สุเทพ เลาหะวัฒนะ "นายใหม่" แห่งกรีนสปอตอินเตอร์ฯ


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

12 ปีแห่งความหลังของสุเทพ เลาหะวัฒนะ ที่บริษัทโคคา-โคล่า เอกซ์ปอร์ต คอร์ปอเรชั่น ได้กลายเป็นอดีตไปแล้วเมื่อวันวาน วันนี้สุเทพ เลาหะวัฒนะ คือกรรมการผู้จัดการของบริษัทกรีนสปอต อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ทำงานแบบมีศักดิ์ศรีให้กับ โชติ โสภณพนิช เจ้าของบริษัทกรีนสปอต

"เรื่องนี้ผมยอมรับว่าลังเล และคิดอยู่นานมาก เพราะว่าผมกับโค้กมีอะไรที่ผูกพันกันเกินกว่าจะแยกออกได้ รวมทั้งพนักงานทั้งหมดของโค้กไทยน้ำทิพย์ และหาดทิพย์ ซึ่งตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมาเราทำงานกันแบบพี่ แบบน้อง กินนอนร่วมต่อสู้ลำบากด้วยกันมาตลอด แต่เมื่อถึงที่สุดผมก็คิดได้ว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องออกไปพิสูจน์ตัวเอง และทำงานให้กับคนไทย หรือบริษัทของคนไทยให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาบ้างส่วนเรื่องความขัดแย้งนั้นไม่อยากให้เรียกว่าเป็นสาเหตุ เพราะทำงานด้วยกันย่อมต้องมีความเห็นแตกต่างกันบ้างถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา" เรื่องธรรมดาที่มีมูลเหตุแห่งความไม่ธรรมดาดังคำบอกเล่าของสุเทพเช่นนี้ ก่อให้เกิดการลาออกจากงานที่รักขณะที่เขามีอายุ 43 ปีแล้ว

สุเทพ เลาหะวัฒนะ เกิดวันที่ 27 ธันวาคม 2492 ร่ำเรียน MBA จาก
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านการฝึกอบรมและดูงานจากสหรัฐฯ ด้านโฆษณาและการตลาด เริ่มงานครั้งแรกที่บริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ (ประเทศไทย) และย้ายไปทำงานเอเยนซี่โฆษณาบริษัทแมคแคน แอริคสัน ก่อนที่จะลงหลักปักฐานที่โคคา-โคล่า เอกซ์ปอร์ต ตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งเป็นยุคตกต่ำของอุตสาหกรรมน้ำอัดลมที่กำลังประสบปัญหาจากรัฐบาลปรับภาษี

ในปี 2525 สุเทพได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดและก้าวขึ้นสู่ระดับสูงในฐานะผู้จัดการภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ผลงานที่ปรากฏในยุคของเขานั้นคือกลยุทธ์การตลาดด้าน Promotion และสร้างภาพพจน์สินค้าโดยจับคอนเซ็ปต์โค้กกับเพลงโค้กกับกีฬา โค้กกับอาหาร และโค้กกับกิจกรรมสังคม ภายใต้ชื่อ "โค้กเพื่อเมืองไทยด้วยใจและใจ" ซึ่งแคมเปญนี้สามารถสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ฮือฮาในวงการ และนับได้ว่าเป็นกิจกรรมสังคมอันนำมาซึ่งความสำเร็จให้กับโค้กได้อย่างมากมายเลยทีเดียว

นอกจากนี้สุเทพยังได้ชื่อว่าเป็นผู้จุดพลุสงครามลดแลกแจกแถม และชิงโชคต่อเนื่องควบคู่ไปกับการออก Package และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่น ล่าสุดออกโค้กบัดดี้ขวดขนาด 300 ซีซี เพื่อรักษา และเพิ่มพูนส่วนแบ่งตลาด ซึ่งโค้กครองอยู่ 45%

12 ปีที่สุเทพทำให้กับโค้ก และตระกูล "สารสิน" จนกระทั่งกิจการมีความเป็นปึกแผ่น ผลงานของสุเทพคือตัวบ่งชี้ว่าเขาคือผู้บริหารมืออาชีพที่โชติ โสภณพนิช เจ้าของกรีนสปอตต้องการ เพราะทันที่สุเทพเริ่มประสบปัญหา โชติซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่สุเทพนับถือได้ยื่นข้อเสนอที่ท้าทายอันเป็นทางเลือกที่ช่วยคลี่คลายมรสุมชีวิตของสุเทพได้อย่างดี

