ขาย"ชิน คอร์ป" 1 ปียังไม่จบไร้บารมีทักษิณ-ทุกปัญหาโผล่


ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

อนาคตธุรกิจในเครือชิน คอร์ป ไม่สดใส หลัง "ทักษิณ ชินวัตร" เดินทางพเนจร ทั้งตัวแม่เจอข้อหานอมินีจากกุหลาบแก้ว บริษัทลูกถูกลดความได้เปรียบ แอร์เอเชีย-แคปปิตอลโอเค เริ่มเดี้ยง รัฐบาลใหม่ไล่บี้ทวงภาษีของชาติจากธุรกรรมขายหุ้น พิสูจน์ชัดรัฐบาลชุดก่อนเล่นการเมืองเอื้อธุรกิจ

ในวันที่ 23 มกราคม 2550 จะครบรอบ 1 ปีการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SHIN ของตระกูลชินวัตรให้กับกลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ของสิงคโปร์ มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท นับเป็นการซื้อขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทย แม้การซื้อขายในครั้งนั้นจะกระทำผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นการซื้อในรูปของบริษัทซื้อต่อจากบุคคล จึงไม่มีรายการทางภาษีเกิดขึ้น ที่โดยหลักการต้องชำระเงินภายใน 3 วัน ซึ่งการซื้อขายครั้งนั้นน่าจะจบแต่เรื่องกลับไม่เป็นอย่างนั้น

ทุกวันนี้ดีลชินคอร์ป แม้จะเสร็จสิ้นในกระบวนการขายได้ผู้ถือหุ้นรายใหม่เป็นเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์จากสิงคโปร์ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการขายเมื่อ 23 มกราคม 2549 เป็นต้นมาทำให้ดีลชินคอร์ปกลายเป็นดีลที่พลิกโฉมหน้าทางการเมืองของประเทศไทย รวมถึงการเป็นการปลุกกระแสจริยธรรมทั้งของนักการเมืองและข้าราชการให้คำนึงถึงประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลัก

เงินก้อนโตที่ตระกูลชินวัตรได้รับนั้น ว่ากันว่าได้รับไปเพียงส่วนเดียวที่เหลือนั้นมีการพักไว้ที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขในการจ่ายเงินตามระยะเวลาเนื่องจากธุรกิจในตระกูลชิน คอร์ป เกือบทุกแห่งเกี่ยวข้องกับสัมปทาน

จากธุรกรรมการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หากเป็นบริษัททั่วไปเรื่องคงจบไปตั้งแต่การขายเสร็จสิ้น แต่กรณีของชิน คอร์ป แม้จะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เหมือนบริษัทอื่น แต่ที่มาที่ไปของบริษัทนี้เชื่อมโยงกับภาคการเมือง เนื่องจากผู้ปลุกปั้นบริษัทนี้จนใหญ่โตคือทักษิณ ชินวัตร เป็นทั้งหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ จึงทำให้ดีลนี้ไม่ราบรื่นทั้งฝั่งคนซื้อและคนขาย

เลี่ยงภาษี-ล้มรัฐบาล

กระแสความไม่พอใจจากการขายหุ้นมูลค่าสูงถึง 7.3 หมื่นล้านบาทของตระกูลชินวัตรที่มีทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ไม่ต้องเสียภาษีให้กับกรมสรรพากรสักบาท ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองตามมามากมายหลายกลุ่ม แม้ก่อนหน้านี้จะมีการทักท้วงเรื่องการบริหารประเทศของหัวหน้าครอบครัวชินวัตรในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่ประเด็นเรื่องภาษีทำให้กลุ่ม องค์กรต่าง ๆ ได้รวมตัวกันกดดันมากยิ่งขึ้นถึงขั้นมีการชุมนุม

แรงกดดันที่มีมากทุกขณะ จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศยุบสภาแล้วเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549 ท่ามกลางการประท้วงไม่ส่งผู้สมัครของพรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ ชาติไทยและมหาชน แม้ผลจะออกมาว่าไทยรักไทยได้เสียงข้างมาก สุดท้ายผลการเลือกตั้งดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้เป็นโมฆะ แต่รัฐบาลไทยรักไทยยังคงสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่

