|
ส่องกล้องปีกุนตลาดทุนไทย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
สำหรับเศรษฐกิจปีกุน 2550 ปีที่หลายๆคนมองแล้วว่าอาจจะไม่หวานหมูนัก เพราะเม็ดเงินของนักลงทุนต่างประเทศก็ยังกล้าๆกลัวๆ เป็นความผูกพันอันเปราะบางที่อาจจางหายได้ในทุกเมื่อ อย่างน้อยก็คงน่าจะดีกว่าในปีที่ผ่านมา โดยหากประเมินตามวงรอบวัฎจักรเศรษฐกิจก็เชื่อได้ว่าจะอยู่ในช่วงปลายขาลงต้นขาขึ้น แต่ไม่ว่าคุณจะพร้อมหรือไม่ ขณะนี้มันได้มาเยือนคุณแล้ว และนี่คือมุมมองภาพรวมของผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเงิน ตลาดทุน ที่จะทำให้ได้เห็นภาพรวมตลอดปี
ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย พลัส (ASP) กล่าวถึงปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ว่า สิ่งที่จะต้องจับตามองก็คือการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเป็นไปในลักษณะใดหลังปรากฏตัวเลขที่ถือว่าน่ากังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางด้านอสังหาริมทรัพย์และตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆได้ปรับตัวลดลงหลังราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนเพิ่งพาการส่งออกสูงถึง 67% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ประเทศซึ่งเป็นสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก จะต้องได้รับผลกระทบที่ชัดเจนหากผู้ซื้อรายใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับภาวะที่ชะลอตัวลดลง บวกกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องติดตาม เพราะปัจจุบันสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันของประเทศไทยสูงถึง 9% ของ GDP ประเทศ
ด้านค่าเงินบาทแม้ว่าโอกาสที่จะแข็งค่าต่อเนื่องจากปัจจุบันจะยังมีแต่ยังประเมินไม่ได้ว่าจะปรับตัวแข็งค่ามากน้อยเพียงไร โดยปัจจุบันหากพิจารณาถึงเงินสำรองระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่าอยู่ในรูปของสกุลดอลลาร์ถึง 68% สกุลยูโรถึง 25% และสกุลเยน 5%
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปีหน้าดัชนีมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 667-889 จุด โดยมีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น(P/E) อยู่ในระดับ 9-12 เท่า ขณะที่กำไรสุทธิต่อหุ้นเฉลี่ยของตลาดเติบโตประมาณ 4.95% โดยหุ้นในกลุ่มไอซีทีเติบโตสูงสุดประมาณ 36% อิเล็กทรอนิกส์ 30%เกษตร 27% ธนาคารพาณิชย์ 6% บริษัทหลักทรัพย์ 4% ขณะที่กลุ่มพลังงานติดลบ 1% โดยหุ้นที่น่าลงทุนปีหน้าคือ หุ้นที่เกี่ยวกับโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ค้าส่งค้าปลีก ธนาคารพาณิชย์และการแพทย์
สำหรับหุ้นเด่นที่แนะนำให้ซื้อในปีหน้า ประกอบด้วย บมจ.ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) มีราคาเป้าหมายที่ 83.60บาท ,บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) มีราคาเป้าหมายที่ 23.80 บาท ,บมจ.ชิโน-ไทย เอนจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(STEC) ราคาเป้าหมาย 7.26 บาท ,บมจ.ซีฟโก้ (SEAFCO) ราคาเป้าหมาย 9.08 บาท ,บมจ.จี สตีล(GSTEEL) ราคาเป้าหมาย 1.33 บาท ,บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) ราคาเป้าหมาย 30บาท ,บมจ. ผลิตไฟฟ้า ( EGCOMP) ราคาเป้าหมาย 108 บาท, บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี (RATCH)ราคาเป้าหมาย 51.41 บาท, บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO)ราคาเป้าหมาย 6.80 บาท, บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตส(PS) ราคาเป้าหมาย 8.37 บาท
โดยหุ้นที่คาดว่าจะโดดเด่นมากในปี 50 ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการแพทย์ หุ้นเด่นแนะนำ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎ์ (BH)ราคาเป้าหมาย 46.75 บาท เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้ต่อหัวผู้ป่วยต่างชาติที่ขยายตัว
