|
ชง 3 ทางเลือกบริษัทต่างด้าวปรับตัว
ผู้จัดการรายวัน(27 ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เปิดเผยว่า ได้สรุปผลการแก้ไขกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้แก้ไขคำนิยามคนต่างด้าวที่จะเพิ่มสิทธิในการออกเสียงเข้ามาดูควบคู่กับการดูสัดส่วนการถือหุ้น จากเดิมที่จะดูเพียงสัดส่วนการถือหุ้นอย่างเดียว หมายความว่าต่อไปนี้หากคนต่างชาติที่เข้ามาถือหุ้นหรือมีสิทธิออกเสียงเกิน 50% ก็ให้ถือว่าเป็นธุรกิจต่างด้าว
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงบัญชีแนบท้ายของกฎหมาย โดยบัญชี 1 และ 2 คงเดิม แต่บัญชี 3 โดยธุรกิจบริการที่มีกฎหมายดูแลเฉพาะ เช่น การเงิน ท่องเที่ยว ประกันภัย หลักทรัพย์ ให้ยกเว้นออกจากบัญชี และไม่ต้องขออนุญาต เนื่องจากมีกฎหมายดูแลแล้ว ส่วนธุรกิจค้าปลีก กำหนดให้ต้องขออนุญาต
“จะเสนอให้นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาภายในสัปดาห์นี้ โดยจะเสนอ 3 แนวทางให้รมว.พาณิชย์ตัดสินใจหลังจากที่เปลี่ยนแปลงคำนิยามใหม่ คือแนวทางแรก ถ้าธุรกิจที่ไม่ผิดกฎหมายเดิม แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงคำนิยามแล้วผิด ก็ให้ธุรกิจเหล่านั้นมาลงทะเบียนเป็นบริษัทต่างชาติภายใน 1-2 ปี เพื่อดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง 3 บัญชี แนวทางที่สอง จะให้ระยะเวลาบริษัททั้งหมดปรับตัว หลังการแก้ไขคำนิยามใหม่ เพื่อให้มีโครงสร้างที่ถูกต้อง ซึ่งจะมีการเสนอระยะเวลาปรับตัวตั้งแต่ 1-3 ปี และแนวทางที่ 3 ยกเว้นให้เฉพาะธุรกิจในบัญชี 3 ที่มาลงทะเบียนปรับตัว เพื่อดำเนินกิจการต่อไปได้เท่านั้น”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|