สังคมไทย (1855-1976)

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ปี 2007 เป็นปีที่ควรมองสังคมไทยในมุมมองทางประวัติศาสตร์ เพื่อมองไปข้างหน้าอย่างจริงจัง และนี่คือตัวอย่างของประวัติศาสตร์ในโครงสร้างความคิดของช่วงเวลาหนึ่งที่น่าสนใจ

ช่ ว ง ที่ 1
1855-1938 ยุคอิทธิพลยุโรปในเอเชีย

- 1869 คลองสุเอช : ยุโรป-เอเชีย เชื่อมกัน
การเปิดคลองสุเอซ (Suez Canal) การเดินเรือยุโรป-เอเชียเร็วขึ้น การเดินเรือเชื่อมระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชียแต่เดิมต้องใช้การเดินเรืออ้อมข้ามทวีปแอฟริกา ประกอบกับมีการเปลี่ยนเทคโนโลยีเรือขนส่งจากเรือใบกลายเป็นเรือกลไฟทำให้การค้าขยายตัวขึ้นอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

- 1871 ระบบสื่อสารโทรเลขเชื่อมยุโรปกับเอเชีย

- 1914-สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ค่าเงินปอนด์กับอัตราแลกเปลี่ยนการเงินโลกผันผวน อังกฤษไม่สามารถรักษาอัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์กับมาตรฐานทองคำไว้ได้ อัตราแลกเปลี่ยนการเงินของโลกได้เกิดความผันผวนตามค่าเงินปอนด์ไปด้วย ผลของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้อังกฤษได้สูญเสียบทบาทศูนย์กลางการเงินโลกไป

- 1929 The Great Depression
วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งที่รุนแรง เนื่องจากเศรษฐกิจฟองสบู่ในสหรัฐอเมริกาแตก ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

- 1945 สงครามโลกครั้งที่สอง

1855-1933 ยุคแรกเศรษฐกิจไทยเชื่อมระดับโลก

- 1855 ไทยลงนามสัญญาบาวริ่ง
เป็นจุดเริ่มต้น เปิดการค้าเสรีกับยุโรปมากขึ้น บริษัทการค้าจากยุโรปทยอยเข้ามาค้าขายในไทย ส่งออกข้าว ไม้สัก และดีบุกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เช่น The Borneo Company แห่งอังกฤษ (1856) The East Asiatic แห่งเดนมาร์ก (1897)

- 1888 ธนาคารยุโรปเข้าประเทศไทย
ธนาคารยุโรปเข้ามาควบคุมกลไกการค้าระหว่างประเทศในประเทศไทยโดยเฉพาะ Hong Kong & Shanghai Banking Corp

- 1893 วิกฤตการณ์ รศ.112
ความขัดแย้งบริเวณพรมแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ฝรั่งเศส ส่งเรือรบบุกเข้ามาในปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีการปะทะ สุดท้ายมีการเจรจากัน โดยอังกฤษเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ไทยต้องจ่ายค่าเสียหายให้ฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก และเป็นเหตุการณ์ที่ชาติตะวันตกคุกคามเอกราชและอธิปไตยไทยมากที่สุด

- 1910 สังคมสมัยใหม่
ในช่วงรัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์ สภาพเมืองไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงจากการคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก กลายเป็นใช้การคมนาคมทางบกเป็นหลักทั้งทางถนนและทางรถไฟ จำนวนนักเรียนไปศึกษาต่างประเทศเฉพาะในอังกฤษมีถึง 2,000 คน ในกรุงเทพฯ เริ่มต้นของชุมชนเมืองที่มีวิถีชีวิตสมัยใหม่แบบตะวันตก

- 1914 วิกฤตและโอกาสในช่วงสงครามโลก
ก่อนสงครามโลก ระบบเศรษฐกิจไทยถูกครอบงำจากยุโรป โดยเฉพาะธนาคาร การค้าส่งออก และสัมปทานที่สำคัญๆ ป่าไม้ เหมืองแร่ พ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลเริ่มต้นรายเล็กๆ อยู่ภายใต้การครอบงำของต่างชาติโดยตรงและโดยอ้อม และค่อยๆ ขยายตัวมากขึ้นๆ เมื่ออิทธิพลของต่างชาติเริ่มสั่นคลอน ลดอิทธิพลไปในช่วงสั้นๆ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

- 1929 ผลกระทบจาก The Great Depression
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท สหรัฐฯ ตกต่ำอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจไปทั่วโลก เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบกิจการค้าขาย ส่งออก และธนาคารของชาวจีน ที่ก่อตั้งก่อนสงครามโลกหลายแห่งล้มละลาย

ช่ ว ง ที่ 2
1929-1950 อิทธิพลยุโรปสั่นคลอน

- 1933 Hitler ขึ้นเป็นผู้นำเยอรมนี
กระแสนิยม Fascism ขยายตัว ความขัดแย้งในยุโรปทวีความรุนแรง

