|
แยกกรมการประกันภัยเป็นอิสระใกล้เป็นจริง
ผู้จัดการรายวัน(27 ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางด้านการเงิน มีความเกี่ยวพันกับการระดมเงินออม ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ที่ผ่านมา การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นระบบราชการ ทำให้การปฏิบัติภารกิจบางอย่างไม่สามารถทำได้ทันท่วงที ด้วยข้อจำกัดของกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของระบบราชการ
แต่ปัญหาเหล่านี้กำลังจะหมดไป เนื่องด้วยนโยบายรัฐบาลมีความชัดเจนที่จะแยกกรมการประกันภัยให้ไปเป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้สามารถควบคุมดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศ มีความคล่องตัวในการบริหารงาน มีการบริหารงบประมาณด้วยตนเอง และมีผู้มีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการประกันภัยเข้ามาร่วมบริหารจัดการ เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยของไทยมีความเจริญก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง
นางจันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมการประกันภัย กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษา กำหนดรูปแบบ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยขึ้นมา เพื่อจัดทำร่างพ.ร.บ.สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย พ.ศ. ... ซึ่งขณะนี้ ได้มีการจัดทำร่างพ.ร.บ.เสร็จเรียบร้อยแล้ว
โดยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดประชาพิจารณ์การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัย สมาคมนายหน้าประกันภัย สมาคมตัวแทนประกันภัย บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัย ผู้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจประกันภัยในสาขาต่างๆ รวมถึงข้าราชการกรมการประกันภัย ได้มีการแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะ
“จะมีการนำผลการประชาพิจารณ์ไปปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมในแต่ละประเด็นเพื่อให้การจัดตั้งสำนักงานฯ มีความสมบูรณ์ที่สุดต่อไป”นางจันทรากล่าว
การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หลังจากพ.ร.บ.สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย พ.ศ. ... ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็คือ กรมการประกันภัยจะถูกยุบ และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยขึ้นมาแทนที่ ข้าราชการและลูกจ้างกรมการประกันภัยจะเป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด แต่ถ้าใครประสงค์จะไปอยู่สังกัดใหม่ ก็ให้แจ้งความจำนงต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยภายใน 30 วัน
ในระยะเริ่มแรก จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ชั่วคราว ซึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เลขาธิการ ก.พ. และเลขาธิการ ซึ่งในที่นี้คือ อธิบดีกรมการประกันภัย (มีระยะเวลาทำงานไม่เกิน 2 ปี นับจากพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้) เป็นกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก 3 คน ซึ่งกรรมการโดยตำแหน่งข้างต้นเป็นผู้คัดเลือก โดยรัฐมนตรีแต่งตั้ง
หน้าที่ของคณะกรรมการฯ ชั่วคราวนี้ จะดูแลในเรื่องอัตรากำลังคน อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนอื่น รวมทั้งจะต้องนำบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 รวมถึงกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ประกาศนายทะเบียน คำสั่งนายทะเบียน ข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ ที่ออกตามความในพ.ร.บ.ข้างต้นมาใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับพ.ร.บ.ฉบับนี้
กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจของนายทะเบียนให้เป็นอำนาจของเลขาธิการ และการใดที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการฯ เว้นแต่กรณีการออกใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิต และประกันวินาศภัย ให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพ.ร.บ.นี้ จนกว่าจะมีกฎหมายที่บังคับใช้เป็นการเฉพาะ
จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการแต่งตั้งคปภ. ตัวจริง ซึ่งเป็นหน้าที่ของวุฒิสภา ที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคปภ. โดยกรรมการคัดเลือกประกอบด้วย อดีตปลัดกระทรวงการคลัง 2 คน อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ 2 คน อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2 คน อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2 คน และอดีตอธิบดีกรมการประกันภัย 2 คน ทำหน้าที่คัดเลือกประธานกรรมการ เลขาธิการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คปภ. ที่จะมาทำหน้าที่ต่อจากคปภ.ชั่วคราวนั้น จะมีกรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเลขาธิการ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย กฎหมาย การบัญชี การบริหารธุรกิจด้านการเงินหรือเศรษฐกิจ ด้านละ 1 คน
ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อจัดตั้งสำนักงานฯ และคปภ. แล้ว จะเกิดผลดีหลายๆ ด้าน ได้แก่ ผลดีต่อหน่วยงาน จะทำให้การปฏิบัติงานด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความคล่องตัว รวดเร็ว อิสระและมีประสิทธิภาพ
ผลดีต่อภาคธุรกิจ จะทำให้การดำเนินกิจกรรมกับหน่วยงานมีความคล่องตัว โปร่งใส หน่วยงานลดบทบาทจากการควบคุมเป็นกำกับและส่งเสริม ทำให้มีการกำกับดูแลกันเองมากขึ้น ธุรกิจจะมีความเป็นมืออาชีพ
สุดท้ายจะเกิดผลดีต่อผู้เอาประกันภัย โดยจะได้รับการบริการที่ดี โปร่งใส ยุติธรรม จากบริษัทที่รับประกันภัย มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น ผู้เอาประกันภัยมีทางเลือก และสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และเกิดความเชื่อมั่น และมีทัศนคติที่ดีต่อระบบการประกันภัย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|