"เสนาะ" ฝันหรูที่อรัญ รับนโยบายแปรสนามรบ


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ครั้งที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย และได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย ในปี 2531 นั้น คงจะไม่มีใครคาดว่าท่านสามารถที่จะบริหารบ้านเมืองได้ดี โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ

แต่ความที่เป็นนักการทูตมือเก่า พลเอกชาติชายสามารถที่จะดึงสถานการณ์รอบๆ บ้านมาเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี

"ผู้จัดการ" หมายถึงนโยบาย "แปรสนามรบให้เป็นสนามการค้า" ทีอดีตนายกฯ คนนี้มุ่งหวังที่จะเห็นประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอินโดจีนที่มีประเทศลาว กัมพูชา และประเทศเวียดนาม เป็นเพื่อนร่วมภูมิภาค นอกเหนือจากโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดในภาคใต้ ที่หวังให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนในด้านนั้นแข่งกับสิงคโปร์ที่แทบไม่มีทรัพยากรอะไรเลย

"ตอนที่เราสามารถดึงเขมร 3 ฝ่ายมานั่งประชุมกันทั้งที่ไทยและที่กรุงปารีสปรากฏว่า รัฐบาลของออสเตรเลียและฝรั่งเศสต่างก็อิจฉามากเพราะเขาหวังที่จะมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในแถบนี้" อดีตที่ปรึกษาพลเอกชาติชายคนหนึ่งเล่าให้ฟังถึงผลการเจรจาเขมร 3 ฝ่ายที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

แต่แล้ว ความฝันที่จะเห็นไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในอินโดจีน ก็ล่มสลายไปเมื่อพลเอกชาติชายถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือคณะรสช.ปฏิวัติในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 พร้อมๆ กับที่หลายๆ คนไม่มั่นใจกับนโยบายดังกล่าวว่าเป็นเพียงภาพหลอกหรือเรื่องจริง

แต่สำหรับคนในชายแดนแล้ว นโยบายดังกล่าว พวกเขายังมั่นใจอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่ม ส.เทียนทอง ที่มีหัวเรือใหญ่ของกลุ่มชื่อ "เสนาะ เทียนทอง" รองหัวหน้าพรรคชาติไทยเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ

ความมั่นใจของกลุ่ม ส.เทียนทอง นอกจาก "นามธรรม" ที่เสนาะกล่าวถึงเสมอจากนโยบายดังกล่าวของพลเอกชาติชายว่าเป็นนโยบายของพรรคชาติไทย (เพราะพลเอกชาติชายไปตั้งพรรคใหม่คือพรรคชาติพัฒนา) ก็ปรากฏเป็น "รูปธรรม" ด้วย นั่นคือ โครงการ "ศูนย์การค้าอรัญประเทศ" หรือ Aran Trade Center ที่จะมีความสมบูรณ์ในรูปของศูนย์การค้า อาคารพาณิชย์จนถึงสถานบริการต่างๆ บนที่ดินซึ่งเช่าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้างสถานีรถไฟอรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี

ไม่เฉพาะคนไทย ที่ให้ความสำคัญกับโครงการนี้ รัฐบาลกัมพูชา ก็จับตาโครงการนี้ด้วยว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อพวกเขาแค่ไหน ?

อิทเรือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียนเมียนเจยในเขมร ซึ่งมาร่วมงานเปิตัวแนะนำโครงการนี้ที่อรัญประเทศยังกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่ารัฐบาลกัมพูชา ยังคงเห็นความสำคัญและประโยชน์ของนโยบายแปรสนามรบเป็นสนามการค้าของพลเอกชาติชายอยู่เช่นเดียวกับที่เขาคิดว่า การเปิดพรมแดนไทย-กัมพูชา ยังเป็นเรื่องสำคัญต่อไปทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและสังคมระหว่าง 2 ชาติ

เสนาะให้ความเห็นว่าเขาเชื่อว่า อรัญประเทศเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมมาก ในการที่จะเป็นจุดศูนย์กลางด้านการค้าและการท่องเที่ยวในอินโดจีน

อย่างน้อย ศูนย์การค้าหรืออาคารพาณิชย์ที่สร้างขึ้นมานั้น จะกลายเป็นตลาดระบายสินค้าพวกหัตถกรรมพื้นเมืองของไทยและของเขมร อย่างเช่น หมวกสานหรือตะกร้าที่เป็นที่นิยมมากของพวกนักท่องเที่ยว