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตเหนือภาวะตลาดหลักทรัพย์โดยรวมช่วงปีหน้า ประกอบด้วย กลุ่มโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งไฟฟ้า ทางด่วน ขนส่งทรัพยากรน้ำ กลุ่มภาคก่อสร้าง โดยเฉพาะฐานรากและผู้ที่มีประสบการณ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้ากลุ่มสินค้าอุปโภค
"ปีหน้าตลาดหุ้นยังเป็นทางเลือกที่นักลงทุนคาดหวังให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ และคาดว่าจากอัตราดอกเบี้ยและน้ำมันที่ทรงตัวถึงขั้นลดลงทำให้เงินเฟ้อปีหน้าจะต่ำกว่า 4.5% จากปีนี้ ซึ่งมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดหุ้นให้ดัชนีเพิ่มขึ้น"
ประเด็นในประเทศที่ยังคงระมัดระวังคือ การเมืองที่ยังมีโอกาสสะดุด ธนาคารพาณิชย์ที่อาจต้องมีการเพิ่มทุนใน เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทย เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎข้อบังคับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เพิ่มกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS)จาก 8.5% เป็น 9.5% ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก
ด้านปัจจัยที่มองว่าน่าจะเป็นบวกคือ กระแสเงินทุนยังไหลเข้าประเทศไทย เพราะสภาพคล่องล้นทั่วโลกจะทำให้ทุนสำรองของประเทศเกิดใหม่ 27 ประเทศสูงขึ้น โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับ 11 ส่วนจีนครองแชมป์เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุด ราคาน้ำมันมีแนวโน้มอ่อนตัวลง อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับลดลงโดยคาดว่าดอกเบี้ยจะเริ่มลดลงในต้นปี50 เพราะจะหมดกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และการแก้ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังมีการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยงบประมาณปี 50แบบขาดดุล 140,000 ล้านบาท การลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ 2 โครงการหลักรวมมูลค่า 400,000 ล้านบาท คือ การเปิดประมูลโรงไฟฟ้ารอบ 2 ขนาด 10,000 เมกะวัตต์ มูลค่า 200,000 ล้านบาท และการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง มูลค่า 200,000 ล้านบาท
ด้าน อดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) ( KGI) เปิดเผยผลวิเคราะห์ของบริษัท ที่มองเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปีนี้ว่าจะยังเติบโตได้ถึง 4.5-5.0% ส่วนกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ในปี 50 ก็น่าจะเติบโตราว 7% โดยประเมินจุดต่ำสุดของดัชนีตลาดฯไว้ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 9 เท่า หรือ 660 จุด
ปัจจัยที่จะกระทบการลงทุนในไตรมาส 1/50ได้แก่ การเมืองภายใน หรือคลื่นใต้น้ำ ส่วนปัจจัยภายนอกคือ ราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่ปรับสูงขึ้น การเคลื่อนย้ายทุนออก และปัญหาก่อการร้าย โดยปัจจัยหลักที่อาจจะกดดัชนีให้ลดลงได้มากก็คือ อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่อาจปรับตัวสูงขึ้น เงินลงทุนต่างชาติไหลกลับสู่ตะวันตก การอ่อนค่าของเงินบาท การลดลงของอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ลดลงเนื่องจากสินเชื่อไม่เติบโต และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมไปถึงกำไรของบริษัทจดทะเบียนฯที่ลดลง ซึ่งมองว่าประเด็นเรื่องดอกเบี้ยของสหรัฐฯเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับอนาคตของตลาดหุ้น เพราะหากดอกเบี้ยในภูมิภาคสูงกว่าเงินก็จะไหลเข้าประเทศ
ทั้งนี้มองว่า สัดส่วนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปี50 กลุ่มพลังงานจะยังมีน้ำหนักมากที่สุดที่ 27.38% กลุ่มธนาคารมีสัดส่วนที่ 16.01% กลุ่มสื่อสาร 9.27%กลุ่มวัสดุก่อสร้างมีสัดส่วนที่ 8.31% และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 6.52% ซึ่งคาดว่ากลุ่มที่น่าสนใจคือ กลุ่มธนาคาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มพลังงาน อย่างไรก็ตามแรงเก็งกำไรน่าจะเข้ามาที่กลุ่มสื่อสาร เนื่องจากจะมีนโยบายกำกับดูแลที่ดีขึ้น
