UNTAC หรืออูนตั๊กที่คนเขมรเรียกติดปากในความหมายว่า "อำนาจที่สี่"
กำลังก้าวไปสู่ความล้มเหลวในโครงการใช้จ่ายเม็ดเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อบูรณะฟื้นฟูสันติภาพในกัมพูชา
คนเขมรได้รับประโยชน์เพียงน้อยนิดจากเม็ดเงินจำนวนนี้ ขณะที่ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ทั่วไปว่าอูนตั๊กจะบรรลุภารกิจในกัมพูชาหรือไม่อย่างไร
?!?
การทำธุรกิจในกัมพูชานั้น สิ่งหนึ่งซึ่งนักธุรกิจสามารถเชื่อมั่นได้อย่างไม่มีอัตราเสี่ยงนั่นคือความที่ไม่มีสิ่งใดที่มีความแน่นอนในกัมพูชา
เพราะทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จนทุกคนจำเป็นต้องท่องและจดจำอย่างขึ้นใจว่า
"อาจจะไม่มีวันพรุ่งนี้สำหรับวันนี้"
ฉะนั้นการมองผลประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจจึงเป็นลักษณะของการมุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ในระยะสั้นเท่านั้น
แม้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในกัมพูชาจะสามารถมองสั้นได้แต่มีอยู่อย่างหนึ่งในกัมพูชาที่ไม่สามารถมองในระยะสั้นได้คือปัญหาทางการเมือง
การไม่ยอมเข้าร่วมในกระบวนการเพื่อสันติภาพในกัมพูชาของกองกำลังฝ่ายเขมรแดง
นับได้ว่าเป็นการก่อให้เกิดสภาวะชะงักงันทางการเมืองในกัมพูชา UNTAC ไม่สามารถดำเนินการเพื่อเตรียมการเลือกตั้งได้สะดวกอย่างที่คิด
ทั้งยังไม่สามารถคุมสภาพการบริหารการปกครองในระยะที่ผ่านมาได้อย่างที่คาดหวังเอาไว้
หากแต่กลับทำให้สถานการณ์ทางการเมืองการบริหารในกัมพูชาในปัจจุบันประกอบไปด้วยกองกำลัง
5 ฝ่าย แบ่งออกเป็นรัฐบาล 4 ชุดในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นคือในส่วนของกองกำลังนั้นนอกจากจะประกอบด้วยเขมรทั้ง
4 ฝ่ายแล้ว ฝ่ายที่ 5 ก็คือกองกำลังของสหประชาชาติในนามของ UNTAC
ส่วนในด้านการบริหารนั้น รัฐบาลชุดแรกที่นับว่าสามารถควบคุมพื้นที่ และมีอำนาจการบริหารในความเป็นจริงมากที่สุดคือรัฐบาลแห่งรัฐกัมพูชา
(Government of the State of Cambodia) โดยการนำของนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็น
ชุดที่ 2 เป็นรัฐบาลผสมระหว่างกลุ่มเขมร 3 ฝ่าย ประกอบด้วยกลุ่มเขมรแดง
กลุ่มสีหนุและกลุ่มเขมรเสรีใช้ชื่อเรียกว่ารัฐบาลผสมแห่งชาติ (National Coalition
Government) ซึ่งสามารถควบคุมพื้นที่ได้เป็นอันดับสอง แต่กลุ่มที่มีอำนาจในความเป็นจริงคือกลุ่มเขมรแดง
โดยการผสมกันขึ้นเป็นรัฐบาลดังกล่าวก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการต่อรองอำนาจทางการเมืองกับรัฐบาลชุดแรกเท่านั้น
ขณะที่รัฐบาลชุดที่ 3 คือสภาสูงสุดแห่งชาติ (Supreme National Council
หรือ SNC) ซึ่งสมเด็จนโรดม สีหนุเป็นประธานนั้น กลับเป็นรัฐบาลเพียงในนามที่ไม่มีอำนาจการบริหารในความเป็นจริง
ถึงแม้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่สหประชาชาติให้การยอมรับโดยการสนับสนุนของ UNTAC
ก็ตาม หากแต่กลับกลายเป็นว่า UNTAC คือรัฐบาลชุดที่ 4 ของกัมพูชา
UNTAC ได้รับมอบหมายภารกิจให้มีอำนาจในการดำเนินเลือกตั้ง และบูรณะฟื้นฟูสันติภาพภายในกัมพูชาตามข้อตกลงสันติภาพของเขมรทั้ง
4 ฝ่ายที่กรุงปารีสเมื่อ 23 ตุลาคม 2534 สหประชาชาติได้ตั้งงบประมาณการใช้จ่ายในการนี้มากถึง
1,035.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อำนาจหน้าที่ของ UNTAC ในกัมพูชารวมไปถึงการรักษาความปลอดภัย การดำเนินการให้มีการหยุดยิงและการเข้าไปในพื้นที่ยึดครองของแต่ละฝ่ายเพื่อทำการปลดอาวุธพร้อมกับการจัดทำทะเบียนราษฎร
ตลอดจนการดำเนินการส่งผู้อพยพชาวกัมพูชากว่า 360,000 คนจากประเทศไทยกลับกัมพูชา
และการจัดสรรที่อยู่อาศัยพร้อมที่ทำกินให้กับผู้อพยพที่ไร้ที่อยู่และที่ทำกินเหล่านั้นด้วย
นั่นหมายถึงว่า UNTAC จะต้องเข้าไปดูแลและบริหารงานในกระทรวงหลักของกัมพูชาถึง
5 กระทรวงคือกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง
และกระทรวงโฆษณาการ
ผลในทางการปฏิบัติที่เป็นจริงในระยะเวลากว่า 7 เดือนที่ผ่านมาปรากฏว่า
UNTAC สามารถดำเนินการบริหารงานกระทรวงต่างๆ ได้อย่างไม่เต็มที่ เนื่องจากอำนาจการบริหารยังคงอยู่ในความดูแลของรัฐบาลพนมเปญโดยการนำของฮุนเซ็น
ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในการบริหารการปกครองประเทศเป็นของตนเองตั้งแต่ปี
2524 มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยมากขึ้นในปี 2532 และ 2534 มีสภาแห่งชาติ
(National Assembly) และสภาแห่งรัฐ (Council of State) ทำหน้าที่ในการพิจารณาแนวนโยบายและตรากฎหมายแห่งรัฐ
โดยมีสภารัฐมนตรี (Council of Minister) เป็นผู้ดำเนินการบริหารและล่าสุดได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อรอการประกาศใช้ภายหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม
2536
เพราะฉะนั้น UNTAC จึงแทบจะไม่มีอำนาจในการบริหารในความเป็นจริงอยู่เลย
ด้วยเหตุนี้การที่ UNTAC ต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานทุกขั้นตอน และทุกกระบวนการเพื่อให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา
จะสามารถเป็นไปได้จริงและมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้น ยังเป็นที่สงสัยอยู่ !!
