ธปท.คุมเข้มแบงก์ปรับตัว รับใช้บาเซิล2ปลายปีหน้า


ผู้จัดการรายวัน(3 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติเปิดแนวทางกำกับดูแลสถาบันการเงินปีหน้า ระบุเป็นปีแห่งการเตรียมพร้อมรับการดำเนินการตามเกณฑ์มาตรการฐานสากล โดยเฉพาะเกณฑ์บาเซิล 2 ยันไม่กระทบฐานะเงินกองทุนและไม่บีบแบงก์ควบรวม มั่นใจสิ้นปีหน้าเริ่มทดลองใช้ได้ทัน พร้อมเตรียมจัดทำมาสเตอร์แพลนฉบับที่ 2 เปิดทางแบงก์ทำธุรกิจเพิ่มและเปิดเสรีทางการเงินมากขึ้น

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงนโยบายการกำกับสถาบันการเงินในปี 50 ว่า ธปท.ได้กำหนดแนวทางในการดูแลสถาบันการเงิน โดยในช่วงปีหน้ากำหนดให้สถาบันการเงินเตรียมความพร้อมกับมาตรฐานสากลที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาระะบบสถาบันการเงินไทย ซึ่งได้แก่ 1.แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 มาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจไทย 2.การดำรงเงินกองทุนสำรองขั้นต่ำตามหลักเกณฑ์บาร์เซิล ทู ซึ่งส่งเสริมลูกหนี้ที่มีคุณภาพดีให้มีต้นทุนการกู้ที่ลดลง 3.โครงการประเมินความพร้อมการกำกับดูแลภาคการเงินตามมาตรฐานสากล(FSAP) และ4.นโยบายการกำกับแบบรวมกลุ่ม(Consolidated Supervision) เพื่อพัฒนาศักยภาพและการแก้ไขปัญหาของกลุ่มสถาบันการเงินให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ หลังจากที่ธปท.ได้ใช้ มาสเตอร์แพลน ฉบับที่ 1 สิ้นสุดลงในปลายปีนี้แล้ว ธปท.เตรียมออกแผนมาสเตอร์แพลน ฉบับที่ 2 เพื่อเป็นการพัฒนาระบบสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าร่างมาสเตอร์แพลนเสร็จภายในปลายปีหน้า หลังจากนั้นก็จะให้สถาบันการเงินใช้จริงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า สำหรับรายละเอียดของแผนฉบับนี้จะเปิดเสรีให้สถาบันการเงินทั้งในประเทศและนอกประเทศสามารถเข้ามาแข่งขันอย่างเสรีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาในระบบการเงินไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตามธปท.ก็ต้องดูแลให้สถาบันการเงินมีดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้สถาบันการเงินได้รับผลกระทบและสร้างทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการในระบบมีมากขึ้น เชื่อว่าผู้ใช้บริการจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันกันเสนอบริการที่ดี

“ขณะนี้ตลาดในระบบการเงินยังขาดความหลากหลาย ทำให้ต้นทุนการบริหารความเสี่ยงสูง ดังนั้น หากเปิดขอบเขตการทำธุรกิจให้กว้างขึ้น ทำให้มีผู้เล่นรายใหม่ๆ จะสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งแง่ของประสิทธิภาพการทำงานของสถาบันการเงิน รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นการพัฒนาบุคลากรระบบสถาบันการเงินไปในตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้สถาบันการเงินมีต้นทุนที่ต่ำลง ท้ายที่สุดผู้ที่ได้ผลประโยชน์ก็คือผู้ใช้บริการ”

