประเทศ 10 ม.ค.นี้ ปลุกสมาชิกร่วมมือแจงนักลงทุนต่างชาติไม่ให้หนีออกไป ลงมติให้ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ "ปูนใหญ่-สหพัฒน์-โตโยต้า" นำร่องทำแผนโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ ฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับมาเร่งด่วน พร้อมขอให้สมาคมโรงแรมอธิบายการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวเป็นภาษาต่างชาติให้หลากหลาย ด้านหอการค้าต่างประเทศผนึกกำลังต้านแก้ไขกฎหมายต่างด้าว ขู่หาก ครม.อนุมัติ เตรียมถอนการลงทุนด้าน “เกริกไกร” ยันเดินหน้า

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยวานนี้ (8 ม.ค.) ว่า ที่ประชุม กกร.ได้ประเมินผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาของสมาชิกเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัยของแต่ละองค์กรและการชี้แจงปัญหาดังกล่าวต่อสมาชิกและนักลงทุนต่างชาติ โดยในส่วนของสภาหอฯ จะพบหอการค้าต่างประเทศวันที่ 10 ม.ค.เพื่อเร่งชี้แจงปัญหาและรับทราบแนวคิดเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน และหลังจากนั้นวันที่ 15 ม.ค.จะพบกับสมาคมผู้แทนเอกชนไทยแต่ละสาขา

“ขอให้สมาชิกได้ออกหนังสือเวียนที่จะขอความร่วมมือในการซักซ้อมการดูแลความปลอดภัยเบื้องต้น ซึ่งเราคงไม่ประเมินความเสียหายว่าจะเป็นเม็ดเงินเท่าใดเพราะสิ่งนี้คงไม่สำคัญเท่ากับความปลอดภัย และผมเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันทุกคอยสอดส่องทุกอย่างก็จะคลี่คลายได้โดยเร็ว ซึ่งหากถามว่าเวลาใดที่จะไม่ดีคงตอบไม่ได้แต่ทุกฝ่ายคงอยากให้จบโดยเร็ว”

สำหรับมาตรการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายประมนต์กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวที่ภาครัฐดำเนินการมา ทำให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนจะต้องมีมาตรการช่วยตัวเอง ด้วยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการวันที่ 18 ม.ค.นี้ เพื่อที่จะเตรียมพร้อมหากค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะไม่ควรจะรอจากมาตรการรัฐเข้าช่วยเหลือแต่เพียงฝ่ายเดียว

ดึง 3 บ.ยักษ์ประชาสัมพันธ์

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุม กกร.ได้ข้อสรุปตรงกันว่า สมาชิกของ กกร.แต่ละองค์กรจะไปเจรจาขอความร่วมมือกับสมาชิกที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ชั้นแนวหน้าของประเทศ ได้แก่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทโตโยต้า และบริษัทในเครือสหพัฒน์ เป็นแกนนำในการเร่งระดมแผนการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ และประชาสัมพันธ์เพื่อกู้ภาพพจน์ของประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติ ในส่วนของสภาอุตฯ จะมีการชี้แจงต่อนักลงทุนต่างประเทศในวันที่ 12 ม.ค.นี้

“บริษัทใหญ่ๆ คงจะนำร่องในระยะแรกก่อนเพื่อกู้ภาพพจน์และชื่อเสียงประเทศไทยให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด เพื่อยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่ได้เกิดวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายในเมืองหลวงของประเทศเหมือนในหลายๆ ประเทศ เพียงแต่เป็นสถานการณ์เหนือความคาดหมายในระยะสั้นๆที่รัฐบาลจะคลี่คลายได้โดยเร็ว” นายสันติกล่าวและคาดว่า ภาคเอกชนรายอื่นๆ ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเช่นกัน โดยหากเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าดังกล่าวแล้วคงไม่จำเป็นต้องมีงบประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเพราะแต่ละ บริษัทก็มีแผนการใช้งบด้านนี้ในแต่ละปีอยู่แล้วเพียงแต่ปรับให้เข้าสถานการณ์เพื่อฟื้นฟูภาพพจน์ประเทศไทยในสายตาชาวโลกซึ่งผลที่จะตามมาคือการลงทุนการท่องเที่ยว ก็จะกลับสู่ปกติได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ กกร.ยังขอความร่วมมือให้สมาคมโรงแรมไทย ให้ช่วยเผยแพร่ข่าวสารเพื่อเตือนภัยเรื่องระเบิดเป็นภาษาต่างชาติหลายๆภาษาเพื่อเตือนให้นักท่องเที่ยวทราบและเข้าใจสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวในแต่ละปีคิดเป็น5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

