ปตท.แตะมือภาครัฐการันตีแปรรูปโปร่งใสมั่นใจแจงได้ทุกเม็ด-ชี้NGOจี้พ้นตลาดหุ้นเศรษฐกิจพังแน่!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 มกราคม 543)



กลับสู่หน้าหลัก

องค์กรรัฐ ร่วมหนุนปตท.แปรรูปโปร่งใสทุกขั้นตอน เชื่อไม่มีทางซ้ำรอยคดีแปรรูปกฟผ.เหตุไม่มีส่วนใดคล้ายกันแม้แต่น้อย การันตีสิทธิผูกขาดกิจการท่อก๊าซฯ รวมถึงสิทธิในการเวนคืน สิทธิในการยกเว้นภาษีปตท.มีความชอบธรรมเพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ ชี้ผลกระทบรุนแรง นักลงทุนต่างชาติกระเจิงแน่หากยกเลิกปตท. ออกจากตลท. รัฐต้องหาเงินกว่า 5 แสนล้านซื้อหุ้นคืน ทั้งส่งผลต่อความสามารถแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติ เชื่อผลสุดท้ายประเทศชาติจะเสียหายยับ

ปี 2549 ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าเป็นปีทองขององค์กรภาคประชาชนรุกคืบทวงคืนรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปในตลาดหลักทรัพย์จนนำไปสู่ชัยชนะ โดยเฉพาะคดีแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549 ให้ยกเลิกการแปรรูปกฟผ.ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ต่อจากนั้นองค์กรภาคประชาชนยังเดินหน้าไม่หยุดและได้ยื่นฟ้องให้ยกเลิกการแปรรูปปตท. ในเวลาต่อมา ซึ่งจากกรณีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งลงวันที่ 4 ก.ย. 2549 ให้รับคำฟ้องที่มูลนิธิคุ้มครองเพื่อผู้บริโภคเป็นโจทก์ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน นำโดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิฯและน.ส.รสนา โตสิตระกูล โดยในคำฟ้องระบุว่ากระบวนการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด ( มหาชน ) ขัดกับ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่การจัดการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากคณะกรรมการดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติตามมาตรา 16 ของพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ และ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอน (1.)พระราชกฤษฎีกา ( พ.ร.ฏ. ) กำหนดอำนาจสิทธิประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด ( มหาชน) พ.ศ. 2544 ( 2.) พ.ร.ฏ. กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมาย ว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 โดยศาลกำหนดให้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ. 47 / 2549 มีคำสั่งลงวันที่ 6 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา

กล่าวกันว่าชัยชนะจากการฟ้องยกเลิกแปรรูปกฟผ.จะถูกนำไปเป็นบรรทัดฐานของคดีอื่นๆ เพราะมีแนวโน้มในอนาคตว่า บริษัท กสท.โทรคมนาคม , องค์การโทรศัพท์ อาจจะถูกยื่นต่อศาลปกครองภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่หากดูเฉพาะคดีที่อยู่ในชั้นศาลในตอนนี้ยังมีอยู่ 2 บริษัทคือ อสมท และ ปตท. ที่ค้างอยู่ในชั้นพิจารณา โดยเฉพาะคดีแปรรูปปตท. ได้รับการจับตาอย่างกว้างขวางจากสังคมหากมีการยกเลิกแปรรูปซ้ำรอยกฟผ.ขึ้นมาจริงๆ ย่อมจะส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพราะปัจจุบันหุ้นของปตท.และบริษัทในเครือมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 20 % ของ Market Cap มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 500, 000 ล้านบาทแต่ปัญหาคือปตท.จะต้องชี้แจงข้อกล่าวหาทั้งหมดในประเด็นต่าง ๆที่ถูกกล่าวหา