พิเชษฐ์ เทียนทอง น้องชายของเสนาะในฐานะประธานกรรมการบริษัท ส.เทียนทอง กล่าวกับ"ผู้จัดการ" ว่า แนวคิดในเรื่องการทำธุรกิจรับนโยบายดังกล่าวของกลุ่มส.เทียนทอง นั้นไม่ได้หยุดอยู่แค่การสร้างศูนย์การค้าเท่านั้น โครงการของกลุ่มยังมีเรื่องการเตรียมงานครบวงจรอยู่ด้วย

"เราจะมีทั้งการสร้างโรงแรม ทั้งการตั้งบริษัททัวร์เพื่อรองรับการเปิดแหล่งท่องเที่ยวในกัมพูชา" พิเชษฐ์กล่าว

สำหรับโครงการสร้างโรงแรมของกลุ่มส.เทียนทองนั้นกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับกลุ่มอิตัลไทยของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต เพื่อให้มาบริหารโรงแรมที่จะสร้างขึ้นในคอมเพล็กซ์ของศูนย์การค้าอรัญประเทศ ภายหลังจากที่กลุ่มบางกอกพาเลซได้ปฏิเสธที่จะเข้ามาบริหารโรงแรมดังกล่าวแล้ว ซึ่งกลุ่มส.เทียนทองเชื่อว่าอิตัลไทยคงจะตอบรับที่จะมาบริหารโรงแรมใหม่ หากสามารถที่จะตกลงเงื่อนไขบางอย่างได้

ส่วนเรื่องการตั้งบริษัททัวร์นั้น จะเป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไปชมแหล่งท่องเที่ยวในประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นครธมและนครวัด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและศิลปกรรมโบราณที่ติดอันดับสิ่งมหัศจรรย์ของโลกและอยู่ใกล้กับอรัญประเทศมาก

ทั้งนี้ "ผู้จัดการ" ได้รับการอรรถาธิบายถึงเป้าหมายกลุ่มนักท่องเที่ยวว่า จะเป็นนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศที่มาท่องเที่ยวในสถานที่ดังกล่าว นั่นคือ เมื่อนักท่องเที่ยวต้องการที่จะไปยังนครวัด ก็จะต้องเดินทางผ่านประเทศไทย อันเนื่องมาจากศักยภาพการเดินทางของไทยไปยังกัมพูชา เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศหรือทางบก นั่นคือการเดินทางทางอากาศนั้นมีเที่ยวบินกรุงเทพ-พนมเปญ ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส สัปดาห์ละ 7 เที่ยว

ขณะเดียวกันจากสภาพภูมิประเทศของนครวัด ที่อยู่ใกล้ชายแดนไทยมากกว่ากรุงพนมเปญ ทำให้บริษัทคาดว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่สนใจที่จะเดินทางมาไทย และพำนักที่กรุงเทพฯ มากกว่าที่จะเดินทางไปยังพนมเปญเลย ดังนั้นเมื่อจะเดินทางไปยังนครวัด บรรดานักท่องเที่ยวเหล่านั้นก็จะต้องผ่านอรัญประเทศและพำนักที่นั่นก่อน

ประโยชน์ตรงความใกล้ชิดของพื้นที่นี่แหละ ที่ทำให้กลุ่มส.เทียนทอง พร้อมที่จะตั้งบริษัททัวร์ขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้ามหาย กล่าวคือเพื่อทำหน้าที่ในการนำนักท่องเที่ยวจากอรัญประเทศไปยังนครธม-นครวัดดังกล่าว

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของโครงการส.เทียนทอง ยังเปิดเผยด้วยว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็มองเห็นศักญภาพที่จะเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว ถึงกับมีการเตรียมที่จะตั้งสำนักงานย่อย ททท. ขึ้นในโครงการศูนย์การค้าอรัญประเทศ

เมื่อบวกกับการขานรับของเจ้าของโครงการที่เตรียมที่จะสร้างสำนักงานขนส่งใหม่ ในบริเวณเดียวกันอีกฟากหนึ่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางของการเดินรถทัวร์ที่จะเข้าไปยังเขมร บนถนนที่สหประชาชาติและกองทัพบกของไทยที่กำลังซ่อมแซมอยู่

ดูเหมือนว่าลู่ทางและอนาคตของศูนย์การค้านี้ สดใสอย่างยิ่งกับการเตรียมเปิดแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกในเขมรอย่างนครธมหรือนครวัด

ถึงตอนที่โครงการเสร็จไล่กับสันติภาพในกัมพูชาเบ่งบาน บทพิสูจน์สายตาทางธุรกิจของเสนาะ เทียนทอง อาจจะได้รับการพิสูจน์ในวันนั้นแน่นอน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.