|
วิเคราะห์อุปสรรค-โอกาส นำ SMEs เอาชนะสิ่งท้าทาย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
นักวิชาการสรุปปี 2549 เอสเอ็มอีเติบโตต่ำสุดในรอบ 3 ปี สาเหตุจาก 4 ปัจจัยหลัก การเมือง-ราคาน้ำมัน-อัตราดอกเบี้ย-ค่าเงินบาท ส่งผลกระทบเต็มๆ วิเคราะห์ทิศทางปี 2550 เผชิญอุปสรรคจากอัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันผันผวน การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การค้าโลกลดลง และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มขึ้น ขณะที่มีโอกาสจากการบริโภค การลงทุน และค่าใช้จ่ายภาครัฐ พร้อมแนะวิธีการเอาชนะสิ่งท้าทาย ย้ำตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ และศูนย์ศึกษาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สรุปภาพรวมสถานการณ์ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในปี 2549 ว่า อัตราการขยายตัวของ SMEs ซึ่งวัดจากมูลค่าจีดีพีของเอสเอ็มอีมีการขยายตัวในระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2547 มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 7.7% ในปี 2548 มีอัตราการขยายตัว 4.7% และปี 2549 มีอัตราการขยายตัว 3.9%
สาเหตุสำคัญมาจากอุตสาหกรรมในภาคการค้าส่งและค้าปลีกมีมูลค่าการขยายตัวต่ำลงจาก 5.2%ในปี 2547 เหลือ 3.5%ในปี 2549 อย่างไรก็ตาม เมื่อดูโดยรวมอัตราการเติบโตของเอสเอ็มอีต่ำทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตจากเดิมที่เติบโต 9.9% ในปี 2547 ลดเหลือ 5.1%ในปี 2549 รวมทั้ง ภาคการบริการเติบโต 8.2%ในปี 2547 ลดเหลือ 3.1% ในปี 2549 โดยมีบริษัท SMEs ที่เลิกกิจการเพิ่มเป็น 16.7% จาก 13.3%
ปัจจัยหลักๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ต้นปี เรื่องแรก คือความไม่แน่นอนทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2549 จากการขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ปของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติที่สุด เพราะเกิดความไม่แน่นอทางการเมืองขึ้นจากการที่รัฐบาลทักษิณไม่สามารถบริหารงานได้จากการประท้วงรัฐบาลอย่างมากและต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อนโยบายในการดำเนินเศรษฐกิจ โครงการต่างๆ ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่สามารถเบิกงบประมาณมาใช้ได้
เรื่องที่สอง คือราคาน้ำมันซึ่งไต่ระดับมาตั้งแต่ปลายปี 2548 และมารุนแรงสูงสุดในไตรมาสที่สอง เรื่องที่สาม คืออัตราดอกเบี้ยที่ไต่ระดับสูงขึ้นมา ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เพิ่มต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ และเรื่องที่สี่ คืออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การส่งออกสินค้าไทยต่ำลงเรื่อยๆ แต่การที่ยังมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเพราะยังมีความต้องการจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว
สำหรับสัดส่วนของมูลค่าจีดีพีของ SMEs ต่อมูลค่าจีดีพีโดยรวม เมื่อมองย้อนหลังไปเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน ในปี 2544 มูลค่าจีดีพีของ SMEs คิดเป็น 42% แต่ในปี 2549 เหลือเพียง 38% สะท้อน SMEs ให้เห็นว่าที่ผ่านมาแม้จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ มียุทธศาสตร์ และมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน แต่มูลค่าจีดีพีของ SMEs ไม่ได้เติบโตขึ้นเลย หมายความว่านโยบายต่างๆ ที่ออกมาไม่ได้แผ่อานิสงส์ลงไปถึง SMEs ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่หรือแอลเติบโตขึ้น
เมื่อกลับมาดูในด้านนโยบายซึ่งมีการจัดทำเป็นยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของ SMEs ที่รัฐบาลชุดเก่าได้ทำขึ้น มีความครอบคลุมในทุกด้านทั้ง 6 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านเงินทุน การตลาด การวิจัย เทคโนโลยี การพัฒนาแรงงาน และผู้ประกอบการ
