"เอ็กซิมแบงก์"กรุยทาง "นกน้อย"เลือก "กิ่งไม้"สร้างโอกาสนักลงทุนขวัญอ่อนหาผลตอบแทน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

"นกน้อย"เลือกกิ่งไม้ที่จะเกาะได้ ก็เปรียบเหมือนนักลงทุนที่สามารถเลือกประเทศที่อยากเข้าไปลงทุนได้เช่นกัน เหตุผลสำคัญคือการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน หลังจากกี่ลงทุนในประเทศมีต้นทุนสูงขึ้น การย้ายถิ่นฐานจึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้ต้นทุนต่ำลง ผู้ประกอบการไทยเองก็มองเห็นโอกาสดังกล่าวเช่นกัน หากแต่ยังขวัญอ่อนเกินไปหากเทียบกับผู้ลงทุนอื่นในโลกนี้ จนอาจนำมาสู่การสูญเสียโอกาสอันดี ทำให้ "ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย" (เอ็กซิมแบงก์) ต้องออกโรงเข้ามาเพิ่มความมั่นใจด้วยบริการ "ประกันความเสี่ยง"ให้นักลงทุนไทยในต่างประเทศเป็นนกที่กล้าลงเกาะกิ่งไม้

ปัจจุบันไม่เพียงแต่ "เอ็กซิมแบงก์"หนุนผู้ประกอบการไทยไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเท่านั้น หากแต่ผู้ประกอบการไทยเอง...ก็มีความต้องการย้ายถิ่นฐานการผลิตสู่ต่างประเทศเช่นกัน

ไม่ใช่เพราะประเทศไทยมีความเสี่ยงทางการเมืองสูงจนนักลงทุนขาดความมั่นใจ หากแต่ปัจจัยหลักมาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าแรงงานที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนา รวมถึงแหล่งของวัตถุดิบที่ป้อนไม่ทันกำลังการผลิต เป็นต้น

ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหาร เอ็กซิมแบงก์ นักลงทุนไทยจำนวนมากเริ่มให้ความสนใจลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการขยายฐานผลิต โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ และต้นทุนแรงงานที่ต่ำ ปัจจัยดังกล่าวถือว่าล่อตาล่อในนักลงทุนไทยไม่น้อย หากแต่สถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านนั้นกลับทำให้ต้องหวนกลับมาคิดหนักว่าคุ้มหรือไม่ที่เข้าไปลงทุน

ซึ่งจังหวะการชั่งใจอยู่นั้นอาจทำให้เสียโอกาสดี ๆ ไปก็ได้ โดยเฉพาะกับคู่แข่งทางการค้าที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนต่างประเทศไม่น้อย และถ้าการก้าวย่างของผู้ประกอบการไทยช้ากว่าก็อาจเสียเปรียบคู่แข่งได้

ณรงค์ชัย เปรียบนักลงทุนเป็นนก ส่วนประเทศนั้นคือต้นไม้ เมื่อต้นไม้ไม่อาจเลือกนก ประเทศไม่อาจปฏิเสธนักลงทุน ใครเข้ามาก่อนย่อมมีโอกาสก่อน

หากแต่นักลงทุนไทยยังมีอาการปอด ๆ กับเหตุการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในประเทศนั้น ๆ เพราะใครจะรู้ได้ว่าลงทุนอยู่ดีๆ วันนี้บริษัทเป็นของคนไทยพรุ้งนี้อาจกลายเป็นอื่นแล้วก็ได้ หรือเรื่องของสัมปทานที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายรัฐ นี่คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

"ระบบการเมืองการปกครอง กฎหมาย สังคมและวัฒนธรรมในประเทศนั้นๆ อาจแผงฤทธิ์เดชกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุน และกล่าวได้ว่าความเสี่ยงทางการเมืองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนบางส่วนชะลดการลงทุน ซึ่งบางครั้งนั้นอาจหมายถึงโอกาสที่หลุดลอยของผู้ประกอบการไทยก็เป็นได้"

โอกาสที่อาจหลุดลอยหากผู้ประกอบการไทยมัวชั่งใจหรือลังเลอยู่นานนั้นคือ ผลตอบแทน เนื่องเพราะประเทศเกิดใหม่นั้นจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าด้วยต้นทุนแรงงานวัตถุดิบที่ต่ำกว่า ดังนั้นจึงไม่ใช่ในเรื่องของรายได้ที่เพิ่มขึ้น หากแต่ต้นทุนการทำธุรกิจก็จะลงด้วย

ด้วยเหตุนี้ เอ็กซิมแบงก์ ถึงเริ่มให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยไปลงทุนต่างประเทศ ที่สำคัญกว่านั้น การนำเงินออกไปลงทุนต่างประทศจะช่วงลดแรงกดันค่าบาทที่แข็งขึ้นได้ด้วย รวมถึงยังเป็นการนำส่งรายได้เข้าประเทศ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านก็จะได้ประโยชน์ในแง่ของรายได้การส่งออกและการจ้างงาน

อภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ บอกว่า เพราะความกังวลของนักลงทุนไทยที่จะย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านนั้น ทำให้ เอ็กซิมแบงก์ อยากเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนด้วยการให้บริการ "ประกันความเสี่ยงการลงทุน"

เงื่อนไขที่จะทำประกันความเสี่ยงได้คือ จะต้องลูกค้าของเอ็กซิมแบงก์ เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ทำโครงการไม่ผิดกฎหมายไทย เป็นธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ โดยหากต้องการไปลงทุนต่างประเทศก็สามารถซื้อความเสี่ยงได้ซึ่งมีอยู่ 4 ประเภท คือ ประกันความเสี่ยงการจำกัดเงินโอน เงินเข้าออก การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา กรณีที่เมื่อนำเงินเข้าไปลงทุนต่างประเทศแล้วรัฐบาลประเทศดังกล่าวเปลี่ยนนโยบายห้ามนำเงินออกนอกอาณาเขต ธนาคารก็จะให้ความคุ้มครองในเรื่องนี้

ประกันความเสี่ยงจากการเวนคืนและยึดกิจการ ประกันความเสี่ยงจากสงครามและความรุนแรงทางการเมืองที่อาจมีผลเสียหายต่อทรัพย์สิน และสุดท้ายประกันความเสี่ยงจากรัฐบาลที่ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนไม่ปฏิบัติตามสัญญา สัมปทานเปลี่ยนแปลงไม่ทำตามสัญญาที่ระบุไว้

"เอ็กซิมแบงก์ให้บริการประกันความเสี่ยงทั้ง 4 รูปแบบ อยู่ที่ผู้ประกอบการจะซื้อความเสี่ยงในประเภท หรือว่าต้องการซื้อความคุ้มครองทั้งหมดก็ได้ ซึ่งเบี้ยประกันของแต่ละแบบประกันภัยก็จะแตกต่างกัน ซึ่งการคิดเบี้ยประกันภัยส่วนหนึ่งนั้นจะดูความเสี่ยงของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน โดยประเทศที่มีความเสี่ยงมากเบี้ยประกันก็ต้องสูงกว่าประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ตามหลักประกันภัย"

เรทติ้งการจัดความเสี่ยงของแต่ละประเทศมีตั้งแต่ระดับศูนย์สูงสุดที่ระดับ 7 ซึ่งจัดอันดับโดยกลุ่มประเทศโออีซีดี เบี้ยประกันขั้นต่ำจะอยู่ที่ 1.75%ของวงเงินลงทุน และสูงสุดจะอยู่ที่ 4.3%ของวงเงินลงทุน โดยให้ความคุ้มครองสูงสุด 90% ของมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยมีระยะเวลาคุ้มครองนาน 3-15ปี

ส่วนถามว่า เอ็กซิมแบงก์ จะขาดทุนกับบริการนี้หรือไม่นั้น อภิชัย บอกว่า แบงก์ก็มีการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยทำร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) และดูด้วยว่าแบงก์สามารถรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน ถ้านอกเกินกำลังก็จะมีการขายความเสี่ยงไปยังบริษัทประกันภัยต่อด้วย

"แม้เราจะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ แต่เราก็ทำธุรกิจดังนั้นคงจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องดูแลตัวเองไม่ให้ขาดทุนเช่นกัน"

ส่วนการปล่อยสินเชื่อเพื่อลงทุนต่างประเทศของเอ็กซิมแบงก์ในปี 2549 ขยายตัว 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนมียอดสินเชื่อ 2.8หมื่นล้านบาท ของพอร์ตสินเชื่อรวม 7 หมื่นล้านบาท ด้านหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลนั้น ถือว่าดีสำหรับสินเชื่อเพื่อลงทุนต่างประเทศ เพราะแทบจะไม่มีเลยทำให้

เอ็กซิมแบงก์ต้องการที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเนื่องจากปัจจุบันไม่เพียงผู้ประกอบการไทยเท่านั้นที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ ทั่วโลกเองก็ต้องการเข้าไปลงทุนในประเทศเกิดใหม่เช่นกัน เพราะต้นทุนต่ำแต่ผลตอบแทนสูง

ความลังเลมากเกินไปอาจนำมาสู่การเสียโอกาส หากแต่เมื่อต้องตัดสินใจ ข้อมูลคือสิ่งสำคัญของการพิจารณา และควรทำอย่างถี่ถ้วน เพราะอย่าลืมว่า "นก" เลือกที่จะเกาะ "ต้นไม้"ได้ ต้นไหนงามก็บินถลาล่อนลงเกาะก่อนที่ "นก"สายพันธ์อื่นแย่งไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.