ตามธรรมเนียมของมหาวิทยาลัยเอกชน จะต้องมีคณะบริหารธุรกิจไว้ตอบสนองต่อความต้องการของนักศึกษา
จึงจะถือว่าทันสมัย ทันต่อความต้องการของตลาด ในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งที่มาของรายได้ก้อนใหญ่
เพราะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์การศึกษาใหม่ ๆ ทั้งขยายออกไปในระดับปริญญาโท หรือการสร้างหลบักสูตรพิเศษต่าง
ๆ ขึ้นมา
แต่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี มหานคร ไม่มีคณะยอดฮิตนี้และไม่มีนโยบายที่จะเปิดด้วยไม่ว่าระดับใด
ไม่ใช่ว่ามหานครยึดติดอยุ่กับความเป็นมหาวิทยาลัย ทางวิศวกรรมศาสตร์เพียงอย่างเดียว
แต่เป็นเพราะวิธีคิดของอธิการบดีคนที่ชื่อว่า สิทธิชัย โภคยอุดม
ในขณะที่คนในวงการบริหารคิดว่า การเรียนการสอนทางด้านการบริหาร เป็นการเรียนรู้ในภาคของทฤษฏี
เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน เพื่อไม่ต้องมีการลองผิดลองถูกเสียเวลาและอาจจะเสียเงินลงทุน
โดยไม่จำเป็น หลักสูตรทางด้านการบริหารธุรกิจในทุกระดับ จึงเป็นที่นิยมศึกษาเป็นอย่างมาก
จนบางทีได้กลายเป็นเงื่อนไขในการได้รับการเลื่อนขึ้นไปสู่ตำแหน่งทางการบริหาร
แต่ในความคิดของสิทธิชัย กลับมีความคิดที่ตรงกันข้ามกัน เพราะเขาเห็นว่า
การบริหารเป็นเรื่องยาก ไม่มีอะไรยากเย็น เป็นเรื่องที่ไม่ต้องเรียน
" คนที่เรียนเอ็มบีเอ เป็นเรื่องเสียเวลาของชีวิต เราสามารถที่จะเรียนรู้ได้จาการทำงาน
ทฤษฏีเรียนไม่มีประโยชน์ เกิดมาต้องเป็น ผมว่าเราอาศัยคอมมอนเซนท์มากกว่า
มันเหมือนวาดเขียน เรียนให้ตายก็วาดไม่เก่ง ถ้าไม่มีพรสวรรค์ เรียนให้ตายก็เป็นนักบริหารที่ดีไม่ได้"
สิทธิชัย กล่าว
สิทธิชัยไม่ได้คิดว่า หลักการบริหารไม่สำคัญ แต่ไม่มีประโยชน์ที่จะลงทุนไปนั่งเรียน
เพราะสามารถหาตำรับตำราอ่านเองได้ ด้วยความคิดเช่นนี้จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาไม่มีโครงการจะเปิดสอนทางด้านบริหารธุรกิจ
" สถาบันอื่นเขาทำกันมาเยะแยะ เราทำไมต้องไปเปิด น่าจะไปเปิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ของชาติโดยตรง
เป็นในเรื่องของการเพิ่มผลผลิต ทำให้เศรษฐกิจเจริญโดยตรง นักบริหารนี่พอเอกเข้าจริง
แล้วทำงานจริงไม่เป็น ผมว่า คนที่ไม่ค่อยเก่งทางด้านการเรียนเป็นวิศวะไม่ได้
เป็นหมอไม่ได้ ก็ต้องไปเรียนทางด้านบริหารเท่านั้นเอง นี่เป็นความเห็นส่วนตัวผมนะ