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเตรียมการเลือกตั้ง แม้แต่ในประเทศที่มีระบบการสื่อสารรวดเร็วทันสมัย
มีทะเบียนราษฎรและจำนวนผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งที่แน่นอน ยังต้องใช้เวลาในการเตรียมอย่างน้อย
90 วัน
แต่สำหรับกัมพูชาในขณะนี้สถิติทุกประเภทเป็นเพียงการประมาณการ ประชากร
9 ล้านคนโดยประมาณ มีผู้มีสิทธิการเลือกตั้ง 3.5-4 ล้านคนโดยประมาณ และเป็นเวลามากกว่าทศวรรษที่ประชาชนคนเขมรเหล่านี้ไม่มีสำเนาทะเบียนบ้าน
ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ไม่มีการแจ้งเกิดหรือตายการติดต่อสื่อสารเป็นไปด้วยความลำบาก
พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอุดมไปด้วยกับระเบิด
ด้วยสภาพการณ์เหล่านี้ ระยะเวลาที่ UNTAC เหลืออยู่ไม่เกิน 150 วันสำหรับการดำเนินการต่างๆ
เพื่อให้มีการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายอย่างที่คิด
สายหยุด นกน้อย อัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "การที่จะพิสูจน์ว่าบุคคลคนนี้เป็นคนเขมรหรือไม่นั้น ผมว่าเป็นเรื่องที่ลำบากมาก
เพราะไม่มีหลักฐานทางเอกสารยืนยัน ฉะนั้นข้อกล่าวอ้างของฝ่ายเขมรแดงเกี่ยวกับคนเวียดนามติดอาวุธในกัมพูชาจึงสามารถอ้างได้
ส่วนจะจริงหรือไม่จริงตามข้อกล่าวอ้าง มันก็พิสูจน์ลำบากนะ"
ข้อที่แน่ก็คือมีคนเชื้อสายเวียดนามในกัมพูชามากกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีศักยภาพทางการค้าและธุรกิจแล้ว กว่าร้อยละ
80 เป็นคนเชื้อสายเวียดนาม และอาชีพส่วนใหญ่ของพวกนี้คือการเป็นนายช่างทางเทคนิค
หรือเป็นแรงงานที่มีฝีมือทั้งนั้น
"อย่างในกรุงพนมเปญนั้นมีประชากรอาศัยอยู่กว่า 1.4 ล้านคน และในจำนวนนี้เป็นคนเชื้อสายเวียดนามกว่า
9 แสนคน ส่วนคนเขมรจริงๆ นั้นผมเชื่อว่ามีไม่เกิน 3 ล้านคนทั่วประเทศ เพราะส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในสงคราม
และประชากรส่วนใหญ่ที่เหลือก็จะเป็นผู้หญิงถึงร้อยละ70 ซึ่งผู้หญิงเหล่านี้ก็มักจะสมรสกับคนต่างด้าว
เฉพาะอย่างยิ่งกับคนเชื้อสายเวียดนาม อาชีพของคนเขมรส่วนใหญ่คือกรรมกรและเกษตรกร
อาศัยอยู่ตามชนบท เพราะฉะนั้นถ้าหากการเลือกตั้งมีขึ้น ก็เป็นสิ่งที่คาดหมายได้ว่าฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายชนะ"
สายหยุดให้ความเห็น
ทางด้าน จะเรียง ศิริวงศ์ ผู้ว่าการธนาคารชาติแห่งรัฐกัมพูชากล่าวว่า "UNTAC
ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงได้เลยว่าใครคือคนเขมร ใครคือคนเวียดนาม เพราะประชาชนคนเขมรกับคนเวียดนามอยู่ร่วมสังคมเดียวกันมานาน
แต่ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็สามารถกล่าวได้ว่าคนเวียดนามที่อยู่ในกัมพูชาจริงๆ
นั้น ในขณะนี้นับได้ว่ามีน้อยกว่าในช่วงสงครามมาก และที่เหลือส่วนใหญ่ในเวลานี้ก็ล้วนแล้วแต่มีครอบครัวในกัมพูชาอย่างแท้จริง"
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2535 ปรากฏว่ามีประชากรที่ไปลงทะเบียนราษฎรกับ UNTAC
เพื่อขอใช้สิทธิในการเลือกตั้งจำนวนกว่า 2.7 ล้านคน และมีพรรคการเมืองที่ขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองแล้ว
20 พรรค โดยพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะเน้นการตั้งชื่อพรรคให้มีคำว่าประชาธิปไตยและเสรีนิยมเป็นสำคัญ
ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับสมัยนิยมของประชาชนที่ดูเหมือนว่าจะมีความต้องการประชาธิปไตย
และสันติภาพมากเป็นพิเศษ และที่สำคัญเพื่อทำให้ภาพพจน์ของพรรคว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในอดีต
และไม่ใช่คอมมิวนิสต์
ผู้ว่าการธนาคารชาติกัมพูชากล่าวกับ "ผู้จัดการ" อีกว่า "ในความเป็นจริงแล้วพรรคการเมืองทั้ง
