|
"ไอ-โมบาย" แจ็คผู้ฆ่ายักษ์เสี้ยนหนามมือถือระดับโลก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
* ผ่ากลยุทธ์ "ไอ-โมบาย" ประกาศศักดิ์ศรีมือถือแบรนด์ไทย ยืนเหนือคู่แข่งระดับโลก
* เสี้ยนหนามใหญ่ที่ทุกค่ายมือถือไม่อาจมองข้าม หลังประสบความสำเร็จท่วมท้นในปี 49
* วางเป้าหมายสำคัญโลคัลแบรนด์อันดับหนึ่งในทุกประเทศที่ไอ-โมบายเข้าทำตลาด
* และนี่คือแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ตนใหม่แห่งวงการโทรศัพท์มือถือ
จากตัวเลขยอดขายโทรศัพท์มือถือเกิน 2 ล้านเครื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยแบ่งเป็นยอดขายในประเทศประมาณ 1.6-1.7 ล้านเครื่อง ที่เหลือเป็นยอดขายในตลาดต่างประเทศ เติบโตกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งขายได้เพียง 9 แสนเครื่อง
ตัวเลขดังกล่าวคือบทพิสูจน์ความสำเร็จของแบรนด์มือถือไอ-โมบาย ที่ได้ประกาศศักดิ์ศรีแบรนด์ไทยเหนือคู่แข่งขันระดับโลก อย่างโมโตโรล่าและซัมซุง เพราะวันนี้ผู้บริหารของไอ-โมบายยืนยันว่าไอ-โมบาย คือผู้นำตลาดอันดับที่สองของเมืองไทย เป็นรองเพียง "โนเกีย" เท่านั้น
"วันนี้ไอ-โมบายเติบโตเร็วมาก ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย แต่ยังรวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ที่เราเข้าไปทำตลาดไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และบังคลาเทศ"
เป็นคำกล่าวของ ธนานันท์ วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด(มหาชน)
การเติบโตอย่างรวดเร็วของไอ-โมบาย นั้น ธนานันท์ ถึงขนาดยกตัวอย่างที่ผู้นำตลาดมือถือไม่อยากให้ไอ-โมบายเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างในประเทศลาว ซึ่งไอ-โมบายเป็นผู้นำตลาดอันดับที่สอง โนเกียถึงกับประกาศว่าหากตู้ขายโทรศัพท์มือถือไหนมีมือถือไอ-โมบายขาย จะไม่ขายโทรศัพท์มือถือโนเกียให้
ผลกระทบที่เกิดจากการแข่งขัน ไม่ได้ทำให้ผู้บริหารของไอ-โมบายย่อท้อแต่อย่างไร แต่กับเดินหน้าทำตลาดในแนวทางและกลยุทธ์ที่จะส่งให้ไอ-โมบายยืนหยัดอยู่ในตลาดนี้ได้อย่างแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
กลยุทธ์ที่ไอ-โมบายใช้ได้อย่างได้ผล ก็คือการออกผลิตภัณฑ์ที่โดนใจลูกค้าในราคาต่ำ โดยมีลูกค้าเป็นตัวสินใจเลือกซื้อสินค้า และมีบรรดาคู่ค้าของไอ-โมบายเป็นตัวผลักดันให้เกิดการขายมือถือไอ-โมบายอีกทางหนึ่ง ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลตอบรับมากในช่วงที่ผ่านมา
"เราทำให้คู่ค้ามีกำไรจากการขายมือถือมากกว่าขายมือถือยี่ห้ออื่น เพราะปัจจุบันนี้การขายมือถือโนเกียคนขายจะได้กำไรไม่เกิน 10% ที่สำคัญการขายมือถืออินเตอร์แบรนด์ทั้งหลาย ผู้ค้าต้องเสี่ยงกับการตัดราคา ลดราคาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในภาวะที่การแข่งขันในธุรกิจนี้รุนแรงมาก"
สิ่งที่ไอ-โมบายกำลังทำการปรับปรุงมากขึ้นคือการพัฒนาคุณภาพและฟังก์ชั่นให้กับโทรศัพท์มือถือไอ-โมบายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากช่วงแรกของการทำตลาดมือถือไอ-โมบาย มีการเลือกใช้โรงงานที่ผลิตให้หลากหลายแห่ง ส่งผลต่อคุณภาพสินค้า และเคยมีบางรุ่นที่มีเครื่องเสียสูงถึง 25% จนทำให้ลูกค้าไม่กล้าที่จะซื้อมือถือไอ-โมบาย
ธนานันท์ บอกว่าแม้ว่าแบรนด์ไอ-โมบายจะได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งแล้ว แต่ไอ-โมบายเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคจะไม่ให้อภัยหากมีข้อบกพร่องเกิดขึ้น จึงต้องค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ และทำให้แบรนด์นี้แข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของคุณภาพ ในปัจจุบันนี้ไอ-โมบายได้เลือกโรงงานที่มีมาตรฐานการผลิต จนทำให้มือถือไอ-โมบายไม่เสียมากเหมือนที่ผ่านมาในอดีต
"คนอื่นก็มีมือถือเสียเช่นกัน แต่ผู้บริโภคมักจะไม่สนใจและไม่จำ ไม่เหมือนกับเราที่จะบอกต่อถึงความไม่ดีที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องเร่งทำให้ดีขึ้น"
