|

2 บิ๊ก ฮอนด้า-ปูนซิเมนต์ไทยกลยุทธ์ CSR พัฒนาการศึกษาไทย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
*เปิดกรุความรู้ 2 องค์กรระดับยักษ์ กับวิธีปฏิบัติการกิจกรรมเพื่อสังคมด้านการศึกษา
*ปณิธาน "ฮอนด้า" ทำตามความถนัดของบริษัท สนองความต้องการชุมชน
*"ปูนซิเมนต์ไทย" เน้นการให้ที่ยั่งยืน ยึดมั่นดำเนินธุรกิจตามหลักพอเพียง
*นักวิชาการ CSR แนะให้ได้ผลต้อง Step by Step เลือกเป้าหมาย-สร้างพันธมิตร- ทำวิจัย ลงมือทำและติดตามผล
ในปีที่ผ่านมาหลายองค์กรธุรกิจมีความแข็งแรงด้านวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ด้านกิจกรรมเพื่อสังคม CSR หรือ (corporate social responsibility) มากขึ้น แต่คุณภาพการศึกษาไทยกลับถูกตัดทอนลงมาหลังจากปัญหาเศรษฐกิจเมื่อปี 2540
เป็นที่น่าสนใจว่า ด้วยทิศทางที่เกิดขึ้นกับการศึกษา ทำให้องค์กรธุรกิจที่มีพลังด้าน CSR ส่งแรงสนับสนุนในประเด็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านการพัฒนาการศึกษากับสังคมไทยมากขึ้นเช่นเดียวกัน
เปิด 2 องค์กรกรณีศึกษา กับการประยุกต์แผนกลยุทธ์องค์กรกับการสนับสนุนงานด้านการศึกษาไทย
รู้จักกรอบงาน "CSR"
อนันตชัย ยูรประถม นักวิชาการด้าน CSR และอาจารย์โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา: SEAS คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงขอบเขตของ CSR กับการพัฒนาการศึกษาไทยขององค์กรธุรกิจว่า เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อบริษัทเอกชนปฏิบัติต่อสังคมด้วยว่าอยากเห็นความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในสังคม และกระทำอย่างสมัครใจ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดใน 1- 2 ปีให้หลัง เห็นกิจกรรมสาธารณกุศลเกิดขึ้นมากมาย
เขากล่าวย้ำว่า ในการทำกิจกรรม CSR เพื่อให้ชัด จะอ้างอิงตามกรอบของ ฟิลิป คอต เลอร์ และแนนซี่ ลี ได้แก่ 1.cost promotion เป็นเรื่องที่บริษัทมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีกิจกรรมทางสังคม เช่น สายการบินบางแห่งกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงการขาดแคลนครู รณรงค์ให้ผู้โดยสาร เข้ามาบริจาคและช่วยเหลือโรงเรียนยากจน
2.corporate social marketing การตลาดเพื่อสังคม หรือการที่บริษัทใช้กลยุทธ์และเครื่องมือทางการตลาดให้ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น สสส.รณรงค์เลิกดื่มเหล้า
3.cost relate marketing บริษัทแบ่งส่วนหนึ่งของรายได้หรือกำไรส่วนแบ่งการขายมาบริจาคเพื่อกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งองค์กรไทยมีการทำในลักษณะนี้มากขึ้น เห็นได้จากสื่อโฆษณา
4.corporate philantrophy การบริจาคเงินให้องค์กรการกุศล และมิได้จำกัดพียงการให้เงินอย่างเดียว แต่รวมถึงเทคโนโลยี การให้ความรู้ด้วย 5.community volunteering การมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยอาศัยพนักงานให้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่อยู่รอบขอบชิดองค์กร และ6.socially responsibility business practices การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
เห็นได้ว่า CSR เป็นเพียงแนวคิดหนึ่ง ในการดำเนินงานทางธุรกิจ และในการดำเนินกิจกรรมนั้นมีหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็น In process หรือ after process
อย่างไรก็ตาม เขามองว่าหากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรธุรกิจเพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างได้ประสิทธิผล ต้องทำอย่างมีขั้นตอน (step by step) คือ 1.การเลือกกลุ่มเป้าหมาย ครู เด็ก อาจารย์ 2.การเลือกพันธมิตร (partnership) 3.การทำวิจัย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นหากนำการวิจัยไปไว้อันแรกบริษัทอาจมีปัญหาในเรื่องการดำเนินการในการหาข้อมูล 4.ดำเนินการตามโครงการ และ5.ติดตามและประเมินผล
"ฮอนด้า" การศึกษาคือปณิธาน