ตั้งแต่ขั้นตอนการแปรรูปถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ , เรื่องโอนสิทธิประโยชน์อำนาจของรัฐให้แก่บริษัทเอกชน เช่น สิทธิในการผูกขาดกิจการท่อก๊าซฯ , สิทธิในการเวนคืน , สิทธิในการยกเว้นภาษีต่างๆ , การขายหุ้น IPO ที่หลายฝ่ายคลางแคลงในความไม่ปกติว่า หุ้นทั้งหมดถูกจองภายในเวลา 1.17นาที และเกิดการกระจุกตัวเฉพาะบางกลุ่ม และที่สำคัญปตท.ยังคงยืนยันสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่หรือไม่

ปตท.มั่นใจพิสูจน์ได้ชัดเจน

รายงานข่าวจาก ระบุว่า ปัจจุบันการต่อสู้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างที่ปตท.กำลังทำคำชี้แจงประเด็นที่มูลนิธิคุ้มครองเพื่อผู้บริโภคยื่นเพิ่มเติมในวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ซึ่งปตท.มีเวลา1 เดือน ( ถึงวันที่ 19 มกราคม 2550 ) ที่จะต้องทำคำชี้แจงกลับไปยังศาลปกครองเพื่อต่อสู้ในประเด็นดังกล่าว และคาดว่าศาลปกครองจะสามารถพิจารณาพิพากษาคดีได้ภายใน 3เดือนนับจากนี้ เพราะประเด็นที่โต้แย้งกันไปมาก็เป็นประเด็นเก่าๆ

"หากพิจารณาคำฟ้องดีๆ จะพบว่าคำฟ้องนี้ดัดแปลงมาจากคดีฟ้องการแปรรูปกฟผ.มาเป็นบรรทัดฐาน แต่ในทางปฏิบัติการแปรรูปปตท.ไม่มีส่วนใดที่คล้ายกับแปรรูปกฟผ. ผู้บริหารปตท.จึงมั่นใจว่าคดีดังกล่าวปตท.ต่อสู้ได้ทุกประเด็นกล่าวหา"

อย่างไรก็ดีในกระบวนการแปรรูปของปตท.นั้น ถูกต้องทุกขั้นตอนของ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เพราะ ปตท.ได้รับโอนอำนาจ สิทธิ และ ประโยชน์พิเศษที่มีอยู่ตามกฎหมายเดิม มายังบริษัทใหม่เท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมตาม พ.ร.บ.ทุนฯ ซึ่งสิทธิส่วนนี้จะหมดไปเมื่อปตท.มิได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ( รัฐถือหุ้นน้อยกว่า 50 % ) แต่ปัจจุบันรัฐยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่มากกว่า 51% ซึ่งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกชุดของปตท.ยืนยันว่ามีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ , คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท และ คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งมติครม.ออกมารองรับการแปรรูปตั้งแต่ต้น

"คุณมนู เลียวไพโรจน์ และคุณวิเศษ จูภิบาล ต่างเป็นคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บมจ.ปตท.จึงได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ.ทุนฯ มาตรา 12 และมาตรา 18 จึงไม่มีเหตุผลที่การแปรรูปปตท.จะมิชอบด้วยกฎหมาย"

IPOโปร่งใส/กลต.การันตีเมื่อปี2545

ส่วนประเด็นปัญหาในการกระจายหุ้นในราคา IPO ที่ใช้เวลาเพียง 1.17 นาทีนั้น เป็นเรื่องที่ปตท.จะต้องชี้แจงต่อศาลปกครองให้เห็นว่าการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนใดโดยเฉพาะ เนื่องจากได้มีการกระจายหุ้นตาม หลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการจองซื้อจะต้องผ่านตัวแทนจำหน่ายที่เป็นธนาคาร หรือจองผ่านายหน้าค้าหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่ตนเป็นลูกค้าอยู่ในราคา IPO ที่ 35 บาทต่อหุ้น และการกระจายหุ้นดังกล่าวได้มีการตรวจสอบความถูกต้องโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในปี2545 และราคาหุ้นก็อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและตลาดในช่วงนั้น ( SET Index = 305 จุด ) ซึ่งพิสูจน์ได้จากราคาหุ้นปตท.ที่ขึ้นลงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับราคาจองซื้ออยู่ถึงเกือบปี และบางช่วงก็มีระดับต่ำสุดถึง 29 บาท ดังนั้นหากนักลงทุนที่จองซื้อ IPO ไม่ได้ ก็สามารถซื้อในตลาดหลักทรัพย์ในราคาที่ต่ำกว่าราคาจองได้

