ยีนส์กับความเสี่ยงที่บริษัทประกันไม่อยากรับ

โดย ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมเชื่อว่าหลายท่านคงได้เคยทราบเกี่ยวกับโครงการที่เรียกว่า "Genome Project" ที่เพิ่งประกาศความสำเร็จในขั้นต้นไปเมื่อไม่นานนี้ โครงการนี้คือ ความทะเยอทยานอีกอย่างหนึ่งของเหล่านักวิทยาศาสตร์ทางด้าน molecular biology ในการพยายามจัดลำดับยีนส์ต่างๆบนโครโมโซม หรือตัวกลางในการถ่ายถอดพันธุกรรมของมนุษย์ และหาถึงบทบาทของยีนส์ในแต่ละตำแหน่งในการถ่ายทอด หรือแสดงลักษณะทางพันธุกรรม ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบรุษ

ในทางการแพทย์ การรู้ถึงตำแหน่งของยีนส์ ที่ควบคุมลักษณะการแสดงออกทางพันธุกรรมมีประโยชน์อย่างมากในการสืบค้นหาบุคคล ที่มีความเสี่ยง ที่จะป่วยด้วยโรคทางพันธุกรรมในระยะเริ่มต้น ก่อน ที่อาการของโรคจะแสดงออกมา เพื่อหาทางป้องกัน รวมไปถึงการวางแผนครอบครัว หรือการลดความเสี่ยงในการให้กำเนิดทารก ที่มีโอกาสป่วยด้วยโรคดังกล่าว ยีนส์ ที่เราทราบแล้วว่ามีความสัมพันธ์กับการป่วย เช่นยีนส์ ที่เกี่ยวข้องกับโรคทางระบบประสาท เช่น Huntington Chlorea และยีนส์ ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งทรวงอก

นี่ดูเหมือนจะเป็นข่าวดี ที่เราสามารถระบุได้ว่าบุคลใด ที่มีความเสี่ยงในการป่วยด้วยโรค ที่รุนแรง และนั่นย่อมหมายถึงเราอาจใช้เทคนิคทางวิศวกรรมพันธุศาสตร์ในการตัดต่อหรือดัดแปลงยีนส์ เพื่อรักษาโรค ที่ในสมัยก่อนเราทำไม่ได้

อีกด้านหนึ่งของเหรียญ คือ ข่าวร้าย ข่าวร้าย ที่ว่านี้คือ หากการทดสอบทางพันธุกรรมให้ผลออกมาว่าบุคลนั้น มียีนส์ ที่เป็นปัญหา และมีโอกาส ที่จะป่วยด้วยโรคบางอย่าง คำถาม ที่ตามมาคือ ใครจะเป็นผู้มีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลอันนี้ บุคคลนั้น สามารถ ที่จะเก็บผลไว้เป็นความลับได้หรือไม่ หรือเขาจำเป็นจะต้องแบ่งปันข้อมูลเหล่านี้ให้ผู้อื่นได้รับทราบด้วย

ปัญหานี้สำหรับคนที่มีครอบครัวแล้วคงไม่มีปัญหามากนัก การบอกให้คนในครอบครัวทราบคงเป็นเรื่อง ที่ทุกคนยอมรับกันได้ แต่หากบุคลนั้น ยังไม่มีครอบครัว และกำลังจะแต่งงาน นี่คงจะเป็นคำถาม ที่ตอบยากมากขึ้น หากบุคคลนั้น มีเพียงยีนส์ ที่จะส่งผ่านโรคนั้น ไปยังบุตรหลาน ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ปัญหานี้ก็คงจะไม่ใช่เป็นปัญหามากนัก การคุมกำเนิดหรือการทดสอบยีนส์ในขณะตั้งครรภ์ในระยะแรกเป็นทางออกสำหรับปัญหานี้ แต่หากบุคคลนั้น เองมียีนส์ ที่กำหนดให้ตัวเขาเองเกิดโรคในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เช่นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งบางชนิด หรือโรค Huntington's Chlorea ที่จะเริ่มเป็นเมื่ออายุประมาณ 40 ปี และผู้ป่วยเมื่อป่วยแล้วจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ต้องเป็นภาระของครอบครัวไปตลอดชีวิต หากบุคลเหล่านี้กำลังจะแต่งงานเขาควรจะบอกให้คู่ครองในอนาคตทราบถึงโอกาส ที่เขาจะป่วยหรือไม่ และหากคู่ครองทราบเป็นไปได้ไหมว่า เขาอาจจะไม่อยากเสี่ยงในการจะต้องรับภาระ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การปฏิเสธ ที่จะต้องรับความเสี่ยงในอนาคตอาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่ในระดับครอบครัวไปจนถึงระดับบริษัท และสังคม เช่น หากบริษัท ที่มีระบบสวัสดิการให้กับพนักงานอาจจะไม่อยากรับความเสี่ยงในลักษณะ ที่ว่านี้เหมือน ที่บางบริษัทหรือตำแหน่งงานจะไม่ค่อยอยากรับสตรีเพศ ที่ยังโสด หรือยังไม่มีบุตรเพราะไม่อยากรับภาระในช่วง ที่สตรีเหล่านั้น ตั้งครรภ์ หรือคลอด