20 พรรคก็คือพรรคที่ถูกจัดตั้งโดยเขมร 4 ฝ่ายนั่นแหละการทำให้มีหลายพรรคนั้นนอกจากจะเพื่อปกปิดความผิดของตนเองในอดีตที่ผ่านมาแล้ว
ก็ยังเพื่อเป็นยุทธวิธีทางการเมืองที่พยายามตัดทอนกำลังของพรรคคู่ต่อสู้ในพื้นที่เลือกตั้งที่มีความแตกต่างกัน"
จะเรียงยกตัวอย่างว่า "บางจังหวัดตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยมาก ก็จะมีการจัดตั้งพรรคการเมือง
โดยเน้นให้มีชื่อเป็นประชาธิปไตย แต่บางจังหวัดคนจะเคร่งศาสนามากเป็นพิเศษ
พรรคการเมืองก็จะใช้คำว่าศาสนาเป็นชื่อพรรค บางพื้นที่ไม่ชอบคอมมิวนิสต์
พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นก็เพื่อวัตถุประสงค์คัดค้านคอมมิวนิสต์"
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าไม่มีแก่นสาร และหลักมั่นของการเป็นพรรคการเมืองที่แท้จริงแม้แต่น้อยเลย
จะเรียงให้ความเห็นว่า "การทำเช่นนี้ก็เท่ากับเป็นการหลอกลวงประชาชนชัดๆ
ในขณะเดียวกัน UNTAC ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกลับปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทหารของ
UNTAC บางประเทศได้ให้ความช่วยเหลือกับเขมรบางฝ่ายเสียด้วยซ้ำไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยอมขึ้นทะเบียนราษฎรให้กับผู้สนับสนุนของฝ่ายนั้นๆ
อย่างง่ายดาย โดยไม่มีการตรวจสอบอะไรเลยหรือการใช้ยานพาหนะของ UNTAC ไปขนส่งและช่วยในหารหาเสียง
เป็นต้น
อีกประการหนึ่ง การออกบัตรประจำตัวประชาชนโดย UNTAC นั้นสามารถทำได้ง่ายมาก
เพียงให้คน 2 คนรับรอง จ่ายเงินแค่ 50 ดอลลาร์เสียเวลารอ 3 นาที ก็ได้เป็นเขมรแล้ว"
สำหรับแนวดน้มของการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนั้น จะเรียงกล่าวว่า "พรรคประชาชนโดยการสนับสนุนของรัฐบาลพนมเปญ
จะเป็นพรรคที่ได้รับเลือกให้เป็นเสียงข้างมาก เพราะในเวลานี้เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการมากก็คือสันติภาพ
ซึ่งถ้าหากประชาชนไปเลือกพรรค Funcinpec ของฝ่ายสีหนุ หรือพรรค KPNLF ของฝ่ายซอนซานแล้ว
สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งก็คือสงคราม"
เพราะทั้งพรรค Funcinpec และ KPNLF จะไปดึงอดีตพันธมิตรคือฝ่ายเขมรแดงเข้ามาเป็นใหญ่ในกัมพูชาอีก
ด้วยเหตุที่ทั้ง 2 พรรคแทบจะไม่มีกำลังทหารที่จะป้องกันประเทศและตนเองได้เลย
ในขณะที่พรรคประชาชนมีความมั่นคงและแข็งแรง มีกำลังที่สามารถป้องกันประเทศและประชาชนได้
จึงเป็นพรรคที่มีทุกอย่างที่สามารถตอบสนองประชาชนได้ดีที่สุด
ถึงแม้ว่าประชาชนจะมีความศรัทธาต่อสมเด็จสีหนุมากเพียงใดก็ตาม แต่สมเด็จสีหนุก็ไม่สามารถป้องกันประชาชนให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของเขมรแดงได้
อีกอย่างหนึ่งก็คือว่าสมเด็จสีหนุในสายตาของประชาชนในเวลานี้กลายเป็น "คนที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย"
เสียแล้ว
จะเรียงกล่าวอีกว่า "รัฐบาลฮุนเซ็นพร้อมที่จะให้มีการเลือกตั้ง โดยปราศจากการเข้าร่วมของฝ่ายเขมรแดงและเมื่อเราเป็นรัฐบาล
เราก็พร้อมและมีความยินดีที่จะทำการปราบปรามกองโจรอย่างเขมรแดง เราพร้อมที่จะรับสถานการณ์อย่างที่พม่ากำลังรับอยู่ในขณะนี้
เพราะความจริงแล้วกำลังของเขมรแดงลดน้อยถดถอยลงมาก น้อยจนไม่สามารถที่จะก่อสงครามได้อีกต่อไป
เขมรแดงสามารถกระทำได้เพียงการก่อกวนเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น และถ้าหาก UNTAC
จริงใจพร้อมกับประเทศไทยให้มีการปิดจุดติดต่อทางการค้ากับเขมรแดงด้วยแล้ว
เชื่อแน่ว่ากำลังของเขมรแดงจะต้องแตกทัพหนีหมด เนื่องเพราะไม่สามารถทนอดอยากในป่าได้"
ทางด้านสุนัย บุณยศิริพันธ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ในกรุงพนมเปญว่า "หากไม่มีการเลือกตั้งโดยปราศจากการเข้าร่วมของฝ่ายเขมรแดงแล้ว