"ตอนนั้นตลาดหุ้นไม่ดี คนที่ตัดสินใจลงทุนถือว่าเขาก็ต้องเสี่ยง เมื่อซื้อไปแล้วเข้าตลาดราคาตกก็ต้องยอมรับความผิดพลาด ส่วนคนที่จองซื้อไม่ได้ช่วงนั้นก็รู้สึกโล่งอกที่ไม่ต้องมาเสี่ยง ส่วนที่พูดกันว่ามีบิ๊กการเมืองได้หุ้นปตท.มากมาย หากไปเช็คดูกับโบรกเกอร์ช่วงนั้นอย่างละเอียดจะพบว่า คนพวกนี้เขาได้สิทธิ์ในฐานะเป็นลูกค้ารายใหญ่ ๆ ของหลักทรัพย์ต่าง ๆที่รับกระจายหุ้นอยู่แล้ว" แหล่งข่าวกล่าว

ยืนยันสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ

ส่วนประเด็นในเรื่องสิทธิพิเศษต่างๆในการผูกขาดกิจการท่อก๊าซฯ , สิทธิในการเวนคืน , สิทธิในการยกเว้นภาษีต่างๆที่ปตท.ได้รับนั้นปตท.ยังคงยืนยันสถานะตนเองว่า เป็นรัฐวิสาหกิจไม่ใช่เอกชน จะเห็นได้จากการภายหลังการแปรรูปปตท.ยังคงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจมาโดยตลอดตามติ

ครม.เมื่อปลายปี 2544 ที่กำหนดให้ภาครัฐถือหุ้นในบมจ.ปตท.มากกว่า 51% รัฐยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ( กระทรวงการคลัง 52 % , กองทุนวายุภักษ์ 16 % ) และเมื่อรวมกับ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทต่างๆ อีกประมาณกว่า 12%

" ยืนยันว่า รัฐและคนไทยยังถือครองสัดส่วนปตท.รวมกันกว่า 80% คิดเป็นจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมดังนั้นสิทธิและผลประโยชน์ต่างๆของปตท.ยังเป็นของชาติ และประชาชนชาวไทย "

ยันปตท.ไม่ได้ผูกขาดก๊าซ

สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลจากการแปรรูปดังกล่าวทำให้ปตท.ผูกขาดกิจการท่อก๊าซฯและทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นนั้น ปตท.เตรียมการที่จะต่อสู้ข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยการชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจก๊าซของปตท.ไม่มีการผูกขาด เพราะบริษัทที่ได้รับสัมปทานในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสามารถจำหน่ายก๊าซฯโดยตรง และ การวางท่อก๊าซก็อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ทั้งยังไม่ได้เป็นผู้กำหนดโครงสร้างราคาขายก๊าซให้กฟผ. หรืออัตราผ่านท่อฯ ซึ่งอำนาจเหล่านี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐมาตลอดทั้งก่อนและหลังแปรรูป

