ชี้ทิศทาง SMEs หนทางปรับตัวรับปี' 50


ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

- เข็มทิศนำทางผู้ประกอบการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ปีกุน
- ผ่านคำแนะนำของผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชน "สภาอุตฯ-หอการค้าไทย-นักวิชาการจุฬาฯ-กระทรวงการคลัง- กระทรวงอุตฯ-สสว."
- ฉายภาพรวมและผลสะท้อน ชี้โอกาสแทรกตัวสู่ช่องทางสดใส
- ข้อสำคัญต้องรู้จักตนเอง สามารถปรับตัว และรู้จักคู่แข่ง

การได้รับรู้ถึงทิศทางข้างหน้าจากผู้ที่มีประสบการณ์และมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นักวิชาการระดับแนวหน้าของประเทศ และภาครัฐโดยกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ย่อมส่งผลดีต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เพื่อสามารถนำมาใช้เป็นแนวคิดและหนทางในการปรับตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

"ผู้จัดการรายสัปดาห์" นำเนื้อหาจากการสัมมนาเรื่อง "การปรับตัวของ SMEs รับมือเศรษฐกิจปี 50" ซึ่งจัดขึ้นโดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมามานำเสนอ

สภาอุตฯ ย้ำสำรวจตนเอง

สมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมควรจะกำหนดจุดยืนของตนเองก่อนว่าอยู่ในสถานภาพของธุรกิจประเภทไหน และควรจะรวมเป็นพันธมิตรหรือกลุ่มเครือข่าย เพื่อที่จะสามารถรู้ได้ว่าจะใช้การส่งเสริมสนับสนุนต่างๆ ที่ภาครัฐและกลุ่มองค์กรเอกชน เช่น สมาคม ชมรม มีอยู่ได้อย่างไรบ้าง เพราะหลายคนไม่รู้ว่าตนเองอยู่ในข่ายที่ควรจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร

เนื่องจาก ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ที่ต้องใช้ข้อมูลข่าวสารและเผชิญกับการแข่งขันรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการฯ มีข้อจำกัดหลายอย่างในตนเองอยู่แล้ว เช่น เงินทุน เทคโนโลยี การตลาด การอยู่คนเดียวโดดๆ จึงเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องหาหนทางพัฒนาตนเอง ทำอย่างไรธุรกิจของตนเองจึงจะมีผลิตภาพ (productivity) และสามารถแข่งขันได้ และย้ำว่าการรวมกลุ่มเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการฯ ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจประเภทเดียวกันหรือที่เกี่ยวเนื่องกัน

เขาชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการภาคการผลิตของไทยก็นับว่าเป็นผู้ให้บริการเช่นกัน แต่เป็นผู้ให้บริการภาคการผลิต เพราะสถานภาพส่วนใหญ่เป็นธุรกิจแบบรับจ้างผลิต หรือ OEM ไม่ได้เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง ไม่ได้เป็นเจ้าของแบรนด์เอง และไม่ได้คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ด้านการผลิตเอง แต่ส่วนใหญ่คือการเรียนรู้จากผู้รู้

เนื่องจากประเทศไทยมองอุตสาหกรรมดาวรุ่งโดยเน้นไปที่การส่งออก เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่แทบจะเป็นของต่างประเทศทั้งหมด เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบมากเป็นได้แค่ผู้รับเหมาช่วงเท่านั้น ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเข้าไปอยู่ในธุรกิจนี้ได้ต้องหาความเชี่ยวชาญเฉพาะของตนเองในจุดเล็กๆ เช่น ทำน๊อตเล็กๆ เป็นต้น ขณะที่ ในธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาถึงขั้นสร้างแบรนด์ของตนเองทดแทนการนำเข้า และส่งออกได้

แต่สำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก สิ่งสำคัญคือต้นทุน เช่น วัตถุดิบ ในขณะที่เรื่องเทคโนโลยีคนไทยเก่งในเรื่องนำมาใช้และดัดแปลง แต่การสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้น ธุรกิจที่เหมาะกับคนไทยคือธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนมาก ไม่ต้องทำปริมาณมาก แต่ต้องใช้ความเอาใจใส่