ผมสงสัยว่าสันติภาพในกัมพูชาจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร UNTAC จะยอมรับฝ่ายเขมรแดงให้อยู่ในสถานะอย่างไรในกัมพูชา
เพราะตราบใดที่ไม่มีการยอมรับให้ฝ่ายเขมรแดงมีเขตอิสระของตนเองแล้ว นั่นย่อมหมายถึงการเป็นกองโจรเขมรแดงที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลเลือกตั้งและหากสภาพเช่นนี้เกิดขึ้นจริง
ก็เท่ากับเป็นการก่อให้เกิดสงครามครั้งใหม่ขึ้นในกัมพูชาอีกครั้งหนึ่ง"
การที่ UNTAC ต้องการเร่งให้มีการเลือกตั้งให้ทันตามกำหนดเวลาที่วางไว้ก็เท่ากับเป็นการเร่งให้เกิดสงครามกลางเมืองในกัมพูชาเช่นกัน
การขีดเส้นเวลาที่จำกัดตัวเองเช่นนี้ ไม่น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องเพราะในความเป็นจริงแล้ว
กว่าที่ประเทศไทยจะสามารถเจรจาให้เขมรแต่ละฝ่ายลงนามในข้อตกลงสันติภาพได้
เราใช้เวลากว่า 2 ปี แต่การเลือกตั้งและการทำให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงนั้น
นับเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่าหลายพันเท่าฉะนั้นเวลาที่เหลือของ UNTAC มีเพียงไม่ถึง
150 วัน UNTAC จะสามารถสร้างสานสันติภาพเพื่อคนกัมพูชาได้จริงหรือ ?"
สุนัยให้ความเห็น
"ในขณะเดียวกันในส่วนของการ Sanction ทางการค้ากับฝ่ายเขมรแดงนั้น
จะสามารถปฏิบัติและควบคุมได้จริงหรือ ? UNTAC จะทราบได้อย่างไรว่าชาวบ้านที่ไปซื้อสินค้าในตลาด
คนไหนคือเขมรแดง คนไหนคือเขมรขาว และที่สำคัญมาตรการ Sanction ทางการค้านั้นไม่สามารถที่จะประสบผลได้ในระยะสั้น
ด้วยเหตุนี้ทางแก้ไขที่ดีที่สุดก็คือยืดเวลาในการเจรจาระหว่างเขมรแต่ละฝ่ายออกไปอีก"
เอกอัครราชทูตไทยในกรุงพนมเปญคาดหมายสถานการณ์
นักวิเคราะห์ทางรัฐศาสตร์ชาวกัมพูชาได้ให้ความเห็นในเชิงการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองของกัมพูชาในปัจจุบันกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "ฝ่ายเขมรแดงไม่มีทางที่จะเข้าร่วมในการเลือกตั้งโดยตรงอย่างแน่นอน
เพราะการเข้าร่วมโดยตรงก็หมายถึงความพ่ายแพ้ แต่ยุทธวิธีทางการเมืองของเขมรแดงก็คือการหาวิธีการและโอกาสในการบ่อนทำลายฐานคะแนนเสียงของฝ่ายพนมเปญ
เพื่อเป็นการสร้างภาพพจน์ทางการเมืองที่ดีให้กับพรรคพันธมิตรของตนนั่นคือ
พรรค Funcinpec กับพรรค KPNLF เพื่อให้พรรคการเมืองทั้งสองพรรคนี้เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้ง"
ในขณะนี้เขมรแดงได้พยายามกระทำทุกวิถีทาง เพื่อเป็นการยั่วยุฝ่ายพนมเปญให้หันกลับมาถือปืน
เพื่อต่อสู้กับตนในสนามรบอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายพนมเปญตัดสินใจกลับไปทำสงครามกับเขมรแดง
ภาพพจน์ของฝ่ายพนมเปญก็จะติดลบในสายตาของประชาชน เพราะความกระหายอยากในสงครามเป็นสิ่งที่สวนทางกับความต้องการของประชาชนนั่นเอง
และฝ่ายที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดในการเลือกตั้งก็คือ Funcinpec และ KPNLF
นักรัฐศาสตร์รุ่นใหม่อีกคนหนึ่งที่นั่งร่วมอยู่ในวงสนทนาด้วยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ "โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าการดำเนินยุทธวิธีครั้งนี้ของเขมรแดงฉลาดมากฉลาดจน
UNTAC ตามไม่ทันเพราะสิ่งที่ UNTAC มุ่งมั่นในขณะนี้ก็คือการดำเนินการเลือกตั้งให้เสร็จๆ
ไปเท่านั้น แต่ภายหลังการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลซึ่ง UNTAC กลับบ้านไปแล้วนั้นทราบไหมครับว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ชาวกัมพูชาล้วนแล้วแต่รู้โดยสัญชาตญาณว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราเคยหมดความหวังในตัวผู้นำทุกคนภายในประเทศมาแล้ว
โปรดอย่าทำให้เราต้องหมดหวังกับสันติภาพโดยการดำเนินงานของ UNTAC อีกเลย
สงคราม ความตาย และความทุกข์ยากลำบากของคนเขมรมันมีมากจนเกินพอแล้ว"
