กลุ่มตลาดทุนของบริษัทอาร์เธอร์แอนเดอร์เซ่น ซึ่งทำธุรกิจด้านบริการตรวจสอบบัญชีเปิดเผยข้อสรุปจากงานวิจัยเรื่องภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนในเอเชีย-แปซิฟิก
ว่ากฎระเบียบของตลาดเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปี 2536 ขณะที่บรรดากิจการต่างๆ
จะเข้ามาระดมทุนกันมากขึ้น
กาญจนา นิมมานเหมินท์ กรรมการบริษัท ที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอากร เอสจีวีเอ็น
ซึ่งเป็นตัวแทนของอาร์เธอร์แอนเดอร์เซ่นในประเทศไทย และเป็นผู้รับผิดชอบงานวิจัยในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย
เปิดเผยว่า "กฎระเบียบของตลาดทุนในภูมิภาคนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในแนวโน้มที่ให้ความคุ้มครองแก่นักลงทุนมากขึ้น
รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการระดมทุนมากขึ้นด้วย"
กฎระเบียบของตลาดทุน เอเชีย-แปซิฟิก จะเปลี่ยนไปในทางที่เข้มงวดมากขึ้นในเรื่องการใช้ข้อมูลวงในเพื่อการซื้อขายหุ้นหรืออินไซเดอร์
เทรดดิ้ง ให้การคุ้มครองนักลงทุนมากขึ้น เข้มงวดเรื่องการซื้อขายหุ้นนอกงบดุล
รวมทั้งกิจกรรมที่ผิดกฎหมายและการดำเนินการในประเด็นที่จะมีการลดความเข้มงวดลงหรือปล่อยเสรีมากขึ้นได้แก่
การผนวกกิจการ การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างประเทศ
และการมีส่วนร่วมของนักลงทุนต่างประเทศ
งานวิจัยชิ้นนี้ใช้เวลาทำนาน 12 เดือน โดยอาศัยข้อมูลจากแบบสอบถามที่ส่งไปสัมภาษณ์เหล่าผู้บริหารในธุรกิจตลาดทุนมากกว่า
500 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล นักวิชาการ และผู้สังเกตการณ์ตลาดทุนจาก
12 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก สหรัฐฯ และยุโรป
ข้อมูลจากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าในระยะ 10 ปีข้างหน้า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
จะมีความต้องการเงินทุนอย่างมาก เพราะรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ต้องการเงินเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค
เช่น ระบบการขนส่งและระบบไฟฟ้าในจีน โดยแหล่งเงินทุนใหญ่ที่จะไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้จะมาจากยุโรป
ข้อสรุปนี้ต่างจากความเชื่อทั่วไปที่ว่าภูมิภาคนี้มีเงินทุนเพียงพอกับความต้องการแล้ว
นอกจากนี้ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นแนวโน้มที่ว่าการดำเนินการของผู้ที่เกี่ยวข้อง
กับตลาดทุนในภูมิภาคนี้จะมีลักษณะมืออาชีพมากขึ้น เพราะมีความต้องการข้อมูลข่าวสารที่ทันเหตุการณ์และน่าเชื่อถือยกตัวอย่างเช่น
การตรวจสอบบัญชีของกิจการต่างๆ จะต้องยกระดับเข้าสู่มาตรฐานสากลเพื่อที่ว่านักลงทุนจะได้อ่านงบการเงินที่ถูกต้องและได้มาตรฐาน
สามารถรู้สถานะการประกอบการที่แท้จริงของกิจการเหล่านั้น
การลงทุนในหลักทรัพย์ประเภททุน (Equity Market) ในตลาดเอเชีย-แปซิฟิก เป็นการลงทุนที่น่าสนใจที่สุดในโลก
ตลาดหลักทรัพย์ประเภททุนในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) มีส่วนแบ่งร้อยละ 6 ของตลาดโลก
และมีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 5 โดยปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่กระตุ้นการเติบโตของตลาดนี้คือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นธุรกิจเอกชนซึ่งประเทศไทยก็มีแนวโน้มน้เช่นกัน
ข้อที่น่าสนใจประการหนึ่งจากงานวิจัยคือผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนให้ความสนใจต่อการพัฒนาตลาดการเงินประเภทหนี้ของสถาบัน
(Corporate Debt) อย่างมาก แต่โดยข้อเท็จจริงตลาดการเงินประเภทนี้ยังไม่เติบโตอย่างแท้จริง
เป็นที่คาดหมายว่าใน 5 ปีข้างหน้าการกู้ยืมเงินจากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ
จะยังคงมีอยู่สูง ขณะที่การออกตราสารหนี้ของกิจการใหญ่ๆ ยังไม่สามารถทำได้เพราะตลาดที่จะรองรับยังไม่เติบโตแข็งแรงพอ
ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนได้ให้ความเห็นในแบบสอบถามครั้งนี้ด้วย
ว่าอิทธิพลของบริษัทอเมริกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะลดน้อยถอยลง สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาต่างๆ
ทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1980-1989
สถาบันการเงินของสหรัฐฯ พยายามลดทอนบทบาทของตนกระทั่งถอนตัวออกจากตลาดระหว่างประเทศ
พวกเขาจึงสูญเสียโอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วมกับการเติบโตของภูมิภาคนี้
แนวโน้มของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่สวนทางกับสถาบันการเงินของยุโรปซึ่งมองการณ์ในระยะยาว
พวกเขาสนใจที่จะพัฒนาไปพร้อมกับการพัฒนาเติบโตของตลาดทุนเอเชีย-แปซิฟิก
สำหรับตลาดทุนในประเทศไทยนั้นก็เป็นตัวหนึ่งที่สะท้อนกระแสความเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบของตลาดทุนเอเชีย-แปซิฟิก
ได้อย่างชัดเจน
มีการใช้กฎหมาย ก.ล.ต.เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 และมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
เช่น กรณีการจับนักปั่นหุ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะพัมนาตลาดทุนในหลายๆ ด้าน ในทางที่จะให้ความคุ้มครองแก่นักลงทุนมากขึ้น
มีการสนับสนุนการพัฒนาตราสารการเงินใหม่ๆ ส่งเสริมการตั้ง OTC เป็นต้น
ข้อที่น่าสนใจกับงานวิจัยประเทศไทยคือ ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยมองว่าตลาดบ้านเรายังพัฒนาไม่เต็มที่ทั้งที่มีความต้องการอย่างมาก
ที่จะพัฒนาให้ได้มาตรฐานตามแบบอย่างของตลาดระหว่างประเทศแต่ความรู้ความชำนาญในตลาดทุนไทยยังไม่อยู่ในระดับเดียวกับตลาดทุนอื่นๆ
เพราะกฎระเบียบของตลาดทุนไทยยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอีกมาก โดยเฉพาะพฤติกรรมของนักลงทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนระยะสั้นเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างมาก
ขณะที่ผู้บริหารตลาดทุนจากเอเชีย-แปซิฟิกเห็นว่าไทยและมาเลย์เป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในภูมิภาคนี้
แต่ผู้เชี่ยวชาญตลาดทุนจากอเมริกามองว่าจีนน่าลงทุนมากที่สุด ขณะที่ทางยุดรปนั้นมองว่าจีนและเวียดนามน่าลงทุนมากที่สุด
สาเหตุเพราะ 2 ประเทศนี้เป็นตลาดที่ใหญ่มากและเป็นตลาดเกิดใหม่ด้วย
นอกจากนี้ยังมีแรงงานราคาถูกและมีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างมาก