"การบุกนอกอย่างมีแบบแผนของปูนใหญ่"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

"เครือซิเมนต์ไทยนับเป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่ไปลงทุนในต่างประเทศเป็นรายแรกๆ หลังจากที่รัฐบาลเชิญชวนให้เอกชนไทยขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ด้วยการเปิดบริษัทการค้าระหว่างประเทศขึ้นมาเมื่อทศวรรษก่อน แต่จากนี้เป็นต้นไป บทบาทของปูนใหญ่จะเริ่มเปลี่ยนไปด้วยการหันมาด้านการลงทุนมากขึ้น และคำกล่าวของทวี บุตรสุนทร ที่ยืนยันว่าจากนี้ไปเครือซิเมนต์ไทย จะ Aggressive มากขึ้นในเรื่องการลงทุน ดูจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยกับบทบาทของการเป็นหนึ่งใน Thailand Inc. ในวันนี้

ความใหญ่ไม่อันตรายเสมอไป !!!

ดูเหมือนว่า เรื่อง "ความใหญ่" อาจจะเป็นอันตรายในการทำธุรกิจหลายๆ ด้าน เพราะความอุ้ยอ้ายของการตัดสินใจ หรือกระทั่งความใหญ่ที่ทำให้บรรดาคู่แข่งเกิดความวิตกจนกระทั่งต้องลงมาทำสงครามการค้าด้วยความรุนแรงกว่าปกติทั่วไป

เพราะหากใครสามารถที่จะล้มยักษ์ใหญ่ได้ ส่วนแบ่งของการตลาดที่ยักษ์ใหญ่ครองอยู่ ก็จะสามารถกระจายออกสู่รายย่อยได้มาก

แต่บ่อยครั้ง ความใหญ่ก็ไม่อันตรายอย่างที่กล่าวถึง !!!!

โดยเฉพาะความใหญ่ของปูนใหญ่

บ่อยครั้งที่แกนนำในระดับบริหารของเครือซิเมนต์ไทย สามารถที่จะใช้ความใหญ่ให้เป็นประโยชน์ได้ในเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง โดยเฉพาะการลงทุนหรือการบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ที่เครือซิเมนต์ไทยตัดสินใจทำ

แกนนำที่ว่านั้นได้แก่คณะจัดการของเครือซิเมนต์ไทย ที่มีพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ที่เพิ่งเกษียณและชุมพล ณ ลำเลียง ขึ้นมารับตำแหน่งแทน ร่วมกับผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เป็นผู้พิจารณาว่าจะลงทุนหรือทำอะไร

"การตัดสินใจสุดท้ายของเครืออยู่ที่คณะจัดการว่าจะเอาไม่เอา หรือให้ใครรับผิดชอบ เพราะจะต้องมีเรื่องเกี่ยวกับนิติกรรมมาเกี่ยวข้องด้วย" คนในเครือซิเมนต์ไทยระดับผู้อำนวยการฝ่ายคนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงการพิจารณาเรื่องการลงทุน

ผู้ที่เห็นสมควรที่จะเสนอเรื่องการลงทุนใหม่ๆ เป็นคนสุดท้ายต่อคณะจัดการก็คือ รองผู้จัดการใหญ่และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสทั้งสี่ ที่ดูแลสายงานเครือข่ายตามการปรับโครงสร้างการบริหารของเครือซิเมนต์ไทยที่เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2536

นั่นหมายความว่าการพิจารณาว่าจะตัดสินใจลงทุนใหม่หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นในหรือต่างประเทศของเครือซิเมนต์ไทยนั้น จะต้องผ่านการตัดสินใจขั้นสุดท้ายโดยรองผู้จัดการใหญ่และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสสี่คนคือ ทวี บุตรสุนทร ประมนต์ สุธีวงศ์ ฉายศักดิ์ แสง-ชูโต และสบสันติ์ เกตุสุวรรณ ตามสายงานบังคับบัญชา

ตัวอย่างเช่น หากมีข้อเสนอว่า เครือซิเมนต์ไทยจะลงทุนในธุรกิจด้านกระดาษเพิ่มเติมหรือไม่การพิจารณาจะเริ่มตั้งแต่การตั้งทีมศึกษาว่า การลงทุนดังกล่าวจะใช้วงเงินเท่าไร จากนั้นเรื่องของการเสนอก็จะมาถึงฉายศักดิ์ที่เป็นผู้ดูแลกลุ่มเยื่อและกระดาษและปิโตรเคมีของปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งเรื่องที่คณะศึกษาส่งมา ฉายศักดิ์ก็จะให้ทีมงานของตนวิเคราะห์ต่อถึงภาวะตลาด คู่แข่งจนถึงรายละเอียดปลีกย่อยเช่นเรื่องโนว์ฮาว เรื่องตลาด ว่าจะมีผลต่อการลงทุนหรือไม่ ?

