ตรวจทำเลทองอสังหาปี 50 แนวรถไฟฟ้า-สุวรรณภูมิ


ผู้จัดการรายวัน(3 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

จัดสรรระบุ ผลกระทบน้ำมันยังส่งผลต่อตลาดอสังหาฯ คาดทำเลใหม่หนีไม่ออกแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส-ใต้ดิน จับตาปีกุน ทำเลแนวรถไฟฟ้า ลาดพร้าว-รัชดา มาแรงที่สุด จัดสรรแห่แย่งซื้อที่ดินผุดโครงการคอนโดฯ เชื่อสุวรรณภูมิ-แจ้งวัฒนะ-พระราม 3-สาทร-ราชพฤกษ์-พระราม 2 ยังติดอันดับความนิยม ด้าน"AREA"เตือนพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนฉับพลัน หากรัฐบาลอนุมัติรถไฟฟ้าสายใหม่ ด้าน"ธารารมณ์"เชื่อวงแหวนอุตสาหกรรมหนุน พระราม 2 ทำเลฮอทตลาดทาวน์เฮาส์ปีหน้า

การเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงการระบบสาธารณูปโภค ถนน และทางด่วน ย่อมจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของทำเล ในการลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในอดีตความสำคัญของโครงการระบบสาธารณูปโภคค่อนข้างมีอิทธิต่อการตัดสินซื้อที่อยู่อาศัย แต่ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของศักยภาพทำเลขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย อาทิ การเมือง แนวโน้มของเศรษฐกิจ และโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และระบบโครงข่ายคมนาคม รวมถึงการกำหนดการใช้พื้นที่ตามข้อกำหนดผังเมืองรวมเป็นสาระหลัก

ในช่วงปี 2546-2549 ที่ผ่านมา โครงการส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จด้านยอดขาย จะมีที่ตั้งอยู่ในทำเลย่านแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่งผลให้ทำเลเหล่านั้นกลายเป็น"ทอง" และโอกาสที่จะหาที่ดินแปลงขนาดใหญ่ และเหมาะสมกับขนาดของแต่ละบริษัทเพื่อพัฒนาโครงการค่อนข้างยากแล้วในขณะนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีการพัฒนาโครงการในแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส จำนวนมาก ทำให้ที่ดินในแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งได้เปิดใช้ไป กำลังเป็นที่ต้องการของนักพัฒนาโครงการอย่างมาก

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด(มหาชน) ได้สะท้อนจากประสบการณ์ในการบริหารโครงการสวัสดิการที่อยู่อาศัยให้แก่พนักงานกลุ่มแพน ที่สวนอุตสาหกรรม บ้านแพน พัฒนาบ้านขายพนักงานประมาณ 1,000 หน่วย ว่า ในครั้งนั้นการขายใช้เวลาขายเพียง 5 วันก็สามารถปิดการขายได้ทั้งหมด เนื่องจากโครงการอยู่ติดกับที่ทำงาน ทำให้เดินทางสะดวก และจากการศึกษาความต้องการที่อยู่อาศัยในนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 1,000 หน่วย ก็มีอัตราพักอาศัยเต็ม เนื่องจากอยู่ในแหล่งงาน ดังนั้นความเป็นไปได้สูงที่ผู้บริโภคจะเลือกที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งงาน โดยเฉพาะในช่วงน้ำมันแพง เพราะผู้บริโภคจะพยายามหลีกเลี่ยงการใช้รถ และหันมาเดินทางด้วยระบบรางแทน

