ปิกอัพปี 50 ยังร้อนฉ่า วัดกึ๋น 2 แม่ทัพค่ายใหญ่โตโยต้า-อีซูซุ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่ว่าโค้งสุดท้ายของการขับเคี่ยวกันระหว่างปิกอัพอีซูซุ และโตโยต้า จะออกมาเป็นเช่นไร แต่ผลพวงการชิงแชม์ของทั้ง 2 แบรนด์ จะส่งผลให้ตลาดรถปิกอัพในปี 2550 นี้ ร้อนฉ่าแน่นอน ขณะที่ค่ายปิกอัพขนาดกลางตั้งแต่ นิสสัน มาสด้า ฟอร์ด และเชฟโรเลต นอจากจะเจอพายุแคมเปญของค่ายใหญ่ ยังต้องแข่งกันเอง ซึ่งก็ถือว่าหนักหนากันพอสมควร โดยเฉพาะนิสสัน ที่มีกำหนดเปิดตัวปิกอัพรุ่น นาวาร่า เครื่องยนต์คอมมอนเรล จากแรกที่ใส่แรงม้าเข้าไปมากถึง 174 แรงม้า

ทั้งนี้ฝันของโตโยต้า ที่รอคอยมานานหลายสิบปีมีแนวโน้มจะเป็นจริงเข้ามาเรื่อยๆ หลังสามาถทำยอดขายปิกอัพสะสมช่วง 11 เดือนของปี 2549 ขึ้นนำ อีซูซุได้ โดยตัวเลขยอดขายเมื่อสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 2549 โตโยต้าทำยอดขายไฮลักษ์ วีโก้ได้ถึง 143,490 คัน ครองส่วนแบ่งตลาด 38.47% ส่วนอีซูซุตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยยอดขาย 142,227 คัน ส่วนแบ่งตลาด 38.13% แม้ว่ายอดขายห่างกันราวๆ 1,200 คัน แต่เมื่อเดือนตุลาคมโตโยต้าทำยอดขายสูงกว่าอีซูซุถึงกว่า 2,000 คัน ดังนั้นต้องยอมรับว่าเฉพาะเดือนธันวาคมเดือนเดียวอีซูซุ สามารถทำยอดขายได้มากขึ้น ทำให้ช่องว่างดังกล่าวลดลง

ความได้เปรียบของโตโยต้าในเวลานี้คือ เรื่องกำลังการผลิตที่สูงกว่าอีซูซุ หลังจากโครงการไอเอ็มวีของโตโยต้า เริ่มเดินหน้าได้เต็มศักยภาพ และด้วยกำลังการผลิตที่สูงกว่านี้เอง ทำให้โตโยต้ามีศักยภาพในเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์ชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ได้ดีกว่า มีการจัดซื้อในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่า ส่งผลให้มีกำไรต่อหน่วยสูงกว่าคู่แข่ง ซึ่งกำไรต่อหน่วยนี้สามารถนำไปเป็นแรงจูงใจ หรือแรงผลักดันให้กับตัวแทนจำหน่ายได้อีกทอดหนึ่ง

ขณะที่อีซูซุ เองก็พยายามปรับตัวในด้านการผลิต โดยที่ผ่านมานอกจากการขยายกำลังการผลิตของโรงงานที่มีอยู่แล้ว ยังอาศัยศักยภาพของโรงงานผลิตจากกลุ่ม เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือจีเอ็ม ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของอีซูซุ อีกด้วย รวมถึงแผนการขยายตลาดส่งออกเนื่องจากจะทำให้มีการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การผลิตใช้ต้นทุนที่ต่ำลงได้นั้นเอง

ปนัดดา เจณณวาสิน กรรมการบริหาร บริษัท ตรีเพชรอีซูซุ เซลส์ จำกัด กล่าวว่า ยอดขายปิกอัพของปี 2549 ยังไม่อาจจะ สรุปได้ว่า ใครจะได้เป็นแชมป์ตลาดปิกอัพ แต่อยากให้ติดตามสถานการณ์ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีอย่างใกล้ชิด โดยหลังจากที่ตลาดหดตัวลงมา และคาดว่า จะเหลือเพียง 6.8 แสนคันในปีนี้ ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องออกมาแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น ทำให้ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้จะเป็นเครื่องตัดสินตัวเลขยอดขายในปีนี้อย่างเป็นทางการ

“ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่มีสถานการณ์ด้านลบเข้ามากระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาใหญ่อย่างปัญหาน้ำท่วมหลายจังหวัด ที่ทำให้ไม่สามารถ ส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าในจังหวัด ที่เจอปัญหาได้”