ส่วนในเรื่องที่ถูกกล่าวหาและประชาชนเริ่มคล้อยตามและเห็นว่าปตท.เป็นฝ่ายผิด เนื่องเพราะเป็นเรื่องที่เข้าถึงความรู้สึกประชาชนได้ง่าย ก็คือข้อกล่าวหาว่า ปตท. ฟันกำไรอย่างมหาศาลจากการขายก๊าซให้แก่กฟผ. ,โรงไฟฟ้า IPP, SPP และโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ปตท.ชี้แจงว่าราคาเนื้อก๊าซภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแลราคา โดยมีสูตรการปรับราคาที่อิงน้ำมันเตาเพียง 30% ซึ่งราคาเนื้อก๊าซเฉลี่ยคิดเป็นประมาณ 90% ของราคาก๊าซที่ขายให้ผู้ผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นรายได้ของกลุ่มผู้สำรวจและผลิตที่ได้รับสัมปทานทั้งหมด ปตท.ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงแต่อย่างใด และในการส่งผ่านราคาเนื้อก๊าซไปให้ผู้ผลิตฟ้าโดยตรงในช่วงที่ผ่านมา ปตท.ยังได้เจรจาลดราคาก๊าซกับกลุ่มผู้ขายได้กว่า 14,000ล้านบาทและจะทยอยปรับลงอีกในอนาคตจึงไม่มีทางที่ปตท.จะได้กำไรมหาศาลจากการขายก๊าซดังกล่าว

อีกทั้งหลังการแปรรูปราคาก๊าซเพิ่มขึ้นเพียง 27 % ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่า 143 %เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านราคาก๊าซของไทยยังถูกกว่าอีกหลายประเทศ ทำให้ค่าไฟฟ้าของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำโดยในปี 2548 ปตท.ยังสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเมื่อเทียบกับน้ำมันเตาได้ถึง 200, 000ล้านบาททั้งช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศได้กว่า 400,000 ล้านบาท

รับแยกธุรกิจท่อก๊าซฯไม่คืบแต่แยกบัญชีทรัพย์สินชัดเจน !

ประเด็นต่อมาคือการแยกธุรกิจท่อก๊าซฯออกจากธุรกิจอื่นๆซึ่งปตท.ยอมรับยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร แต่ยืนยันได้ว่าจะเดินหน้าแยกกิจการท่อส่งก๊าซ ขณะเดียวกันก็ได้แบ่งแยกทรัพย์สินและผลดำเนินการทางบัญชีอยู่แล้วโดยจะนำเสนออนุมัติจากคณะกรรมการปตท. และผู้ถือหุ้นและประสานหน่วยงานของรัฐ คือ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง เพื่อให้มั่นใจว่าในอนาคตจะไม่เป็นภาระต่อผู้บริโภคและสามารถวางระบบท่อส่งก๊าซเพื่อรองรับความต้องใช้ก๊าซฯได้อย่างไม่หยุดชะงัก

อย่างไรก็ดีที่ตอนนี้ปตท.ยังไม่ได้แยกกิจการท่อก๊าซฯออกจากธุรกิจอื่นได้ แต่ก็ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น ภาครัฐ และ ประชาชนแต่อย่างใด เพราะค่าผ่านท่อและค่าตอบแทนการจัดหาก๊าซถูกกำกับดูแลโดยหน่วยงายของรัฐก่อนและหลังแปรรูป เพราะแม้ปตท.จะแปรรูปไปแล้วก็ตามอัตราค่าผ่านท่อและค่าตอบแทนยังคงเดิม

"เรื่องนี้ปตท.ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อปิดจุดอ่อนก่อน อะไรทำได้ก็ต้องรีบทำเพื่อให้สังคมได้รับรู้ก่อนที่จะมีการยื่นคำชี้แจง เพราะจะทำให้ทุกฝ่ายเห็นเจตนาดีของการแปรรูปปตท."

"ปตท." กำไรจากการลงทุน-ก๊าซแค่11%

ปัจจุบันธุรกิจของบริษัท ปตท. แบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจหลัก คือ 1. ธุรกิจน้ำมัน 2. ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ 3. ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น โดย 7 บริษัทในเครือคือ 1. ปตท. (PTT ) 2. ปตท.สำรวจ และ ผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 3. ไทยออยส์ (TOP) 4. โรงกลั่นน้ำมันระยอง (RRC) 5. ปตท.เคมิคอล (PTTCH) , 6. บมจ.ไออาร์พีซี (IRCP) , 7.อะไรเมติกศ์ (ATC) ซึ่งปตท.ยืนยันว่ากำไรของปตท.ที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งได้จาการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีอย่างครบวงจร รวมถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจ และ ต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์โดยในปี 2548 กำไรของปตท.มาจากบริษัทที่ปตท.ลงทุนคิดเป็น 62 % และมาจากการทำธุรกิจโดยตรงของปตท.เองแค่ 38% ซึ่งในส่วนนี้มาจากธุรกิจท่อส่งก๊าซเพียง 11 % ( ดูตารางสัดส่วนผลกำไรปตท. )

ขณะเดียวกัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้แจ้งผลการดำเนินงานของบริษัทงวดไตรมาส 3 / 49 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน ระบุว่า บริษัทมีกำไรอยู่ที่ 24,320.20 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 8.69 กำไรเพิ่มขึ้น 298.27 ล้านบาท หรือ 1.24% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 24,021.93 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 8.59 บาท สำหรับยอด9 เดือนผ่านไปบริษัทปตท.มีกำไรสุทธิ 79,701.14 ล้านบาทกำไรสุทธิต่อหุ้น 28.48 บาท กำไรเพิ่มขึ้น 11328.63 ล้านบาท หรือ16.56% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 68,372.51 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 24.44 บาท

อย่างไรก็ตามรายงานยังแจ้งว่า ในการต่อสู้คดีแปรรูปดังกล่าวได้มีการแบ่งกันหน้าที่กันชัดเจน กล่าวคือ ในเรื่องการต่อสู้ประเด็นแปรรูปถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จะให้ปตท.ยื่นหลักฐานทั้งหมดไปที่ศาลปกครอง ส่วนเรื่องการซื้อขายหุ้น IPO คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะเป็นผู้ยื่นหลักฐานในส่วนนี้สนับสนุนว่ามีความโปร่งใสไม่มีการเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มการเมืองตามที่ถูกกล่าว ขณะที่กระทรวงพลังงานจะชี้แจงถึงประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่าปตท.ผูกขาดเรื่องก๊าซในประเทศ ทั้งการขึ้นราคาน้ำมันปตท.ก็อิงตลาดต่างประเทศ จึงไม่มีกำไรมากมายอย่างที่ถูกกล่าวหามาตลอด

ส่วนในเรื่องของผลกระทบต่อตลาดหุ้นหากปตท.ต้องออกจากตลาดฯนั้น เป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นจะเป็นผู้แสดงทรรศนะให้สังคมได้เห็นว่า จะเกิดผลกระทบในทางบวกและทางลบอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ในทุกภาคส่วน

ยกเลิกปตท.ต่างชาติกระเจิง

ขณะเดียวกันแหล่งข่าวจากบอร์ดปตท.ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการยกเลิกแปรรูปปตท.จะส่งผลกระทบกับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลว่าจะมีความมั่นคงหรือไม่ ซึ่งจะทำให้การเข้ามาลงทุนต้องมีการพิจารณาปัจจัยต่างๆมากขึ้น หากมีการถอน ปตท.ออกจะมีความยุ่งยากและจะมีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แน่นอน ซึ่งผลกระทบจะไม่น้อยกว่ามาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.)ที่ออกมาในการสกัดเก็งกำไรค่าเงินบาทที่ผ่านมา

นอกจากนี้แล้วหากมีการถอดถอนปตท.ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนจะส่งผลกระทบในวงกว้างและร้ายแรงต่อตลาดหุ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากบริษัทปตท.เป็นหลักทรัพย์ที่สำคัญ เพราะเป็นหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมหรือมาร์เกตแคปขนาดใหญ่ และจะมีผลต่อการเข้าจดทะเบียนของหลักทรัพย์รายอื่นๆ อีกด้วย

ต้องหาเงิน 5 แสนล้านซื้อคืน!