สำหรับกลุ่มพลังงาน มองว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 2.01 แสนล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 3.1% เพิ่มขึ้นจากปี 49 ที่มีกำไร 1.95 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัว30.6% ขณะที่กลุ่มแบงก์ จะเติบโตขึ้น 9.1% เทียบกับปี49ที่เติบโต -6.4% โดยจะมีกำไรสุทธิ 9.7หมื่นล้านบาท ขณะที่ปีที่แล้วทำได้ 8.9 หมื่นล้านบาท ส่วนธุรกิจสื่อสารมีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน โดยจะเติบโตขึ้น 6.4% จากปี49ที่โต -14% และจะมีกำไร 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี49 ทำได้ 2.2 หมื่นล้านบาท สำหรับกลุ่มวัสดุก่อสร้างปี49 โตขึ้น 5.4% มีกำไร 4.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่50 จะมีกำไร 4.4 หมื่นล้านบาท หรือโตขึ้น 6.4% สำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปี 49 ถดถอยโดยเติบโต -28% มีกำไร 1.85 หมื่นล้านบาท แต่ปี 50 จะเติบโตดีขึ้น 22.7% และมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 2.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ลดลง รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น
โดยกลุ่มแบงก์ คาดว่าจะมีการแข่งขันปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถลดดอกเบี้ยเงินฝากแข่งกันได้ จึงต้องปล่อยสินเชื่อเพื่อให้มีกำไรและลดต้นทุนเงินฝากออกไป และเป็นไปได้ว่าในปีนี้แบงก์จะปรับดอกเบี้ยสูงขึ้น เนื่องจากขณะนี้ส่วนต่างดอกเบี้ยยังต่ำอยู่ขณะที่ความต้องการสินเชื่อในปีหน้าจะเพิ่มขึ้น จากการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน
ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทจะยังคงแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ โดยให้กรอบไว้ที่ 34-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะกระทบต่อภาคส่งออกและอาจเป็นตัวแปรเศรษฐกิจด้วย
ด้านไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ กล่าวว่า บริษัทฯได้ปรับลดประมาณการเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2550 ลง 100 จุด จากเดิมที่ประเมินไว้ 880 จุดเหลือเพียง 780 จุดเนื่องจากปัจจุบันความมั่นใจของนักลงทุนลดลง หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาถึง 6 เดือนเพื่อเรียกความมั่นใจนักลงทุนต่างชาติกลับมา โดยเฉพาะกองทุนต่างๆ นอกจากนี้แรงซื้อจากการขายหุ้นวันที่ 19 ธันวาคมยังไม่กลับเข้ามา คงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง
"ปี49 หุ้นทั่วโลกทำนิวไฮว์(New High) แต่หุ้นไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการภาครัฐทำให้เสียโอกาสจนทำให้ตลาดหุ้นติดลบเมื่อเทียบกับต้นปี โดยแรงซื้อจากการขายวันแรกยังไม่กลับมาคงต้องใช้เวลาสักระยะ โดยบางกองทุนอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนเพื่อเรียกความเชื่อมั่น โดยคาดการณ์ดัชนีฯระยะสั้นจะเคลื่อนไหวในกรอบ 690-660 จุดซึ่งไม่น่าเกิด January Effect หลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นมาแล้ว 6 เดือน โดยหาก 17 ม.ค.ปีหน้าแบงก์ชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็เป็นประเด็นจุดพลุให้ดัชนีฯ เด้งกลับมาทะลุ 700 จุดได้อีกครั้ง"
คาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีหน้ามีโอกาสที่จะเติบโตได้จากปี 2549ในอัตรา 6-7% ซึ่งถือว่าไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 50 เป็นไปได้ที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันประเมินว่าปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้แก่ การเมืองที่จะต้องรอดูว่าจะมีพรรคการเมืองใดบ้างที่จะลงเลือกตั้ง และพรรคไหนจะมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล
ด้านนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรีอยุธยา มองว่า ต้นปีหน้าเม็ดเงินต่างชาติยังไม่น่าจะไหลกลับเข้ามาทันที เพราะต่างชาติขาดความมั่นใจในมาตรการทางการควบคุมค่าเงินบาท ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลา 3-6 เดือนจึงจะเรียกความมั่นใจนักลงทุนกลับมาได้ เนื่องจากนักลงทุนจะต้องดูทิศทางเศรษฐกิจว่าออกมาดีจริงหรือไม่
สำหรับแนวทางการลงทุนช่วงต้นปีหน้า นักลงทุนควรเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งและหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 50% อีกทั้งควรลงทุนเพียง 50% ของเงินลงทุนที่มีอยู่ เพื่อรอจังหวะซื้อหุ้นหากมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นโดยหุ้นที่แนะนำลงทุนได้แก่ หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล เช่น บมจ.โรงพยาบาลไทยนครินทร์ (TNH) บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) หุ้นกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนปันผลสูง เช่น บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น(SHIN) ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาปันผลเฉลี่ย 10% บมจ. ไดนาสตี้เซรามิค(DCC) มีอัตราจ่ายปันผลสูง 7.1% บมจ. เวิร์ค พอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) อัตราจ่ายปันผล 7.5% และ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) เป็นหุ้นที่น่าสนใจเพราะมีโอกาสเติบโตที่ดี
ส่วนมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง (BLS) สุเมฆ จันทราสุริยารัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานค้าหลักทรัพย์สถาบันและงานวิจัย มองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นคาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการผ่อนปรนมาตรการการเก็งกำไรค่าเงินบาทถึงแม้ราคาหุ้นจะปรับลดลงไป แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบกับปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ ซึ่งหากพิจารณาจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงมาก็อยู่ในระดับที่น่าสนใจ
"เชื่อว่าเรื่องมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทจะมีผลกระทบเชิงจิตวิทยาเท่านั้น คงไม่มีผลกระทบกับปัจจัยพื้นฐานธุรกิจ ซึ่งราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงไปหลังเหตุการณ์ดังกล่าวมองว่าอยู่ในระดับที่น่าสนใจ และเป็นจังหวะที่นักลงทุนจะซื้อหุ้นราคาถูกเพื่อรอการฟื้นตัวของตลาดหุ้นให้กลับมาเป็นปกติในปีหน้าได้"
สำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนคงจะให้น้ำหนักกับหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายหลักและแผนการลงทุนของทางภาครัฐเป็นสำคัญ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และระบบขนส่งมวลชนซึ่งหุ้นในกลุ่มดังกล่าวจะมีความปลอดภัยในภาวะตลาดที่ยังคงผันผวน ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2550 เป็นต้นไปและคงจะทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง
มองว่าตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 1/2550 ดัชนีน่าจะแกว่งตัวที่ระดับ 680-720 จุด หรือหากมีปัจจัยลบมากระทบก็ไม่น่าจะหลุดต่ำกว่า 660 จุด ขณะเดียวกันหากนโยบายทางเศรษฐกิจมีการประกาศออกมาอย่างชัดเจนและเป็นไปตามที่นักลงทุนคาดหวังก็เชื่อว่าระดับดัชนีอาจจะขึ้นไปอยู่ที่บริเวณ 800 จุดได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2550 อัตราการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนคาดว่าจะเติบโต 7.1%
