|

"ไทยออยล์" ยอมรับปีหน้ารายได้ลดลง
ผู้จัดการรายวัน(27 ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ไทยออยล์เตรียมกู้เงิน 100-150 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังเดินหน้าลุยโครงการต่างๆ ในปี 2550 คาดว่าจะใช้เงินสูงถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอมรับผลการดำเนินงานปีหน้าทรุด เหตุหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่น 2 เดือน และค่าการกลั่นลดลงอยู่ที่ 5-6 เหรียญสหรัฐ แต่ปีถัดไปเชื่อว่าผลการดำเนินงานดีขึ้น เพราะกำลังการกลั่นน้ำมันและพาราไซลีนเพิ่มขึ้น
นายวิโรจน์ มาวิจักขณ์ กรรมการอำนวยการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2550 ในกลุ่มบริษัท ไทยออยล์ จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการส่วนขยายดังนี้ คือโครงการขยายกำลังการผลิตอีก 5 หมื่นบาร์เรล/วัน ของหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 (CDU-3) ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2.75 แสนบาร์เรล/วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างไปแล้ว 48% คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2550
โครงการขยายกำลังการผลิตพาราไซลีนของบริษัท ไทยพาราไซลีนจำกัด (TPX) ใช้เงินลงทุนประมาณ 282 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะนี้โครงการฯ ดังกล่าว มีความคืบหน้าโดยรวม 34% คาดว่าโครงการขยายกำลังผลิตของ TPX จะแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2550 โครงการติดตั้งทุ่นผูกเรือเดี่ยว SBM-2 และท่อรับน้ำมันดิบใต้ทะเลขนาด 52 นิ้ว ใช้เงินลงทุน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2550 เพื่อรองรับเรือบรรทุกน้ำมันดิบที่มีขนาดระวางบรรทุก 2 ล้านบาร์เรล และโครงการติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซตัวใหม่ กำลังการผลิต 38 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 43 ล้านเหรียญสหรัฐ จะแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2550
สำหรับแหล่งเงินทุนนั้น จะมาจากผลการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยคาดว่าปีหน้าค่าการกลั่นจะอยู่ที่ 4-5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องกู้เงินหรือออกหุ้นกู้ประมาณ 100-150 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากค่าการกลั่นเฉลี่ยต่ำกว่า 4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็คงต้องกู้เงินมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้สินต่อทุนจะไม่เกิน 1 ต่อ 1 เท่า จากปัจจุบันที่มีอัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 0.7 เท่า
นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2550 คาดว่าค่าการกลั่นน้ำมันจะลดลงเล็กน้อยจากปีนี้เหลือเพียง 5-6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีอัตราการขยายตัวลดลง รวมทั้งมีปริมาณน้ำมันสำรองถูกเทขายออกมา คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกจะโต 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยส่วนใหญ่จะมาจากจีน อินเดีย สหรัฐฯ และตะวันออกกลาง เนื่องจากราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลงบ้างในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ขณะที่กำลังการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมากมาจากประเทศนอกกลุ่มโอเปกกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากแท่นขุดเจาะน้ำมันใหม่ที่จะแล้วเสร็จ ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม ประมาณ 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบจากกลุ่มประเทศโอเปกลดลง
ทั้งนี้ ในปีหน้าบริษัทฯ จะหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นเพื่อเข้าระบบส่วนต่อขยายโรงกลั่นเป็นเวลาประมาณ 2 เดือนในช่วงปลายปี 2550 ทำให้รายได้ในปีหน้าจะลดลงจากการหยุดโรงกลั่น และค่าการกลั่นที่ลดลงเล็กน้อย แต่ในปีถัดไป ประเมินว่าไทยออยล์จะมีรายได้ดีขึ้น เนื่องจากมีส่วนขยายกำลังการผลิตโครงการต่างๆ แล้วเสร็จ
ในปี 2550 ธุรกิจการกลั่นจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 5 แสนบาร์เรลต่อวัน ขณะที่อุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปของจีนน่าจะเติบโตขึ้น 5-6% หรือประมาณ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ทำให้ปีหน้าราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวในระดับสูง เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบสำรอง และกำลังการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปยังคงอยู่ในภาวะตึงตัวต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศไทยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 2-3% ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันเตาจะลดลง 20% เนื่องจากท่อก๊าซฯ เส้น 3 แล้วเสร็จ
"ปีนี้ไทยออยล์เริ่มบริหารงานเป็นกรุ๊ป โดยมีกิจการหลายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลประกอบการดีกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเมื่อกลางปีนี้ แม้ว่าราคาน้ำมันจะอ่อนตัวลงในช่วงไตรมาส 3-4 ก็ตาม แต่ภาพรวมไทยออยล์มีผลประกอบการดี ทำให้เรามั่นใจว่าการบริหารงานเป็นกรุ๊ปน่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องทั้งการบริหารงานและการขยายงานในอนาคต รวมทั้งมีการร่วมมือกับไออาร์ซีพี และโรงกลั่นน้ำมันระยอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้วย"
นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทลูกของไทยออยล์สนใจเข้าร่วมประมูลในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) รอบใหม่ช่วงเมษายน 2550 โดยจะยื่นประมูลโรงไฟฟ้าขนาด 700-1400 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยมีพื้นที่จำนวนกว่า 90 ไร่ เตรียมพร้อมอยู่แล้ว รวมทั้งบริษัทยังมีความได้เปรียบในด้านระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ได้แก่ ท่อส่งน้ำมันดิบ ท่อก๊าซธรรมชาติ และระบบเชื้อเพลิงสำรอง เพราะตั้งอยู่ใกล้โรงกลั่นซึ่งมีการสำรองน้ำมันดีเซลไว้ ทำให้มีต้นทุนถูกกว่า รวมทั้งโครงการฯ นี้ได้รับอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว
ส่วนโครงการผลิตผลิตภัณฑ์พิเศษของ บมจ.ไทยลู้บเบสนั้น ในปีหน้ามีแผนจะเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ Extract เดิม ให้เป็น TDAE (Treated Distillate Aromatic Extract) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์ ซึ่งประเทศในแถบยุโรปมีแผนที่จะบังคับใช้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และศึกษารายละเอียดในการสร้างหน่วยผลิตใหม่สำหรับการผลิต TDAE ด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|