ผลการศึกษาวิเคราะห์ของทีมงานนั้น เมื่อส่งถึงมือฉายศักดิ์ เขาจะเป็นผู้กรองเรื่องในระดับแรกว่าสมควรเสนอต่คณะจัดการทั้ง 7 คนที่มีชุมพลเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่หรือไม่

แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อฉายศักดิ์เสนอต่อคณะจัดการแล้ว คณะจัดการจะเห็นด้วยเสมอไปกับข้อเสนอดังกล่าว แต่ขั้นตอนนั้นคือ ขั้นตอนสุดท้ายว่าเครือซิเมนต์ไทย จะลงทุนในโครงการนั้นหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดของขั้นตอนตั้งแต่เริ่มจากกระดาษแผ่นเดียวจนคณะจัดการลงมตินั้น จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

ทวี บุตรสุนทร รองผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทย อธิบายเพิ่มเติม "ผู้จัดการ" เกี่ยวกับการพิจารณาของเครือซิเมนต์ไทยว่าจะลงทุนอะไรหรือไม่ ว่าจะเริ่มจากการพิจารณาว่ามีธุรกิจใดบ้างที่เครือซิเมนต์ไทยสนใจจะลงทุนโดยยอมรับว่า การตัดสินใจดังกล่าวนั้น เป็นการตัดสินใจแบบใหม่ของเครือซิเมนต์ไทย

"เดิมนั้น การลงทุนของเราเป็นการนั่งรอคนมาชักชวน แต่ต่อไปนี้ เราจะ Aggressive มากขึ้น ด้วยการวิ่งหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ แทนที่จะนั่งรออย่างที่ผ่านมา" รองผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทวีย้ำว่า การตัดสินใจจะลงทุนอะไรใหม่ๆ ของเครือซิเมนต์ไทยนั้น ยังคงยืนหยัดที่จะลงทุนในธุรกิจดั้งเดิมที่เครือซิเมนต์ไทยมีความรู้ความสามารถ และความชำนาญอยู่แล้ว

นั่นหมายความว่าการลงทุนใหม่ๆ ของเครือซิเมนต์ไทย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใน หรือต่างประเทศจะอยู่ในขอบข่ายธุรกิจ 5 อย่างที่เครือซิเมนต์ไทยเป็นผู้นำอยู่ในปัจจุบัน คือหนึ่ง-อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ สอง-อุตสาหกรรมเซรามิก สาม-อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ไม้ยืนต้น (nonwood) และห้า-อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์

สำหรับขั้นตอนของการลงทุนนั้น เครือซิเมนต์ไทย จะพิจารณาเป็นขั้นตอนต่อไป โดยจะเริ่มจากการดูว่า ธุรกิจใหม่หรืออุตสหกรรมใหม่นั้น เป็นอุตสาหกรรมที่เครือซิเมนต์ไทยมีความชำนาญพอ ที่จะไปลงทุน หรือไม่ ซึ่งหากอยู่ในขอบข่ายของธุรกิจ 5 อย่างข้างต้นแล้ว เครือซิเมนต์ไทยให้ความสนใจที่จะลงทุน

"พูดง่ายๆ ก็คือ เราเก่ง และจะทำในอุตสาหกรรมการผลิตแล้วขาย เราไม่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องการบริการ อย่างเรื่องแบงก์ เรื่องโรงแรม เราไม่ทำแน่นอน" ทวีกล่าว

หลังจากที่การพิจารณาถึงอุตสาหกรรมที่จะลงทุนว่าอยู่ในเงื่อนไขที่จะลงทุนหรือไม่แล้ว ขั้นตอนต่อจากนั้นของเครือซิเมนต์ไทยได้แก่ การตั้งทีมศึกษาขึ้นมาเพื่อศึกษาลงลึกถึงรายละเอียดของการลงทุนดังกล่าว ซึ่งการศึกษานั้นจะลงไปในรายละเอียดของงานด้านต่างๆ ตั้งแต่เรื่องของเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ เรื่องเงินลงทุนในโครงการจนถึงเรื่องตลาดของธุรกิจที่จะลงทุน

นอกจากหลักเกณฑ์ว่าจะลงทุนในอุตสาหกรรมเดิมที่ปูนซิเมนต์ไทยมีความรู้ความสามารถแล้ว เงื่อนไขที่เครือซิเมนต์ไทยนำมาใช้ในการตัดสินใจว่าจะลงทุนอีกหรือไม่นั้น ยังมีข้อปลีกย่อยอีกบางเรื่องที่จะมาเป็นตัวตัดสินใจของเครือว่าจะลงทุนหรือไม่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ

ทวีกล่าวชี้แจงกับ "ผู้จัดการ" ถึงหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ เพื่อมาเป็นส่วนประกอบการตัดสินใจว่ามี 2-3 ประการ ได้แก่ ประการแรก หากอุตสาหกรรมที่ลงทุนเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากเครือซิเมนต์ไทยก็จะไม่ดำเนินการ ประการที่สอง เครือซเมนต์ไทยจะลงทุนเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูงในระดับพันล้านบาทขึ้นไป เพื่อไม่ต้องมีคู่แข่งมาก ประการที่สามเครือซิเมนต์ไทยจะลงทุนเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง หรือลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็น Capital Intensive และประการสุดท้าย ที่จะเป็นเกณฑ์ว่าเครือซิเมนต์ไทยลงทุนหรือไม่นั้น ทวีกล่าวว่า ได้แก่ขนาดของตลาดที่เครือซิเมนต์ไทยจะลงทุนเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มูลค่าตลาดโตมากกว่าปีละ 500 ล้านบาท