จนกลุ่มที่ไม่พอใจการบริหารงานของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวหาว่ารัฐบาลนี้มีการทุจริตคอรัปชั่นกันมาได้นัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 20 กันยายน 2549 โดยที่สถานการณ์ในวันดังกล่าวชัดเจนว่ามีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่มผู้ต่อต้านและกลุ่มสนับสนุนจะมีการปะทะกัน ดังนั้นภายใต้การนำของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก จึงเข้ายึดอำนาจการปกครองในค่ำวันที่ 19 กันยายน 2549 และตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยมีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ฟันสรรพากร-บรรณพจน์

หลังจากได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาสานงานต่อ ได้ให้ความสำคัญกับคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ได้ดำเนินการตรวจสอบคดีทุจริตต่าง ๆ และหนึ่งในนั้นคือคดีภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ป

เริ่มตั้งแต่ คตส. มีมติให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเงินได้จากบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรณีที่ได้ซื้อหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2540 จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท แต่ไม่ได้ชำระภาษี โดยให้เรียกเก็บภาษีจำนวน 546.12 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังพ่วงด้วยการกล่าวโทษพจมาน ชินวัตร บรรณพจน์ ดามาพงศ์และดวงตา วงศ์ภักดี ในฐานะสมคมและแจ้งความอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

ขณะที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดศิโรตม์ สวัสดิพานิช อธิบดีกรมสรรพากรและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรอีก 4 คนที่ผิดวินัยร้ายแรง และมีความผิดคดีอาญา กรณีละเว้นไม่เก็บภาษีการรับโอนหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น มูลค่า 738 ล้านบาท ระหว่าง ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับบรรณพจน์ ดามาพงศ์

นี่เป็นเพียงแค่คดีแรกของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการโอนหุ้นชิน คอร์ป และยังมีคดีใหญ่ที่ทุกคนต่างจับตามองกันคือการขายหุ้นในวันที่ 23 มกราคม 2549 ที่พานทองแท้และพิณทองทา ชินวัตร บรรณพจน์ ดามาพงศ์ขายหุ้นให้กับกลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการให้ผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง

ออกแบบเลี่ยงภาษี

การขายหุ้นเมื่อวันที่ 23 มกราคมครั้งนั้นตรงกับวันจันทร์ โยงกับเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคมที่บริษัทแอมเพิลริช จดทะเบียนที่บริติชเวอร์จิ้นขายหุ้นชิน คอร์ปออกมาให้กับพานทองแท้และพิณทองทา ชินวัตรในราคาพาร์ ซึ่งบริษัทดังกล่าวนั้นก็มีพานทองแท้และพิณทองทาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เสมือนการโอนหุ้นมาเตรียมพร้อมสำหรับการขายในวันที่ 23 มกราคม ตรงนี้จึงกลายเป็นข้อสงสัยในเรื่องภาษี เพราะทั้ง 2 ได้มาที่ราคา 1 บาทต่อหุ้นแล้วขายให้กับเทมาเส็กที่ 49.25 บาทต่อหุ้น

ส่วนต่างระหว่างต้นทุน 1 บาทกับราคาขายที่ 49.25 บาท ของหุ้นชิน คอร์ป ที่แอมเพิล ริช ขายให้กับพานทองแท้และพิณทองทา ชินวัตร 329.2 ล้านหุ้น คิดเป็นกำไรถึง 15,883.9 ล้านบาท ตรงนี้เมื่อนำมาขายให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ผ่านตลาดหลักทรัพย์จึงไม่ต้องเสียภาษี

การเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ในชิน คอร์ป ครั้งนั้นได้มีการเตรียมการมาอย่างดี พิเคราะห์ทุกแง่ทุกมุมว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะไม่ต้องเสียภาษี เพราะชัดเจนว่าเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ต้องการเข้ามาถือหุ้นในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เพื่อสานต่อธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ที่เดิมกลุ่มนี้เข้ามาถือหุ้นชิน คอร์ปในนามสิงเทล

หากเทมาเส็กเข้ามาซื้อ ADVANC โดยตรงจะทำให้ชิน คอร์ป ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 42.80% ต้องมีภาระทางภาษี เนื่องจากผู้ขายมีสถานะเป็นบริษัทจึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีแม้จะเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นสูตรในการขายชินคอร์ปต้องทำผ่านตัวบุคคล ทำให้เทมาเส็กต้องรับเอาบริษัทลูกรายอื่น ๆ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสัมปทานอย่างไอทีวีและชิน แซทเทลไลท์ รวมเข้าไปด้วย

