|

ธุรกิจอาหารเผชิญศึกต้นทุนพุ่ง
ผู้จัดการรายวัน(3 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
จับตาตลาดอาหารปี 50 เอลนินโยพ่นพิษวัตถุดิบพืชผลเกษตร-การประมงขาดแคลนหนัก ผู้ประกอบการเตรียมอ่วมแบกรับภาระต้นทุนแพงหูฉี่ สงครามโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม แผ่ว แข่งสร้างมูลค่าเพิ่ม-ชูจุดขายสุขภาพจูงจมูกผู้บริโภค
นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธาน บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า เปิดเผยกับ”ผู้จัดการรายวัน”ถึงทิศทางตลาดอาหารสำเร็จรูปปีนี้ว่า จะได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนินโยหรือภาวะโลกร้อน วัตถุดิบบางตัวจะปรับราคาเพิ่มขึ้น อาทิ แป้งสาลี ฯลฯ ดังนั้นแนวโน้มการแข่งขันในปีนี้ ในเรื่องของการทำโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม จะมีลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากงบประมาณส่วนหนึ่งถูกแบ่งไปในเรื่องต้นทุนการผลิตที่ปรับขึ้น
สำหรับแนวโน้มตลาดอาหารสำเร็จรูปปีนี้ สินค้าที่ชูจุดขายเพื่อสุขภาพจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากผู้บริโภคไทยหันมาใส่ใจในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากเป็นตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ระหว่างการทำตลาดกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพกับการทำตลาดในรูปแบบราคา ผู้บริโภคให้การตอบรับในเรื่องของราคามากกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่มีภาพลักษณ์ในเรื่องของสุขภาพ โดยผู้บริโภคมองว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารทดแทนระหว่างมื้อมากกว่า
**สินค้าเกษตร-การประมงอ่วม**
นายสุวิทย์ วังพัฒนมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายซอสพริก-มะเขือเทศตรา"โรซ่า" เปิดเผยว่า จากปรากฎการณ์เอลนินโยที่เกิดขึ้น จึงคาดว่าตลาดอาหารสำเร็จรูปในปีนี้ไม่ค่อยดีมากนัก ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตรซึ่งปีที่ผ่านมาเกิดภาวะน้ำท่วมหลายพื้นที่ในต่างจังหวัด พืชผลทางเกษตรเสียหาย แต่ปีนี้มีโอกาสเกิดภาวะภัยแล้ง ส่วนการประมงอุณหภูมิน้ำที่ร้อนมากขึ้น โอกาสที่ปลาอาศัยอยู่ย่านมหาสมุทรแปซิฟิคจะอพยพไปน่านน้ำอื่นก็มีสูง
สำหรับตลาดอาหารสำเร็จรูป เซกเมนต์ที่จะได้รับผลกระทบในปีนี้ คือ ปลากระป๋องสำเร็จรูป 3,000ล้านบาท โดยแนวโน้มการเติบโตน้อยลงมีสูงมาก เนื่องจากปลาจะขาดแคลน จากปีนี้ตลาดโต 5-7% ส่วนตลาดที่ได้รับผลกระทบจากพืชผลทางการเกษตร คือ ตลาดผักกาดดองสำเร็จรูปมูลค่า 1,000ล้านบาท โดยปีที่ผ่านมาสภาพตลาดหดตัวลง เพราะได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และคาดว่าปีนี้ตลาดจะหดตัวลง เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
“ปีนี้ผมว่าวัตถุดิบตลาดอาหารสำเร็จรูปอาจจะมีการขาดแคลน ตั้งแต่ระดับปานกลางไปจนถึงระดับรุนแรง ผู้ประกอบการมีโอกาสเผชิญกับภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากปีที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตเฉพาะแค่น้ำมันปรับเพิ่มขึ้น15-20% แต่ราคาสินค้าอาหารสำเร็จรูปก็ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม การขึ้นราคาจะต้องได้รับการอนุมัติจากกรมการค้าภายในก่อน”
นายสุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการทำตลาดส่งออกด้วย จากภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่า อีกทั้งการเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศ ส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทางการเกษตรของประเทศไทย ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมแผนการตลาดรองรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า หรือสร้างตลาดใหม่ๆ เจาะกลุ่มแม่บ้านทันสมัย
สำหรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปีนี้ แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกทางกระแสสุขภาพที่มาแรง และกระแสพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ผู้บริโภคหันมาทำอาหารรับประทานเองมากขึ้น และลดรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่การทำอาหารทานเองเป็นส่วนน้อย เพราะไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมีความเร่งรีบในชีวิตประจำวัน ต้องการสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งครอบครัวทันสมัยมีขนาดเล็กลง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|