"ขั้นตอนต่างๆ ที่เราวางไว้นั้น เราจะสามารถตัดสินใจได้ภายใน 3 เดือนเป็นอย่างช้า"

ประมนต์ สุธีวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งเป้นผู้ที่มีบทบาทในส่วนเกี่ยวกับการลงทุนหรือการค้าต่างประเทศมากคนหนึ่งของเครือซิเมนต์ไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าการออกไปยังต่างประเทศของเครือซิเมนต์ไทยนั้น มีมาประมาณ 10 ปีแล้ว ในยุคที่รัฐบาลในสมัยนั้น ส่งเสริมให้บริษัทของไทยออกไปยังต่างประเทศ

ซึ่งการลงทุนในตอนนั้นของเครือซิเมนต์ไทย ก็คือ การเปิดบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย หรือ Siam Cement Trading (SCT) เพื่อทำหน้าที่ส่งออกสินค้าไทยไปยังต่างประเทศ

การลงทุนในด้านดังกล่าวของเครือซิเมนต์ไทยนับว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะในปัจจุบันค้าสากลซิเมนต์ไทยมีเครือข่ายเป็นสาขาอยู่ในเกือบทุกทวีป คือ สาขาลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา สาขาโตเกียว ญี่ปุ่น สาขาซิดนีย์ในออสเตรเลีย และสาขาสิงคโปร์

นอกจากนี้ ค้าสากลซิเมนต์ไทยยังเนื้อหอมในภุมิภาคนี้ ด้วยการได้รับการเชิญชวนจากรัฐวิสาหกิจของกัมพูชา เพื่อเปิดบริษัทร่วมทุนขึ้นในกรุงพนมเปญ คือบริษัท Siam Cement Cambodia Trading หรือ SCCT อันเป็นการร่วมทุนระหว่างค้าสากลซิเมนต์ (Siam Cement Trading) กับบริษัท Cambodia Development Corporation ที่เพิ่งเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมาโดยพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทยในขณะนั้นเป็นประธานเปิด

ในส่วนของการลงทุนนั้น ประมนต์กล่าวว่าเครือซิเมนต์ไทย เริ่มมีการขยับบทบาทในด้านนี้มากขึ้น และที่มีการลงทุนเป้นโครงการใหญ่อันแรกก็คือ การตั้งบริษัทลงทุนด้านอุตสาหกรรมการผลิตเซรามิกขึ้นในรัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา

การลงทุนดังกล่าวนั้น สอดคล้องกับคำกล่าวของทวีที่ว่า เครือซิเมนต์ไทยจะลงทุนเฉพาะอุตสาหกรรมที่คนถนัดเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกประเทศ !!!

การเข้าไปลงทุนในต่างประเทศจนถึงขั้นการตั้งเป็นบริษัทผลิตเซรามิกขึ้นในสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้นับเป็นการก้าวกระโดดของเครือซิเมนต์ไทย ที่สวมบทบาทในรูปของ Thailand Inc. เป็นอย่างดี

"ตอนที่เราจะเข้าไปลงทุนปรากฏว่าหลายรัฐให้ความสนใจมากที่จะดึงเราไปลงทุน เพราะต้องการที่จะให้มีการสร้างงาน ให้สิทธิประโยชน์กับเราหลายๆ อย่างแบบบีโอไอของเรา รวมทั้งอำนวยความสะดวกหลายอย่างด้วย" ประมนต์กล่าวถึงความเป็นบริษัทชั้นนำของเครือซิเมนต์ไทยในสายตาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนของรัฐเทนเนสซี

ประมนต์ยังชี้ให้เห็นว่า ภายหลังจากที่คณะสำรวจได้มีการเดินทางไปหาข้อมูลในหลายๆ เมืองที่มีการเสนอแล้ว ก็ได้ตัดสินใจลงทุนในรัฐเทนเนสซีด้วยการพิจารณาถึงข้อดีในหลายๆ ประการ เช่น ค่าแรงถูกกว่าอีกหลายเมือง สหภาพแรงงานไม่เป็นปัญหา และรัฐบาลท้องถิ่นก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี รวมทั้งการที่สามารถซื้อที่ดินได้ในราคาค่อนข้างถูกภายใต้การช่วยเหลือของรัฐ และเทนเนสซีก็เป็นมลรัฐที่มีวัตถุดิบในการผลิตกระเบื้องเซรามิกอย่างดี จึงประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องการขนส่งวัตถุดิบด้วย

สำหรับโรงงานที่เครือซิเมนต์ไทยไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตกระเบื้องเซรามิกปูพื้นและบุผนังนั้น คือบริษัท ไทล์เซราองค์ อันเป็นบริษัทแรก ที่เครือซิเมนต์ไทยลงทุนในต่างประเทศ เพื่อทำการผลิต และจำหน่ายกระเบื้องเซรามิก โดยการลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เมืองคลาสวิลล์ รัฐเทนเนสซี

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เครือซิเมนต์ไทย ไม่ได้ลงทุนเพียงคนเดียวทั้งหมด