ความจริงถ้าเทียบขนาดและหัวใจระหว่างโค้กกับกรีนสปอต กรีนสปอตเป็นเพียงกิจการเล็กๆ แต่มีหัวใจเป็นคนไทยมากกว่าโดยยุคแรก ชินโสภณพนิช เจ้าสัวแบงก์กรุงเทพร่วมกับเคเค เหลียง นักธุรกิจชาวฮ่องกงเป็นผู้เริ่มก่อตั้งกรีนสปอตในปี 2497 เพื่อจำหน่ายน้ำส้มกรีนสปอตกับไวตามิ้ลค์ และซาส์สี่

น้ำส้มกรีนสปอตเป็นแบรนด์ท้องถิ่นประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย ยอดขายของไทยถือเป็นอันดับสูงสุดปีละ 900 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งตลาด 7% ของมูลค่าตลาดน้ำอัดลม 14,000 ล้านบาท

ปัจจุบันโชติ โสภณพนิช เป็นประธานกรรมการบริหารได้ซื้อหุ้นใหญ่ของกรีนสปอตสหรัฐฯ 80% และมีแผนการเตรียมที่จะบุกตลาดแถบอินโดจีน เพราะที่ผ่านมาน้ำอัดลมรายใหญ่ค่ายโค้กได้เข้าไปขยายฐานในเขมรเรียบร้อยแล้ว และรอเงื่อนไขรัฐบาลสหรัฐยกเลิกเอ็มบาร์โก ซึ่งเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าจึงจะไปทำธุรกิจที่เวียดนามอีกแห่ง ในขณะที่เป๊ปซี่ได้ตั้งโรงงานที่ลาวและพม่าแล้ว โชติจึงมีนโยบายตั้งสำนักงานใหญ่ของกรีนสปอตขึ้นที่ประเทศไทย เพื่อดำเนินธุรกิจน้ำอัดลมในอินโดจีน และธุรกิจน้ำอัดลมในอินโดจีน และทั่วโลกดังนั้นผู้ที่โชติมองเห็นว่าประสบการณ์และความสามารถเหมาะสมกับงานใหม่ระดับโลกนี้ก็คือสุเทพ นั่นเอง !

ความไว้วางใจที่โชติมอบหมายงานบุกเบิกให้สุเทพ ทำประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศของกรีนสปอต ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ 50 ประเทศโดยเจาะจงพัฒนอุตสาหกรรม-การเกษตรเป็นหลัก เช่นการส่งเสริมการปลูกส้ม ซึ่งไทยมีศักยภาพแต่ยังไม่มีวิธีการปลูกที่ควบคุมมาตรฐานรสชาติได้ดี

เป้าหมายสูงสุดในอนาคตที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหัวน้ำเชื้อของกรีนสปอต ทำให้สุเทพต้องทำงานหนักมากๆ เขาเริ่มเดินทางไปยังไต้หวัน เพื่อศึกษาตลาดน้ำดื่มและนำเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านโรงงานและเครื่องจักต่างๆ มาสร้างโรงงานใหม่บนเนื้อที่ 100 ไร่ที่รังสิต จ.ปทุมธานี โดยใช้เงินลงทุนด้านเครื่องจักรและอาคารประมาณ 500 ล้านบาท

เป็นที่คาดการณ์กันว่าแผนการสร้างโรงงานผลิตหัวน้ำเชื้อ สำหรับกรีนสปอต และเฟรเซอร์แอนด์นีฟ (F&N) หรือน้ำซาส์สี่ในประเทศไทยจะใช้เวลาก่อสร้างเสร็จประมาณ 7-12 เดือน อย่างไรก็ตาม ก็อาจเกิดอุปสรรคเกี่ยวกับการผลิตหัวน้ำเชื้อเฟรเซอร์ซึ่งโคคา-โคลา ถือหุ้นเล็กน้อยในบริษัท F&N International

การบุกเบิกตลาดน้ำดำซาส์สี่ซึ่งเป็นรูทเบียร์ แม้จะไม่ได้ชนโดยตรงกับโค้กหรือเป๊ปซี่โดยตรง แต่แบรนด์ที่ติดตาของผู้บริโภคคนไทยมานานก็มีอนาคตอันสดใสพอควรในตลาดมูลค่าขนาดเล็กนี้

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์อื่นที่มีศักยภาพเติบโตอีกตัวหนึ่งของกรีนสปอตก็คือ ไวตามิ้ลค์ซึ่งถือว่าบริษัทประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากเป็นน้ำนมถั่วเหลืองที่มีโปรตีนและเป็นที่นิยมสูงของผู้ที่รักษาสุขภาพ ปัจจุบันไวตามิ้ลค์มีจำหน่ายในต่างประเทศแล้ว เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน และนี่คือภารกิจหนึ่งของสุเทพที่จะผลักดันไวตามิ้ลค์ให้ขยายตลาดแพร่หลายในต่างประเทศมากกว่าเดิม

