"พฤติกรรมการตัดสินใจซื้อขายหุ้นของนักลงทุน"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

การเก็งกำไร เป็นพฤติกรรมหลักของนักลงทุนไทย โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยที่มีวงเงินลงทุนต่ำกว่า 500,000 บาท คนเหล่านี้น่าสนใจซื้อขายหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงและข้อมูลข่าวสารไม่ได้มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของพวกเขา

หุ้นเป็นสินค้าอย่างหนึ่งซึ่งมีตลาดและวิถีการค้าที่เป็นแบบฉบับของตนเอง ในขณะที่สินค้าอื่นทั่วไปจะมีระดับราคาค่อนข้างคงที่ในช่วงเวลหนึ่งหรือเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยภายใต้การกำหนดของอุปสงค์และอุปทานของสินค้า

ทว่า หุ้นจะมีระดับราคาปรับตัวขึ้นลงตลอดเวลา ภายใต้การตัดสินใจซื้อขายของนักลงทุนและภายใต้เหตุผลเหล่านี้เองทำให้หุ้นกลายเป็นสินค้าที่มีทั้ง "ราคาคาดหวัง" (expected price) และความเสี่ยง (Risk) จากการซื้อขายเกิดขึ้น ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์พิเศษของหุ้นที่แตกต่างจากสินค้าอื่นและวิธีการค้าทั่วๆ ไป

ปกติผู้เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เป็นทั้งนักลงทุนระยะสั้น และระยะยาว ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือทำกำไรจากการจำหน่ายหลักทรัพย์ การวิเคราะห์ขั้นพื้นฐาน (fundemandtal analysis) เพื่อศึกษาถึงฐานะการเงินและสภาพดำเนินงานของบริษัทที่จะลงทุนในช่วงเวลาที่ผ่านมากับการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น และปริมาณหุ้นที่ซื้อขายในตลาดเป็นสิ่งจำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงในระดับราคาให้มีน้อยที่สุด

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการวิเคราะห์ขั้นพื้นฐานและการวิเคราะห์ด้านเทคนิคจะต้องมีควบคู่กันไปในการตัดสินใจลงทุนหรือซื้อขายหุ้น ทว่า นักลงทุนก็ยังต้องอาศัยข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับคุณสมบัติของหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ ราคาหลักทรัพย์ ฯลฯ ประกอบการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจซื้อและขายหลักทรัพย์ในราคาที่ได้กำไรตามที่คาดหวัง

ดังนั้น ประเด็นสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้จึงอยู่ที่ว่าแหล่งข่าวสาร (source) ชนิดใด สาระแห่งข่าวาร (message) ประเภทใด และสื่อ (media) ของข่าวสารรูปแบบใด จะมีผลอย่างสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อขายหุ้นของนักลงทุน กล่าวอีกแง่หนึ่งระบบการสื่อสารมีอิทธิพลหรือความสัมพันธ์กับผู้รับข่าวสาร ซึ่งหมายถึงนักลงทุน ในลักษณะใดหรืออย่างไรนั่นเอง

เกณฑ์การตัดสินใจลงทุน วงเงินลงทุนและผลการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

จากผลการวิจัย กล่าวได้ว่า สภาพของธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีลักษณะการซื้อขายเพื่อหวังผลจากการเก็งกำไรเป็นสำคัญ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่สนใจจะซื้อขายหุ้น ที่มีสภาพคล่องสูง คือมีโอกาสจะซื้อหรือขายได้คล่องตัวมากกว่าหุ้นอื่นๆ ในขณะที่ให้ความสนใจหรือพิจารณาต่อผลการดำเนินงานของบริษัท และเงื่อนไขเกี่ยวกับราคา และผลตอบแทนเป็นเกณฑ์รองลงมา ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 44.17 และ 11 ตามลำดับ (ดูตารางหลักเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินใจ วงเงินลงทุน และผลการลงทุน จำแนกตามประเภทของนักลงทุน)

สำหรับวงเงินลงทุนสูงสุดที่นักลงทุนใช้ซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นวงเงินลงทุนต่ำกว่า 5 แสนบาท ซึ่งถือว่าเป็นนักลงทุนรายย่อย นอกจากนี้ยังพบว่านักลงทุนระยะยาวและกลุ่มนักเก็งกำไรมีแนวโน้มใช้วงเงินลงทุนไม่แตกต่างกันกล่าวคือใช้เงินลงทุนในช่วงไม่เกิน 1 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์การลงทุนของนักลงทุนพบว่านักลงทุนส่วนใหญ่ ซึ่งมีถึงร้อยละ 60.5 เคยทั้งกำไร-ขาดทุน พอๆ กัน นักลงทุนที่เคยขาดทุนเสมอในสัดส่วนที่น้อยที่สุด ได้แก่ นักลงทุนระยะยาวคือร้อยละ 4 ส่วนนักลงทุนที่ได้กำไรอยู่เสมอในสัดส่วนที่มากที่สุดคือร้อยละ 36.4 จะได้แก่นักลงทุนทั้งสองประเภทคือเป็นทั้งนักลงทุนระยะยาวและนักเก็งกำไร

สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมการตัดสินใจซื้อขายหุ้น

จากผลการทดสอบทางสถิติพบว่า ความแตกต่างกันในสถานภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อขายหุ้นของนักลงทุนกล่าวอีกนัยหนึ่งปัจจัยในเรื่องความแตกต่างกันในระดับรายได้ หรือฐานะความแตกต่างกันในอาชีพ และความแตกต่างกันในระดับการศึกษา มิได้มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อกำหนดการตัดสินใจซื้อขายหุ้น

จากผลการศึกษา นักลงทุนเกือบทุกระดับของรายได้ (ยกเว้นผู้มีรายได้มากกว่า 40,000 บาท/เดือน) ให้ความสำคัญต่อเงื่อนไขของลักษณะหุ้นมากกว่าเงื่อนไขอื่น

ในขณะที่เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างกันในด้านอาชีพ และความแตกต่างกันในระดับการศึกษาพบว่าทุกสาขาอาชีพ และระดับการศึกษาให้ความสำคัญต่อเกณฑ์การตัดสินใจซื้อขายหุ้นในลักษณะเดียวกันคือให้ความสำคัญต่อเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะหุ้นมากกว่าเกณฑ์อื่นๆ

เป็นที่น่าสังเกตว่า นัลงทุนในกลุ่มลูกจ้างเอกชนให้ความสำคัญต่อเกณฑ์การตัดสินใจทั้งสามในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือระหว่างร้อยละ 32-37.5 (ดูตารางสถานภาพของเศรษฐกิจและสังคมกับการตัดสินใจซื้อขายหุ้น)

ความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสาร

จากการวิจัยพบว่า ระดับความน่าเชื่อถือของข่าวสารจากแหล่งทั้งสามซึ่งประกอบด้วยบุคคลโบรกเกอร์ และสื่อมวลชน ไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่แท้จริงในการซื้อขายหุ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เกณฑ์การตัดสินใจซื้อขายหุ้นของนักลงทุนไม่ผันแปรตามความน่าเชื่อถือที่นักลงทุนมีต่อข่าวสารจากแหล่งทั้งสาม หรือข่าวสารจากแหล่งทั้งสามยังมีความน่าเชื่อถือไม่เพียงพอที่นักลงทุนจะนำมาใช้เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อขายหุ้นของตนนั่นเอง

แม้ว่าข้อสรุปข้างต้น ค่อนข้างจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงหรือสมมติฐานของคนส่วนใหญ่ ซึ่งมีความเห็นว่าระดับความน่าเชื่อถือน่าจะมีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อขายหุ้นของนักลงทุน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการระดับนัยสำคัญ (OX) เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้เกิดการยอมรับหรือปฏิเสธสมมติฐานได้ เหตุผลอีกประการหนึ่งอาจเป็นปัญหาของช่องว่าง (Timing) นั่นคือช่วงที่เก็บข้อมูลอาจเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นซบเซา ความสนใจต่อข่าวสารเพื่อการซื้อขายหุ้นจึงน้อยไม่ตื่นตัวเท่ากับช่วงที่ตลาดรุ่งโรจน์ เป็นผลให้ระดับความน่าเชื่อถือของข่าวสารจากแหล่งสารทั้งสาม ไม่มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อขายหุ้นของนักลงทุนได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่าทุกระดับความน่าเชื่อถือของข่าวสารจากแหล่งข่าวทั้งที่เป็นบุคคล นิติบุคคล และสื่อมวลชน ต่างให้ความสำคัญต่อเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะของหุ้นมากกว่าเกณฑ์อื่นๆ (ดูตารางระดับความน่าเชื่อถือของข่าวสารจากแหล่งข่าวสารกับการตัดสินใจซื้อขายหุ้น)

นอกจากนั้น ได้มีการสอบถามนักลงทุนเพิ่มเติมถึงแหล่งข่าวที่เป็นสื่อมวลชนประเภทนิตยสารที่นิยมอ่านพบว่านักลงทุนนิยมอ่านนิตยสาร "ผู้จัดการ" มากที่สุดถึงร้อยละ 44.5 รองลงมาคือนิตยสารการเงินะนาคาร และมติชนสุดสัปดาห์ ด้วยความนิยมเท่ากันคือ ร้อยละ 26.5 (ดูตารางนิตยสารที่นัลงทุนนิยมอ่าน)