"เซรามิกนี่เราเชื่อว่าเราทำได้ดีเพราะเรามีความรู้พอสมควรเพราะเราเป็นผู้ผลิตมานานและเราก็มีโทคโนโลยี แต่เรามีบริษัทที่อิตาลีสนใจจะร่วมทุนกับเราด้วย เพราะอิตาลีกับเราค่อนข้างจะสนับสนุนกันและกัน และเราก็เห็นด้วยเพราะอิตาลีเก่งในเรื่องการดีไซน์ การออกแบบ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ รวมทั้งมีชื่อเสียงด้วย" ประมนต์กล่าวถึงผู้ร่วมทุนซึ่งได้แก่บริษัทของอิตาลี คือบริษัทฟินฟลอร์ เอส อาร์ แอล

การร่วทุนในครั้งนี้ของฟินฟลอร์ เอส อาร์ แอล จะมีสัดส่วนในบริษัทไทล์เซราอิงค์ จำนวน 15% แต่มีเงื่อนไขบางส่วนนั่นคือ ปูนซิเมนต์ไทย จะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทฟินฟลอร์ เอส อาร์ แอล 10% โดยพารณ อิศราเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทยในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามในสัญญาการร่วมทุน

ประมนต์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า การไปลงทุนในต่างประเทศนั้น ถ้าหากเป็นไปได้แล้ว การร่วมทุนกับท้องถิ่นนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนมากเพราะจะได้อาศัยความรู้ความสามารถและความชำนาญในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในการลงทุน

"แต่อาจจะยกเว้นสำหรับการลงทุนในอเมริกา" ประมนต์กล่าวพร้อมทั้งให้เหตุผลว่า เพราะอเมริกาเป็นประเทศที่มีคนรู้จักดี และเครือซิเมนต์ไทยเองก็มีพนักงานจำนวนมากที่ผ่านกมาศึกษาจากเมืองลุงแซมแห่งนี้

แต่ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของเครือซิเมนต์ไทยที่เกิดขึ้นในการไปลงทุนในต่างประเทศ ก็เป็นปัญหาเดียวกับที่อีกหลายๆ บริษัทประสบก็คือเรื่องของคน

"ผมคิดว่า เวลาที่เราไปลงทุนในต่างประเทศ ก็เป็นปัญหาเดียวกับที่อีกหลายๆ บริษัทประสบก็คือเรื่องของคน

"ผมคิดว่า เวลาที่เราไปลงทุนในต่างประเทศ เราควรมีคนของเราที่วางใจได้ไปทำงานให้กับเราคงจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ควรจะอยู่ในตแหน่งสำคัญที่ทำแทนเราได้" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสเครือซิเมนต์ไทยกล่าว

เรื่องของการให้คนไปอยู่ต่างประเทศนั้น ประมนต์ในฐานผู้ดูแลโดยตรงยอมรับว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะหาคนใดคนหนึ่งไปอยู่ที่นั่น เพราะทุกคนจะมีความรู้สึกว่า การได้ทำงานในเมืองไทยเป็นเรื่องที่สบายกว่า

ขณะที่เรื่องของคนงานในพื้นที่นั้น ประมนต์ยอมรับว่า อาจจะเป็นเพราะการลงทุนในสหรัฐอเมริกาที่กำลังอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยและมีการว่างงานมาก จึงสามารถที่จะว่าจ้างแรงงานในระดับช่างได้ไม่ยากเย็นนัก

ข้อดีประการหนึ่งของการเป็นองค์กรที่ใหญ่ของเครือซิเมนต์ไทยในเรื่องการไปลงทุนในต่างประเทศก็คือ การที่คนไทยในระดับบริหารของปูนซิเมนต์ไทยจำนวนมากมีระดับการศึกษาสูงจากต่างประเทศ และเกือบทั้งหมดเป็นผู้ที่ผ่านการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ในเรื่องของขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมต่างๆ จึงไม่เป็นปัญหาในการทำงานร่วมกันระหว่างคนของเครือซิเมนต์ไทยที่ถูกส่งไปประจำที่อเมริกา และคนงานท้องถิ่นสัญชาติอเมริกัน

คนของเครือซิเมนต์ไทยที่ถูกส่งไปประจำบริษัทผลิตเซรามิกที่สหรัฐอเมริกาก็คือ อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัทเซรามิกอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเคยแสดงผลงานให้คณะจัดการมองเห็นความสามารถมาแล้ว

ความสามารถที่คณะจัดการประจักษ์ถึงฝีมือของอวิรุทธ์ถึงขั้นตัดสินใจให้ไปเป็นผู้ดูแลโครงการของโรงงานที่สหรัฐอเมริกานั้น ก็เนื่องจาก ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเซรามิกอุตสาหกรรมไทยนั้น บริษัทได้มีการขยายงานมากไม่ว่าจะเป็นการขยายกำลังการผลิตกระเบื้องเซรามิกปูพื้นในปี 2530 เพิ่มปีละ 1 ล้านตารางเมตร หรือการตั้งบริษัทเซรามิกเอ็กซ์ปอร์ตขึ้นในปี 2531 และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อทำการส่งออกกระเบื้องปูพื้นและบุผนังไปต่างประเทศ