สถิติการสำรวจครั้งล่าสุดของธนาคารโลกเมื่อเดือนมิถุนายน 2535 ปรากฏว่าบนเนื้อที่
181,035 ตารางกิโลเมตรของกัมพูชา มีประชากรอาศัยอยู่โดยประมาณ 9.01 ล้านคน
คิดเป็นประชากรหญิงร้อยละ 70 ประชากรชายร้อยละ 30 มีอัตราการเพิ่มของจำนวนประชากรโดยเฉลี่ยร้อยละ
2.8 ต่อปี ความหนาแน่นของประชากรโดยเฉลี่ย 50 คนต่อตารางกิโลเมตร และเมืองที่มีประชากรมากที่สุดคือกรุงพนมเปญ
มีจำนวนกว่า 1.4 ล้านคน
อัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดโดยเฉลี่ย 125 ต่อ 1,000 คน ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า
5 ปี มีโดยเฉลี่ย 200 ต่อ 1,000 คน อัตราส่วนระหว่างแพทย์กับประชากรคิดเป็น
1 ต่อ 12,800 คน อายุการเสียชีวิตโดยเฉลี่ย 49.7 ปี จบการศึกษาภาคบังคับชั้นประถมร้อยละ
80 ระดับมัธยมต้นร้อยละ 20 ระดับมัธยมตอนปลายร้อยละ 10 ระดับอุดมศึกษาร้อยละ
0.1
เฉพาะในพนมเปญมีคนว่างงานกว่า 150,000 คน คนไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 10,000
ครอบครัว คนขอทานที่อพยพมาจากชนบทเข้ามาในพนมเปญมีมากกว่า 5,000 ครอบครัว
ในภาคเศรษฐกิจนั้นปรากฏว่าผลผลิตมวลรวม (Gross Domestic Product) ของกัมพูชามีมูลค่า
241,534 ล้านเรียลในปี 2531 และ 247,300 ล้านเรียลในปี 2532 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ
2.4 และ 247,015 ล้านเรียล ในปี 2533 หรือลดลงจากปี 2532 ร้อยละ 0.1 และเพิ่มขึ้นเป็น
280,304 ล้านเรียลในปี 2534 คิดเป็นอัตราการเพิ่มร้อยละ 13.5
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2534 สูงกว่าในปี 2533ถึงร้อยละ
175.9 และภายหลังจากการเข้าไปของ UNTAC เมื่อกลางปี 2535 ปรากฏว่าอัตราเงินเฟ้อในกัมพูชาพุ่งขึ้นสูงกว่าร้อยละ
2,000
ในขณะเดียวกันดัชนีราคาผู้บริโภคก็เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 259.09 ในปี 2532
เป็นร้อยละ 1,194,467 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2535 และพุ่งขึ้นถึงระดับสูงสุดในปัจจุบันคือ
ร้อยละ 3,000
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารชาติกัมพูชาเมื่อครึ่งปีแรกของปี 2535
คือ 612 เรียลต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 เรียลต่อ 1 ดอลลาร์ในปัจจุบัน
ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนของตลาดสูงกว่าถึงร้อยละ 12.5
การขาดดุลการชำระเงินสูงถึงร้อยละ 40 ต่อปีเป็นเวลาถึง 13 ปีติดต่อกัน
เป็นหนี้ต่างประเทศซึ่งหมายถึงอดีตสหภาพโซเวียต กลุ่มยุโรปตะวันออกและเวียดนาม
มูลค่ากว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ โดยกว่าร้อยละ 70 เป็นหนี้จากการซื้ออาวุธในช่วงสงครามกับเขมร
3 ฝ่าย
ผู้ว่าการธนาคารชาติกัมพูชากล่าวว่า "เรายอมรับว่าการดำเนินนโยบายในอดีตนั้นผิดพลาด
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา เราก็ได้พยายามอย่างยิ่งในการปฏิรูปเศรษฐกิจ
จะเห็นได้จากการที่เราเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศอย่างกว้างขวางและเสรี
มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มีการพัฒนาระบบธนาคารโดยเปิดโอกาสให้ธนาคารของต่างชาติสามารถเข้ามาเปิดสาขาหรือร่วมทุนกับธนาคารชาติได้
เราพยายามที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจทุกอย่างเข้าสู่ระบบสากล"
"ในเวลานี้เราก็ได้มีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเงิน การธนาคารไปแล้วถึง
2 ฉบับ และกำลังเตรียมจะประกาศใช้บังคับกฎหมายการแลกเปลี่ยนเงินตราให้เป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นจำเป็นต้องใช้เวลา เฉพาะอย่างยิ่งจำเป็นต้องจัดการเมืองให้อยู่ในสภาวะที่เป็นปกติเสียก่อน
ฉะนั้นในระยะเฉพาะหน้านี้ เราก็คงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากสหประชาชาติมากเป็นพิเศษ"