ดังนั้นความเป็นไปของการเกิดและย้ายทำเลในการอยู่อาศัยใหม่ในปี 2550 คาดว่า จะส่งผลให้เกิดทำเลทองในอนาคต พื้นที่ๆ จะกลายเป็นทำเลศักยภาพในการอยู่อาศัยมีอยู่ 5 ทำเลทอง ประกอบด้วย 1.พื้นที่ในระยะ 500 เมตร จากแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส และ รฟม.ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ในปัจจุบันพื้นที่นี้ถือเป็นทำเลทอง แต่ปัจจุบันแทบไม่มีที่ดินแปลงใหญ่เหลืออยู่แล้ว ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เหมาะอย่างยิ่งกับการสร้าง Condo Minuim รองรับให้แก่คนรุ่นใหม่ ใช้เป็นแหล่งพักอาศัย ตามรูปแบบการใช้ชีวิตของคนหนุ่มสาวได้ ซึ่งในอนาคตที่ดินในพื้นที่ชั้นในจะมีการเปลี่ยนมือน้อยมาก และมีแนวโน้มที่จะให้เช่าระยะยาวแทนการซื้อขายขาด ลักษณะคล้ายตลาดอสังหาฯในต่างประเทศ เพราะพื้นที่ในระยะ 500 เมตรจากแนวรถไฟฟ้า มีมูลค่าเพิ่มตลอดเวลา

**รอบสนามบินสุวรรณภูมิยังพอไปได้

นายธีระชน กล่าวว่า พื้นที่ศักยภาพอันดับ 2 รองลงมาคือ พื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ จุดนี้ถือเป็นแหล่งงานใหม่สำหรับคนเมืองและหากมองย้อนไปในอดีต เมืองสำคัญๆจะเกิดจากศูนย์กลางการคมนาคมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ สถานีรถไฟฟ้า หรือเมืองสนามบิน ด้วยแนวคิดของการพัฒนาเมืองสนามบิน Aerotropolis ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาทิ สนามในฮ่องกง สนามบินอินชองในเกาหลี หรือ Pinnacle Michigan ในสหรัฐฯ จึงยังเชื่อว่า พื้นที่รอบๆ สนามบินสุวรรณภูมิ จะเติบโตได้ในช่วง 10 ปีข้างหน้า เหมือนกับพื้นที่รอบๆ สนามบินดอนเมือง

ส่วนพื้นที่ศักยภาพอันดับ 3 คือ พื้นที่ในแนวส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส และ รฟม.การเจริญเติบโตของพื้นที่อันดับ 3 จะเกิดควบคู่กันไปกับการแล้วเสร็จของการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนดังกล่าว โดยเริ่มจากส่วนต่อขยายบีทีเอสจากสาทรไปเพชรเกษม ถือเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ใกล้ศูนย์ตากสิน และหากมีการผลักดันให้โครงการศูนย์ตากสินเกิดขึ้น จะทำให้มีการขยายตัวของการพัฒนาอสังหาฯในหลายกิจกรรม

นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้า ตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางสุวรรณภูมิ-มักกะสัน-พญาไท (Air Port Link)เส้นทางนี้รัฐบาลได้ลงมือก่อสร้างแล้ว คาดว่าเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ การขยายตัวของเมืองจะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่ทำให้พื้นที่รัชดาภิเษก กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและพื้นที่ธุรกิจใหม่ในปัจจุบัน

อีกทั้ง หากรัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาพื้นที่กว่า 300 ไร่ บริเวณสถานีมักกะสัน จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นจากการขยายเมือง สำหรับเส้นทางที่เหลือที่คาดว่าอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นสายสีเขียว อ่อนนุช -สำโรง ของทางกทม.และสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ สายสีแดง รังสิต-บางซื่อ ส่วนสายสีน้ำเงิน ที่ต้องลงใต้ดินข้ามไปฝั่งธนบุรี คงใช้เวลานานกว่าเส้นทางอื่นๆ

**ศูนย์ราชการทำเลที่ไม่ควรมองข้าม

สำหรับทำเลศักยภาพอันดับ 4 คาดว่าจะเป็นพื้นที่โดยรอบ และใกล้เคียงศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ เพราะพื้นที่นี้จะเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ของบรรดาข้าราชการไทยในอนาคต ประกอบกับปัจจุบันมีการเปิด Super Block บริเวณห้าแยกปากเกร็ด โดยการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกดังกล่าว และต่อถนนออกไปจนถึงแนวถนนราชพฤกษ์ ทำให้พื้นที่ใหม่ๆ ประเภท Virgin Land เกิดขึ้นอีกมาก บริเวณนี้จะกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ในอนาคต รองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นกว่าแสนคนในพื้นที่ศูนย์ราชการแห่งใหม่