ประเภทของข่าวสารและสื่อกับการตัดสินใจซื้อขายหุ้น

จากผลการศึกษา พบว่าประเภทของข่าวสารที่แตกต่างกันมีความสัมพันธ์กับเกณฑ์การตัดสินใจซื้อขายหุ้นของนักลงทุนกล่าวคือนักลงทุนที่เลือกใช้ข่าวสารประเภทแนวโน้ม ดัชนีราคาหุ้นและข่าวารการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าร้อยละ 50 ให้ความสำคัญต่อเกณฑ์ลักษณะของหุ้นมากกว่าเกณฑอื่น

ในขณะที่นักลงทุนที่เลือกใช้ข่าวสารที่เป็นความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นมีมากกว่าร้อย 50 ที่หใความสำคัญต่อเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทผู้ออกหุ้นส่วนนักลงทุนที่เลือกใช้ข่าวสารประเภทที่เหลือให้ความสำคัญต่อเกณฑ์ต่างๆ ในสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก

ในด้านของสื่อนั้น จากค่าสถิติพบว่าสื่อที่สามารถควบคุมข่าวสารได้เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อเกณฑ์การตัดสินใจซื้อขายหุ้นของนักลงทุนไม่แตกต่างจากสื่อที่ควบคุมข่าวสาร ไม่ได้โดยนักลงทุนที่เลือกใช้สื่อที่ควบคุมข่าวสารได้และควบคุมไม่ได้จะให้ความสำคัญต่อเกณฑ์ลักษณะของหุ้นมากกว่าเกณฑ์อื่นๆ (ดูตารางประกอบของข่าวสารและสื่อกับการตัดสินใจซื้อขายหุ้น)

กล่าวโดยสรุป นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อขายหุ้นที่คำนึงถึงเกณฑ์เกี่ยวกับสภาพคล่องของหุ้นเป็นสำคัญ และในกลุ่มนักลงทุนในตลาดดังกล่าว มีสัดส่วนของนักลงทุนระยะสั้นหรือนักเก็งกำไรมากที่สุดถึงร้อยละ 64 (ดูตารางประเภทของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

เมื่อการตัดสินใจซื้อขายหุ้นมิได้อาศัยข้อมูลพื้นฐาน หรือหลักการลงทุนในระยะยาวเป็นเกณฑ์สำคัญในการวิเคราะห์ย่อมหมายถึงว่า ความสำเร็จในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฯ มิได้ขึ้นอยู่กับการคำนึงถึงความเติบโตในเชิงปริมาณของตลาดเพียงประการเดียว ฉะนั้น ปัญหาที่ท้าทาย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ขณะนี้ก็คือการสร้างความกลมกลืนของสิ่งตรงกันข้ามอันหมายถึง การสร้างความเติบโตของตลาดให้เกิดควบคู่ไปกับความมีเสถียรภาพหรืออีกแง่หนึ่งคือการให้ตลาดมีการขยายตัว (เติบโต) ควบคู่ไปกับการป้องกันการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ใช้เล่ห์อย่างผิดกฎหมาย อาทิ การปั่นหุ้น หรือการใช้กระบวนการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม

นอกจากนั้น แม้ว่าทั้งนักลงทุนระยะยาว และนักเก็งกำไรจะต้องมีอยู่ควบคู่กันไปในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากต่างมีความสำคัญต่อตลาดพอๆ กัน ในแง่ที่นักลงทุนระยะยาวจะ "ซื้อแล้วเก็บ" (ไม่ค่อยยอมขาย) ทำให้มีเงินออมสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต้องการเงินทุนเพื่อการลงทุน

ส่วนนักเก็งกำไรจะ "ซื้อเล้วเร่งขาย" ทำให้ตลาดมีความเคลื่อนไหวเกิดชีวิตชีวา เพราะการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น แต่ข้อสำคัญคือผู้รับผิดชอบต้องพยายามทำให้ตลาดมีนักลงทุนทั้ง 2 กลุ่ม ในจำนวนที่เหมาะสมหรือสมดุลกันเพื่อตลาดจะได้มีธุรกิรรมซื้อขายหุ้นที่ต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ และเป็นธรรม

แม้ว่าขณะนี้ สังคมโลกจะดำเนินไปภายใต้ปรัชญาการแข่งขันและการแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุด (utility maximization) ของนักลงทุนแต่การรักษาคุณธรรมและการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในตลาด ก็ควรจะเป็นประเด็นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ เพื่อให้การแข่งขันนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรมที่สุดเท่าที่จะเป็นได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.