" หากศาลฯ มีคำสั่งให้เพิกถอนหุ้นปตท. ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าปตท.จะต้องใช้เงินประมาณ 5 แสนล้านบาท จากมาร์เกตแคปตลาดรวมอยู่ที่ 5 ล้านล้านบาท และต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นจากรายย่อย (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ในราคาหุ้นประมาณ 220 บาทขณะที่ตอนนำหุ้นเข้าตลาดปตท.ได้เงินเพียง 2.8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น " แหล่งข่าวระบุ

อย่างไรก็ดีในเรื่องของการซื้อหุ้นคืนนั้นฝ่ายองค์กรภาคประชาชนที่ยื่นฟ้องให้ยกเลิกการแปรรูปปตทนั้น ได้เคยเสนอความเห็นว่า หากศาลชี้ขาดให้องค์กรภาคประชาชนเป็นฝ่ายชนะ จะต้องมีการซื้อหุ้นคืน แต่จะต้องเป็นการซื้อคืนในราคา IPO คือราคาหุ้นละ 35 บาทเท่านั้น เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์จากหุ้นปตท.ที่ผ่านมาต้องยอมเสียสละเพื่อส่วนรวมแม้ราคาหุ้นปตท.ในตลาดฯปัจจุบันจะมีราคาหุ้นละ 212 บาท (ณ.วันที่ 25 ธค.49)

ส่วนประเด็นการแยกกิจการท่อก๊าซ นั้นได้แยกออกแล้วในในเชิง operation ( ปฎิบัติการ)ตั้งแต่ก่อนที่ปตท.จะแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพียงแต่ไม่ได้แยกในทางกฎหมายเท่านั้น ซึ่งหากต้องการให้แยกท่อก๊าซออกมาเป็นบริษัท ทางบริษัท ปตท.ก็สามารถดำเนินการได้เลยเพียงแต่ไปจดทะเบียนเป็นบริษัทเท่านั้น แต่ต้องทำความเข้าใจว่าการแยกหรือไม่แยกท่อก๊าซออกเป็นบริษัทนั้น ถึงยังไรปตท.ก็ยังคงถือหุ้น 100% อยู่เพียงแต่จะเกิดภาระในส่วนของภาษีต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในระดับหมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การไม่แยกท่อก๊าซทำให้ค่าไฟฟ้าแพงนั้นไม่เกี่ยวกัน เพราะการปรับขึ้นตามราคาเนื้อก๊าซฯที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ค่าผ่านท่อคิดเป็นต้นทุนไม่ถึง 10%ของเนื้อก๊าซ ที่สำคัญที่ผ่านมาปตท.ไม่ได้มีการปรับเพิ่มค่าผ่านท่อขึ้นแล้ว

สหภาพฯชี้กระทบต่อศก.ประเทศ

ด้านคณะกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจปตท. ระบุว่า หากมีคำพิพากษาให้เพิกถอน พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 และพ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมาย ว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 และ ปตท. จะต้องกลับคืนเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จะมีผลเสียหายหลายประการ เพราะ การนำปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรงเนื่องจากปัจจุบัน ปตท.มีสัดส่วนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ประมาณ 14 % บริษัทในเครืออีก 15 % รวมเป็นมูลค่าประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท และจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและเทขายหุ้นทำให้ดัชนีหุ้นร่วง เป็นผลให้ประเทศชาติเสียหายอย่างมากระบบเศรษฐกิจอ่อนแอ

อีกทั้งรัฐบาลจะต้องหาเงินมาซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นประมาณ 5 แสนล้านบาท จะทำให้รัฐบาลขาดเงินในการบริหารประเทศ และส่งผลกระทบต่อประชาชนเพราะไม่มีเงินกระจายไปสู่ภาคประชาชนและในปีที่ผ่านมารายได้ของรัฐบาลส่วนใหญ่มาจากรัฐวิสาหกิจประมาณ 64% จะมาจากการดำเนินงานของกลุ่มปตท.ที่ส่งผลประโยชน์ให้รัฐมากกว่า 40% ซึ่งหากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต้องกลับคืนเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ และประชาชนอาจต้องเสียภาษีมากขึ้นเนื่องจากรัฐขาดงบประมาณอุดหนุน