ผลิตภัณฑ์ใหม่อีกตัวที่สุเทพได้ผลักดันให้เกิดขึ้นกลางปีนี้นี้ เพื่อสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาอีกตัวคือ โครงการผลิตอโลเวร่าในน้ำเชื่อมชนิดเข้มข้นอโลเวร่าหรือว่านหางจระเข้นี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างกรีนสปอตกับเพื่อนสุเทพ อโลเวร่านี้จะบรรจุในกระป๋องขนาด 250 ซีซี ราคา 25 บาท โดยอาศัยช่องทางจัดจำหน่ายและพนักงานขายของกรีนสปอต

ส่วนตลาดภายในประเทศของกรีนสปอตซึ่งเคยอยู่ในความดูแลของสุภาพรรณ์ ธนียวัน รองผู้จัดการใหญ่ที่ลาออกไปปลายปีนี้หลังจากที่มีข่าวการเข้ามาของสุเทพและทีมงาน ก็เป็นส่วนที่สุเทพยังไม่เข้าไปแตะต้องในระยะแรกส่วนผู้บริหารคนใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ ชิงชัย จิรเสวีนุประพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทกรีนสปอตซึ่งกำลังจะเกษียณก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ลงตัว

อย่างไรก็ตาม ความสามารถเพิ่มยอดขายสูงขึ้นถึง 15% ทุกปีในระยะที่สุภาพรรณ์ เข้ามาบริหารก็ถือว่าเป็นผลงานที่เธอได้ทำไว้ โดยเฉพาะตลาดของไวตามิ้ลค์ซึ่งสุภาพรรณ์ได้วางระบบการจำหน่าย การผลิตและการผลิตและการควบคุมคุณภาพที่ดีไว้แล้ว จนสามารถเพิ่มขอดขายได้ 15-20% เป็นสินค้าที่ไร้คู่แข่งขันในตลาดโดยตรง และราคาขายส่งของไวตามิ้ลค์ต่ำมากเพียงลังละ 78 บาท ทำให้คู่แข่งรายใหม่ที่เข้ามาต้องขาดทุนทั้งๆ ที่ลงทุนสูงมาก

ในขณะที่ภารกิจของสุเทพต้องการที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ และการผลิตของกรีนสปอตตามที่โชติวาดฝันไว้ให้ได้แล้ว การปรับโครงสร้างในองค์กร ก็เป็นงานหนักที่สุเทพต้องพยายามอีกชิ้นหนึ่ง โดยการสรรหาทีมงานที่มีความสามารถ ซึ่งคาดว่าจะมาจากบริษัทเดิม และที่อื่นๆ เข้ามาสมทบเป็นทีมงานกรีนสปอต อินเตอร์เนชั่นแนล ช่วงแรก 40-50 คน โดยมีสัญญาที่ว่าทุกคนจะได้รับหุ้นของบริษัทใหม่นี้เป็นกำลังใจร่วมกันทำงาน เพื่อสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน

นอกจากนี้ยังเป็นที่คาดการณ์กันในวงการน้ำอัดลมอีกว่า ภารกิจที่สุเทพอาจจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายยอดขายพุ่งสูงขึ้นอีกประการก็คือระบบการจัดจำหน่าย

ปัจจุบันกรีนสปอตต้องพึ่งพาการจัดจำหน่ายโดยทีมงานของบริษัทดีทแฮล์ม ซึ่งเป็นบริษัทการตลาดที่มีความคุ้นเคยกับสุภาพรรณ์ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการผลิตภัณฑ์ที่นี่มาก่อนที่ย้ายค่ายเข้าสู่วงการน้ำอัดลม

สุเทพเป็นนักการตลาดมืออาชีพและอยู่ในวงการนี้มากว่า 10 ปี ช่องทางการจัดจำหน่ายน้ำอัดลมเป็นอย่างไร ร้านค้ามีกี่ร้านค้าทั่วประเทศทำอย่างไรจะประหยัดต้นทุนในการจัดจำหน่าย และทำอย่างไรจะประหยัดต้นทุนในการจัดจำหน่าย และทำอย่างไรจะประหยัดต้นทุนการขายเพื่อให้ได้ผลกำไรที่สูงสุดมาไว้ในกำมือได้ เรื่องเหล่านี้สุเทพแทบจะหลับตาข้างหนึ่งก็คลำทางได้ถูกแล้วดังนั้นการเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงระบบการจำหน่าย กรีนสปอตนั้นจึงเป็นเรื่องที่ในวงการคาดการณ์และต่างจับตามอง

ถึงเวลาแล้วที่สุเทพต้องพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งในการเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงานที่บุกเบิกท้าทาย และเป็นที่จับตาของคนในวงการน้ำสีว่าการเริ่มต้นใหม่ที่มุ่งมั่น จะสร้างกรีนสปอตไทยให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจและการผลิตหัวน้ำเชื้อป้อนทั่วโลกจะเป็นจริงหรือไม่ ?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.