ทีโอทีฟ้องศาลปกครองเลิกค่าเชื่อมโยงกทช.ทำเสียหายปีละกว่าหมื่นล.


ผู้จัดการรายวัน(5 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

บอร์ดสั่งทีโอทียื่นร้องศาลปกครองให้ยกเลิกประกาศ กทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเชื่อมต่อระหว่างโครงข่ายโทรคมนาคม หลังประกาศกทช.ทำให้ทีโอทีเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท ด้าน “สมชัย แนวพานิช” กรรมการบริหารสหภาพฯ แจงเหตุต้องเคลื่อนไหวกับคนนอกเพราะสหภาพฯแตกเป็นก๊กเป็นเหล่า จนละเลยการปกป้องผลประโยชน์องค์กร

แหล่งข่าวจากบริษัท ทีโอที กล่าวว่าบอร์ดทีโอทีมีมติเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2549ให้ฝ่ายบริหารทีโอทีรับไปดำเนินการในการร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ยกเลิกประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเชื่อมต่อระหว่างโครงข่ายโทรคมนาคม ข้อ 126 โดยให้พ.อ.พิเชษฐ คงศรี และนายชินวัฒน์ ทองภักดี กรรมการฝ่ายกฎหมายและสัญญาร่วมกับนายปริญญา วิเศษศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมาย ทีโอที ร่วมกันดำเนินการและดูแลสำนวนในการร้องต่อศาลปกครอง

ทั้งนี้บอร์ดเห็นว่า 1.อำนาจในการออกประกาศของกทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเชื่อมต่อระหว่างโครงข่ายโทรคมนาคม มีกฎหมายรองรับถูกต้อง ทั้งนี้กรณีการเชื่อมโยงโครงข่าย (Access Charge) และการเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charge) นั้น กทช.ไม่เคยยืนยันว่าเป็นกรณีเดียวกัน และในกรณีที่ฝ่ายบริหารทีโอที ได้ถามไปยังกทช.ว่าผู้ร่วมการงานหรือบริษัทเอกชนมีสิทธิเชื่อมต่อกันเองโดยตรงหรือไม่นั้น ฝ่ายบริหารทีโอทีก็ไม่ได้รับคำตอบจากกทช.แต่อย่างใด 2.จากการพิจารณาของฝ่ายบริหารทีโอที โดยสำนักกฎหมายเห็นว่าคุณสมบัติของเอกชน ไม่เป็นไปตามประกาศของกทช. จึงไม่สามารถเชื่อมต่อกันเองได้ ซึ่งหากพบว่าบริษัทเอกชนมีการเชื่อมต่อกันเองโดยตรง ฝ่ายบริหารทีโอทีจะแจ้งให้กทช.ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

3.ทีโอทีควรร้องต่อศาลปกครองเพื่อยกเลิกประกาศกทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเชื่อมต่อระหว่างโครงข่ายข้อ 126 โดยใช้แนวทางการพิจารณาคดีทางปกครองกรณีคำสั่งปกครองใดก่อให้เกิดภาระเกินควรเนื่องจากประกาศ กทช.ดังกล่าวทำให้ทีโอที สูญเสียรายได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาทก็น่าจะถือได้ว่าเป็นภาระเกินควร และเมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของแผนแม่บทโทรคมนาคม ที่ให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม กทช.ก็ไม่ควรกำหนดกฏเกณฑ์หรือออกประกาศ ที่จะมีผลจะทำให้ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมรายหนึ่งรายใดไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งย่อมขัดต่อการส่งเสริมการแข่งขันเสรี และถือเป็นการขัดต่อแผนแม่บทโทรคมนาคมดังกล่าว จึงน่าจะเป็นเหตุผลของทีโอทีในการร้องขอความคุ้มครองชั่วคราวกับศาลปกครองได้ และ4.ในการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองควรเร่งดำเนินการ เพื่อมิให้ขาดอายุความในการยื่นคำร้อง ทั้งนี้หากบริษัท กสท โทรคมนาคม เข้าร่วมดำเนินการกับทีโอทีด้วย ก็จะทำให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

“บอร์ดมีมติให้ทีโอที ร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เนื่องจากเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อน และเร่งด่วนเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับทีโอที”

ด้านนายสมชัย แนวพานิช กรรมการกลางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทีโอที กล่าวว่าเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมาได้ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดร่วมกับนายศาสตรา โตอ่อน กับนางสาว รสนา โตสิตระกูลเพื่อขอให้ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาคำอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคำฟ้อง และมีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวตามที่ได้มีการไต่สวนฉุกเฉินตามคำขอของผู้ฟ้องคดี