ดังนั้น จึงเข้าไปค้นหาสาเหตุของการที่นโยบายดังกล่าวไม่ตกถึงท้องของ SMEs พบว่า ในด้านเงินทุน แม้จะมีเอสเอ็มอีแบงก์แต่ไม่สามารถดำเนินการปล่อยกู้ให้กับ SMEs เท่าไรนัก เพราะกลายเป็นเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เนื่องจากทั้งธนาคารเองที่ใช้เงื่อนไขเดิมๆ คือ ต้องการหลักทรัพย์ ระบบบัญชีที่ถูกต้อง ไม่มีการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประกอบการที่ได้รับมา ไม่มีการจัดทำแผนกลยุทธ์ ในขณะที่ SMEs ไม่สามารถทำตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวและเป็นจุดอ่อนเดิมๆ ของ SMEs ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนธนาคารต้องยึดถือกฎเกณฑ์ ทำให้ SMEs ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และสำหรับการร่วมทุนนั้น SMEs ไม่สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน หรือที่ผ่านเข้าไปได้แต่ในที่สุดกลับล้มเหลวเพราะมีจุดอ่อนในการเขียนแผนธุรกิจที่ละเอียดและชัดเจน
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการทำแผนธุรกิจในอนาคตอันใกล้คือ มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งที่ปรึกษาต้องใส่ไว้ในแผนธุรกิจเพื่อให้เกิดความระมัดระวังทิศทางเศรษฐกิจของโลกที่จะชะลอตัวลงในปีหน้า
สำหรับการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ ด้วยการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะจำเป็นต้องสานต่อไป แต่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความรู้เชิงลึก เช่น ในด้านค้าส่งค้าปลีกไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่จะสามารถทำให้อยู่รอดได้
นอกจากนี้ ยังขาดข้อมูลด้านงานวิจัยด้านการตลาด ไม่มีข้อมูลเชิงลึกที่จะสนับสนุนให้ SMEs ใช้เป็นแนวทางในการทำตลาดเชิงรุก เช่น ถ้า SMEs ต้องการรู้รสนิยมของผู้บริโภคมณฑลหนึ่งในประเทศจีน จะไม่สามารถหาได้ มีเพียงข้อมูลพื้นฐานที่ไม่ช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจ แต่การที่เห็นความสำเร็จในจีนของ SMEs ผู้ประกอบการไทยนั้นมาจากการที่ผู้ประกอบการต้องเข้าไปล้วงลึกรุกตลาดเอง ในส่วนของแรงงานของ นั้นมีศักยภาพต่ำ เพราะไม่มีแรงจูงใจให้ทำงาน ทางด้านเทคโนโลยีแม้ว่าจะมีงบประมาณแต่ให้ไม่ต่อเนื่อง
สรุปได้ว่า ในด้านนโยบายที่ต้องการแก้ปัญหาให้กับ SMEs ถือว่าครอบคลุม แต่ในการที่จะถอดรหัสในทางปฏิบัติถือว่ามีปัญหา ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐจึงต้องกลับมาทบทวนและหาข้อสรุปว่า ยุทธศาสตร์ที่มีอยู่มีความสำเร็จหรือออกดอกออกผลมากน้อยแค่ไหน และปัญหาสำคัญมากน้อยอยู่ที่ปัญหาไหน เพื่อจะให้สามารถก้าวต่อไปพร้อมกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง
เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการตั้งเป้าหมายการพัฒนา SMEs แบบสุดขั้วคือต้องการให้มีอัตราการเติบโตของจีดีพี 40% แต่ผลปรากฏว่ากลับลดลงมาเหลือ 38% เท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันหันไปใช้นโยบายเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งผู้ประกอบการจะปรับตัวให้ทันได้อย่างไร หมายความว่า ไม่ต้องการให้เน้นอัตราการเติบโตมากเกินไป เช่น ในภาคการส่งออกต้องไม่เน้นการส่งออกโดยรวมมาก เมื่อต้องการการส่งออกที่ยั่งยืนต้องเป็นการเพิ่มมูลค่าการส่งออกของ SMEs ด้วย ไม่ใช่การเพิ่มมูลค่าของผู้ประกอบการขนาดใหญ่
"ณ วันนี้ที่ได้มีการออกไปสำรวจพูดคุยกับ SMEs พบว่าไม่ได้รับอานิสงส์เท่าที่ควร ทั้งที่เลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพแล้วทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นการผลิต การค้าส่ง-ค้าปลีก และการบริการ เสนอแนะว่า อยากจะเห็นภาครัฐออกกฎหมายต่างๆ ที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือ SMEs ได้อย่างแท้จริง"
เน้นเกาะติดข้อมูล ถอดรหัสพอเพียง
ทางด้านทิศทางของมูลค่าจีดีพีของ SMEs ในปี 2550 น่าจะดีขึ้นคาดว่ามีอัตราการขยายตัว 4.5% โดยภาคการผลิต ภาคการค้าส่ง-ค้าปลีก และภาคการบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตรา 5.5% , 3.7% และ4.0% จาก 5.1% , 3.5% และ3.1% ในปี2549 ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ภาคการค้าส่ง-ค้าปลีกมีอัตราการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดคือเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ขณะที่ภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 0.4% และบริการเพิ่มถึง 0.9% สะท้อนให้เห็นว่า ภาคการค้าส่ง-ค้าปลีกยังมีปัญหามากที่สุด
