"ADVANC-ITV" น้ำลดตอผุด


ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปหลังทักษิณ ชินวัตร พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีโดยฉับพลัน ปมปัญหาที่เคยกดเอาไว้ก็โผล่ เอไอเอสรายได้ลดลงแน่จากแนวทางใหม่ของไอซีที ส่วนไอทีวีสาหัส เจ็บหนักหรือไม่อยู่ที่ความเมตตาของรัฐ กลายเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ให้กับผู้ถือหุ้นรายใหม่

หลังจากมีการเข้ายึดอำนาจดูเหมือนสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทในเครือข่ายชิน คอร์ป ที่แม้จะเคยเกิดข้อท้วงติงในยุคที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เรื่องเหล่านั้นก็ผ่านพ้นไปได้ทุกครั้ง แต่ในครั้งนี้บริษัทในเครือ 2 แห่งคือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่

เริ่มจากข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ได้เสนอแนวทางปรับเปลี่ยนการจัดสรรส่วนแบ่งรายได้ในการให้บริการโทรศัพท์แบบเติมเงิน โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งรายได้ให้แก่เจ้าของสัมปทานจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 25 ของรายได้ และปรับลดการส่งรายได้ในส่วนของโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบจดทะเบียนจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 25 ซึ่งจะทำให้เอกชนทุกรายต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้แก่รัฐเท่ากัน นั่นหมายถึงรายได้ของ ADVANC จะลดลงมาใกล้เคียงกับผู้ให้บริการรายอื่น

เนื่องจาก ADVANC จ่ายส่วนแบ่งรายได้ 30% จากบริการแบบรายเดือนและ 20% จากบริการแบบเติมเงิน มาเป็นจ่ายที่ 25% ของการให้บริการทั้ง 2 ประเภท เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2550 จนหมดอายุสัมปทาน ย่อมกระทบต่อรายได้ของบริษัท เนื่องจากรายได้จากลูกค้าในระบบเติมเงินของ ADVANC คิดเป็น 66% ของรายได้รวม

นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องค่าใช้โครงข่าย หรือ แอ็คเซ็ส ชาร์จ ที่ค่ายดีแทคและทรูมูฟ ต้องจ่ายให้บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ในอัตรา 200 บาทต่อเลขหมายสำหรับโทรศัพท์ประเภทจดทะเบียน และอัตราร้อยละ 18 ของรายได้สำหรับประเภทบัตรเติมเงิน ขณะที่เอไอเอสเป็นเพียงผู้ให้บริการรายเดียวที่ได้สิทธิพิเศษได้ลดส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์แบบเติมเงิน และไม่ต้องจ่ายค่าเชื่อมเครือข่ายเพราะเป็นคู่สัญญาโดยตรงของทีโอที

รวมถึงค่าเชื่อมโยงเครือข่ายหรืออินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ ที่เอไอเอสต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงเครือข่ายให้กับทีโอที จึงเป็นที่มาของการจับมือระหว่างดีแทคและทรูมูฟประกาศหยุดจ่ายค่าเชื่อมโยงเครือข่าย

เรื่องดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เตรียมส่งสัญญาสัมปทานธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมทุกฉบับให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน ถือได้ว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับเอไอเอส เพราะสิทธิประโยชน์ที่มีเหนือคู่แข่งนับวันจะยิ่งลดลง หลังจากที่นายกรัฐมนตรีชื่อทักษิณ ชินวัตร พ้นจากเก้าอี้โดยฉับพลัน

อีกบริษัทหนึ่งที่ถือว่าประสบเคราะห์กรรมที่หนักหนาสาหัสคือ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่ศาลปกครองสูงสุดได้ยืนยันคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ในกรณีที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

ส่งผลให้ไอทีวีต้องปรับผังรายการใหม่กลับไปสู่การนำเสนอรายการที่เป็นสาระ 70% บันเทิง 30% ต้องกลับไปจ่ายค่าสัมปทานในอัตรา 44% ของรายได้หรือ 1,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่จ่ายค่า 230 ล้านบาทต่อปี รวมถึงต้องจ่ายค่าสัมปทานย้อนหลังบวกดอกเบี้ย 15% ต่อปีเกือบ 3 พันล้านบาท และต้องจ่ายค่าปรับกรณีปรับผังรายการที่ผิดสัญญาสัมปทาน

รวมแล้วค่าปรับที่คิดเป็นรายวันตามที่สำนักปลัดนายกรัฐมนตรีคำนวณออกมาราว 1 แสนล้านบาท แต่ยังต้องรอข้อสรุปการเจรจาต่อรองค่าปรับกันอีกครั้ง

ที่ผ่านมาไอทีวีได้ปรับผังรายการจากเดิมที่ต้องเสนอรายการที่เป็นสาระ 70% บันเทิง 30% มาเป็นรายการสาระ 50% บันเทิง 50% หลังจากอนุญาโตตุลาการตัดสินให้ไอทีวีชนะคดีพิพากกับสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีเมื่อ 30 มกราคม 2547 จากนั้นสำนักปลัดนายกมีการยื่นอุทธรณ์และเมื่อ 9 พฤษภาคม 2549 ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ถัดมาทางไอทีวีจึงยื่นอุทธรณ์และผลตัดสินเมื่อ 13 ธันวาคม 2549 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำตัดสินของศาลปกครอง

บริษัทลูกชิน คอร์ป ทั้ง 2 รายล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบที่มีผลต่อรายได้ของบริษัท หลังจากที่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่ง แม้ก่อนหน้านี้จะมีการร้องเรียนหรือมีคดีความกันบ้าง แต่เรื่องต่าง ๆ กลับเดินไปอย่างช้า ๆ ถึงวันนี้ดูเหมือนว่าที่หนักหนาสาหัสมากที่สุดคงเป็นกรณีของไอทีวีที่ต้องจ่ายค่าสัมปทานในอัตราเดิม ผลิตรายการในสัดส่วนสาระต่อบันเทิงตามเดิม และค่าปรับที่น่าจะได้ข้อสรุป แม้จะไม่สูงถึงแสนล้านบาท แต่ก็ทำให้ตัวไอทีวีคงต้องมีปัญหาต่อสถานะทางการเงินไม่น้อย

เพราะที่ผ่านมาในส่วนของไอทีวีผู้ที่ออกมาขับเคลื่อนเรียกร้องให้ช่วยรักษาไอทีวีกลับเป็นพนักงาน ผู้บริหารดูเหมือนจะมีความพยายามต่อสู้ในเรื่องเหล่านี้น้อยเกินไป ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ยังคงเงียบกริบในเรื่องนี้

งานนี้ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่จากสิงคโปร์คงต้องคิดหนักว่าจะสู้ต่อหรือจะถอดใจ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.