|
แบงก์พาณิชย์อ่วมสำรองเพิ่มกว่า 27 % หลังประกาศใช้มาตราฐานบัญชีใหม่
ผู้จัดการรายวัน(4 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติระบุสถาบันการเงินในระบบต้องกันเงินสำรองเพิ่มขึ้น 27% หลังใช้มาตราฐานการบัญชีแบบใหม่ เชื่อเพิ่มความแข่งแกร่งให้สถาบันการเงินในอนาคต ยอมรับเป้าลดเอ็นพีแอลให้ได้ 2% ในปีหน้าเป็นไปได้ยาก ขึ้นกับประสิทธิภาพสถาบันการเงิน
นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า การที่ธปท.ให้สถาบันการเงินทยอยกันเงินสำรองตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 39 (IAS39) ซึ่งมีการหักค่าเสี่อมราคาและค่าเสียโอกาสการขายเข้าไปรวมกับหลักประกันด้วย ทำให้การตีราคาทรัพย์สินจากเดิมอยู่ที่ 90%ของราคาหลักทรัพย์ กลับเหลือเพียง 63%ของราคาหลักทรัพย์ ซึ่งในส่วนนี้มีการคำนวณค่าเสื่อมราคาอยู่ที่ 7% และค่าเสียโอกาสอยู่ที่ 5.5 ปี ดังนั้น สถาบันการเงินจะต้องมีการกันเงินสำรองเพิ่มขึ้นจากหลักเกณฑ์เดิมถึง 27%ของมูลค่าหลักประกัน
ทั้งนี้ ตามมาตรฐานทางบัญชีแบบใหม่ ธปท.ได้กำหนดให้สถาบันการเงินทยอยกันสำรองแบ่งเป็น 3 งวดบัญชี โดยงวดแรกเริ่มในช่วงเดือนธ.ค.49 ที่ผ่านมา โดยต้องมีการกันเงินสำรอง 100% สำหรับลูกหนี้ประเภทศาลมีคำพิพากษาแล้วหรือยู่ระหว่างบังคับคดี และลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีให้กันสำรอง ส่วนงวดที่สองเริ่มกันเงินสำรองในช่วงเดือนมิ.ย.50 เป็นต้นไป โดยต้องมีการกันเงินสำรองในสัดส่วน 100% จากเดิม 50% สำหรับลูกหนี้ที่ถูกจัดเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญและชั้นสงสัยให้กันสำรอง และงวดสุดท้ายในช่วงเดือนธ.ค.50 เป็นต้นไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่ถูกจัดเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ถือเป็นลูกหนี้ที่มีมากที่สุดในระบบในปัจจุบันจะต้องถูกกันเงินสำรองในสัดส่วน 100% จากเดิมอยู่ที่ระดับ 20%
อย่างไรก็ตาม ธปท.เชื่อว่าสถาบันการเงินจะไม่ประสบปัญหามากนักในการใช้มาตรฐานการบัญชีแบบใหม่ แต่อาจมีเพียงสถาบันการเงินที่มีเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส)น้อยและต้องการขยายธุรกิจจำเป็นต้องเพิ่มทุน โดยมาตรฐานใหม่นี้อาจทำให้เงินกองทุนขั้นที่ 1 (เทียร์ 1) ลดลงได้ ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ในระบบเฉลี่ยอยู่ที่ 10% แต่ก็เชื่อว่าด้วยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์มีอยู่โดยเฉลี่ย 14% ถือว่าสูงกว่าที่ธปท.กำหนดไว้ที่ระดับ 8.5% จะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของสถาบันการเงินมากนัก ขณะเดียวกันยอมรับว่ากำไรหลังหักเงินสำรองแล้วของปีนี้และปีหน้าจะทำให้สถาบันการเงินแข่งแกร่งขึ้นด้วย
สำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตหรือเป็นลูกหนี้รายย่อยที่มีลักษณะการกู้ยืมเงิน เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อและให้เช่าแบบลิสซิ่ง ซึ่งจะมีการกันเงินสำรองตามกลุ่มลูกหนี้ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน(Collective Approach) ดูจากประสบการณ์ผลขาดทุนในอดีตที่ผ่านมสำหรบลูกหนี้แต่ละกลุ่ม(Historical Loss Experience) โดยธปท.เชื่อว่าลูกค้าในกลุ่มนี้จะไม่ได้รับผลกระทบแม้จะนำมาตรฐานทางบัญชีแบบใหม่มาใช้ เพราะเมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างสินเชื่อกลุ่มนี้กับสินเชื่อรวมคิดเป็น 20%ของสินเชื่อรวมเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก นอกจากนี้สถาบันการเงินที่ให้บริการกลุ่มนี้จะมีการกันเงินสำรองในสัดส่วนที่สูงอยู่แล้ว เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่มีหลักประกัน หากเกิดการฟ้องร้องก็ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไป
สำหรับเป้าหมายการลดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ในระบบสถาบันการเงินให้เหลือ 2% ภายในกลางปี 2550 นั้น นายเกริก กล่าวว่า การลดเอ็นพีแอลให้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ยอมรับว่าเป็นไปได้ยากหรือแม้แต่จะมีการนำมาตรการทางบัญชีใหม่มาใช้หรือไม่ก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของสถาบันการเงินแต่ละแห่งมากกว่า ขณะเดียวกันในบทบาทและหน้าที่ของธปท.เป็นเพียงผู้ที่กระตุ้น ส่งเสริม และเปิดช่องทางให้แก่สถาบันการเงินพยายามลดเอ็นพีแอลให้ได้มากที่สุดเท่านั้น
"การตั้งเป้าหมายแต่ละอย่างจะทำได้หรือไม่ขึ้นกับว่าใครเป็นคนกำหนดมากกว่า โดยหากเป็นฝ่ายบริหารก็ย่อมจะตั้งเป้าไว้ต่ำ เพื่อให้ได้โบนัส ขณะที่หากเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นก็ย่อมตั้งเป้าให้สูงไว้ เพื่อบีบให้คนขยันทำงานและได้ผลงานที่ดีกลับมา ดังนั้น การกันเงินสำรองเอ็นพีแอลก็เป็นส่วนหนึ่งในการโชว์ประสิทธิภาพในการทำงานของสถาบันการเงินด้วย โดยหากเอ็นพีแอลก้อนไหนมีการกันเงินสำรองแล้วก็ไม่มีความเสียหายต่อสถาบันการ แต่หากจำนวนเอ็นพีแอลไม่ได้ลดลงก็แสดงให้เห็นถึงการจัดการที่ไม่ดีของสถาบันการเงินแห่งนั้นมากกว่า"
นายเกริก กล่าวว่า ในปัจจุบันระบบสถาบันการมียอดเอ็นพีแอลอยู่ที่ 8.20%ของสินเชื่อรวม หรือประมาณ 4.85 แสนล้านบาท แต่หากหักเอ็นพีแอลที่มีการกันเงินสำรองครบถ้วนแล้วจะทำให้เอ็นพีแอลอยู่ที่ 4% ขณะเดียวกันในปัจจุบันเอ็นพีแอลในระบบมีการกันเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งสิ้น 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งมีการกันเงินสำรองฯ มากกว่าที่ธปท.กำหนดถึง 4 แสนล้านบาท และมีหลักประกันสำหรับค้ำประกันหนี้ทั้งสิ้น 2.79 แสนล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|