ส่วนทำเลศักยภาพ อับดับที่ 5 คาดว่าจะเป็นพื้นที่พระราม 3 เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ถือว่าเป็น Water Front แห่งใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ สามารถเดินทางเข้าเมืองได้ในระยะเวลาอันสั้น ประกอบกับมีการตัดถนนวงแหวนอุตสาหกรรมแล้วเสร็จ ทำให้มีการเปิดพื้นที่กรุงเทพฯเข้าสู่ชายฝั่งทะเลตะวันออกผ่านจังหวัดสมุทรปราการ และยังเป็นพื้นที่เชื่อมต่อเข้าสู่ภาคใต้ผ่านทางด่วนสะพานพระราม 9 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น"ปู่ตงของเมืองไทย"และเป็นทำเลศักยภาพในอนาคตที่สำคัญมากจุดหนึ่ง

"จุดอ่อนที่มีอยู่บ้างคือ พื้นที่ผืนใหญ่อยู่ในมือ Landlord ตระกูลดังๆไม่กี่ราย จึงทำให้พื้นที่ในโซนนี้เติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น แต่ก็จะเห็นได้ว่า พื้นที่นี้เริ่มมีผู้พัฒนาโครงการประเภทอาคารสูงเข้าสู่พื้นที่นี้มากขึ้นเป็นลำดับ "นายธีระชน กล่าว

**ซิตี้คอนโดฯ ดูดลูกค้าตลาดบ้านเดี่ยว

ด้านนายวสันต์ คงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเจนซี ฟอร์เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด(AREA) กล่าวว่า นับจากอดีตที่ผ่านมา การพัฒนาโครงการด้านที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการบ้านจัดสรร กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมืองชั้นในเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้บริโภค จะมีส่วนประกอบในการตัดสินใจเลือกซื้อหลักๆ คือใกล้ระบบการคมนาคม ซึ่งช่วยในการการเดินทางเข้าสู่แหล่งงานหรือกลางใจเมืองได้สะดวกสบาย ดังนั้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาโครงการด้านที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการบ้านจัดสรร จึงเน้นเกาะอยู่ในทำเลเมืองชั้นใน หรือใกล้ถนนตัดใหม่ที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางเข้าเมืองได้สะดวก

แต่ความหนาแน่นของที่อยู่อาศัยในเมืองชั้นใน ส่งผลให้เกิดความแออัดด้านที่อยู่อาศัยในเมือง และเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา อาทิ ปัญหาการจราจร ปัญหาชุมชนแออัด คุณภาพชีวิตฯลฯ ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายให้การพัฒนาเมืองมีรูปแบบการกระจายตัวของที่อยู่อาศัยออกไปในพื้นที่รอบนอกของเมือง โดยการนำกฎหมายผังเมืองรวมเข้ามาใช้บังคับให้เกิดการกระจายตัวของที่อยู่อาศัยออกไปในพื้นที่รอบนอกเมือง ในขณะเดียวกับเพื่อรองรับการกระจายตัวของที่อยู่อาศัยในพื้นที่นอกเมือง รัฐบาลได้ พัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางเข้าเมืองให้มีความสะดวกมากขึ้น

โดยระบบคมนาคมที่รัฐบาลนำเข้ามาใช้ และสามารถแก้ปัญหาด้านการเดินทางเข้าเมืองได้อย่างดี คือ ระบบโครงข่ายรถไฟฟ้า ยิ่งในช่วงหลังราคาน้ำมันได้ถีบตัวสูงขึ้น ทำให้กลุ่มผู้พัฒนาโครงการบ้านจัดสรรหันไปพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมเกาะแนวรถไฟฟ้าแทนบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ เนื่องจากต้นทุนที่ดินแนวรถไฟฟ้ามีราคาค่อนข้างสูง ทำให้ไม่สามารถพัฒนาบ้านเดี่ยวรองรับความต้องการผู้บริโภคได้ ทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาทำเลย่านแนวรถไฟฟ้าบูมขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการเดินทางทำให้ผู้บริโภค หันมาเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในแนวรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะโครงการคอนโดฯใกล้แนวรถไฟฟ้า(ซิตี้คอนโดฯ)ที่ขณะนี้ขายดีมาก ทำให้ทำเลที่ได้รับความนิยมในปี 49 ยังคงเป็นทำเลในแนวรถไฟฟ้าที่เปิดใช้แล้ว และคาดว่าจะยังได้รับความนิยมต่อเนื่องไปถึงปี 2550 โดยเฉพาะในทำเลย่าน รัชดา และลาดพร้าว แนวรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้ง และทำเลย่านแนวส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสาทร-กัลปพฤกษ์ นอกจากนี้ ยังมีทำเลในย่านอ่อนนุช-ศรีนครินทร์ ที่เป็นอีกทำเลซึ่งกำลังได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว จากอ่อนนุช-แบลิ่ง ซึ่งจะเชื่อมไปถึงสมุทรปาการ