แบงก์คลอด 3 มาตรการดูแลสาขา

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า คณะทำงานของสมาคมฯ ได้ออกมาตรการ 3 มาตรการ ได้แก่ 1. การรักษาความปลอดภัยสาขาแบงก์ต่างๆ ซึ่งจะต้องติดตั้งทีวีวงจรปิด การฝึกอบรมเบื้องต้นต่อพนักงาน 2. สร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินกับชุมชนโดยได้มอบให้ผู้จัดการสาขาธนาคารต่างๆ ไปเร่งดำเนินการและ 3. การแนะนำและประชาสัมพันธ์ที่จุดรับแลกเปลี่ยนเงินเพื่อให้นักท่องเที่ยวรู้จักการรักษาความปลอดภัยให้กับตนเองเบื้องต้น ส่วนมาตรการกันสำรอง 30% ของธปท.นั้น สมาคมฯ จะไม่เสนอยกเลิก แต่จะทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการส่งออกถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีสาเหตุจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และประเทศอื่นก็เผชิญสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน ภาคเอกชนควรมีแผนปรับตัวเตรียมไว้เช่นกัน

หอการค้าต่างชาติขู่ถอนลงทุน

นายปีเตอร์ จอห์น แวน ฮาเรน ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในไทย ซึ่งมีสมาชิก 28 ประเทศ และสถานทูตประเทศสมาชิกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 ที่กระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในวันนี้ (9ม.ค.) โดยเฉพาะการแก้ไขคำนิยามของคนต่างด้าวใหม่ ที่ให้พิจารณาเงื่อนไขสิทธิในการออกเสียงของคนไทยที่จะต้องเกิน 50% หากต่างด้าวในบริษัทมีสิทธิออกเสียงเกินกว่าก็ให้ถือว่าบริษัทนั้นเป็นต่างด้าวทันที ซึ่งเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมจากเดิมที่พิจารณาเฉพาะสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าว ที่จะต้องไม่เกิน 49%

“เป็นการกีดกั้นการลงทุน และจำกัดสิทธิของนักลงทุนต่างประเทศในไทย ขณะเดียวกันจะทำให้บรรยากาศการลงทุนในไทยเสีย ทำให้ต่างนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในไทย และอาจถอนการลงทุน หากครม.ผ่านความเห็นชอบการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพราะจะเกิดผลกระทบกับนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากจะเป็นการบังคับให้นักลงทุนขายหุ้นของตนเองออก เพื่อปรับโครงสร้างบริษัทให้ถูกต้องตามกฎหมายใหม่”

ที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงของต่างประเทศในไทย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนไทย เพราะทำให้เกิดการจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัย เกิดรายได้จากการเสียภาษี ซึ่งเป็นส่วนค้ำจุนอาณาจักรไทย อีกทั้งยังทำให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจ และผู้บริโภคได้รับประโยชน์

นายปีเตอร์ กล่าวว่า นักลงทุนต่างประเทศในไทยยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง ที่จะนำไปสู่การเปิดเสรีมากขึ้น แต่การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการจำกัดจำนวนของกิจกรรมทางธุรกิจภายใต้กฎหมาย โดยเฉพาะในบัญชีแนบท้าย 3 (ธุรกิจที่คนไทยมีศักยภาพ หากต่างชาติจะประกอบธุรกิจต้องขออนุญาตก่อน) จึงต้องการให้ยกเลิกบัญชีแนบท้าย 3 ด้วย เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนในไทย ซึ่งหอการค้าฯ หวังว่า รัฐบาลไทยจะไม่ทำให้บรรยากาศการลงทุนเสีย และจะเดินหน้าดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศต่อไป

ดังนั้น จึงอยากเสนอแนะให้กระทรวงพาณิชย์ชะลอการนำการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของครม.ออกไปอีก 6 เดือน เนื่องจากขณะนี้ไม่ใช่เวลาเหมาะสมสำหรับการแก้ไข เพราะเกิดความวุ่นวายหลายอย่างในไทย เช่น การระเบิดสถานที่ต่างๆ ที่บั่นทอนความเชื่อมั่น และในระหว่างนั้นให้กระทรวงพาณิชย์เริ่มต้นกระบวนการปรับปรุงแก้ไขใหม่ โดยต้องศึกษาผลดีผลเสีย และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ที่จะถูกกฎหมายบังคับ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ไม่ต้องการให้มีการปิดบังเหมือนกับการแก้ไขครั้งนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา หอการค้าฯ ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความกังวลกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยขอให้รัฐบาลอย่านำเงื่อนไขสิทธิในการออกเสียงมาใช้พิจารณาความเป็นต่างด้าว และต้องการให้ใช้เฉพาะสัดส่วนการถือหุ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ยังขอให้ถอดบางธุรกิจในบัญชีแนบท้าย 2 ออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุน ส่วนบัญชี 3 ให้ยกเลิกไปเลย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจแข่งขันกันมากขึ้น และผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการแข่งขันอย่างเต็มที่

ด้านนายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ยืนยันที่จะเสนอให้ครม.พิจารณาการแก้ไขกฎหมายในวันนี้ (9 ม.ค.) เช่นเดิม ส่วนใครจะค้านก็ค้านไป และคนที่ค้านก็ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ได้มีการแก้ไข จะรู้ได้อย่างไรว่ากระทบตรงไหนบ้าง และขอยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมายไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในไทยแน่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.