จะเรียงพูดถึงสิ่งที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข
ส่วนงบประมาณที่สหประชาชาติอนุมัติเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบูรณะฟื้นฟูสันติภาพในกัมพูชาจำนวน
1,035.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น มีเม็ดเนเพียงไม่เกิน 41.2 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็นร้อยละ
3.9 ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น ที่จะมีโอกาสเข้าไปสะพัดในกัมพูชา เนื่อง
เพราะเป็นงบประมาณสำหรับเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ UNTAC ทั้ง 20,000
นาย
งบประมาณการใช้จ่ายในส่วนอื่นนั้น มีอยู่เพียงบางส่วนเท่านั้นที่จะตกเข้าถึงกัมพูชา
เช่น งบรายการค่าเช่าที่พักและสำนักงานจำนวน 354.8 ล้านดอลลาร์ ก็มีเพียงส่วนของค่าเช่ากับค่าจ้างแรงงานในการก่อสร้างเท่านั้น
ที่แรงงานในกัมพูชาจะมีโอกาสได้เชยชม
ส่วนการรับเหมาก่อสร้างทั้งหมดเป็นของต่างประเทศและงบประมาณในส่วนอื่นซึ่งเป็นงบประมาณส่วนใหญ่
ไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจของกัมพูชาเลย เพราะถูกตัดออกไปตั้งแต่ต้นทาง
โดยกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่มีความสามารถในการตอบสนองในด้านวัสดุอุปกรณ์แก่
UNTAC ไม่ว่าจะเป็นงบการซื้อ หรือเช่ายวดยานพาหนะ อากาศยาน เชื้อเพลิง อาวุธ
หรือการประกันภัยต่างๆ ล้วนเป็นผลประโยชน์ของมหาอำนาจทั้งสิ้น
ยรรยงค์ ตั้งเสาวภาคย์ ผู้จัดการบริษัท ไทย-อินโดไชน่า ซัพพลาย จำกัด กล่าวว่า
"การเข้ามาในกัมพูชาของ UNTAC มันแตกต่างกับช่วงสงครามอินโดจีนมาก
เพราะในสภาวะสงครามจริงๆ นั้นทหารย่อมมีความเครียดมากเป็นธรรมดา ฉะนั้นเมื่อมีช่วงหยุดพักผ่อนก็เลยมีการใช้จ่ายเงินมากเป็นพิเศษแต่
UNTAC นี่แทบจะไม่มีสิ่งที่จะทำให้ทหารเกิดความเครียดอะไรเลย จะมีอยู่บ้างก็แค่การกระทบกระทั่งเล็กๆ
น้อยๆ จากเขมรแดง จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องคลายเครียด เที่ยวบ้าง เมาบ้าง
มันก็อยู่ในระดับธรรมดา อย่างมากก็ไม่เกินคนละ 20 ดอลลาร์ต่อวัน"
"UNTAC ที่มาส่วนมากก็จะมาจากกลุ่มประเทศยากจนที่มุ่งเก็บเงินส่งกลับบ้านทั้งนั้น
คุณเชื่อไหมหนึ่งปีเศษที่ปฏิบัติภารกิจในกัมพูชานี่ สามารถเก็บเงินไปสร้างบ้านที่อุรุกวัย
จีน อินโดนีเซีย ปากีสถาน ได้สบาย อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินการใช้จ่ายส่วนตัวของทหาร
UNTAC มากที่สุดก็คือ ธนาคาร เจ้าของบ้านเช่า โรงแรม ห้องอาหาร และสถานเริงรมย์ต่างๆ
คนเขมรส่วนใหญ่จะได้บ้างก็เป็นเพียงเศษเงินจากการปั่นสามล้อส่งหญิงบริการไปให้เจ้าหน้าที่
UNTAC "
สมศักดิ์ โสวภาค ผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย สาขากรุงพนมเปญกล่าวว่า "กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธนาคารคือ
UNTAC โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของลูกค้าทั้งหมดของธนาคาร ส่วนอีกร้อยละ
30 เป็นลูกค้าคนไทยและชาวต่างประเทศที่มาลงทุนทำธุรกิจในกัมพูชา ส่วนลูกค้าที่เป็นคนในพื้นที่ยังมีน้อยมาก
การปล่อยกู้นั้นยังไม่ใช่เป้าหมายของธนาคาร จะมีการปล่อยกู้ก็เฉพาะลูกค้ารายใหญ่ๆ
จากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันก็นับได้ว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ"
วรรณกิตต์ วรรณศิลป์ ผู้จัดการธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ซึ่งเป็นธนาคารท้องถิ่นที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์
ร้อยละ 70 กับธนาคารแห่งชาติกัมพูชาร้อยละ 30 และเป็นธนาคารของไทยรายแรกที่เข้าไปร่วมทุนกับรัฐบาลแห่งกัมพูชา
ปัจจุบันได้เปิดสาขาใหม่ที่จังหวัดพระตะบอง และเตรียมจะเปิดสาขาอีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดเสียมราฐกล่าวว่า