สิ่งที่เป็นผลงานสำคัญประการสุดท้ายที่น่าจะเป้นผลให้คณะกรรมการตัดสินใจเลือกอวิรุทธ์ไปรับตำแหน่งใหม่ที่อเมริกาก็น่าจะมาจากการที่ในช่วงปี 2531-32 เขาเป็นผู้ดูแลการร่วมทุนระหว่างเซรามิกอุตสาหกรรมไทย กับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องเซรามิกในอเมริกา 2 บริษัท คือบริษัท ไดสโตน ยูเอสเอ คอร์ปอเรชั่น และบริษัท แพนอเมริกันเซรามิก เพื่อเป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการลงทุนตั้งบริษัทไทล์เซราอิงค์ดังกล่าวขึ้นมาในเวลาต่อมา (บริษัททั้งสอง เครือซิเมนต์ไทยถือหุ้นไม่มากจึงไม่นับเป็นบริษัทในเครือ)

อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ในการไปลงทุนในอเมริกาก็คือเรื่องภาษี กล่าวคือ ไทยกับอเมริกายังไม่มีอนุสัญญาเรื่องภาษีซ้ำซ้อน ดังนั้นนอกเหนือจากการที่โรงงานของไทล์เซราอิงค์จะต้องเสียภาษีการค้าในสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังจะต้องเสียภาษีในไทยกรณีที่มีการนำเงินกำไรจากการประกอบการเข้ามาในไทยด้วย

ปัญหานี้ เครือซิเมนต์ไทยไม่มีทางเลี่ยงในฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นบริษัทที่ต้องรักษาภาพพจน์ในเรื่องนี้ด้วยเพราะการที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นอยู่ด้วย

ประมนต์ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่าเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น เครือซิเมนต์ไทยคงจะต้องทำตามกฎหมายระบุ คือต้องเสียภาษีทั้งในสหรัฐอเมริกาในอัตรา 34% และในไทยอีก 30% แต่เหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากการดำเนินงานของโรงงานเพิ่งเริ่ม จึงยังไม่มีกำไรส่งมายังไทยและอาจจะมีการขยายงานบริษัทไทลเซราอิงค์ในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้วยการตั้งโรงงานผลิตเซรามิกนั้นประมนต์กล่าวว่า เป็นทางออกที่ดีในการลงทุนอุตสาหกรรมที่บริษัทมีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว แต่หากเป็นอุตสาหกรรมที่กลุ่มไม่มีความรู้ความชำนาญเพียงพอ ทางออกอื่นๆ ก็มี ในกรณีที่เครือซิเมนต์ไทยต้องการที่จะลงทุนอย่างจริงจังในธุรกิจนั้น

ทั้งนี้รูปแบบของการลงทุนนั้นประมนต์กล่าวว่า ทางเลือกของการออกไปลงทุนในต่างประเทศนั้นมี 2-3 รูปแบบด้วยกัน คือ ประการแรกเป็นการลงทุนด้วยการซื้อกิจการจากเจ้าของเดิม ซึ่งในเรื่องนี้ประมนต์กล่าวว่า จะต้องมีการพิจารณาหลายๆ ประเด็น เช่น ธุรกิจที่จะซื้อนั้น มีความแพร่หลายเพียงพอที่จะซื้อหรือไม่? หรือแนวโน้มของบริษัทในอนาคตเป็นอย่างไรจะมีการขยายงานแค่ไหน

เรื่องการซื้อกิจการนี้ ประมนต์ยอมรับว่าอาจจะมีปัญหาบ้าง เพราะจะต้องเจอปัญหาในเรื่องการบริหารที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงยาก เพราะแต่ละบริษัทก็มีธรรมเนียมในบริษัทอยู่แล้วที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลง

ประการต่อมา คือรูปแบบการลงทุนเองซึ่งเครือซิเมนต์ไทยเลือกใช้วิธีนี้ในการเข้าไปในอเมริกานั่นเอง ซึ่งการลงทุนนี้ก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะจะต้องมีการศึกษาต่างๆ ให้รอบคอบว่ามีคู่แข่งเป็นแข่งบ้าง

"การเริ่มธุรกิจใหม่ แม้จะยากลำบาก แต่เราก็สามารถที่จะคุมเกมเองได้ อย่างที่เราลงทุนในอุตสาหกรรมเซรามิก ก็เพราะเราคิดอย่างนั้น คือคิดว่าเราสามารถที่จะแข่งได้กับทุกคนเพราะเรามีเทคโนโลยี เรามีโนว์ฮาว เรามีประสบการณ์ เรามีตลาด"

อย่างไรก็ตาม ประมนต์ยอมรับว่า การจะลงทุนนั้น ไม่ได้มีการพิจารณาเพียงแค่นั้นแล้วตัดสินใจเลย เพราะจะต้องมีตัวแปรอีกมากมาช่วยในการพิจารณา อย่างเช่นในเรื่องของการวิเคราะห์ถึงแนวโน้มการเติบโต หรืออนาคตการขยายตัวของตลาด

อย่างที่ทวีกล่าวนั่นเอง เครือซิเมนต์ไทยจะไม่ลงทุนในอุตสาหกรรมที่ตลาดน้อยกว่าปีละ 500 ล้านบาท ดังนั้นการลงทุนในโรงงานเซรามิกของเครือซิเมนต์ไทยจึงเกิดขึ้นเพื่อรับตลาดดังกล่าว