โดย สุวัฒน์ บำรุงชาติอุดม ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง (BLS) กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดหุ้นไทยในปี 2550 หุ้นกลุ่มธนาคารน่าจะโดดเด่นที่สุดโดยได้รับผลดีจากการลงทุนภาครัฐในโครงการต่างๆ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับยอดสินเชื่อกับทุกธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่เนื่องจากจะไม่มีปัญหาในการตั้งสำรองเงินเพิ่มตามนโยบายการปรับเปลี่ยนมาตรฐานทางบัญชีที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศออกมาให้ต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอีก
ฝ่ายวิจัยแนะนำซื้อหุ้น บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ให้ราคาเป้าหมายในปี 2550 ที่ 81.00 บาท และหุ้น บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 78.00 บาท
"กลุ่มแบงก์ปีหน้าถือว่าน่าสนใจโดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ๆ เพราะจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของสินเชื่อที่ปล่อยให้กับภาคเอกชนในการไปลงทุนในโครงากรขนาดใหญ่ของภาครัฐ ความแข็งแกร่งของฐานเงินทุนและความสามารถในการตั้งสำรองหนี้ รวมถึงรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของแต่ละแบงก์จะมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจากการแข่งขันที่สูง"
ด้านหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างก็ยังมีความโดดเด่นโดยเฉพาะบริษัทที่จับกลุ่มลูกค้าทุกตลาดทั้งตลาดคอนโดมีเนียมและบ้านซึ่งจะมีความได้เปรียบจากความสามารถในการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายและสามารถช่วยลดความเสี่ยงในภาวะตลาดที่ผันผวนได้
ฝ่ายวิจัยแนะนำ บมจ. เอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (AP) โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 5.10 บาท และ บมจ. ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) ราคาเป้าหมายที่ 1.55 บาท ขณะที่หุ้นรับเหมายังให้น้ำหนักกับ บมจ. ช.การช่าง (CK) ทีมีความโดดเด่นทั้งมูลค่างานในมือที่สูงและการเข้าไปรับงานในต่างประเทศทั้งประเทศลาวและกัมพูชา โดยแนะนำซื้อ มีราคาเป้าหมายที่ 12.30 บาท
ขณะที่ก็ยังคงแนะนำซื้อหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ บมจ. เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) ที่ยังได้รับประโยชน์จากการเติบโตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง และ บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJANA) ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับประมาณการราคาเป้าหมายในปี 2550 เพิ่มใหม่
เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มสื่อสารก็ยังมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะ บมจ. สามารถไอโมบาย (SIM) ที่ถือว่าโดดเด่น ผลประกอบการขยายตัวต่อเนื่องตามตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยการรุกตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งส่งผลดีต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับหุ้นในกลุ่มพลังงานประเมินว่ากลุ่มโรงไฟฟ้าน่าจะมีความโดดเด่นมากที่สุด จากนโยบายภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาการใช้ไฟฟ้าในประเทศ โดยเฉพาะการการเตรียมจะเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าเอกชน (IPP) รายใหญ่ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 1/2550 ฝ่ายวิจัยโดยแนะนำซื้อหุ้นบมจ. ผลิตไฟฟ้า ( EGCOMP) ให้ราคาเป้าหมายที่ 102 บาท และ บมจ.บ้านปู (BANPU) โดยมีราคาเป้าหมายที่ 198 บาท
ด้านเสถียรภาพของค่าเงินบาท บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รายงานไว้ในงานวิจัยเรื่อง "การแข็งค่าของเงินบาท...ใครได้ ใครเสีย" ว่า ในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทยังคงเดินหน้าแข็งค่าขึ้นจากกระแสเงินทุนไหลเข้า และการคาดการณ์ในเชิงบวกต่อแนวโน้มการปรับค่าของเงินบาทในอนาคต ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่นักค้าเงินมีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ และการเมืองไทย รวมทั้งเป็นผลมาจากความกังวลที่นักค้าเงินมีต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์โดยเฉพาะจากตัวเลขอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหรัฐที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จนอาจนำมาสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่ตลาดคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า
