"กิจการเซรามิกของภัทรประสิทธิ์"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ครอบครัวภัทรประสิทธิ์ร่ำรวยอย่างเงียบเชียบในกิจการสุราที่ร่วมทุนกับ เจริญ สิริวัฒนภักดี ว่ากันว่าตระกูลนี้เป็นผู้ที่มีเงินสด (cash rich) เป็นกอบเป็นกำมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะกิจการของครอบครัวนี้มีอยู่ 4 ธุรกิจหลักคือกิจการค้าปลีก เดอะมอลล์, อุตสาหกรรม-สุรา, เซรามิก และพอร์ชเลน, กิจการด้านการเงิน-บงล.เจ้าพระยา ธนาคารเอเชีย และอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ บริษัทดอนเมืองพัฒนาซึ่งดำเนินกิจการตลาดสี่มุมเมือง หุ้นส่วนในโรงแรมโนโวเทล และแลนด์แบงก์อีกเป็นจำนวนมากในเขตภาคเหนือตอนล่าง

ทั้งกิจการค้าปลีกสุราและตลาดสี่มุมเมืองนั้นล้วนเป็นธุรกิจประเภทที่รับเงินสดเข้ากระเปาด้านเดียวล้วนๆ

ธุรกิจที่กลุ่มนี้มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือธนาคารเอเชียและกิจการเซรามิก

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแหล่งระดมทุนสำคัญของนักธุรกิจทั่วไป แต่สำหรับกลุ่มนี้ดูเหมือนจะไม่มีความหมายเท่าใดต่อการทำธุรกิจของพวกเขา

ผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในกิจการเซรามิกของครอบครัวคือ ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์

เขารักธุรกิจนี้มากและมีความใฝ่ฝันที่จะสร้างแบรนด์เนม "ภัทรา/PATRA" ให้มีชื่อเสียงในระดับโลก กล่าวได้ว่าเขาเป็นผู้บุกเบิกกิจการเซรามิกของครอบครัวตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเอเชียพอร์ซเลนอุตสาหกรรมเมื่อ 8 ปีก่อน

ปัจจุบันประดิษฐ์เป็นประธานคณะกรรมการจัดการกลุ่มภัทราเซรามิกซึ่งมีบริษัทในเครือ 4 แห่งคือภัทรา เซรามิก, ภัทรา พอร์ซเลน, ภัทรารีแฟรกทอรี่ และภัทรามาร์เก็ตติ้งชื่อ ประสงค์ ภัทรประสิทธิ์ น้องชายคนหนึ่งของประดิษฐ์เป็นผู้ดูแล

เซรามิก พอร์ซเลน และรีแฟรกทอรี่ต่างเป็นกิจการที่กลุ่มนี้เทกโอเวอร์กิจการของบริษัทเอเชียพอร์ซเลนอุตสาหกรรม, เอเชียเทเบิลแวร์อุตสาหกรรม และเอเชียรีแฟรกทอรี่อุตสาหกรรม ตามลำดับแล้วเปลี่ยนชื่อและปรับโครงสร้างใหม่โดยตั้ง บริษัทภัทรา มาร์เก็ตติ้ง ขึ้นเพื่อดูแลการตลาดให้กับทั้ง 3 บริษัทเมื่อปี 2535

ในกิจการเซรามิกนั้นกลุ่มภัทราใช้เทคโนโลยีของ JMP-Newcor Inc. จากสหรัฐซึ่งได้เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วยจำนวนร้อยละ 20 ภัทรา เซรามิกผลิตเซรามิกประเภทสโตนแวร์ สินค้าประมาณ 80% ใช้แบรนด์เนม Newcor เพื่อจำหน่ายต่างประเทศและบางส่วนก็มีจำหน่ายในประเทศ ส่วนสินค้าเซรามิกที่เหลือ ใช้ แบรนด์เนม House & Home ส่วนมากเป็นชุดถ้วยหู (Mug) เพื่อจำหน่ายในประเทศ

ผลิตภัณฑ์เซรามิกมี 4 ประเภท คือ ดินเผาธรรมดา สโตนแวร์ ซึ่งถือเป็นระดับกลาง พอร์ซเลนเป็นเซรามิกเนื้อขาวมีคุณภาพสูงกว่าสโตนแวร์ มีความโปร่งใสกว่า และมีความแกร่งสูงกว่าราคาก็แพงกว่าสโตนแวร์ประมาณ 40% พอร์ซเลนระดับดีที่สุดเรียกไฟน์ พอร์ซเลน

เซรามิกระดับสูงสุดคือโบนไชน่า (Bone China) เป็นขั้นสูงสุดในกรรมวิธีการผลิตเซรามิก มีการผสมกระดูกสัตว์และเนื้อเซรามิกจะออกสีเหลือง โบนไชน่าจะมีราคาแพงกว่าพอร์ซเลนประมาณ 30%

พิพัฒน์ บุษราคัมวดี ผู้บริหารในภัทรามาร์เก็ตติ้งเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ในส่วนของภัทราพอร์ซเลนก็มีโครงการที่จะทำเซรามิกประเภทโบนไชน่าด้วยโดยได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แล้ว"