"ก่อนลงทุน เราศึกษาแล้วพบว่า เซรามิกในอเมริกานั้นเป็นตลาดใหญ่มากและสหรัฐอเมริกาก็นำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เราจึงกล้าที่จะลงทุนตั้งโรงงานเอง" ประมนต์กล่าวพร้อมทั้งชี้ว่าการลงทุนตั้งโรงงานนั้น ยังมาจากการวิเคราะห์ 2 เรื่องหลักคือ เรื่องของวัตถุดิบในท้องถิ่นที่จะลงทุนและเรื่องของคนที่จะมาร่วมงานด้วย นอกเหนือจากการวิเคราะห์ทั่วๆ ไปอย่างเรื่องตลาด คู่แข่ง เป็นต้น

แต่การลงทุนของเครือซิเมนต์ไทยในอเมริกาไม่ได้หยุดดอยู่แค่โรงงาน เพราะการไปลงทุนนั้นรูปแบบที่จะคุ้มต่อการลงทุน จะต้องเป็นแบบครบวงจร ดังนั้นเครือซิเมนต์ไทย จึงมีการขยายเครือข่ายเป็นบริษัทการค้าด้วย

สำหรับบริษัทที่เครือซิเมนต์ไทยลงทุนในอเมริกาเพื่อเป็นเครือข่ายในการกระจายสินค้านั้น มี 3 บริษัทคือ บริษัท Santa Catalina ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อกระจายสินค้าจากโรงงานในมลรัฐเทนเนสซีทางตะวันตก อีกบริษัทคือ บริษัท Impoglaztile ตั้งอยู่ในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เพื่อกระจายสินค้าทางตะวันออกของประเทศอเมริกา

ส่วนบริษัทสุดท้ายที่ตั้งขึ้นมานั้น คือบริษัท Classic International Ceramics ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อกระจายสินค้าอเมริกาเหนือรวมทั้งจะเป็นผู้ Export สินค้าจากโรงงานไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศแคนาดาด้วย

การออกไปลงทุนในต่างประเทศของเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นบริษัทระดับบลูชิปของไทยไปขายชื่อเสียงและความรู้ความสามารถนั้น นับเป็นการปรับบทบาทในการทำธุรกิจของภาคเอกชนเป็นอย่างดี

แม้ในวันนี้ การออกไปยังต่างประเทศของเครือข่ายของเครือซิเมนต์ไทย อาจจะไม่ใหญ่เท่ากับที่ธนาคารพาณิชย์หลายธนาคารที่มีสาขาในต่างประเทศมากมาย อย่างเช่นธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือกลุ่มทุนอื่นๆ ที่ขยายการลงทุนออกไปยังถิ่นที่พวกเขามีเครือข่ายสายโยงของความสัมพันธ์ส่วนตัว เช่น การกลับไปลงทุนในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี แต่การออกไปยังต่างประเทศของเครือซิเมนต์ไทย ก็มีนัยที่สามารถนำมาใช้ในการอรรถาธิบายภาพลักษณ์ของเครือข่ายกลุ่มธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

อย่างที่ทวีและประมนต์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าการลงทุนในต่างประเทศของเครือซิเมนต์ไทยนั้นต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบมากเพราะถือว่า การออกไปยังต่างประเทศนั้น นอกจากจะเป็นการขายชื่อของบริษัทสัญชาติไทยแล้ว การออกไปลงทุนในต่างประเทศนั้น ยังเป็นการขายชื่อเสียงของประเทศไทยด้วย !!!

เพราะเครือซิเมนต์ไทยนั้น หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่คือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่กล่าวกันว่าเป็นองค์กรธุรกิจที่มีการทำงานและขยายงานแบบ "อนุรักษนิยม" มากที่สุดหน่วยงานหนึ่งแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างในยุคที่ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็ตาม

การที่ปูนซิเมนต์ไทยตัดสินใจไปลงทุนในรัฐเทนเนสซี จึงเปรียบเสมือนสัญญาณที่ปูยใหญ่ส่งต่ออุตสาหกรรมกลุ่มอื่นๆ ในไทยได้ทราบว่า โอกาสการลงทุนทำการค้าในต่างประเทศได้เริ่มขึ้นแล้วในภูมิภาคชายฝั่งแปซิฟิกที่ต่อเนื่องมาถึงอินโดจีนในวันนี้

อีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์บริษัทสัญชาติไทยกำลังเปิดขึ้นมา เมื่อแนวโน้มของสันติภาพในภูมิภาคอินโดจีนเริ่มมองเห็นชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบาย "แปรสนามรบเป็นสนามการค้า" ของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ดูจะสร้างความฝันให้กับบรรดาบริษัทไทยที่หวังขยายเครือข่ายออกไปในภูมิภาคแถบนี้ จนคาดหวังกันว่าประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภุมิภาคนี้

คนในธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติเอง ก็ดูจะยอมรับบทบาทที่ไทยกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางการเงินดังกล่าว จึงได้มีมาตรการต่างๆ ทางการเงินออกมาสนองตอบต่อการที่นักลงทุนไทยกำลังจะกลายเป็นนักลงทุนข้ามชาติในวันหน้า

นโยบายขานรับของแบงก์ชาติ ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับพันธะมาตรา 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF การเตรียมเปิด Bangkok International Banking Facilities (BIBF) จึงเป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาลไทยเป็นอย่างดีในการที่ต้องการเห็นไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

โอกาสเช่นนี้มีหรือที่ยักษ์ใหญ่ต่างๆ จะมองข้าม ไม่เว้นกระทั่งเครือซิเมนต์ไทย !!