ประเด็นเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลให้กับบุคล ที่สามทราบนั้น อาจจะไม่เป็นปัญหามากนักในปัจจุบัน แต่ในอนาคตนั้น ปัญหานี้มีแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจประกันชีวิต หากใครเคยทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพคงทราบดีว่าในสัญญาของการทำประกันจะระบุไว้เลยว่า ผู้ทำประกันจะต้องยินดี และพร้อม ที่จะเปิดเผยข้อมูลทางการแพทย์ของตนก่อนการทำประกัน และในช่วงของการต่อสัญญา พูดง่ายๆคือ บริษัทประกันมีสิทธิ ที่จะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยในอดีตของเรา และมีสิทธิ ที่จะไม่รับทำประกันหากพิจารณาแล้วว่าผู้ขอทำประกันมีความเสี่ยงสูง ที่จะเคลมเงินประกันได้ เช่น หากใครป่วยเป็นโรคมะเร็งตับแล้วไปขอทำประกันชีวิต บริษัทประกันจะไม่รับทำประกันไม่ว่าเราจะจ่ายพรีเมี่ยมสูงเพียงใดก็ตาม แต่หากผู้ทำประกันป่วยด้วยโรค ที่มีความเสี่ยงรองลงมา เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ( ซึ่งไม่จำเป็นต้องตายจากโรคนี้) บริษัทประกันอาจรับทำ แต่ด้วยพรีเมี่ยมของเบี้ยประกัน ที่สูงกว่าคนทั่วๆไปมาก เพราะบริษัทประกันมีโอกาสเสี่ยง ที่จะต้องจ่ายค่าเคลม

หากเราไม่บอกข้อมูลเหล่านี้อะไรจะเกิดขึ้น

ผลที่ตามมาคือ บริษัทมีสิทธิ ที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินค่าเคลม ที่ลูกค้าเรียกร้อง โดยอ้างว่าลูกค้าผิดสัญญา

เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เคยมีลูกค้าบริษัทประกัน ที่หลังจากป่วยด้วยโรคไต เมื่อหมดสัญญาการทำประกัน แล้วจะต่ออายุกรรมธรรม์บริษัทปฏิเสธ ที่จะต่ออายุให้

ปัญหานี้ผมเชื่อว่าเกิดขึ้นแน่กับผลการทดสอบยีนส์ สำหรับผู้ทำประกันผลการตรวจยีนส์อาจจะทำให้คนที่ตรวจพบว่าตัวเองไม่มียีนส์ ที่ผิดปกติอาจจะไม่เห็นถึงความจำเป็นในการจ่ายเบี้ยประกัน เพื่อการประกันความเสี่ยง ที่ไม่มีโอกาศหรือโอกาส ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตน้อยมาก

ในทางกลับกันคนที่ตรวจพบว่าตัวเองมียีนส์ ที่ผิดปกติอยู่ ย่อมต้องแสวงหาหลักประกันสำหรับอนาคตว่าโดยทำการประกัน เผื่อว่าเมื่อความผิดปกติแสดงตัวออกมาในอนาคตตัวเขาเองจะมีบริษัทประกันมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายในอนาคต ยิ่งคนที่ทราบว่าตัวเองต้องป่วยเป็นโรค ที่รักษาไม่หาย และถึงตาย การประกันชีวิตในวงเงิน ที่สูงมากๆย่อมเกิดขึ้น