แม้ดูเหมือนเทมาเส็กจะได้ประโยชน์มาก แต่ต้องไม่ลืมว่าในช่วงนั้นรัฐบาลทักษิณอ่อนแอมาก การขายหุ้นออกมาทั้งหมดประโยชน์สูงสุดจะตกกับตระกูลชินวัตรมากที่สุด ไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐ และสามารถป้องกันการติดตามหรือรุกรานฐานธุรกิจของครอบครัวไปในตัว

ถึงวันนี้ชัดเจนว่าการตัดสินใจขายหุ้นชิน คอร์ปในครั้งนั้น แม้ตระกูลชินวัตรจะสูญเสียอำนาจการปกครองประเทศไป แต่อย่างน้อยเขาก็ได้เม็ดเงินจำนวนไม่น้อยติดมือออกไปด้วย ไม่นับรวมการถือหุ้นในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีผลต่อการคำนวณดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ที่อาศัยตัวแทนจากต่างประเทศซื้อขาย

กุหลาบแก้วลุ้น"นอมินี"

ไม่เพียงแค่นั้นการเข้าซื้อชิน คอร์ป ของเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ โดยใช้ชื่อบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ถือหุ้น 54.53% และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ถือหุ้น 41.76% ยังมีปัญหาที่ในเรื่องการเข้าถือหุ้นแทนนักลงทุนต่างประเทศของบริษัทกุหลาบแก้ว หนึ่งในผู้ถือหุ้นซีดาร์ โฮลดิ้งส์ ที่ยังเป็นคดีความอยู่ เนื่องจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ตีความออกมาค่อนข้างชัดเจนว่าบริษัทกุหลาบแก้ว ที่มีสถานะเป็นบริษัทไทยถือหุ้นแทนนักลงทุนต่างประเทศ โดยพิจารณาจากเส้นทางการเงินและอำนาจในการออกเสียง

หากผลการตัดสินออกมาว่ากุหลาบแก้วเป็นตัวแทนถือหุ้นให้นักลงทุนต่างประเทศ ดีลการซื้อครั้งนี้จะจบอย่างไร หากกุหลาบแก้วผิด แน่นอนว่ากรณีนี้จะกระทบกับภาคธุรกิจอื่นที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ เช่น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมต่าง ๆ อีกมากมาย

ขณะเดียวกันชิน คอร์ป มีบริษัทลูกที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ สายการบินแอร์เอเชีย ในนามบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด ที่แก้ปัญหาเรื่องสัดส่วนของผู้ถือหุ้นต่างประเทศไปก่อนหน้านี้ และบริษัท แคปปิตอล โอเค ที่ให้สินเชื่อเพื่อการบริโภค ที่เพิ่งปรับโครงสร้างบริษัทด้วยการซื้อหุ้นต่อจากดีบีเอส สิงคโปร์ หลังจากทักษิณ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งอาการของบริษัทเหล่านี้ออกมาไม่ดีนัก

จากผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนของปี 2549 คิดตามสัดส่วนที่ชิน คอร์ป ถือหุ้น พบว่าชิน คอร์ป ต้องรับรู้ผลขาดทุนของแอร์เอเชีย 29 ล้านบาท รับรู้จากแคปปิตอล โอเค 767 ล้านบาท ทำให้ชิน คอร์ปมีรายได้ลดลงตามสัดส่วนการถือหุ้นเทียบ 9 เดือนของปี 2549 และ 2548 ลดลง 54.6%

สำหรับแนวโน้มของกลุ่มชิน คอร์ป ในปีนี้ยังคงต้องเผชิญกับการตรวจสอบในประเด็นต่าง ๆ ต่อไป ขณะที่ทิศทางการสร้างรายได้ของบริษัทลูกนับว่าไม่สดใสนัก เนื่องจาก ADVANC ที่สร้างรายได้หลักให้ชิน คอร์ป อาจต้องจ่ายเงินให้กับรัฐในอัตราเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น ขณะที่ไอทีวียังมีปัญหาเรื่องค่าสัมปทานและค่าปรับ คงต้องขึ้นกับผู้ถือหุ้นรายใหม่อย่างเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ว่าจะพลิกวิกฤติที่เกิดขึ้นกับชิน คอร์ป อย่างไร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.