จะว่าไปแล้ว ปูนซิเมนต์ไทยอาจจะด้วยชื่อเสียงในฐานะองค์กรอุตสาหกรรมภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ได้รับการทาบทามจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศ ให้เข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านั้น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานและเป็นอุตสาหกรรมที่เครือซิเมนต์ไทยมีความรู้ความชำนาญเป็นอย่างดี นั่นคือ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว และประเทศเวียดนาม

ทวีกล่าวเปิดเผยว่า การลงทุนในลาวซึ่งเครือซิเมนต์ไทยได้รับการชักชวนจากทางการของลาวให้ไปลงทุนนั้น ได้แก่ การเข้าไปฟื้นฟูการผลิตปูนซิเมนต์ในโรงงานเก่า เพื่อพัฒนาการผลิตของโรงปูนเก่าให้เป็นแบบใหม่ที่ปูนซิเมนต์ไทยมีโนว์ฮาวด้านนี้

"เราช่วยในเรื่องพัฒนาโรงงานปูนได้ แต่ให้ไปลงทุนคงไม่คุ้ม เพราะกำลังการผลิตน้อยเกินไปที่จะลงทุน" รองผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทยกล่าวถึงการปฏิเสธการลงทุนในประเทศลาว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้การลงทุนนั้นจะอยู่ในเงื่อนไขที่ว่าเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เครือซิเมนต์ไทยมีความชำนาญ มีเทคโนโลยี แต่หากขนาดตลาดน้อยเกินไป (ต่ำกว่า 500 ล้านบาท) เครือซิเมนต์ไทยก็ไม่ลงทุนอย่างแน่นอน

แต่สำหรับเวียดนาม กลับเป็นกรณีตรงกันข้าม เพราะตลาดที่นั่นกำลังขยายตัวสูง และเครือซิเมนต์ไทยก็เล็งที่จะไปที่นั่น

ด้วยเหตุดังกล่าว ปูนซิเมนต์ไทยจึงเสนอเรื่องขอลงทุนในโรงงานผลิตกระเบื้องเซรามิกขึ้นในประเทศเวียดนาม เนื่องมาจากการมองเห็นว่าโครงการลงทุนดังกล่าว มีจุดคุ้มทุนในระยะเวลาอันรวดเร็วมาก เพราะขนาดของตลาดในประเทศเวียดนามกำลังโตมาก

การลงทุนดังกล่าวของเครือซิเมนต์ไทย ก็มาจากการเริ่มนโยบาย "แปรสนามรบเป็นสนามการค้า" ของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ต้องการเห็นไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาคนี้ ดังนั้น เมื่อมองเห็นศักยภาพของตลาดว่าใหญ่และคุ้มต่อการลงทุน เครือซิเมนต์ไทยจึงตัดสินใจไปลงทุนที่นั่น

แต่การลงทุนที่เวียดนามไม่ง่ายอย่างที่นึก !!!

"ทัศนคติของข้าราชการที่นั่นต่อนักลงทุนไทยยังไม่ดีพอ" ประมนต์กล่าวถึงการเข้าเวียดนามพร้อมทั้งอธิบายเสริมว่ามาจากการที่ในช่วงสงครามเวียดนามนั้น ไทยเป็นส่วนหนึ่งของคู่สงครามกับประเทศเวียดนามเหนือที่กลายเป็นผู้ปกครองประเทศเวียดนามที่มีการรวมตัวกันเป็นประเทศเดียวในวันนี้

การเข้าไปลงทุนดังกล่าวในประเทศเวียดนามนั้น เริ่มมาเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อเข้าไปตั้งโรงงานผลิตกระเบื้องเซรามิกในเมืองดองไน ซึ่งอยู่ห่างจากโฮจิมินห์ซิตี้ประมาณ 20 กิโลเมตรที่เครือซิเมนต์ไทยเสนอเรื่องไปแล้วประมาณปีเศษ แต่ถึงวันนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเลย

ทวีกล่าวว่า การที่ยังไม่ได้รับคำตอบเรื่องการลงทุนนั้น มาจากการที่ระบบการปกครองของประเทศเวียดนาม ยังคงอยู่ในระบอบที่ค่อนข้างล้าหลังการอำนวยความสะดวกของข้าราชการ จึงจำเป็นที่จะต้องมี "ค่าน้ำร้อนค่าน้ำชา" เพื่ออำนวยความสะดวกบ้าง

"ผมเพิ่งทราบว่าเรื่องที่เรายื่นขอตั้งโรงงานไปประมาณ 2 ปี ยังไม่ถึงมือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงก่อสร้างที่จะเป็นผู้อนุมัติเรื่องเลย" ทวีกล่าวกับ "ผู้จัดการ" แต่แสดงความมั่นใจว่าการอนุมัติของกระทรวงก่อสร้างเพื่อให้ปูนซิเมนต์ไทยไปตั้งโรงงานที่เวียดนามนั้นคงจะสำเร็จในเร็วๆ นี้ เพราะทางการเวียดนามเองก็ต้องการให้เอกชนไปลงทุนอยู่แล้ว

นอกจากนั้น การที่เครือซิเมนต์ไทยเริ่มได้รับการคาดหวังว่าสามารถที่จะได้รับใบอนุญาตโดยเร็วนั้น ก็เพราะเครือซิเมนต์ไทยได้มีการแนะนำตัวเองต่อบรรดาข้าราชการและเอกชนของเวียดนามเพื่อให้เวียดนามรู้จักว่าเครือซิเมนต์ไทยคือใคร ?

