|
ปี50บ้านมือ2สะดุด-คนซื้อรอศก.ฟื้นตัว
ผู้จัดการรายวัน(9 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ธุรกิจบ้านมือสองยังซบต่อเนื่อง คาดปี2550ล่วงอีก 10% นายหน้าบ้านมือสองวอนรัฐปรับเกณฑ์กระตุ้นตลาดใหม่ ลดภาษีผู้ประกอบการปรับปรุงบ้านมือสอง - โน้มน้าวแบงก์สนับสนุนสินเชื่อ เตือนลูกค้าอย่าซื้อบ้านใหม่เกินตัวเหตุเศรษฐกิจมีความผันผวน
นายวิศิษฐ์ คุณาทรกุล ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เรียลตี้เวิลด์ อัลไลแอนซ์ จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจบ้านมือสองในปี 2550 ว่า มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2549 ประมาณ 10% ขณะที่ในปีที่ผ่านมาบ้านมือสองมีอัตราการเติบโตลดลงประมาณ 5-10% จากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น ทั้งภาวะความไม่สงบต่างๆ , อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมัน แม้ว่าราคาบ้านมือสองจะถูกกว่าบ้านมือหนึ่ง แต่การที่ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจได้ก่อผลกระทบให้ผู้ซื้อบ้านชะลอการตัดสินใจซื้ออกไปอีก
" แม้ว่าภาวะความไม่สงบหรือความกดดันทางด้านเศรษฐกิจส่งผลให้คนไม่กล้าซื้อบ้าน และส่วนหนึ่งหันมาซื้อบ้านมือสองเพราะราคาถูกกว่า แต่ไม่มากเพียงพอที่จะทำให้ตลาดขยายตัวขึ้นมาได้ เนื่องมาจากนโยบายการเข้ามาเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทำให้ยอดของผู้กู้ซื้อบ้านไม่ผ่านกว่า 30%
สำหรับมาตรการกระตุ้นตลาดบ้านมือสองที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ นายวิศิษฐ์กล่าวว่า แม้รัฐบาลโดยกระทรวงการ คลังจะออกมาตรการกระตุ้นตลาดบ้านมือสอง โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% การลดค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.11% และการยกเว้นอากรแสตมป์ มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดปี 2550 ซึ่งนับตั้งแต่มีการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ กลับไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากมาตรการดังกล่าวมีข้อปฏิบัติที่ยุ่งอยากในการใช้ โดยเฉพาะผู้ขายต้องมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านหลังที่จะขายไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นต้น ทำให้เกิดข้อจำกัดกับผู้ขายอย่างมาก ประกอบกับการนำมาตรการทางภาษีมาใช้อย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นตลาดได้ ซึ่งควรพิจารณานำมาตรการอื่นๆเข้ามาเสริม อาทิ การยกเลิกบัญชีรายชื่อในเครดิตบูโร หรือทางด้านภาคสถาบันการเงินควรสะสางลูกหนีให้จบ เพราะบัญชีส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 สถาบันการเงินควรมีการล้างบัญชีหรือเรียกลูกหนี้มาเจรจาผ่อนชำระ แต่หากไม่ชำระควรฟ้อมล้มละลายเพื่อให้ลูกหนี้ดังกล่าวกลับมาเริ่มต้นชีวิตได้ตามปกติ
นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของสินทรัพย์รอการขาย(NPA)และหนี้เสียในสถาบันการเงิน ที่ได้ดำเนินการตั้งสำรองหนี้ไปแล้วนั้น ตนคิดว่า ควรมีการตัดหนี้ส่วนขาดทิ้งเช่นเดียวกับในต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมามีปัญหาว่าผู้ซื้อเมื่อซื้อมาแล้ว สถาบันการเงินแห่งใหม่กลับไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากเกรงว่าสถาบันการเงินเดิมจะตามทวงหนี้ส่วนขาด ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอย่างมากในปัจจุบัน
"ในส่วนของผู้ซื้อเอง จากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทำให้กำลังซื้อลดลง ดังนั้นผู้ซื้อจะสามารถซื้อบ้านได้ในราคาต่ำลงกว่าในอดีต อีกทั้งภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจ ยิ่งกดดันให้ผู้บริโภคควรซื้อบ้านตามกำลังซื้อ ไม่ใช่ซื้อบ้านใหญ่หรือราคาแพงเกินตัว เพราะอาจทำให้เป็นหนี้เสียได้ ควรคำนวณกำลังผ่อนชำระหนี้ในระยะยาวให้ดี " นายวิศิษฐ์กล่าวและว่า
ในส่วนของธุรกิจการซื้อบ้านมือสองมาปรับปรุงใหม่นั้น พบว่า แม้จะมีแนวโน้มที่ขยายตัว แต่ธุรกิจดังกล่าวยังมีอุปสรรคในเรื่องของการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อนถึง 2 ขั้น คือ โอนซื้อเข้ามาเสียภาษีประมาณ 5% และเมื่อจะขายต่อต้องเสียภาษีอีก 6.3% เมื่อรวมกับค่าปรับปรุงบ้านกว่า 10% จะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มกว่า 20% ทำให้แข่งขันในตลาดได้ยาก ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลช่วยลดภาษีในส่วนดังกล่าวเพื่อช่วยให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|