ปัจจุบันพอร์ซเลนที่กลุ่มภัทราใช้แบรนด์เนมภัทรา (PATRA) จำหน่ายต่างประเทศเป็นส่วนมากเทคโนโลยีสำหรับพอร์ซเลนนั้น กลุ่มภัทรา ได้รับจากบริษัทนิคโก้คัมปานี (NIKKO) บริษัทญี่ปุ่นที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีพอร์ซเลนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดรายหนึ่งของโลกมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 100 ปี

ประดิษฐ์เป็นผู้ดึงนิคโก้เข้ามาร่วมทุนและให้ความช่วยเหลือเรื่องเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ภัทราใช้แบรนด์เนม PATRA แต่จะมีการเขียนกำกับด้วยว่า Technology by Nikko

นิคโก้เป็นผู้ร่วมทุนในภัทราพอร์ซเลนด้วยจำนวน 10%

ในบรรดากิจการ 4 อย่างนี้ ภัทราเซรามิกเป็นประหนึ่งบริษัทแม่ เพราะเป็นผู้ถือหุ้นในตัวพอร์ซเลนจำนวน 60 % แต่ต่อมาลดจำนวนลงเหลือ 40% เมื่อปี 2535 โดยขายให้บงล.เจ้าพระยา 10% และประดิษฐ์เข้ามาถือในนามส่วนตัว 10%

รายได้ที่เกิดจากการขายหุ้น 20% นี้ได้นำไปซื้อหุ้นในบริษัทกรมดิษฐ์ จำนวน 53% บริษัทนี้ดำเนินธุรกิจให้เช่าอาคารสำนักงานที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ซึ่งกลุ่มภัทราเล็งจะใช้เป็นที่ทำการกลุ่มแห่งใหม่

พิพัฒน์เปิดเผยว่า "แนวโน้มการแข่งขันเซรามิกในประเทศยังไม่รุนแรงนัก โดยเฉพาะตัวพอร์ซเลนซึ่งนอกจากภัทราแล้วก็มีผู้ผลิตอีกเพียงรายเดียวเท่านั้น ส่วนพอร์ซเลนที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้นจะมีราคาสูงมากและวางจำหน่ายเฉพาะห้างสรรพสินค้าใหญ่"

อาจกล่าวได้ว่าสินค้าเซรามิกประเภทสโตแวร์ของกลุ่มนี้ JMP จะเป็นผู้ทำตลาดให้ในอเมริกา ส่วนพอร์ซเลน JMP ดูแลตลาดยุโรปตอนล่างและตอนกลาง นิคโก้จะทำตลาดในสหรัฐฯ และตลาดเอเชียนั้นภัทรามาร์เก็ตติ้งจะรับผิดชอบจำหน่ายทั้งสโตนแวร์อื่น เช่น โบนไชน่าที่มีโครงการจะผลิตในอนาคต

ภัทรา พอร์ซเลน ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 800,000 ชิ้นต่อเดือน มีโครงการจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1 ล้านชิ้นต่อเดือนในปีนี้ พิพัฒน์เปิดเผยว่า "กำลังการผลิตขนาดล้านชิ้นต่อเดือนเป็นกำลังการผลิตที่เหมาะสมที่สุดแล้ว หากมากกว่านี้จะมีปัญหาเรื่องการควบคุมกำลังการผลิตในระดับนี้ ขณะที่แบรนด์เนมระดับโลกรายอื่น เช่น Noritake ในระยะหลังมียอดขายดีมาก ใช้วิธีให้โรงงานอื่นทำมาแล้วติดแบรนด์เนมของตน"

ในแง่ของผลการดำเนินงานนั้น ปรากฏว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2535 ภัทรา เซรามิกมีผลกำไรตกต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2534 ถึง 4 เท่า คือมีกำไรสุทธิเพียง 8.92 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 41.1 ล้านบาท

ปัญหาสำคัญที่ทำให้ผลกำไรตกต่ำลงมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้บริษัทไม่สามารถปรับราคาสินค้าปีละ 5% นอกจากนี้บริษัทยังต้องการรับภาระต้นทุนสูงขึ้นในเรื่องของแรงงานและต้นทุนการผลิต

วีรวัฒน์ ชลวณิช ประธานกรรมการบริหารภัทรา เซรามิก เปิดเผยว่า "บริษัทได้มีการจัดตั้ง Central Technical เป็นฝ่ายที่พัฒนาเทคนิคการผลิตเพื่อให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงโดยเฉพาะเรื่องปรับเปลี่ยนสูตรเนื้อดินซึ่งกำลังมีการทดลองอยู่ ฝ่ายพัฒนานี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องภาระต้นทุนสูงของบริษัท"

ในส่วนของกิจการพอร์ซเลนนั้นมีการตั้งเป้ายอดขายปี 2536 ไว้ที่ 400 ล้านบาททั้งในและต่างประเทศและในอนาคตมีโครงการที่จะนำบริษัทนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.