แต่สำหรับบริษัทประกันแล้ว เรื่องนี้เป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญ บริษัทประกันย่อมต้องการทราบว่าลูกค้ารายใดมีความเสี่ยงสูง ที่จะป่วยด้วยโรค ซึ่งรักษาไม่หาย เรื้อรัง หรือถึงตายในอนาคต เพราะบริษัทสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการต้องจ่ายเงินค่าเคลม

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษมีการออกกฎหมายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลการทดสอบยีนส์ โดยกำหนดให้บริษัทผู้รับทำประกันมีสิทธิ ที่จะขอทราบผลการตรวจยีนส์ก่อนการทำประกัน นั่นคือ ข้อมูลเรื่องนี้ไม่เป็นความลับหากบุคลนั้น ต้องการทำประกัน นี่เป็นเรื่อง ที่น่าสนใจมาก เพราะสมัยก่อนการทำประกันคือ การยอมรับความเสี่ยงของคนสองคน คือ บริษัทกับลูกค้า ลูกค้ายอมรับความเสี่ยงว่าตัวเองอาจจะจ่ายเบี้ยประกันไปโดยไม่ได้ใช้บริการ ( และทุกคนที่ทำประกันก็ไม่ได้หวังว่าตัวเองจะป่วย) ส่วนบริษัทเองก็ยอมรับความเสี่ยงว่าตัวเองอาจจะต้องจ่ายค่าเคลม หากลูกค้าเกิดป่วยขึ้นมา นั่นคือ ทั้งสองฝ่ายต่างไม่รู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และนี่คือ เหตุผลที่ธุรกิจนี้อยู่ได้ เพราะลูกค้า ที่มาทำประกันก็จะมีทั้งลูกค้า ที่อาจจะป่วย หรือไม่ป่วยเลยในอนาคต (แต่แน่นอนว่าพวกไม่ป่วยมากกว่าป่วย)

ในปัจจุบันบริษัทลดความเสี่ยงลงไปจำนวนหนึ่ง โดยการไม่รับประกันบุคล ที่มีศักยภาพในการป่วยในอนาคต โดยผ่านกระบวนการตรวจสุขภาพ และการตรวจประวัติการรักษาหรือการเจ็บป่วยในอดีต พูดง่ายๆคือ กลุ่มลูกค้าของบริษัทประกันมีแนวโน้ม ที่จะมีสุขภาพดี และโอกาส ที่จะป่วยน้อยกว่ากลุ่ม ที่ถูกปฏิเสธ หากโชคร้ายต้องจ่ายเงินค่าเคลมก็เชื่อได้ว่ากลุ่ม ที่จ่ายเบี้ประกันโดยไม่เคลมหรือเคลมน้อยมาก มีมากกว่า

นั่นคือ ในอนาคตธุรกิจประกันชีวิตจะมีการป้องกันตัวเองมากขึ้น และยอมรับความเสี่ยงน้อยลงไปอีก หากผลการตรวจยีนส์ถูกบังคับให้เป็นข้อมูลทางการแพทย์ ที่บริษัทประกันมีสิทธิในการรับทราบ บริษัทมีสิทธิ ที่จะไม่รับประกันบุคล ที่มีโอกาสป่วย(แน่ๆ)ในอนาคต นั่นหมายความว่าคนส่วนนี้จะไม่มีหลักประกันเมื่อเขาเจ็บป่วย หรือหากยอมรับคนส่วนนี้ก็จะทำโดยการเพิ่มพรีเมี่ยมของค่าประกันในส่วนของลูกค้ากลุ่มนี้รวมทั้งลูกค้า ที่ยีนส์ปกติ เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงในอนาคต และหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ คนที่ตรวจแล้วพบว่ายีนส์ตัวเองปกติอาจจะไม่เห็นความจำเป็นในการจ่ายเบี้ยประกันแพง เพื่อแลกกับความเสี่ยง ที่จะป่วยในอนาคต ( ซึ่งโอกาสนี้เกิดขึ้นน้อยมาก)

และนี่เป็นปัญหา ที่เราจะต้องขบคิดหาทางออกกันว่าอย่างไรจึงจะทำให้เกิดความสมดุลย์ในทั้งฝ่ายลูกค้า และบริษัท ที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายรับความเสี่ยงในสัดส่วนไม่ต่างกันมากนัก เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และดูเหมือนจะเป็นเรื่อง ที่ต้องรีบ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.