"เขาไม่รู้จักเราดี เลยระแวง เราจึงใช้วิธีการให้เขามาดูว่าเราเป็นใคร จึงเชิญมาดูงานของเรา มาดูการทำงาน มาดูโรงงาน มาเห็นบริษัทเพื่อสร้างความเชื่อถือ" ประมนต์กล่าวถึงการพยายามที่จะให้เวียดนามยอมรับว่าเครือซิเมนต์ไทยใหญ่พอที่จะไปลงทุนจริง ไม่ใช่เพื่อหลอกลวงใช้ทรัพยากรเวียดนาม

ดูเหมือนว่า การพยายามของเครือซิเมนต์ไทยในเรื่องนี้ได้ผลดี เพราะนอกจากเรื่องการขอตั้งโรงงานกระเบื้องเซรามิกที่กำลังจะได้รับอนุญาตแล้วทางกระทรวงก่อสร้างของเวียดนาม ก็มีการขอร้องให้เครือซิเมนต์ไทยไปศึกษาเพื่อบูรณะโรงงานปูนซีเมนต์เก่าในประเทศให้ด้วย พร้อมๆ กับเชิญชวนไปลงทุนในการตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ใหม่ด้วยการให้สัมปทานเหมืองปูนพิเศษ

และสอดคล้องยิ่งกับบทบาทการเปิดเกมรุกตลาดการลงทุนในต่างประเทศของเครือซิเมนต์ไทย ที่มองว่าภูมิภาคดังกล่าวเป็นภูมิภาคใหม่ของการลงทุนในต่างประเทศของเครือซิเมนต์ไทย

ทวีกล่าวว่า การเริ่มบุกตลาดอินโดจีนของเครือซิเมนต์ไทย จะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของปูนใหญ่ในปีนี้ทีเดียว อันเนื่องมาจากการมองตลาดที่มีแนวโน้มดีในอนาคตที่แม้ว่าวันนี้ ตลาดดังกล่าวยังไม่ใหญ่พอก็ตาม

อย่างไรก็ตาม แม้อินโดจีนกำลังจะกลายเป็นอนาคตของการลงทุนในต่างประเทศของเครือซิเมนต์ไทยก็ตาม แต่ขอบข่ายการลงทุนในต่างประเทศของเครือซิเมนต์ไทยไม่ได้หยุดอยู่แค่ตรงนั้น

เพราะเครือซิเมนต์ไทยยังมองศักยภาพของประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ไว้ด้วย

ทั้งนี้ ทวีกล่าวว่าการมองต่างประเทศที่จะขยายการลงทุนไปต่างประเทศของเครือซิเมนต์ไทยนั้น ได้มีการแบ่งหน้าที่ให้กับรองผู้จัดการใหญ่และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสดูแลลู่ทางการค้าในแต่ละประเทศว่ามีแนวโน้มอย่างไรในการเข้าไปลงทุนต่างๆ

สายงานของการเข้าไปรุกการลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่บัดนี้ของเครือซิเมนต์ไทยนี้ ได้แก่ ทวี บุตรสุนทร-รองผู้จัดการใหญ่ จะดูลู่ทางการค้าการลงทุนในประเทศจีนตอนใต้และประเทศพม่า ฉายศักดิ์ แสง-ชูโต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส จะดูแลลู่ทางในประเทสอินโดนีเซีย ประมนต์ สุธีวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสอีกคน ดูเรื่องของประเทศฟิลิปปินส์ และสบสันติ์ เกตุสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสคนสุดท้าย จะดูเรื่องของประเทศอินโดจีน

มองอย่างนี้ จะเห็นว่าเครือซิเมนต์ไทยให้ความสำคัญมากกับการลงทุนในต่างประเทศ ด้วยการมอบหมายให้ผู้ดูแลเรื่องโดยตรงเป็นถึงคณะจัดการตั้งแต่รองผู้จัดการใหญ่ลงมาจำนวน 4 คน ดังกล่าว

"บทบาทของพวกผมทั้ง 4 คนที่เป็น Country Specialist จะดูลู่ทางว่าประเทศนั้นๆ มีศักยภาพแค่ไหนที่เราจะเข้าไป" ทวีกล่าว

เมื่อบวกกับการที่รองผู้จัดการใหญ่และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสแต่ละคน ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูเรื่องประเภทของสินค้าหรืออุตสาหกรรมที่เครือซิเมนต์ไทยจะลงทุนตามสายบังคับบัญชาแล้วพอจะมองได้ว่า เครือซิเมนต์ไทยเริ่มต้นอย่างจริงจังแค่ไหนในเรื่องการไปลงทุนในต่างประเทศในปีนี้

และบทบาทของ Thailand Inc. ก็เปิดฉากเช่นเดียวกัน !!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.