อดิศักดิ์ โรหิตศุน รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ด้วยอายุที่ล่วงมาเกือบ 6 ทศวรรษของฮอนด้า ผลิตทั้งรถยนต์ จักรยานยนต์ และเครื่องยนต์เอนกประสงค์ทั่วโลก ฐานการผลิตที่ 29 ประเทศ และ มีลูกค้ากว่า 20 ล้านคนในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นภาพชัดเจนว่าองค์กรนั้นมีความผูกพันกับสังคมอย่างไร และ กิจกรรมเพื่อสังคมกับการศึกษานั้นเป็นปณิธานการทำงานของบริษัท
ปรัชญาหลักในการดำเนินธุรกิจที่ฮอนด้ายึดถือมาตลอด คือ การเคารพคุณค่าความเป็นปัจเจกบุคคล มีอิสระในด้านความคิด ได้รับและให้ความสำคัญต่อความเสมอภาคในโอกาส และให้ความเคารพซึ่งกันและกัน
หลัก CSR นั้นโดยทั่วไปแล้วบอกว่าองค์กรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งจะต้องเป็นสิ่งที่ตรงกับความต้องการของคนในสังคมด้วย ประจวบเหมาะกับแนวการดำเนินธุรกิจภายใต้ความพึงพอใจของStakeholder
เป็นวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ว่าองค์กรจะต้องดำรงอยู่ด้วยการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าและสังคมด้วยการเข้าไปกลมกลืนกับทุกชุมชนที่อาศัยอยู่ และกิจกรรมที่ทำนั้นจะต้องคำนึงถึงคนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย
เพื่อร่วมแบ่งปันความสุขของคนในสังคม และด้วยหน้าที่ที่จะต้องให้บริษัทก้าวหน้าและดำรงอยู่ องค์กรจะต้องมีธรรมาภิบาล โปร่งใสต่อการทำธุรกิจ และหากต้องการช่วยสังคมนั้นก็ต้องช่วยเหลือตัวเองได้เสียก่อน ดังนั้นบริษัทจะต้องแข็งแรง และการทำกิจกรรม CSR แล้วคุณค่าของการเป็นองค์กรก็จะดีขึ้น หากเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาก็จะได้รับการยอมรับอย่างต่อเนื่อง
"สนองความต้องการ"ตามถนัด
แนวทางหลักในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมของเอเชี่ยนฮอนด้าประกอบด้วย เรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และการพัฒนาการศึกษา
สำหรับด้านการศึกษานั้นขั้นตอนการดำเนินงานจะเริ่มด้วยการทำการศึกษาก่อนว่าสังคมไทยนั้นมีปัญหาเรื่องใดมากเป็นสำคัญ ปัญหาที่พบมากในสังคมการศึกษาไทย มีการสำรวจว่าสังคมคาดหวังอะไรจากฮอนด้า คำตอบที่เป็นการศึกษามีคำตอบที่เป้นความต้องการค่อนข้างมาก จึงเป็นเรื่องที่เลือกให้ความช่วยเหลือ
การศึกษาเป็นเรื่องที่กว้างมาก แต่มีความสำคัญที่จะทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุขได้ คือทำให้คนช่วยตัวเอง และช่วยสังคมได้ ฉะนั้นจึงพยายามเอาสิ่งที่มีนั้นมาแบ่งปันด้านการศึกษากับสังคมไทย ด้วยการช่วยเหลือคนที่อยากจะเรียนแต่ขาดโอกาส และเชื่อในพลังความฝันที่ยิ่งใหญ่
โดยอาศัยสิ่งที่บริษัทถนัดคือ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เมืองไทยให้ความสนใจน้อย ฮอนด้าจึงทำหน้าที่ปลุกกระแสความสนใจของเด็กไทยให้อยากเรียนรู้วิทยาศาสตร์มากขึ้น นอกจากนี้ยังเปิดเวทีให้แสดงออก
วิธีที่จะทำให้แนวคิดกลายเป็นรูปธรรมได้นั้น ฮอนด้าใช้หุ่นยนต์ “อาซีโม่” ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือทางการสื่อสารหนึ่งของบริษัท และใช้หุ่นยนต์นี้จุดประกายให้เกิดการตื่นตัวด้านการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ และสนับสนุนให้เกิดโครงการประกวดหุ่นจำลอง และ ให้ทุนเพื่อทำการวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์และแข่งขันในระดับโลก เป็นเวทีให้แสดงพลังสร้างสรรค์ของเยาวชน
นอกจากนี้บริษัทใช้วิธี after process คือให้การบริจาค มอบทุนการศึกษา เป็นการช่วยเหลือให้คนที่ขาดโอกาสได้เรียนหนังสือมากขึ้น
การทำกิจกรรมเหล่านี้นานๆ เข้า ก็กลายเป็นดีเอ็นเอฝังลึกเข้าไปในพนักงาน โดย พนักงานกลุ่มหนึ่งจะตั้งชมรมขึ้นวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะด้านการศึกษา ชมรมสื่อสัมพันธ์เป็นประเพณีที่ทำมาร่วม 10 ปี โดยกิจกรรมในปีหนึ่งๆ จะทำการสำรวจหาโรงเรียนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษานำเสนอต่อบริษัท และทำการมอบทุนให้กับสถานศึกษานั้นๆ
อดิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า องค์กรทั่วไปจะต้องมีส่วนร่วมต่อการรับผิดชอบต่อสังคม เพราะถือเป็นหน่วยหนึ่งในสังคม และ ฮอนด้าเองยึดและทำอย่างง่ายๆ คือ โปร่งใส แข็งแรง สม่ำเสมอ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเคารพความเป็นมนุษย์อันจะเป็นการสร้างคุณค่าให้กับองค์กร ไม่สนองเพียงการต้องการผลกำไรเท่านั้น
"SCG" เชื่อในพลังการเรียนรู้M
บัญญัติ คำนูณวัฒน์ Associate Director Public Community บริษัท สยามซีเมนต์กรุ๊ป (SCG) กล่าวว่า ตนมีความเชื่อในการศึกษาว่าสามารถสร้างชาติได้ และ สิ่งที่บริษัทในเครือซิเมนต์ไทยทำอยู่นั้น ก็เชื่อว่าการให้ของภาคเอกชนนั้นไม่ได้หวังผลตอบแทนทางธุรกิจโดยตรง แต่มีความมุ่งมั่นคล้ายกันว่าต้องการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเด็กไทย
คอนเซ็ปต์ของบริษัทในเครือซีเมนต์ไทยก็คือ การให้การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมสำหรับการศึกษาหรือด้านอื่นๆ แล้วนั้นจะต้องเป็นการให้อย่างยั่งยืน
บริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย มีแนวคิดเกี่ยวกับ CSR แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. การรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม 2.การรับผิดชอบต่อสังคม และ3. เรื่องบรรษัทภิบาล
หลายคนอาจจะไม่คุ้นกับ "SCG" ซึ่งเป็นชื่อเรียกใหม่ของซิเมนต์ไทย เนื่องจากว่าตอนนี้บริษัทไม่ได้ทำธุรกิจเพียงในประเทศเท่านั้น ปูนไทยกำลังจะกลายเป็นบริษัทชั้นนำในอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยยึดหลักตามปรัชญาพอเพียง
บัญญัติ บอกว่า สาเหตุที่บริษัทจะต้องทำประโยชน์ให้กับสังคมอย่างจริงจังเนื่องจากมองว่า ธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ฉะนั้นหากจะอยู่ในสังคมได้ก็ต้องเกื้อกูลกันและกัน ไม่อยากแปลกแยกด้วยใช้ผลกำไรที่ได้มาทำให้ธุรกิจร่ำรวยท่ามกลางสังคมที่ยากจน
องค์กรไทยอายุ 93 ปี อย่างปูนซิเมนต์ไทยให้ความสำคัญกับ CSR ตามอุดมการณ์หลักข้อหนึ่งที่ว่า ถือมั่นต่อความรับผิดชอบต่อสังคม ฉะนั้น โดยอุดมการณ์ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้บริหาร จะต้องทำตามปณิธานนี้ เพราะมีความเชื่อว่า ผลประโยชน์ของประเทศชาติ และสังคมอยู่เหนือผลประโยชน์จากการค้า
วิธีการทำงานกิจกรรมด้านการศึกษาของบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทยคือ การบริจาคให้มูลนิธิที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ให้ทุนการศึกษาผ่านโรงเรียน โรงงาน และติดต่อผ่านกระทรวงศึกษาธิการเพื่อแจ้งให้โรงเรียนต่างๆ ที่สังกัดกระทรวงให้เสนอรายชื่อนักเรียนเพื่อขอรับทุน อันเป็นทุนต่อเนื่องตั้งแต่ประถมจนถึงระดับปริญญาตรี รวมแล้วทุนสนับสนุนการศึกษาของบริษัทประมาณ 100-200 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังปลูกฝังให้พนักงานให้รู้สึกร่วมกับองค์กรในการแคร์สังคม ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในชนบทนั้นมีอยู่มาก ดังนั้นการใช้พนักงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสังคมเป็นตัวช่วยในการสำรวจการศึกษาในท้องเกิด ที่ยากจน นิสัยดี และดูแลครอบครัว ผลักดันให้ได้รับทุนของบริษัท ซึ่งการสนับสนุนในลักษณะนี้สามารถวัดผลและตรวจสอบได้
กรณีของปูนซิเมนต์ไทย และเอเชี่ยนฮอนด้า เป็นองค์กรที่มีความเชื่อในการศึกษา และทำอย่างที่เชื่อนั้นว่า หากบริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ในที่สุดสิ่งทีสังคมจะตอบแทนให้กับบริษัทก็จะเป็นผลกำไร ความเจริญเติบโตที่แข็งแรง และการดำรงอยู่ขององค์กรธุรกิจ...
เรียบเรียงจากงานสัมมนาหัวข้อ “CSR กับการพัฒนาการศึกษาไทย” จัดโดย มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (EDF) ร่วมกับโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|