นอกจากนี้ ธปท.ได้เริ่มให้สถาบันการเงินเตรียมความพร้อมในตามหลักเกณฑ์บาร์เซิล ทู ซึ่งก่อนจะประกาศใช้จริงในช่วงปลายปี 51 โดยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีหน้าสถาบันการเงินจะเริ่มทดลองระบบ หลังจากนั้นจะเริ่มประเมินผลประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีสถาบันการเงินยื่นความจำนงมายังธปท.ขอประเมินความเสี่ยงแบบง่าย (Standardised Approach) ทั้งสิ้น 16 แห่ง ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น ส่วนที่เหลืออีก 2 แห่ง เป็นธนาคารลูกครึ่งได้แจ้งความจำนงจะขอประเมินความเสี่ยงแบบยาก(Internal Rating Base) ตามบริษัทแม่ที่อยู่ในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม การนำหลักเกณฑ์บาร์เซิล ทู มาใช้เชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้สถาบันการเงินต้องควบรวมกิจการกัน และจะไม่ส่งผลต่อเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส)ของระบบสถาบันการเงิน เนื่องจากธปท.จะให้สถาบันการเงินทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

ขณะเดียวที่โครงการประเมินความพร้อมการกำกับดูแลภาคการเงินตามมาตรฐานสากล(FSAP) ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)เข้ามาประเมินหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลสถาบันการเงินไม่ว่าจะเป็น ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) นั้น ทางไอเอ็มเอฟจะเข้ามาประเมินภาคการเงินของไทยใน 2 ช่วง คือ ระหว่างวันที่ 17-31 ม.ค. และตั้งแต่วันที่ 3-16 พฤษภาคม ในปีหน้า ซึ่งธปท.เชื่อว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลสถาบันการเงินของไทยส่วนใหญ่จะผ่านการประเมินดังกล่าวได้อย่างแน่นอน เพราะแต่ละหน่วยงานได้มีการดำเนินการดังกล่าวมาแล้วล่วงหน้า ซึ่งหากการประเมินผ่านจะส่งผลให้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเข้ามาร่วมทำธุรกิจในประเทศไทย และเป็นการพัฒนาตลาดการเงินและเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่ดีต่อภาคการเงินของไทย

และสุดท้ายนโยบายการกำกับแบบรวมกลุ่ม(Consolidated Supervision) ที่กำหนดให้สถาบันการเงินมีโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจทางการเงินให้ชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีธนาคารพาณิชย์เป็นบริษัทแม่ กลุ่มที่มี Non-Operating Holding Company เป็นบริษัทแม่ และกลุ่มที่มีบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทประกันเป็นบริษัทแม่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจของบริษัทในกลุ่มที่อาจจะกระทบต่อฐานะของสถาบันการเงินได้ เพราะการทำธุรกิจของกลุ่มอาจมีผลต่อต้นทุนให้เพิ่มขึ้นบ้างจากการสร้างระบบภายใน แต่เชื่อว่าจะส่งผลดีให้ศักยภาพในการดูแลความเสี่ยง พร้อมทั้งสามารถการติดตามและแก้ไขปัญหาของกลุ่มได้ดีขึ้น

**ศก.โลก-ค่าเงินยังกดดันจีดีพีไทย**

สำหรับเศรษฐกิจในปีหน้าคาดว่าจะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เพราะพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยหลายด้านยังแข่งแกร่งอยู่ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนที่ต้องคอยระมัดระวังให้มาก โดยเฉพาะปัจจัยด้านต่างประเทศทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัว เงินทุนไหลเข้าจากปัจจัยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าจนกดดันค่าเงินในภูมิภาค เป็นต้น

ด้านปัจจัยภายในประเทศขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวภาวะการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการลงทุน ดังนั้น สภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน อัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อก็เชื่อว่าจะเอื้อต่อการใช้จ่ายในประเทศ และทำให้การลงทุนฟื้นตัวด้วย แต่ก็ต้องติดตามปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนในประเทศอีกตัวหนึ่ง คือ ความเชื่อมั่นในประเทศด้วย นอกจากนี้ในส่วนของสถาบันการเงิน หากการลงทุนฟื้นตัวก็จะส่งผลให้การขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ดีและส่งผลมายังผลประกอบการของธุรกิจสถาบันการเงินด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.