"ความต้องการที่ดินในย่านแนวรถไฟฟ้า ใต้ดินที่เปิดใช้ในขณะนี้ทำให้ที่ย่าน ถนนรัชดาพิเษก และลาดพร้าว กลายเป็นทำเลทองที่มีผู้ประกอบการต้องการซื้อมากที่สุด โดยเฉพาะผู้ประกอบการโครงการคอนโดฯ ที่ขณะนี้ไม่สามารถหาซื้อที่ดินในย่านแนวรถไฟฟ้าได้แล้ว เนื่องจากมีที่ดินแปลงใหญ่เหมาะสำหรับพัฒนาโครงการคอนโดฯเหลือน้อยมาก ทำให้ในปี2550ที่ดินในทำเลถนนลาดพร้าว และรัชโยธินที่อยู่ในระยะรัศมี 200-400 เมตร กลายเป็นทำเลที่มีราคาที่ดินสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้ "นายวสันต์ กล่าว

ส่วนทำเลที่เริ่มได้รับความนิยมขึ้นมาอีกทำเลในขณะนี้คือ ทำเลย่านปากเกร็ด -ถนนราชพฤกษ์ และสนามบินน้ำ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากการก่อสร้างโครงการศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ และการก่อสร้างถาราชพฤกษ์ และการเปิดใช้สะพานพระราม5 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางเข้าเมืองจากย่านดังกล่าวได้สะดวกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตัวแปรหลักที่จะทำให้เกิดทำเลใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในปี 2250 คือ รถไฟฟ้า 5 สาย ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติอนุมัติให้มีการศึกษารูปแบบการลงทุนไปเมื่อช่วงก่อนหน้านี้ โดยรถไฟฟ้าที่คาดว่าจะได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างใหม่คือ สายสีแดงรังสิต-มหาชัย เนื่องจากเป็นเส้นที่ใช้ต้นทุนในการก่อสร้างต่ำ เพราะเป็นการก่อสร้างบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และ สายสีม่วง ที่มีการศึกษารูปแบบการลงทุนและการออกแบบก่อสร้างไว้แล้ว

ทั้งนี้ หากรัฐบาลอนุมัติการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ดังกล่าว ก็จะทำให้ในปี 2550 ทำเลเกิดใหม่ที่จะได้รับคมนิยม ก็คือทำเลย่านหลักสี่ และย่านรังสิต ส่วนในแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็ จะทำให้ทำเลย่านถนนรัตนาธิเบศร์ -บางใหญ่บางซื่อ บางบัวทอง กลายเป็นทำเลที่มีการพัฒนาโครงการใหม่ และได้รับความนิยมอีกครั้งในปี 2550

อย่างไรก็ตามในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่อาศัยประเภทอาคาชุด กลับมาขยายสูงมาก หลังจากที่ในช่วงปี 2547 ที่ตลาดอาคารชุดชะงักงันอยู่นานกว่า 1 ปี แต่นับจากช่วงปลายปี 2548 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดคอนโดฯกลับมาขยายตัวในสัดส่วนที่สูงมาก โดยเฉพาะคอนโดฯระดับราคา 1-2 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนการพัฒนาคอนโดฯ กลับมาแซงหน้ากลุ่มสินค้าประเภทบ้านเดี่ยว