"ก่อนหน้าที่ UNTAC จะเข้ามา ธนาคารมีระดับของเงินฝาก 2-3 ล้านดอลลาร์
แต่พอ UNTAC เข้ามาระดับเงินฝากของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านดอลลาร์"
ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์สามารถสร้างรายรับจากการให้บริการเฉลี่ย 20,000 ดอลลาร์ต่อเดือน
เจ้าหน้าที่ UNTAC จำนวนกว่า 16,000 นายหรือประมาณร้อยละ 80 ของ UNTAC ทั้งหมด
20,000 นายใช้บริการที่ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม UNTAC ก็เป็นเพียงลูกค้าชั่วคราวเท่านั้น ฉะนั้นนโยบายหลักของธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ในอนาคตก็คือการมุ่งเน้นหาลูกค้าในท้องถิ่น
แต่ในขณะนี้คนเขมรจริงๆ นั้นไม่นิยมใช้บริการธนาคาร เพราะความหวาดระแวงกับสงครามที่มีอยู่ตลอดเวลาที่ผ่านมา
และการเก็บรักษาเงินไว้กับตัวเป็นการปลอดภัยและสะดวกในการพกพาเมื่อมีความจำเป็นต้องอพยพเนื่องจากสงคราม
ทางด้านพจน์ บุณยรัตพันธ์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรกัมพูชา จำกัด ที่ถือว่าเป็นธนาคารระดับท้องถิ่นของกัมพูชาอีกแห่งหนึ่ง
ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจไทยร้อยละ 90 กับธนาคารชาติกัมพูชา ร้อยละ
10 กล่าวว่า "ระบบธนาคารแทบจะไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลยจาก UNTAC ตรงกันข้ามกลับต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิมเพราะต้องคอยบริการโอนเข้า-ออก
หรือการถอนเงินของเจ้าหน้าที่ UNTAC ตลอดเวลา ซึ่งผลประโยชน์ที่น่าจะได้รับจากส่วนต่างของเงินไม่มีเลยเพราะการโอนเข้าบัญชีเป็นดอลลาร์เวลาถอนเงินออกจากบัญชีก็เป็นดอลลาร์
บางทีมาถอนพร้อมๆ กันเป็นล้านๆ ดอลลาร์ ธนาคารก็ต้องวิ่งหน้าตั้งหาเงินเป็นล้านดอลลาร์
แม้แต่ในกรุงเทพฯ ยังยากที่จะหาได้ครบ เอาที่ไหนจ่าย ก็ต้องติดต่อซื้อจากฮ่องกง
สิงคโปร์"
"ค่าบริการที่ธนาคารได้รับเมื่อเปรียบเทีนยบกับค่าเหนื่อยแล้ว มันไม่คุ้มกันเลยจริงๆ
อย่างตอนนี้ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์มีลูกค้าที่เป็น UNTAC มากที่สุด ก็ต้องเหนื่อยมากกว่าธนาคารอื่นๆ
และแทบจะเรียกว่าเหนื่อยฟรี เพราะเงินของ UNTAC จริงๆ แล้ว มันเป็น idle
fund คืออยู่ในธนาคารก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์อะไรกับธนาคาร ผมจึงกล้าพูดได้อย่างเชื่อมั่นเลยว่า
ธนาคารไม่ได้ผลประโยชน์จากเงินของ UNTAC" พจน์กล่าว
ส่วนกรณีที่ว่าทำไมธนาคารของไทยและของต่างประเทศจึงมุ่งเข้าไปในกัมพูชามากเป็นกรณีพิเศษ
โดยเฉพาะในช่วงที่ UNTAC เข้าไปในกัมพูชานั้น ผู้จัดการธนาคารกสิกรกัมพูชาให้เหตุผลว่า
"เพราะไทยประกาศ BIBF ซึ่งทุกธนาคารต่างต้องการแสสดงถึงภาพพจน์ของการเป็นธนาคารระดับสากลของตัว
และการเลือกเข้ามาในกัมพูชาเพราะจุดที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของที่นี่ดีที่สุดในกลุ่มอินโดจีน
อยู่ในจุดที่ศูนย์กลาง จึงต้องเข้ามาเปิดสาขาเพื่อยึดพื้นที่ไว้ก่อน ประกอบกับเมื่อเปรียบเทียบการลงทุนของนักธุรกิจไทยในกัมพูชากับลาวและเวียดนาม
ปรากฏว่านักธุรกิจไทยในกัมพูชามากที่สุด"
"ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากเงินของ UNTAC ในกัมพูชาที่แท้จริงก็คือเจ้าของบ้านเช่า
โรงแรม กิจการก่อสร้าง และบรรดากิจการที่มีการลงทุนต่ำ แต่ผลกำไรสูงคือร้านอาหาร
อย่างร้านอาหารที่คนไทยหรือคนสิงคโปร์เข้ามาทำนี่ กำไรในหนึ่งวันที่พนมเปญนี่เท่ากับกำไรในหนึ่งเดือนที่กรุงเทพฯ
หรืออย่างธุรกิจบ้านเช่านี่ บ้านเดี่ยวสองชั้นประมาณ 4 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ
ค่าเช่าตกเดือนละ 75,000 บาท หรือถ้าเป็นโรงแรมที่พออยู่ได้ค่าเช่าต่ำสุด
1,000 บาทต่อคืน แต่ถ้าเป็นระดับโรงแรม Cambodiana ราคาต่ำสุด 4,300 บาทต่อคืน"