ในส่วนของ eco product รัฐบาลญี่ปุ่นขายไอเดียด้วยการตั้ง International Green Purchasing Network หรือ IGPN ขึ้นเพื่อเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลให้รัฐบาล แล้วขอความร่วมมือจากนานาชาติซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังสอนให้เยาวชนญี่ปุ่นเรียนรู้การเลือกซื้อสินค้า เป็นการช่วยให้โลกให้อยู่ยืนยาวขึ้น โดยมีผลการวิจัยที่น่าเชื่อถือ เช่น อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นปีละ 1 องศา ดังนั้น ใน 10 ปีข้างหน้ามนุษย์ลำบากแน่

สำหรับประเทศไทย เขาเรียกร้องว่าในส่วนรัฐบาลขอให้มีความจริงใจและดำเนินการต่อเนื่องในการซื้อผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ ถ้าคนไทยผลิตได้และสินค้านั้นมีคุณภาพเทียบเท่ากับต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยต่อการเติบโตและความแข็งแรงของธุรกิจไทย

ทางด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เขาแนะนำว่า อย่าตั้งความหวังว่าสิ่งที่ทำจะประสบความสำเร็จ เพราะในบางครั้งสิ่งที่ทำเป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นซึ่งเมื่อทำไปแล้วอาจจะไปประสบความสำเร็จในอีกเรื่องหนึ่งก็เป็นได้ ยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เริ่มจากการทำถุงและกล่อง แต่ท้ายที่สุดกลับประสบความสำเร็จจากการทำพลาสติกรองพื้นหลังรถกระบะซึ่งสร้างกำไรให้กับบริษัทมากกว่า เพราะฉะนั้น การตั้งไข่ให้อยู่รอดได้เป็นปัจจัยสำคัญในเบื้องต้น

หอการค้าฯ ชี้ช่องธุรกิจทำกำไร

ฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกรรมการบริษัท มาลีสามพราน จำกัด กล่าวว่า ในอดีตการทำธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกน้อย เช่น การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการในอดีตจึงทำเฉพาะสิ่งที่อยู่ตรงหน้าของตนเองให้ดีเท่านั้นก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้ โดยไม่ต้องพะวงจึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

แต่ในปัจจุบันการทำธุรกิจของผู้ประกอบการฯ นั้น นอกจากจะใช้ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่แล้ว ยังต้องพิจารณาถึงส่วนอื่นๆ ที่ไม่ถนัดหรือสิ้นเปลือง อย่าคิดว่าต้องทำด้วยตนเองทั้งหมด เพราะโดยส่วนมากของการเริ่มต้นธุรกิจผู้ประกอบการฯ มักจะอยากทำด้วยตนเองทุกอย่างไม่ว่าจะคิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ไม่เช่นนั้นจะเสียเวลาเสียโฟกัสไปกับสิ่งที่ทำได้ไม่ดี และส่งผลกระทบต่อสิ่งที่ทำได้ดี

"เมื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยส่วนใหญ่อยู่ในส่วนของธุรกิจซัพพอร์ตติ้ง มีลูกค้าเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งต้องการของดีมีคุณภาพ ลูกค้าเหล้านั้นจึงสอนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรู้จักวิธีทำของดีและต้องการการเอาใจใส่ เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่เป็นกลุ่มจะทำให้แบ่งงานกันได้ง่าย ซึ่งเรียกว่า division of labour ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตพร้อมกันและขนานไปกับรายใหญ่เรื่อยๆ เป็นแนวคิดที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องทำ"

ส่วนแนวโน้มของธุรกิจที่น่าจะเติบโตไปได้ด้วยดีอย่างเห็นได้ชัด เป็นธุรกิจในลักษณะของการบริการ เช่น ธุรกิจรับทำบัญชี สามารถรับทำบัญชีให้กับหลายๆ บริษัท เป็นการแบ่งปันการใช้บริการ หรือการแบ่งค่าใช้จ่ายร่วมกัน เช่น คอมพิวเตอร์ซึ่งมีราคาสูงสามารถซื้อมาแล้วร่วมกันใช้ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสภาหอฯ กำลังชี้ให้สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเห็นความสำคัญในเรื่องนี้และเข้ามาสนับสนุน