"ปรากฏการณ์ การเปิดตัวโครงการคอนโดฯในระดับ 1-3 ล้านบาท เกาะแนวรถไฟฟ้า ลูกค้าให้การตอบรับอย่างสูง ยิ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้กำลังซื้อลดลง และหันมาเลือกที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดฯใกล้เมืองในแนวรถไฟฟ้าแทนที่บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ ย่านชานเมือง ซึ่งแต่ละโครงการที่สามารถปิดการขายระยะเวลาอันสั้น กระตุ้นให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ หน้าใหม่ และหน้าเก่า หันมาให้ความสนใจ และเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการคอนโดฯจำนวนมากในปี 2550

**ระวังผู้ประกอบการคอนโดฯหลังหัก!!

นายวสันต์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พัฒนาโครงการอาคารชุด ต้องพึงระวังในปี 2550 ก็คือ การเปลี่ยนแปลงของความต้องการประเภทที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในตลาดอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-ล่าง ที่มีกำลังซื้อระหว่าง1-3 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันกำลังซื้อกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตลาด ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการอสังหาฯ หันมาพัฒนาคอนโดฯเจาะกลุ่มลูกค้า 1-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนี้ ซึ่งตัวแปรที่ผู้ประกอบการพึงระวังไว้คือ การพัฒนาโครงการเมกะโปรเจกต์ รถไฟฟ้า อาจจะเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค

ทั้งนี้ หากมีการมติอนุมัติการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางใหม่ ซึ่งคาดการณ์รถไฟฟ้า สายสีแดง รังสิต-มหาชัย และสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ เป็นโครงการที่มีความเป็นไปได้สูงกว่าเส้นทางอื่นๆ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความต้องการ(ดีมานด์)อย่างกระทันหัน เนื่องจากเป็นการเปิดทำเลใหม่ และอาจจะทำให้ผู้ประกอบการเคลื่อนไหวไปพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์มากขึ้นได้ ซึ่งย่อมมีผลต่อพฤติกรรมของลูกค้าบางกลุ่มที่จะตัดสินใจซื้อคอนโดฯหันมาพิจารณาตลาดแนวราบก็ได้ อย่างไรก็ดี การเพิ่มเข้ามาของซัปพลายคอนโดฯจำนวนมาก ๆ ทำให้ตลาดในปี 2550 มีแนวโน้มว่าซัปพลายจะล้นตลาด ซึ่งจะส่งผลต่อยอดขายของผู้ประกอบการในตลาดคอนโดฯทุกๆราย

ด้านนายวสันต์ เคียงศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธารารมณ์ เอ็นเตอร์ไพร์ท จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า แม้ว่าแนวโน้มความต้องการบ้านเดี่ยวจะยังชะลอตัวอยู่ เนื่องจาก ต้นทุนการเดินทางที่สูงขึ้น ในขณะที่บ้านเดี่ยว 3-5 ล้านบาท เป็นตลาดที่มีความต้องการซื้อมากที่สุดในขณะนี้ ส่วนใหญ่ยังยึดทำเลในย่านชานเมืองในการพัฒนาโครงการ ทำให้ทาวน์เฮาส์ซึ่งใช้ที่ดินในการพัฒนาน้อยกว่า สามารถเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ โดยทำเลที่คาดว่าจะได้รับความสนใจมากๆ ในปีหน้าคือ ย่านถนนพระราม 2 เนื่องจากมีการก่อสร้างวงแหวนอุตสาหกรรม

โดยวงแหวนอุตสาหกรรมและวงแหนวด้านใต้ เป็นตัวช่วยให้ศักยภาพที่ดินในทำเลดังกล่าว มีความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่ย่านธุรกิจโดยสามารรถเดินทางข้าแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่สาทร และเชื่อมต่อการเดินทางไปสู่สนามบินสุวรรณภูมิได้ ดังนั้นในปี 2550 ทำเลที่จะได้รับความนิยมอีกทำเลหนึ่งก็คือ ทำเลย่านถนนพระราม 2 ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการเข้าไปพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มมากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.