เป้าหมายสำคัญที่ธนานันท์ได้วางไว้สำหรับการดำเนินธุรกิจของไอ-โมบายคือโจทย์ที่ว่าต้องเป็นโลคัลแบรนด์อันดับหนึ่งในแต่ละประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจ ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยนั้น ไอ-โมบายยังคงเน้นให้ความสำคัญ และรักษาระดับการเติบโต พร้อมมุ่งแข่งขันในแต่ละกลุ่มชนิดของผู้ใช้งาน หรือตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันลูกค้ามีความต้องการหลากหลาย ไอ-โมบาย แบ่งกลุ่มมือถือตามไลฟ์สไตล์เป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ เบสิก มิวสิค มัลติมีเดีย คาเมร่าและเทรนด์เซ็ตเตอร์
และในช่วงปลายปีเช่นนี้ ไอ-โมบาย ยังโหมทำตลาดด้วยการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือพร้อมกันถึง 6 รุ่น ได้แก่ ไอ-โมบาย 100,313,512,513,611 และ 612 ซึ่งถือเป็นการเปิดเซกเมนต์ให้กับมือถือไอ-โมบาย โดยยังมีจุดเด่นเรื่องของราคาและเรื่องของเสียงเพลงเป็นจุดขายสำคัญ
นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัว I-Link ระบบดาวน์โหลดคอนเทนต์ผ่านมือถือแบบใหม่ ซึ่งไอ-โมบาย พัฒนาร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าสู่โลกของข่าวสาร ความบันเทิงได้ง่ายโดยให้บริการฟรี ประกอบด้วยข้อมูลความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ ดาวน์โหลดวอลเปเปอร์ วิดีโอคลิป อัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์ ดาวน์โหลดริงโทน ทรูโทนและเสียงเรียกเข้า รายงานผลการแข่งขันกีฬา
และยังเปิดเว็บไซต์รูปแบบใหม่ www.i-mobilephone.com เพื่อให้ลูกค้าของไอ-โมบาย ได้ติดตามข่าวสาร และใช้บริการพิเศษ อาทิ เว็บเมลฟรี ผ่านทางเว็บไซต์นี้อีกด้วย
ที่สำคัญได้มีการเปิดตัวแบรนด์ แอมบาสเตอร์ "ทาทา ยัง" เพื่อเป็นแบรนด์พรีเซนเตอร์ของโทรศัพท์มือถือไอ-โมบายในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยจะมีคอนเทนต์พิเศษของทาทา ยัง สำหรับโทรศัพท์มือถือไอ-โมบายที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งการเป็นผู้สนับสนุนคอนเสิร์ตในทุกๆ ที่ที่ทาทา ยังไปเปิดการแสดง
"ทาทา ยังจะช่วยให้เราเปิดตลาดในต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งป็นตลาดที่เราจะเน้นในปีหน้าเช่นกัน ไอ-โมบายมองว่าตลาดต่างประเทศยังมีช่องว่างทางการตลาดสูงและผู้ใช้มีความต้องการสูง น่าจะทำให้เราทำตลาดได้ดียิ่งขึ้นกว่าในปีนี้"
สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจของไอ-โมบายในปี 2550 นั้น ไอ-โมบายต้องการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของโทรศัพท์มือถือไอ-โมบายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 25%และ 2% ในต่างประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม และลาว รวมถึงการขยายตลาดในต่างประเทศ โดยร่วมมือกับพันธมิตรบริษัท ทีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล เอสดีเอ็น บีเอชดี หรือ TMI
และจะมีการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือสู่ 550 แห่ง แบ่งเป็น 405 แห่งในประเทศไทย และ 145 แห่งในต่างประเทศ เสริมความแข็งแกร่งของแบรนด์ไอ-โมบาย ตามแนวคิด "Multimedia Society" โดยการเพิ่มมูลค่าให้แก่โทรศัพท์มือถือด้วยบริการคอนเทนต์มัลติมีเดีย
นอกจากนี้จะเพิ่มความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์ และบริการของไอ-โมบาย มีการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น และพัฒนาการให้บริการและการดูแลลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ธนานันท์ มองถึงอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้าของไอ-โมบาย ว่าต้องการทำให้แบรนด์ไอ-โมบายแข็งแรง มีส่งแบ่งทางการตลาดที่ดี และทำให้บริษัทแข็งแรงด้วยการขยายธุรกิจเพิ่มเติม เพราะในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่เกิน 2-3 ปีนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันธุรกิจใหม่ของไอ-โมบายในอนาคตได้เป็นอย่างดี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|