นอกจากนี้ นักค้าเงินยังมองว่าเงินบาทน่าจะยังคงแข็งค่าขึ้นได้อีก เนื่องจากในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา เงินบาทได้ปรับค่าขึ้นค่อนข้างจะน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งมุมมองดังกล่าวต่อค่าเงินบาทน่าจะยังคงส่งผลให้เงินบาทสามารถปรับค่าขึ้นได้อีกในปี 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2549 ที่ผ่านมา และหากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ สามารถคลี่คลาย และมีพัฒนาการเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญและการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เงินบาทน่าจะสามารถแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับ 35 บาทได้ภายในครึ่งแรกของปี 2550 และอาจจะปิดระดับ ณ ปลายปี 2550 ในช่วง 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
โดยผลกระทบต่อธุรกิจนั้นคาดว่า ธุรกิจที่มีรายได้หลักเป็นเงินตราต่างประเทศแต่มีต้นทุนส่วนใหญ่เป็นเงินบาท เช่น ธุรกิจส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรแปรรูป น่าจะถูกกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมากที่สุด ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีระดับเทคโนโลยีสูง และไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ รวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยวขาออก (outbound tourism) ตลอดจนธุรกิจที่มีภาระหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ น่าจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท ผู้ส่งออกที่ถูกกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการคงจะต้องเตรียมการรับมือกับความผันผวนของค่าเงินบาท โดยการใช้วิธีการ และเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนต่างๆ ซึ่งรูปแบบที่ง่ายที่สุดคงจะได้แก่ การกระจายแหล่งตลาดส่งออกของตนและลดการค้าในรูปเงินดอลลาร์ ไปจนถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ
การปรับตัวในระยะกลางถึงระยะยาว อันเนื่องมาจากความเป็นไปได้ที่การแข็งค่าของเงินบาทอาจจะยังคงดำเนินต่อเนื่องไปอีกในอนาคตข้างหน้านั้น ผู้ประกอบการอาจจะต้องพิจารณาหันมานำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศหรือการผลิตในบางขั้นตอนไปในต่างประเทศ แทนที่จะใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักหรือผลิตในประเทศทั้งหมด รวมทั้งอาจจะต้องพิจารณาโยกย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังแหล่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า หรือถูกกระทบจากแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐได้น้อยกว่า
สำหรับการลงทุนแล้ว ความรู้และการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง จุดแข็งจุดอ่อน คือสิ่งที่จำเป็น ซึ่งถ้าได้พอเห็นภาพของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเช่นนี้แล้ว ก็คงจะพอเข้าใจและพอจะเห็นภาพสิ่งที่จะเกิดขึ้นตลอดปีหมู 2550 นี้ได้ ว่าส่วนของเศรษฐกิจที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องเกี่ยวพันจะเป็นเช่นใด กลยุทธ์ใดต่อไปนี้ที่น่าจะเหมาะสมมากที่สุดจะเดินหน้าเต็มกำลังหรือจะหาทางหลบซ้ายหลีกขวาอย่างไรได้บ้าง
เพราะชีวิตของการเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จได้คือการไม่หยุดนิ่งและยอมจำนนง่ายๆ...ขอให้โชคดีในการทำให้เงินงอกเงยตลอดปี 2550 นี้ ครับ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|