นอกจากนี้อีซูซุเองนั้นยังประสบปัญหาการสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า โดย เฉพาะในรุ่นไฮแลนเดอร์ที่มีความ ต้องการสูงมาก อย่างไรก็ตามในปี 2550 อีซูซุคาดว่าจะมีการส่งออกรถปิกอัพรุ่นใหม่ไปทำตลาดในต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ทำให้ยอดการส่งออกทั้งแบบสำเร็จรูปหรือ CBU และชิ้นส่วนประกอบหรือ CKDไม่น้อยกว่า 1 แสนคัน ซึ่งไลน์การผลิตรถสำเร็จรูปที่เตรียมไว้ 2 แสนคันที่โรงงานสำโรง ยังเพียงพอต่อความต้องการทั้งในและต่างประเทศ จึงปล่อยโรงงานที่เกตเวย์สำหรับผลิตรถบรรทุกขนาดกลางและใหญ่ต่อไปเหมือนที่ผ่านมา และคาดว่าตลาดในประเทศใน 2550 จะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ เริ่มสงบและเข้าที่มากขึ้น โดยมองว่าตลาดน่าจะกลับมาเติบโตสู่ระดับ 7 แสนคันได้อีกครั้งหนึ่ง

เรียวอิจิ ซาซากิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มั่นใจว่าปีนี้แชมป์ตลาดปิกอัพ1ตันคงไม่หนีไปไหน เพราะเหลือเวลาอีกเพียงหนึ่งเดือน คาดว่าอีซูซุคงไม่สามารถตีตื้นขึ้นมาได้ หรือถ้าอีซูซุเร่งทำยอดขายขึ้นมาในเดือนสุดท้าย โตโยต้าก็สามารถทำได้เหมือนกัน

ขณะเดียวกันโตโยต้าต้องพยายามรักษาแชมป์เอาไว้ให้ได้ เพราะอีซูซูคงหาทางทวงบัลลังก์กลับอย่างแน่นอน และอนาคตน่าจะเกิดการแข่งขันอย่างดุเดือด และน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ถ้ามองในแง่ผู้บริโภคคงได้ประโยชน์สูงสุดอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามการต่อสู่ของ 2 ยักษ์ใหญ่ปิกอัพ ในปี 2550 นอกจากจะรุ่นแรงกันตลอดทั้งปีแล้ว อาจมีผลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่เกิดขึ้น เนื่องจากทั้งโตโยต้า และอีซูซุ ต่างมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับสูงกันใหม่ โดยอีซูซุ นั้น เปลี่ยนตัวเรียว ซาคาตะ กรรมการผู้จัดการ ตรีเพชรอีซูซุ ที่ทำหน้าที่คุมทัพมาแค่เพียง 20 เดือนเท่านั้น มาเป็นโมริคาซุ ชกกิ ซึ่งเชี่ยวชาญงานด้านฝ่ายขาย ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการคนใหม่ โดยมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา

ขณะที่โตโยต้า แต่งตั้งมิทซูฮิโระ โซโนดะ เป็นกรรมผู้จัดการใหญ่คนใหม่ แทนเรียวอิจิ ซาซากิ ที่อยู่ในตำแหน่งนี้มาถึง 6 ปีเต็ม โดยจะย้ายไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการของบริษัทฯ และเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิก ดูแลงานทั้งในประเทศไทย และสิงคโปร์ ซึ่ง โซโนดะ เป็นผู้รอบรู้ในการบริหารธุรกิจระดับสากล เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้บริหารระดับสูงสุดของทั้ง 2 แบรนด์ในเมืองไทย ว่าท้ายที่สุดใครจะสร้างผลงานได้ดีกว่า กัน

สำหรับค่ายขนาดกลางนั้น ปิกอัพใหม่ของค่าย สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด ถูกจับตามองมากที่สุด เนื่องจากเป็นค่ายสุดท้านที่พึ่งปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์ มาเป็นปิกอัพเครื่องยนต์คอมมอนเรล ซึ่งจะมีการเปิดตัว นิสสัน นาวาร่า ตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 มกราคม 2550 ซึ่งเดิมนั้นนิสสัน ครองส่วนแบ่งการตลาดในอันดับ 3 มาตลอด แต่ช่วง 11 เดือนในปี 2549 ที่ผ่านยอดขายนิสสันกลับลดลง ตกไปอยู่ในอันดับ 4 ต่อจากมิตซูบิชิเนื่องจากอยู่ในช่วงปลายโมเดลของนิสสันฟรอนเทียร์

เพราะฉะนั้น ฟรอนเทียร์ นาวารา จะเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของนิสสันในเมืองไทยที่ต้องเร่งสร้างยอดขายทวงส่วนแบ่งการตลาดคืนจากค่ายมิตซูบิชิ ขณะที่มิตซูบิชิเองก็ยังคงมุ่งมั่นกับการเจาะตลาดด้วยผลิตภัณฑ์ ไทรทัน โดยในปี 2550 นี้มิตซูบิชิ ทุ่มงบประมาณกว่า 40 ล้านบาทในการจัดกิจกรรมโรดโชว์ทั่วประเทศกว่า 17 จังหวัดหลักในชื่อ มิตซูบิชิ มอเตอร์เอ็กซ์โป ทำให้คาดว่าตลาดปิกอัพในปี 2550 นี้ จะยังคงร้อนระอุกว่าปีที่ผ่านมา ไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.