"สามเหลี่ยมอินโดจีน"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

"อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง การยกเลิกปิดล้อมของสหรัฐฯ จะทำให้ปีหน้าเวียดนามมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อาเซียนจะต้องสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง โดยดึงเอาเวียดนามเข้าสู่แบบสามเหลี่ยมแห่งการเติบโตของอาเซียนด้วย"

ในวันที่ 1 มกราคม 2536 ก็ได้ก่อกำเนิดเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟตา อันประกอบด้วยหกประเทศสมาชิกคือ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และไทย ซึ่งเป็นตลาดของประชากรรวมกันมากกว่า 320 ล้านคน

อาเซียนก่อตัวขึ้นครั้งแรกในวันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดยสมาชิก 5 ประเทศ โดยมีบรูไนเข้ามาร่วมด้วยเป็นประเทศที่หกเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2527 ในรอบ 10 ปีแรกบทบาทของอาเซียนในทางเศรษฐกิจมีจำกัดมาก ความร่วมมือในทางเศรษฐกิจเริ่มการขยายตัวอย่างจริงจังภายหลังการประชุมสุดยอดครั้งแรกที่กรุงบาหลี (Bali Summit) ประเทศอินโดนีเซียในปี 2519

โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันประกอบด้วยโครงการสิทธิพิเศษทางการค้าของอาเซียน โครงการอุตสาหกรรมอาเซียน โครงการร่วมทุนทางอุตสาหกรรมของอาเซียน (AIJV) และโครงการแบ่งผลิตทางอุตสาหกรรมอาเซียน (AIC)

ในส่วนของโครงการระบบสิทธิพิเศษทางการค้าของอาเซียน (PTA) นั้นเริ่มดำเนินการครั้งแรกในวันที่ 1 มกราคม 2521 โดยประเทศสมาชิกของอาเซียนได้ให้การลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากร (Preferential Trading Arrangement หรือ PTA) ในขณะนี้จำนวนสินค้าที่อยู่ในระบบดังกล่าวมีทั้งสิ้น 20,916 รายการ โดยแต่ละรายการได้รับการลดหย่อนภาษีศุลกากรระหว่างร้อยละ 25-50

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติปรากฏว่าระบบพีทีเอ (PTA) นี้ ไม่ประสบความสำเร็จทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็น เพราะรายการสินค้าส่วนใหญ่ไม่ตรงกับความต้องการของแต่ละประเทศ นอกจากนั้นยังมีการกีดกันทางการค้าในรูปอื่น

ความล้มเหลวของระบบพีทีเอประกอบกับการขยายตัวของการรวมกลุ่มการค้าโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรปตลาดเดียวหรือเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) อีกทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีอัตราเร่งที่แตกต่างกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในสองทศวรรษที่ผ่านมา อันส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกมีลักษณะเสริมระหว่างกันยิ่งขึ้น (Complimentarity)

ปัจจัยทั้งสามประการดังกล่าวนี้นับว่ามีส่วนกระตุ้นสู่การรวมตัวของอาเซียนในรูปของเขตการค้าเสรีในที่สุด แนวความคิดในด้านการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนในรูปธรรมเกิดขึ้น จากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่สาม ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี 2530 อย่างไรก็ตาม ในปี 2534 รัฐบาลไทยภายใต้นายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ก็ได้พยายามผลักดันแนวความคิดดังกล่าวจนได้รับความเห็นชอบจากการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 7-8 ตุลาคม 2534 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4 ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 27-28 มกราคม 2535 ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนก็ได้ลงนามในเอกสารว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนขึ้น

สาระสำคัญของข้อตกลงก็คืออาเซียนจะมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (AFTA) โดยใช้อัตราภาษีพิเศษเท่าเทียมกัน (CEPT) เป็นกลไกในการบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จใน 15 ปี โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 และเมื่อครบกำหนด 15 ปีแล้วอัตราภาษีของสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกจะเท่ากับร้อยละ 0-5 โดยสินค้าที่จะอยู่ในข่ายการลดภาษีเพื่อให้เป็นเขตการค้าเสรีนั้นจะประกอบด้วยสินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตรแปรรูปจะเห็นได้ว่าสินค้าเกษตรนั้นจะไม่รวมอยู่ในข้อตกลง

อย่างไรก็ตาม ได้มีการจัดหมวดสินค้าไว้ 15 หมวดที่จะมีการเร่งลดอัตราภาษี (Fast Track) ซึ่งจากการประชุมของคณะมนตรีอาเซียนครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2525 ก็ได้กำหนดระยะเวลาไว้ 10 ปี สินค้า 15 ประเภทที่อยู่ในข่ายการเร่งลดภาษีนั้นประกอบด้วยน้ำมันพืช ซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ ปุ๋ย พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์หนัง เยื่อกระดาษ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์เซรามิกและแก้ว อัญมณีและเครื่องประดับ แคโทดทำจากทองแดงเครื่องอิเล็กทรอนิกส์และเฟอร์นิเจอร์ไม้และหวาย