ล้มแปรรูปฯแข่งขันสู้ต่างชาติไม่ได้

สหภาพย้ำอีกว่าสิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้คือปตท.จะอ่อนแอลงไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทพลังงานต่างชาติได้ เนื่องจากการบริหารจัดการไม่คล่องตัว เงินทุนหมุนเวียนลดลง แผนการพัฒนาพลังงานทดแทนต่างๆ หยุดชะงัก ทำให้ประชาชนต้องบริโภคพลังงานในราคาแพง เช่นเดียวกับประเทศอื่นที่ไม่มีบ่อน้ำมันเป็นของตนเอง และทำให้ขาดสภาพคล่อง หรือต้องกลับไปเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ย่อมมีผลต่อพนักงานของบริษัท ปตท.จำกัด ( มหาชน )จะได้รับความเสียหายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และเกิดความไม่ชัดเจนในปัญหาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของพนักงานที่อาจจะได้รับหากจะต้องกลับคืนไปเป็นพนักงานของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

สรุปขั้นตอนการแปรรูป ปตท. ตามพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542

1.จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ
- กำหนดกิจการ / สิทธิ /หนี้สิน /ความรับผิดชอบ /สินทรัพย์/พนักงานที่จะโอน

-กำหนดทุนเรือนหุ้น/จดทะเบียน/จำนวนหุ้น/มูลค่าหุ้น

-กำหนดโครงสร้างการบริหารงาน/จัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ/ข้อบังคับของบริษัท

-จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

- ให้ภาครัฐถือหุ้นมากกว่า 51 % และคงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ

-ให้ยกเว้นภาษีปตท./บริษัทย่อยในการแปรรูปและแยกบริษัทท่อฯ

-จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาโอน/จำกัด อำนาจ สิทธิ ตามพ.ร.บ.เท่าที่จำเป็น

-หลักการ/แนวทางนำทุนเปลี่ยนเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท

-กำหนดรัฐมนตรีที่จะกำกับดูแลนโยบายของบริษัท

-เสนอเสนอแนะ/แก้ไข/เพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา

-กำกับดูแลให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน

3. คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ 10กรกฎาคม และ 21 สิงหาคม 2544

4.จัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บมจ. ปตท.

5.จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นประชาชน

6. คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 25 กันยายน 2544

7.จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

8.ออกพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ

-ยกเลิกพระราชบัญญัติปตท. พ.ศ. 2521

-โอน/จำกัด อำนาจ สิทธิ หรือ ประโยชน์เท่าที่จำเป็นให้ บมจ. ปตท.

9.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ผิดกฎหมาย

10.ศาลปกครองพิพากษา ปตท.สามารถวางท่อได้

สัดส่วนผลกำไรของ บมจ. ปตท.

บริษัทที่ปตท.ลงทุน 64 %
1.ธุรกิจการกลั่น 20
2.ปตท.สผ. 18 %
3. RCC 14%
-ปตท.ถือหุ้น 100% ชั่วคราว
-รวมกำไรพิเศษจากการปรับโครงสร้างหนี้ 5,417ล้านบาท หรือ 6 %
4. ธุรกิจปิโตรเคมี 10%
5. การจำหน่ายน้ำมันภายในประเทศ 2%

ปตท. 38%
1.โรงแยกก๊าซ 17 %
- ก๊าซหุงต้มในประเทศ 6%
- วัตถุดิบปิโตรเคมี 8%
- ส่งออก 3 %

2.ท่อส่งก๊าซ 11%

3.จัดหาจำหน่ายก๊าซฯ 5 %

4. การค้าระหว่างประเทศ 3 %
- ค่าผ่านท่อ /ค่าตอบแทน จัดหาจากกฟผ. / IPP รวม 9 %


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.