- 1941 สงครามโลกครั้งที่ 2

- 1947 โลกเริ่มสงครามเย็น
Truman Doctrine จุดเริ่มต้นสงครามเย็นในยุโรปและในโลก

- 1949 สงครามเย็นในเอเชีย
จีนคอมมิวนิสต์ยึดแผ่นดินใหญ่ประเทศจีนได้สำเร็จ เกิดความตึงเครียดในเอเชีย

1929-1950 ความผันแปรจากระบบศรษฐกิจชาตินิยมไทย

- 1929 วิกฤตเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

- 1932 เปลี่ยนแปลงการปกครอง
การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ มาพร้อมกับแนวคิดชาตินิยม สกัดกั้นอิทธิพลทางเศรษฐกิจของชาวจีนและชาวตะวันตก โดยตั้งกิจการของรัฐควบคุมธุรกิจการค้าส่วนใหญ่ไว้ เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศไทยช่วงยาวช่วงหนึ่ง

- 1941 ญี่ปุ่นบุกไทย
กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าดินแดนประเทศไทย โดยอ้างว่าขอเดินทัพผ่าน และรัฐบาลไทยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของกองทัพญี่ปุ่นทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ต่อมารัฐบาลไทยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเกิดกลุ่มเสรีไทยมาต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น

ช่ ว ง ที่ 3
1950-1974 สหรัฐฯ ขยายอิทธิพลสู่ภูมิภาคเอเชีย

- 1950-Korean War
จีนให้การสนับสนุนเกาหลีเหนือทำสงครามยึดครองคาบสมุทร เกาหลี สหรัฐฯ ส่งกองทัพจากญี่ปุ่นเข้าสนับสนุนเกาหลีใต้ สงครามยุติลงโดยไม่มีฝ่ายใดชนะโดยเด็ดขาด จึงมีการเจรจาแบ่งเขตแดนเป็นเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ สงครามเย็นขยายตัวไปทั่วเอเชีย ถือเป็นจุดเริ่มที่สหรัฐฯ เข้ามาบทบาทในภูมิภาคนี้

- 1973 วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรก
กลุ่มประเทศอาหรับรบแพ้อิสราเอล ทำให้ไม่พอใจประเทศตะวันตกที่ให้การสนับสนุนอิสราเอล จึงใช้องค์การโอเปกตอบโต้ด้วยการลดกำลังการผลิต ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

- 1975 สหรัฐฯ ถอนตัวจากสงครามเวียดนาม
สงครามเวียดนามจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ ถอนฐานทัพออกจากภูมิภาค หลังจากนั้นการปกครองของลาวและกัมพูชาก็ตกอยู่กับฝ่ายคอมมิวนิสต์

1950-1974 ธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยเติบโต

- 1950 กิจการคนไทยเติบโต
ผลจากสงครามเกาหลี สินค้าโภคภัณฑ์ของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เศรษฐกิจขยายตัว กลุ่มชาวจีนในไทยกลุ่มใหม่ เริ่มก่อตั้งกิจการต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะกิจการธนาคาร ถือเป็นยุคเริ่มต้นของการเติบโตยุคใหม่ของธุรกิจครอบครัวชาวจีนในไทย ในช่วงช่องว่างที่ธุรกิจตะวันตกประสบปัญหาจากสงครามถอนตัวจากประเทศไทย

- 1953 ผลิตข้าวเพื่อการส่งออก
เริ่มต้นสร้างเขื่อนเจ้าพระยา แล้วเสร็จในปี 2500 ซึ่งสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกข้าวภาคกลาง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก ในชื่อโครงการเจ้าพระยาใหญ่ ในช่วงไทยกำลังเพิ่มผลผลิตข้าวเพื่อการส่งออก

- 1959 วางแผนเศรษฐกิจสมัยใหม่
สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นจากคำแนะนำและช่วยเหลือของธนาคารโลก พร้อมๆ กับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของไทย อันเป็นช่วงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของธนาคารโลกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ มีมากขึ้น

- 1961 กระแสการลงทุนของต่างชาติ
โครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลง การส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า กระแสการลงทุนจากตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนโดยตรงในเมืองไทย ทั้งกลุ่มที่เคยมาลงทุนก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ก็หวนกลับมาขยายการลงทุนมากขึ้น

- 1964 สงครามเวียดนาม กระตุ้นเศรษฐกิจ
สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางทหารและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่ไทยเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนสหรัฐฯ มากที่สุด เศรษฐกิจไทยขยายตัว ความต้องการใช้เงินลงทุนมีมาก ขณะที่กลุ่มธนาคารไทยมุ่งสนับสนุนธุรกิจในเครือข่ายของตน รัฐบาลต้องผ่อนปรนให้มีการตั้งบริษัทเงินทุนและเครดิตฟองซิเอร์ขึ้น

- 1973 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม
เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม นักศึกษาเป็นผู้นำเคลื่อนไหวขับไล่ถนอม-ประภาส บรรยากาศประชาธิปไตยเกิดขึ้น มีขบวนการแรงงาน การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น และการเผยแพร่เอกสารวิจารณ์การผูกขาดของธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย

- 1976 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม
ความขัดแย้งในสังคมเกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรง เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.