ทั้งนี้ประเด็นที่ผู้ฟ้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี มี 2 ประเด็น คือ หนึ่ง ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 เป็นประกาศที่เกี่ยวข้องแต่เฉพาะกับ “ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม” ตามเหตุผลของศาลปกครองกลางหรือเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องถึง “นิติบุคคลเอกชนผู้รับอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา สามารถใช้และเชื่อมต่อโครงข่าย” ตามเนื้อหาในข้อ 126 ของประกาศฯ

สอง ในคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี “ผู้ฟ้องคดีทั้งสามไม่ได้มีการกล่าวอ้างว่าตนได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างไร” ตามเหตุผลของศาลปกครองกลาง หรือ “ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้มีการกล่าวอ้างว่าตนได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างไร”

สำหรับคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม มีประเด็นโต้แย้งคำสั่งศาลปกครองกลาง ดังนี้ 1.การที่ศาลปกครองกลางให้เหตุผลว่า ประกาศฯเป็นการกำหนดสิทธิและหน้าที่ในการใช้และเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วยกันเอง เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากประกาศฯ นั้น เป็นการวินิจฉัยผิดประเด็น เนื่องจาก ประกาศดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องการกำหนดสิทธิและหน้าที่เฉพาะผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วยกันเองเท่านั้น แต่ใน ข้อ 126 ของประกาศฯดังกล่าว ตามที่บรรยายมาในฟ้องกลับกำหนดให้นิติบุคคลเอกชนผู้รับอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา สามารถใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายได้ ดังนั้นเหตุผลในคำสั่งจึงมีความคลาดเคลื่อนไปจากเนื้อหาของประกาศ จนนำไปสู่ความผิดพลาดในการวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากประกาศฯดังกล่าว

2.การที่ศาลปกครองกลางให้เหตุผลว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามไม่ได้อ้างว่าตนได้รับความเสียหายจากประกาศดังกล่าวอย่างไร เพียงแต่อ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และวิทยุคมนาคมซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เป็นการวินิจฉัยที่มีความขัดแย้งอยู่ในตัว โดยศาลปกครองกล่าวในตอนต้นว่า “ผู้ฟ้องคดีทั้งสามไม่ได้อ้างว่าตนได้รับความเสียหายจากประกาศดังกล่าวอย่างไร” แต่ต่อมากลับบรรยายว่า “เพียงแต่อ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคลื่นความถี่ฯ” เหตุทั้งสองประการมีความขัดแย้งกันอยู่ในตัวว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้อ้างว่าตนได้รับความเสียหายหรือไม่

ในกรณีนี้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ได้บรรยายฟ้องโดยละเอียดแล้วว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายในฐานะประชาชนอย่างไร ดังที่ได้บรรยายในคำฟ้องข้อ 1 ทั้งเหตุผลในฐานะ ประชาชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคมของชาติ และ ประชาชนชาวไทยผู้ใช้บริการสาธารณะของชาติ

นายสมชัยกล่าวว่าการที่ต้องออกมาเคลื่อนไหว ยื่นฟ้องกทช.กับศาลปกครองร่วมกับนางรสนาและนายศาสตรา เป็นเพราะ สหภาพฯทีโอที ไม่มีแนวทางดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน ทั้งๆที่หากมีการใช้อินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จแล้ว เอกชนจะเลิกจ่ายแอ็คเซ็สชาร์จให้ทีโอที ซึ่งจะทำให้ทีโอทีเสียรายได้กว่าหมื่นล้านบาท แต่สหภาพฯกลับไม่ได้มีการเคลื่อนไหวแต่อย่างใด รวมทั้งสหภาพฯทีโอทีเกิดการแตกแยก ขาดความเป็นเอกภาพ ในการเคลื่อนไหวปกป้องรักษาผลประโยชน์ขององค์กร

“ผมยังเป็นกรรมการบริหารสหภาพฯ อยู่ แต่ต้องออกมาเคลื่อนไหวกับบุคคลภายนอก เพราะทนไม่ไหวกับสหภาพฯ ที่แตกเป็นก๊กเป็นพวก และเลือกเคลื่อนไหวบางเรื่องที่มีเป้าหมายซ่อนเร้น ซึ่งมีบางเรื่องจะถูกเปิดเผยเร็วๆนี้”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.