|

ธปท.หาจังหวะขาย SCIB-BT คงกรุงไทยแบงก์รัฐแห่งเดียว
ผู้จัดการรายวัน(3 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติลั่นขายทิ้งแน่ SCIB - BT กอด KTB ไว้แบงก์เดียว รอจังหวะเหมาะทยอยขายให้ได้ราคาเหมาะสมไม่เน้นกำไรมากเกินไป ระบุขายทั้งในกระดานและเจรจาขายพันธมิตร ขณะที่คลังระบุหากแบงก์แข็งแกร่งแล้วก็ควรหมดเวลาอุ้มเชื่อแม้ถือหุ้นแบงก์เดียวก็สามารถทำธุรกรรมได้ครบทุกด้าน
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ยังยืนยันที่จะดำเนินการตามแผนการขายหุ้นของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3 แห่งที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) KTB ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด(มหาชน) SCIB และธนาคารไทยธนาคาร จำกัด(มหาชน) BT กองทุนฟื้นฟูฯ จะทยอยขายหุ้นธนาคารทั้ง 3 แห่งออกมาโดยจะให้เหลือหุ้นของธนาคารกรุงไทยเพียงแห่งเดียวที่เป็นธนาคารพาณิชย์ที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ทั้งนี้ การขายหุ้นธนาคารพาณิชย์ที่ถือโดยกองทุนฟื้นฟูฯ นั้น ยังไม่มีกำหนดเวลาและราคาขายที่แน่นอนออกมาแต่จากการประชุมของคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ผ่านมาจะให้มีการทยอยขายหุ้นของธนาคารทั้ง 3 แห่งออกไปโดยเป็นการขายทั้งในกระดานซื้อขายของตลาดดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและการเจรจาขายให้กับนักลงทุนต่างชาติที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนในธนาคารพาณิชย์ของไทยตลอดปี 2550 โดยจะขายในระดับราคาที่เหมาะสมและให้ผลตอบแทนที่ดีกับกองทุนฟื้นฟูฯ แต่อย่างไรก็ตามกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ไม่ได้เน้นการทำกำไรจากการขายหุ้นธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3 แห่งมากนัก
"เรายังไม่ได้ตั้งราคาและระยะเวลาขายที่แน่นอนไว้เพราะหากมีการตั้งราคาขายขึ้นมาอาจกระทบต่อราคาหุ้นได้ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมกองทุนฟื้นฟูฯ จึงจะปล่อยหุ้นที่มีอยู่ออกขายในตลาด ซึ่งราคาที่ขายจะต้องได้กำไรในอัตราที่พอเหมาะพอควรสามารถชดเชยความเสียหายและภาระที่กองทุนฟื้นฟูฯ ได้บางส่วนไม่ได้หวังจะให้ได้กำไรมากมายเกินไป" นางธาริษากล่าว
โดยแนวทางการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ที่ทางธปท.ต้องการเห็นเป็นรูปธรรมคือให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งรวมทั้งที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นอยู่เป็นธนาคารพาณิชย์ของเอกชนอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการบริหารงานอย่างโปร่งใสและปลอดจากการเมืองเข้าไปแทรกแซง ดังนั้นเมื่อธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งสามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีแล้วจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่กองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องเข้าไปถือหุ้นในธนาคารดังกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ตามหลักการแล้วการที่กองทุนฟื้นฟูฯ จะทยอยขายหุ้นของธนาคารพาณิชย์ที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถืออยู่ออกไปถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม ซึ่งการที่กองทุนฟื้นฟูฯ เข้าไปถือหุ้นธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็เพื่อพยุงฐานะของธนาคารเหล่านั้นให้มีความเข้มแข็งและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศถือเป็นเรื่องที่ควรทำ และเมื่อธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวมีสถานะที่แข็งแกร่งแล้วก็ถือเป็นจังหวะที่ดีที่จะปล่อยให้ดำเนินธุรกิจตามแนวทางของภาคเอกชน
ทั้งนี้การลดสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ของกองทุนฟื้นฟูฯ รวมทั้งธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) TMB ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่นั้น จะมีขั้นตอนในการลดสัดส่วนโดยจะพิจารณาระยะเวลาและราคาขายที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดกับกองทุนฟื้นฟูฯ แต่
ทั้งนี้ ไม่จำเป็นว่ากองทุนฟื้นฟูฯ ต้องขายหุ้นของธนาคารพาณิชย์ให้เหลือธนาคารกรุงไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้นอาจยังคงถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ไว้ 2 แห่งเพื่อเป็นเครื่องมือสนองนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางด้วย
"การที่กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่เกิดวิกฤติถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องและควรทำเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อธนาคารเหล่านั้นมีสถานะที่แข็งแกร่งสามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์เอกชนและพร้อมรับการเปิดเสรีทางการเงินแล้วก็ถึงเวลาที่กระทรวงการคลังหรือกองทุนฟื้นฟูฯ ต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นลง เพราะกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ส่งผู้บริหารมืออาชีพเข้าไปสร้างความแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์เอกชนได้อย่างเต็มตัวแล้ว"
โดยในปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นในธนาคารกรุงไทยจำนวน 56.38% ถือหุ้นธนาคารนครหลวงไทยจำนวน 47.58% ธนาคารไทยธนาคาร 48.98% และธนาคารทหารไทยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 31.2%.
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|