พนักงาน ทีโอที-ร.ส.พ. เดินหน้าร้องศาลปกครอง


ผู้จัดการรายวัน(29 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สหภาพฯ ทีโอที เดินหน้าฟ้องศาลปกครอง กรณีรัฐบาลชุดก่อนหน้ามีมติให้ผู้รับสัมปทานโทรศัพท์นำภาษีสรรพสามิตที่ต้องชำระหักจากค่าส่วนแบ่งรายได้ ทำให้รัฐเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาท ขณะที่พนักงาน ร.ส.พ. ร้องขอให้ยกเลิก พ.ร.ฎ.ยกเลิกองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์

สหภาพรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที นำโดยนายนุกูล บวรศิรินุกุล ประธานสหภาพฯ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกมติ ครม. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีมติให้เอกชนผู้รับสัมปทานให้บริการโทรศัพท์ สามารถนำภาษีสรรพสามิตที่ต้องชำระให้รัฐหักออกจากค่าส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งทำให้รัฐเสียหายเป็นเงิน 31,844.7 ล้านบาท นับตั้งแต่มีมติดังกล่าว ซึ่งถือว่ากระทำการโดยละเมิด ในคำร้องยังเรียกค่าเสียหายจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และคณะรัฐมนตรี ให้ชดเชยแก่รัฐตามมูลค่าที่เสียหายไปด้วย

นายนุกูล กล่าวว่า พนักงานเกือบ 20,000 คน ยังได้รับผลกระทบจากมติ ครม. ดังกล่าวด้วย ซึ่งส่งผลทั้งค่าจ้าง สวัสดิการ และโบนัส จากการที่ ทีโอที รับภาระภาษีสรรพสามิตแทนเอกชน พร้อมเห็นว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมา ได้พยายามแก้ไขระบบภาษี ทั้ง ๆ ที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย กำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้ยกเว้นการเสียภาษี แต่รัฐบาลก็ให้เสียภาษีสรรพสามิตแทนสรรพากร

ขณะเดียวกัน สหภาพรัฐวิสาหกิจ องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) นำโดยนายอภิเดช นามมนตรี ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอน พ.ร.ฎ.ยกเลิกองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ที่รัฐบาล “พ.ต.ท.ทักษิณ” ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2548 เพราะเห็นว่าเป็นองค์กรที่มีผลดำเนินงานขาดทุน จึงออกกฎหมายยุบองค์กรโดยมิชอบด้วยกฎหมายและแผนแม่บท ท่ามกลางเสียงคัดค้านของพนักงานที่เคยให้จัดทำแผนฟื้นฟู โดยนายสถาพร พรหมมา ทนายความ กล่าวว่า ในคำร้องยังขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองให้ยุติการชำระบัญชีโดยไม่ชอบธรรม เนื่องจากคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาชำระบัญชีที่มีนายประสงค์ ตันมณีวัฒนา อดีตประธานคณะกรรมการตรวจบัญชี ร.ส.พ. ได้มีการจำหน่ายรถบรรทุกและเครื่องใช้สำนักงานของ ร.ส.พ. ออกไปบางส่วนแล้ว ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่มีคนกลางเข้ามาร่วมด้วย และยังเป็นบุคคลที่สร้างความเสียหายให้แก่องค์กร

นายอภิเดช กล่าวว่า พนักงาน 1,700 คน ไม่ได้รับการคุ้มครองตามที่รัฐบาลชุดที่แล้วให้ข่าวว่าจะโอนย้ายไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม อาทิ บขส. การท่าเรือฯ แต่อย่างใด และยังไม่มีการจ่ายเงินบำเหน็จ มีเงินชดเชยเพียง 6 เดือน ซึ่งไม่เพียงพอกับพนักงานที่มีอายุมาก ขณะที่ ร.ส.พ. เคยเป็นหน่วยงานที่อยู่ในแผนโลจิสติกส์ของประเทศ ทำหน้าที่ขนส่งทางบกมาโดยตลอด แต่กลับถูกสั่งให้ยุบองค์กรโดยกะทันหัน อย่างไรก็ตาม สำหรับที่ดินของ ร.ส.พ. มูลค่าประมาณ 2-3 พันล้นบาท ขณะนี้ยังไม่ได้มีการจำหน่ายออกไป เนื่องจากคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้กันไว้ก่อน แต่การร้องเรียนของพนักงาน ร.ส.พ. ที่ผ่านมา ตามหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กลับไม่ให้ความสำคัญ เนื่องจากเห็นว่าไม่มีผลกระทบต่อสังคม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.