โดยสรุปในรายการที่จะต้องเร่งลดภาษี (Fast Track) นั้นสินค้าที่ภาษีสูงกว่าร้อยละ 20 จะลดเหลือร้อยละ 0-5 ภายใน 10 ปี และสินค้าที่มีอัตราภาษีที่ร้อยละ 20 หรือต่ำกว่านี้ก็จะลดให้เหลือร้อยละ 0-5 ภายใน 7 ปี

ในรายการที่มิได้เร่งลดภาษี (Normal Track) หรือที่เรียกว่าโปรแกรมลดภาษีตามปกตินั้น สินค้าที่มีอัตราภาษีร้อยละ 20 หรือต่ำกว่านั้นให้มีการลดภาษีเหลือร้อยละ 0-5 ภายใน 10 ปี

ส่วนสินค้าที่มีภาษีสูงกว่าร้อยละ 20 ก็จะลดลงสองระยะ โดยในระยะแรกจะลดเหลือร้อยละ 20 ภายใน 5-8 ปีและเหลือร้อยละ 0-5 ภายใน 7 ปี

นอกจากนั้นในการตกลงของอาฟตาเคาน์ซิลยังได้กำหนดให้มีการใช้วัตถุดิบ (Local Content) ร้อยละ 40 โดยคิดจากประเทศใดประเทศหนึ่งหรือสะสมรวมกันหลายประเทศสมาชิกอาเซียนก็ได้

การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนซึ่งจะเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2536 นั้นย่อมจะส่งผลทั้งในแง่ดีและแง่เสียต่อประเทศสมาชิกและประเทศที่สามอื่นๆ และนำไปสู่การปรับโครงสร้างการผลิตและการค้าระหว่างประเทศสมาชิกของอาเซียนและประเทศอื่นๆ ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วงที่อาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงนี้เอง ประเทศในคาบสมุทรอินโดจีน โดยเฉพาะเวียดนามก็มีพลวัตอย่างมากโดยคาดว่าในปี 2536 นั้นจะเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหม่ของเศรษฐกิจเวียดนาม อันเป็นผลมาจากความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมหภาคของเวียดนาม และอีกส่วนหนึ่งจากการยกเลิกการปิดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่จะต่อเวียดนาม ในส่วนการเปลี่ยนแปลงภายในนั้นอาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลเวียดนามประสบความสำเร็จในการเร่งการขยายตัวในทางเศรษฐกิจ หลังจากที่เคยทรุดตัวลง โดยคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2535 นี้จะสูงถึงร้อยละ 5 หลังจากที่เคยขยายตัวเพียงร้อยละ 2 เมื่อสองสามปีก่อน การขยายตัวนั้นเกิดขึ้นทั้งภาคเกษตร ซึ่งมีแรงงานกว่าร้อยละ 70 และภาคอุตสาหกรรม ในส่วนของเงินเฟ้อนั้นรัฐบาลเวียดนาม ก็สามารถแก้ไขจนภาวะเงินเฟ้อลดลงจากร้อยละ 140 ในปี 1991 เหลือร้อยละ 27 ในปี 1992

การส่งออกของเวียดนามก็ขยายตัวมากจนทำให้เกิดการค้าเกินดุลเป็นครั้งแรกอันเป็นประวัติการณ์ ผลพวงจากภาวะเงินเฟ้อที่ดีและการค้าที่ดีขึ้นทำให้ค่าแลกเปลี่ยนของเงินดองก็มีเสถียรภาพโดยทรงตัวอยู่ในระดับ 10,700 ดองต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ การลงทุนจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นถึงกว่าพันล้านเหรียญโดยมีไต้หวันและฮ่องกงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด

การยกเลิกการปิดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาต่อเวียดนาม เปิดโอกาสให้สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารโลก หรือธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียตลอดจนรัฐบาลญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และอื่นๆ ให้ความช่วยเหลือแก่เวียดนามได้อย่างเต็มที่ และจะเป็นแรงผลักดันสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างเวียดนามกับประเทศต่างๆ ในโลก

การเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของอาเซียนและอินโดจีนดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมหมายถึงความจำเป็นในการปรับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับอินโดจีนโดยเฉพาะเวียดนาม

ตรรกที่จะอธิบายถึงพลวัตของทั้งสองกลุ่มประเทศคือ ความจำเป็นในการสร้างการเชื่อมโยงระหว่างกัน (Linkage) เพื่อผลประโยชน์ต่างตอบแทน มาตรการหรือกลไกที่จะสร้างความเชื่อมโยงดังกล่าวก็คือ การขยายเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและอินโดจีน โดยหยิบยืมแนวคิดว่าด้วยสามเหลี่ยมแห่งการขยายตัว (Growth Triangle) มาใช้

กล่าวคือการสร้างเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยใช้เงินทุนและเทคโนโลยีของประเทศที่ก้าวหน้าในอาเซียน เพื่อใช้แรงงานหรือวัตถุดิบที่ถูกในประเทศอินโดจีนโดยเขตการจัดตั้งนั้น อาจเป็นชายแดนติดต่อระหว่างกันหรืออาจใช้เขตส่งเสริมการส่งออกในประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นเกณฑ์

ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับอินโดจีน เป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการขยายความร่วมมือในภูมิภาคและการสร้างสันติภาพอันยั่งยืนในอนาคต



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.