|

“ซิป้า” ยันไม่ล้ม TAM 2007 เผยจัด 3 ปี ดันอุตฯโตตามเป้า
ผู้จัดการรายวัน(29 ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ซิป้า ยันไม่หยุด มหกรรมงาน TAM 2007 แค่ขอเลื่อนจัดไปปลายปีนี้ เหตุสะดุดการเมืองและงบสนับสนุน ผู้อำนวยการหวั่นคนในอุตสาหกรรมเข้าใจผิด อาจส่งผลขยายการเติบโตทุกระดับประกอบการลงทุน เผยจัด 3 ปี ดันตลาดขยายตัวเป็นไปตามเป้าหมาย ล่าสุดลงนามร่วมมือ กรมส่งเสริมส่งออก จุฬาลงกรณ์ ศรีปทุม สร้างคน สร้างงาน มุ่งขยายอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนท์ โตระดับสากล พร้อมเข้าหาแหล่งทุน
นายอาวุธ พลอยส่องแสง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า กล่าวว่า การจัดมหกรรมไทยแลนด์แอนนิเมชั่นและมัลติมีเดีย หรือ TAM ที่ซิป้าเป็นผู้ดำเนินการจัดขึ้นทุกปี เพื่อให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมแอนนิเมชั่นและเกมของผู้พัฒนา ผู้ประกอบการไทย การจัดงาน TAM หรือ แทม 2007 มีความจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการจัดงานออกไปอีกระยะหนึ่ง โดยคาดว่าไม่เกินปลายปี 2550 จากเดิมตามกำหนดจะต้องจัดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม
“ซิป้า ยังคงสนับสนุนอุตสาหกรรมแอนนิเมชั่นอยู่ เหตุที่เลื่อนจัดงานเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองและงบประมาณสนับสนุน โดยงานก็ได้มีการเตรียมการไว้แล้วส่วนหนึ่ง”
โดยที่ผ่านมาการจัดมหกรรมแทมทั้ง 3 ปี ได้มีการพัฒนาไปมากมีบริษัทเกิดขึ้นมากมาย และมีผลงานของคนไทยได้รับการยอมรับ มีบริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมทุน หรือว่าจ้างผลิตผลงานเพิ่มขึ้น ซึ่งได้เติบโตทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม อีกทั้งการเติบโตดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายของซิป้าที่ต้องการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมมีการเติบโตและขยายตัว ปีละไม่ต่ำกว่า 50% หรือการเพิ่มมูลค่าส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้มีบริษัทรับจ้างผลิตส่งออกแล้วกว่า 30 บริษัท จากเดิมมีไม่ถึง10 บริษัท
ล่าสุดซิป้าได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องเพื่อขยายผลและช่องทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมแอนนิเมชั่นและเกม ตามเป้าหมายการผลักดันอุตสาหกรรม Digital Content อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นการกำหนดแนวทางความร่วมมือให้สามารถส่งผลในกาพัฒนาประเทศ และช่วยเหลือกันให้เกิดการพัฒนาในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การให้คำแนะนำทางการตลาด ฯลฯ ซึ่งสามารถทำให้ผลงานออกสู่สากลได้อย่างรวดเร็วในอนาคต
โดยระหว่างซิป้ากับหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชน มีรายละเอียดความร่วมมือกันคือ การลงนามความร่วมมือระหว่าง ซิป้ากับกรมส่งเสริมการส่งออก เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรม Digital Content ของประเทศไทย ในการเพิ่มมูลค่าการส่งออก ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออกมีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดและการส่งออกเป็นอย่างมาก การลงนามความร่วมมือระหว่าง ซิป้า กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในอุตสาหกรรมด้าน Software Engineering, Information Technologies และ ด้าน Digital Content โดยมหาวิทยาลัยมอบหมายให้ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการตามความร่วมมือที่เกิดขึ้น โดยเป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาของรัฐที่จะให้ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมและจะทำให้มีการเพิ่มของบุคลากรทางด้านนี้
การลงนามความร่วมมือระหว่างซิป้ากับมหาวิทยาลัยศรีปทุม เพื่อใช้สถานที่จัดตั้งศูนย์ Bangkok Digital Content Center เพื่อเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนางานดิจิทัล คอนเทนท์ ศูนย์กลางความรู้ และการเรียนรู้ทั้งด้าน Art และ Science ศูนย์กลางในการพัฒนาด้าน Research & Development (R&D) และศูนย์กลางในการสร้างและพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนท์ ซึ่งศูนย์นี้ติดตั้งเครื่อง Motion Capture เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใช้บริการได้ และมีการเก็บค่าใช้จ่ายเพียงชั่วโมงละ 1,000 บาท ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมเป็นเวลา 1 ปี และยังสามารถสนับสนุนของการศึกษาทางด้านแอนนิเมชั่นและมัลติมีเดียให้กับนักศึกษาอีกด้วย
การลงนามความร่วมมือระหว่าง ซิป้า และ TGA เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทางด้านแอนิเมชั่น คอมพิวเตอร์กราฟฟิก ซอฟต์แวร์เกม และมัลติมีเดีย เป็นหลัก และยังเป็นศูนย์กลางที่ให้มีความรู้ ความชำนาญ ซึ่งความสามารถคนไทยเทียบชั้นกับประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น ได้ไม่เป็นสองรองใคร
นอกจากนี้จะได้เห็นความร่วมมือของภาคเอกชนอย่าง บริษัท Silptorn Comics&Animation จำกัด กับ สถาบันสยามคอมพิวเตอร์และภาษา เพื่อเพิ่มช่องการผลิตให้หลากหลายมากขึ้น ในส่วนของการเรียนการสอนด้านแอนิเมชั่น ซึ่งมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกของนักเรียนนักศึกษาที่สนใจในการเรียนเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กราฟฟิกต่างๆ
“การลงนามร่วมมือพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม Digital Content มาจากข้อมูลจากการได้ประชุมหารือร่วมกัน ที่ซิป้าได้รวบรวมทุกๆ ความเห็น แล้วนำไปประมวลผล เพื่อหาช่องทางการแก้ไขที่จะนำไปสู่การส่งเสริมที่ตรงกับความต้องการและส่งผลตรงถึงอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด โดยพยายามเล็งให้เข้าเป้าหมายที่สุดและสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน”
สำหรับการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น ซิป้าได้รับความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมว่าปัญหาที่สำคัญคือการขาดแหล่งเงินทุนและส่งเสริมการลงทุน รองลงมาเป็นเรื่องการตลาด การขาดบุคลากร ทัศนคติ ตามลำดับ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า 2 ข้อแรกเป็นประเด็นที่ทางซิป้านำมาเสนอในการกำหนดหัวข้อของการเสาวนาข้างต้นให้อุตสาหกรรม Digital Content เข้าใจและมีแนวคิดในการปรับใช้ในธุรกิจในอนาคตต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|