ปัจจัยที่ส่งผลในเชิงบวกมาจากตัวเลขที่สำคัญๆ ทางเศรษฐกิจคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงประมาณ 5% ส่วนอัตราดอกเบี้ยน่าจะไม่เพิ่มขึ้นและยังมีทิศทางที่น่าจะลดลงด้วยซ้ำไปเพราะปัญหาอัตราเงินเฟ้อและการอิงกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีแนวโน้มว่าไม่น่าจะปรับเพิ่มขึ้นเพราะราคาสินค้าลดลง
นอกจากนี้ เนื่องจากงบประมาณจากรัฐในปี 2550 เป็นแบบขาดดุลประมาณ 1 แสนล้านบาท จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ SMEs ในภาคการผลิตได้อานิสงส์ประมาณ 40% ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ประมาณ 60% การใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวจะช่วยให้ SMEs มีมูลค่าการผลิตเพิ่มขึ้น 34,115 ล้านบาท
สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการภาคการผลิตที่จะได้รับอานิสงส์ 12,881 ล้านบาท ประกอบไปด้วย กลุ่มอาหาร กลุ่มกระดาษ กลุ่มอัญมณี กลุ่มเครื่องเรือน นอกจากนั้นเป็นภาคบริการ เช่น ขนส่ง ก่อสร้าง ประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท
ในด้านอุปสรรคและความท้าทายของ SMEs คือ การแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าเงินบาทจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5% จะได้รับผลกระทบจากการนำเข้าวัตถุดิบ นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงเหลือ 3.2% จากเดิมที่ขยายตัว 3.9% และการค้าโลกลดลงเหลือ 7.5% จาก 8.9% รวมทั้ง มาตรการทางภาษีที่จะเป็นอุปสรรคมากขึ้น
ทั้งนี้ ความท้าทายที่ SMEs ต้องเผชิญอยู่ที่ 1.ต้องหาตำแหน่งทางการตลาดให้เจอก่อน เช่น ต้องรู้ว่าทำการตลาดแค่ไหน ด้านการเงินได้มาตรฐานหรือยัง สินค้ามีคุณภาพพอหรือไม่ และการส่งมอบได้ตามกำหนด โดยจะรู้ได้จากการทำ benchmarking เพื่อเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตัวเอง
2. นำระบบประสิทธิภาพมาใช้การการผลิต ซึ่งนโยบายภาครัฐจะเน้นในเรื่องแรงงานและเงินทุน นำระบบซอฟท์แวร์ที่ทันสมัยเข้ามาช่วย
3.ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เช่น การขนส่ง ต้นทุนสินค้าคงคลัง และการบริหารจัดการ และ4.ต้องเป็นนักบริโภคข่าวสารด้านเศรษฐกิจที่สมบูรณ์แบบ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญคือ การปรับตัวของผู้ประกอบการที่จะปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามนโยบายของรัฐบาลได้มากน้อยเพียงใดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มองว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่มีการใช้อยู่แล้ว การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินธุรกิจนั้น เกี่ยวข้องกับ 3 เรื่อง คือ
1.มีเหตุผลโดยใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ เช่น การขาย ต้องรู้ข้อมูลด้านการตลาด รู้รสนิยมของผู้บริโภค รู้เรื่องราคา รู้จักคู่แข่ง 2.พอประมาณ ก็โดยการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอีกเช่นกัน และ3.ภูมิคุ้มกัน เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมักจะดำเนินธุรกิจลำพังไม่ได้คำนึงถึงการสร้างพลังในกลุ่ม เช่น ผู้ค้าพืชผัก ควรจะเข้าไปช่วยผู้ผลิตซึ่งไม่ได้มาตรฐานให้ได้มาตรฐานเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เป็นภูมิคุ้มกันไปในตัว
ดร.อัทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่จะใช้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐ ควรจะมองโครงการต่างๆ ที่ภาครัฐเน้นให้การสนับสนุน เช่น การเพิ่มศักยภาพของแรงงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน แล้วเข้าไปเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม การพัฒนาตนเองให้เข้มแข็งเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญที่สุด เพราะภาครัฐอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือหรือสนับสนุนได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|