สำหรับประสบการณ์ที่ผ่านมา ธุรกิจเกษตรสร้างผลกำไรให้มากที่สุดสามารถสร้างกำไรได้ถึง 50-100% เมื่อเปรียบเทียบธุรกิจอื่นต้องใช้เงินลงทุนเท่ากันแต่กำไร 5-10% โดยอาศัยการเอาใจใส่ เพียงแต่ภาพลักษณ์ของธุรกิจภาคเกษตรไม่โก้เก๋ แต่ก็เห็นแล้วว่าโชค บุลกุล กับฟาร์มโชคชัย เป็นตัวอย่างความสำเร็จในธุรกิจนี้ของคนรุ่นใหม่

"คิดอีกด้านว่าถ้าเรียนจบแล้วกลับไปเป็นเกษตรกรที่มีความรู้ ก็เท่ากับว่าแข่งอยู่กับคนที่เก่งน้อยกว่า ซึ่งย่อมจะดีกว่าเป็นลูกจ้างหรือแข่งกับคนที่เก่งกว่าไม่ใช่หรือ"

เขากล่าวอีกว่า ธุรกิจภาคบริการต่างๆ เช่น ถ้ามีความรู้เรื่องภัตตาคาร ทำอาหารเป็น หรือสปา ธุรกิจบริการ ในลักษณะนี้จะมีความสำคัญในอนาคตเพราะเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ประเทศที่เจริญแล้วอย่างอเมริกา ถ้าผู้ประกอบการต้องการเปิดภัตตาคารจะเข้าไปหาที่ปรึกษาซึ่งจะสามารถวางรูปแบบธุรกิจและจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ จนกระทั่งสามารถเปิดร้านและดำเนินธุรกิจได้รวดเร็วและความเสี่ยงต่ำ

นักวิชาการกระตุ้นรัฐปรับโครงสร้าง

ดร.กิตติ ลิ่มสกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในเชิงโครงสร้างว่า รัฐต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ผู้ประกอบการฯ สามารถรวมกันเป็นคลัสเตอร์ได้สะดวก ยกตัวอย่าง ประเทศจีนสร้าง Township Village Enterprise หมู่บ้านเล็กๆ รวมกันมาทำธุรกิจร่วมกัน เช่น เดิมปั่นด้าย ทอผ้า เมื่อต้องการเงินสดก็ทำธุรกิจท่องเที่ยวไปด้วย จากนั้นผลิตสินค้าอื่นๆ จนกระทั่ง ธุรกิจขยายใหญ่มากมาย

เนื่องจากผู้ประกอบการฯ มีความเสี่ยงในการทำธุรกิจมากมาย เช่น การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งภาครัฐพยายามจะลดอุปสรรคโดยจัดหาข้อมูลที่ถูกต้อง และในช่วงที่ผู้ประกอบการฯ ประสบปัญหาด้านการเงินเมื่อเศรษฐกิจซบเซา พันธมิตรด้านการเงินคือธนาคารต่างๆ จะต้องช่วยเหลือได้เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการฯ ต้องมีทัศนคติที่ดีในการยอมเปิดเผยก่อน เช่น ให้ธนาคารผู้ให้กู้รู้ข้อมูลต่างๆ เช่น ระบบบัญชี เพื่อลดความเสี่ยง

แต่หน่วยงานด้านการเงินของรัฐยังไม่ได้รวมกันเป็นเหมือนกองทัพเดียวกัน ต่างคนต่างดำเนินการ เช่น ธนาคารฯ จะดำเนินการคล้ายกับเอกชน ขณะที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์อุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นของกระทรวงการคลังดำเนินการแบบราชการ ส่วนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กองทุนฯ ช่วยเหลือเพียงบางโครงการที่มีความเสี่ยงและมีอนาคตดี

เขาเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะจัดพอร์ตซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการประกันภัยรถยนต์ ซึ่งถ้าไม่เกิดการชนค่าพรีเมี่ยมจะลดลง เช่นเดียวกัน เมื่อธุรกิจมีความเสี่ยง รัฐโดยเอสเอ็มอีแบงค์ควรจะเป็นผู้นำในการจัดพอร์ตแล้วนำไปให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดการประหยัด ประสิทธิภาพ เป็นธรรม และโปร่งใส ในธุรกิจ หรือการแปลงหนี้เป็นทุน เป็นต้น โดยมีกฎหมายขึ้นมารองรับเพื่อช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ จากการเข้าร่วมประชุมระดับโลกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทำให้เห็นว่า ทิศทางทั่วโลกกำลังตระหนักถึงภาวะโลกร้อนอย่างมาก เพราะฉะนั้น ธุรกิจที่นำเศษวัสดุหรือขยะมาแปลงเป็นพลังงานหรือ green technology ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ไม่อยากจะทำเพราะไม่มีความยืดหยุ่นพอ แต่เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องรวมกลุ่มกันและรัฐต้องเข้าไปช่วย เมื่อฝรั่งต้องการขายเทคโนโลยีก็น่าจะใช้วิธีแลกกันโดยผู้ประกอบการฯ เป็นผู้ผลิตสินค้าแล้วขายให้โดยภาษีเป็น 0% เป็นต้น หรือธุรกิจเกษตรซึ่งใช้เทคโนโลยีด้านชีวภาพซึ่งไม่ใช่ความรู้สูง แต่ต้องมีการจัดการโดยภาครัฐร่วมกันวิจัยและเอกชนนำไปใช้ โดยนำผู้ประกอบการฯ เข้ามาร่วมในกระบวนการ

เขาสรุปในตอนท้ายว่า จากนี้ไปผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยควรจะต้องมี Corporate Social Responsibility หรือ CSR คือความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านใดด้านหนึ่ง เพราะจากนี้ไปการแข่งขันในโลกจะมีแรงกดดันด้านนี้มากขึ้น

ภาครัฐเน้นใส่ความรู้สู่สากล

สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทวงการคลัง กล่าวว่า เนื่องจากเป้าหมายของรัฐบาลชั่วคราวที่มีวาระ 1 ปีนี้ ต้องการจัดความเรียบร้อยในด้านต่างๆ ในส่วนของเศรษฐกิจ ซึ่งจะใช้งบประมาณปี 2550 จำนวน 1.566 ล้านล้านบาทนั้น แม้ว่าจะสูงกว่างบประมาณปี 2549 ซึ่งมีจำนวน 1.360 ล้านล้านบาท คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ประมาณ 3-4% และมุ่งให้เกิด productivity โดยใช้การบริหารด้วยความเชื่อมั่นและค่อยเป็นค่อยไป

ขณะที่ จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) กล่าวว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเปรียบเหมือนผิวหนังของร่างกาย แม้จะไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่เปรียบเหมือนสมองในเชิงของปริมาณ เพราะถ้าผิวหนังลอกออกไปก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกาย แต่หากเชื้อโรคสามารถผ่านเข้ามาทางผิวหนังได้ ก็จะทำให้ประเทศซึ่งเปรียบเหมือนร่างกายเจ็บป่วยถึงขั้นตายได้

ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจึงมีความสำคัญ และกระทรวงอุตสาหกรรมกับ SME Bank ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการฯ แข็งแกร่งจะดูแลอย่างดี

นิจนิรันดร์ ตันเจริญผล รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กล่าวว่า ในปี 2550 นโยบายของสสว.มุ่งเน้นให้เอกชนเป็นผู้ทำและภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน โดยเฉพาะภาคการค้าและบริการ ขณะที่ภาคการผลิตยังคงผลักดันให้ก้าวต่อไป โดยการช่วยเหลือแบ่งใหญ่ๆ เป็น 2 ระดับ คือผู้ประกอบการที่แข็งแรงแล้ว กับผู้ประกอบการที่อ่อนแอ และเน้นการนำผู้ประกอบการฯ เข้าสู่เศรษฐกิจฐานความรู้เพื่อเตรียมพร้อมกับการแข่งขันในระดับสากล

เธอสรุปว่า เมื่อผู้ประกอบการอยากจะให้เกิดคลัสเตอร์หรือการเชื่อมโยงเครือข่ายขึ้นอย่างแท้จริง จะต้องเปิดใจรับพันธมิตรใหม่หรือเพื่อนร่วมวงการซึ่งจะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ซึ่งกันและกันได้ ซึ่งสสว.ให้การส่งเสริมในส่วนนี้อย่างมาก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.