พจน์กล่าวในที่สุด
อิทธิ รักษ์สุคนธ์ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครขององค์การพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งในพนมเปญกล่าวว่า
"ค่าครองชีพของคนในพนมเปญตั้งแต่ UNTAC เข้ามาสูงมาก ทานข้าวมื้อหนึ่งอย่างน้อยก็
5 ดอลลาร์ ดังนั้นในวันหนึ่งๆ เฉพาะค่าอาหารก็ตกประมาณ 15-20 ดอลลาร์ ค่าเช่าห้องแถวธรรมดาเดือนละ
700 ดอลลาร์"
"สำหรับผมนี่ยังดีนะที่มีเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือน ค่าที่พักก็เบิกได้
แต่สำหรับคนเขมรที่ไม่มีเงินเดือน มีบ้างก็เพียงค่าแรงงานไม่ถึงวันละ 10
ดอลลาร์ ทั้งที่กฎหมายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำวันละ 35 ดอลลาร์ พวกเขาจะไม่สามารถเช่าบ้านอยู่ได้เลย"
อิทธิเปิดเผยสภาพคนเขมรที่ได้รับประโยชน์จากการเข้ามาของกลุ่ม "อำนาจที่สี่"
ดังนั้นที่พักหลับนอนของพลเมืองเจ้าของประเทศเหล่านี้ก็คือกระท่อมกลางเมืองหลวง
ตั้งเรียงรายอยู่ตามข้างทางและริมแม่น้ำ ห้องน้ำห้องส้วมไม่มี บริเวณริมถนนหนทางหรือตามริมรั้วกำแพงตึก
จึงกลายเป็นห้องส้วมสาธารณะ
"แต่สิ่งเหล่านี้รัฐบาลฮุนเซ็นไม่เหลียวแลเลย เพราะรัฐมนตรีส่วนใหญ่มีรถยนต์ส่วนตัวนั่ง
กินข้าวตามร้านอาหารหรูๆ ถึงเงินเดือนจะน้อยนิด แต่ก็สามารถเก็บค่าหัวคิวได้จากนักธุรกิจที่มาลงทุนกลุ่มผู้ปกครองเหล่านี้ขายทุกอย่างที่ขวางหน้าทุกอย่างเพื่อตัวพวกเขาเอง
ไม่ใช่เพื่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเขมรฝ่ายใดก็ตาม ทำเพื่อเงินทั้งนั้น เมื่อแม้แต่คนเขมรด้วยกัน
ก็ยังไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาของชาติ แล้วจะไปหวังความจริงใจได้จากใครแม้แต่
UNTAC" อิทธิพูดด้วยสีหน้าที่แทบจะไม่มีความหวังในสันติภาพ
"ที่ผมทำงานอยู่ทุกวันนี้ ก็เพียงเพื่ออยากจะช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติของผมเท่านั้น"
อิทธิกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ส่วนสงวน ศาสตรา เพื่อร่วมงานของอิทธิให้ความเห็นเสริมว่า "กลุ่มประเทศมหาอำนาจที่ยื่นมือเข้ามาตัดสินชะตากรรมของกัมพูชาภายใต้ชื่อ
UNTAC ความจริงแล้ว สิ่งที่สะท้อนออกมาให้คนเขมรเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือเขาไม่ได้คำนึงถึงคนเขมรอย่างแท้จริง
แต่ทุกคนเข้ามาที่นี่เพื่อหวังในผลประโยชน์ที่จะได้รับแก่ตัวเองทั้งนั้น"
อย่างญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำของ UNTAC ก็ผลักดันให้มีการห้ามนำไม้ซุงออกจากเขมร
โดยให้เหตุผลว่าเพื่อจำกัดการแสวงหาผลประโยชน์ของเขมรแดงทั้งๆ ที่เขมรแดงได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่จากเหมืองพลอย
ฉะนั้นเมื่อพิจารณาในจุดนี้จริงๆ แล้วก็จะพบว่าญี่ปุ่นมีโรงงานแปรรูปไม้ที่ทันสมัยมูลค่ากว่า
100 ล้านดอลลาร์ตั้งอยู่ที่เสียมราฐ นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังได้รับผลประโยชน์จากการขายรถยนต์และรถบรรทุกให้แก่
UNTAC เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานในกัมพูชามากกว่า 20,000 คัน
ในขณะที่ออสเตรเลียก็ได้ประโยชน์จากการเป็นผู้ผูกขาดระบบโทรคมนาคม โดยบริษัท
OCT
ส่วนฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ก็ได้ประโยชน์จากการขายอาวุธและการให้เช่าอากาศยาน
และในอนาคตผลประโยชน์ที่มหาอำนาจหวังจากกัมพูชาก็คงไม่พ้นทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ป่าไม้
"ในเวลานี้คนเขมรอยู่อย่างใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่มีความหวังที่จะได้รับจากใคร
อยู่ไปเพียงเพื่ออยากจะรับรู้ว่าผู้นำของพวกเขาและมหาอำนาจ UNTAC ทั้งหลาย
กำลังจะทำอะไรกับประเทศกัมพูชาแห่งนี้ต่อไป" อาสาสมัครหนุ่มเลือดเนื้อเชื้อไขของคนกัมพูชากล่าวในที่สุด