|
แนนซี่ เพอโลซี่ ประธานสภาหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา
โดย
มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ฉบับนี้ขอสวัสดีปีใหม่ด้วยเรื่องราวของแนนซี่ เพอโลซี่ (Nancy Pelosi) ประธานสภา (Speaker of the House) หญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา ที่จะเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนนี้ นอกจากนี้เธอยังดำรงตำแหน่งผู้นำเสียงข้างมาก (Majority Leader) ในสภาอีกด้วย นับเป็นการจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองอเมริกาทีเดียว ซึ่งการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนปีที่ผ่านมาในครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของพรรคเดโมแครต (Democrat) หลังจากที่ปล่อยให้พรรครีพับลิกัน (Republican) ครองเสียงข้างมากในสภามานานถึง 12 ปี
แนนซี่ เพอโลซี่ ถือเป็นนักการเมืองหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียน ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากมลรัฐแคลิฟอร์เนียคนแรกของระบอบการเมืองอเมริกาที่เข้ารับตำแหน่งสูงที่มีอำนาจเป็นอันดับ 3 ในระดับบริหาร รองจาก ประธานาธิบดีจอร์ช ดับเบิลยู บุช และรองประธานาธิบดีริชาร์ด เชนนีย์ ตามลำดับ ซึ่งหากมีอะไรเกิดขึ้นกับประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี เธอจะเข้ารับหน้าที่เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ ทันทีโดยอัตโนมัติ ตามพระราชบัญญัติการสืบช่วงต่อตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1947 (The Presidential Succession Act of 1947)
แนนซี่ เพอโลซี่ สาวใหญ่ใจเสรี เชื้อสายอิตาเลียน-อเมริกัน เธอมีชื่อเต็มว่า แนนซี่ แพทริเซีย ดี อเลซานโดร เพอโลซี่ (Nancy Patricia D'Alesandro Pelosi) เกิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 1940 ณ เมืองบัลทิมอร์ มลรัฐแมริแลนด์ เธอเป็น ส.ส.สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกเป็นตัวแทนเขต 8 มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งครอบคลุมซานฟรานซิสโกเกือบทั้งหมด ตั้งแต่ปี 1987 นับเป็นเวลานานถึง 20 ปีแล้วที่เธอดำรงตำแหน่ง ส.ส. เพอโลซี่ สืบสายเลือดทางการเมืองจากบิดาของเธอคือ โทมัส ดี อเลซานโดร จูเนียร์ (Thomas D'Alesandro, Jr.) ซึ่งเป็นอดีต ส.ส. สังกัดพรรคเดโมแครตเช่นกัน โดยประจำมลรัฐแมริแลนด์ ทั้งยังดำรงตำแหน่งอดีตผู้ว่าการเมืองบัลทิมอร์อีกด้วย
ในปี 1962 เธอสำเร็จการศึกษาจากไตรนิทีย์ คอลเลจ (Trinity College) ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นไตรนิทีย์ วอชิงตัน ยูนิเวอร์ซิตี้ (Trinity Washington University) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ณ ที่นี่เองที่เธอพบกับคู่ชีวิตพอล เพอโลซี่ (Paul Pelosi) นักลงทุน ซึ่งมีรกรากอยู่ในซานฟรานซิสโก เมื่อทั้งคู่แต่งงานแล้วได้ย้ายมาปักหลักที่บ้านเกิดของพอล และ ณ เมืองซานฟรานซิสโกนี่เองที่แนนซี่ เพอโลซี่ เริ่มต้นชีวิตทางการเมืองอย่างเต็มตัว
ในปี 1987 หลังจากที่ ซาลา เบอร์ตัน (Sala Burton) ส.ส. ประจำเขต 8 คนก่อนที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งระหว่างการดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 2 แนนซี่ เพอโลซี่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อจากเบอร์ตัน จากการเลือกตั้งกรณีพิเศษของพรรคเดโมแครต และในปีถัดมา เธอก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเต็มเทอมใหม่ ต้องยอมรับว่าแนนซี่ เพอโลซี่ เริ่มต้นชีวิตการเมืองในเขตที่ปลอดภัยสำหรับเดโมแครตคือ ซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีหัวก้าวหน้า และพรรคเดโมแครตก็ครองเขตนี้มานานกว่าครึ่งศตวรรษ
ในปี 2001 เธอได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาฝ่ายพรรคเดโมแครต ต่อมาในปี 2004 เธอได้รับเลือกให้เป็นผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาอย่างเต็มตัว และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2006 เธอได้รับเลือกให้เป็นประธานสภา ซึ่งยังไม่มีสตรีอื่นที่มีตำแหน่งทางการเมืองสูงเท่าเธอในขณะนี้
เพอโลซี่เป็นขวัญใจชาวเกย์-เลสเบี้ยน นักอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งที่สนับสนุนการวิจัยสเตมเซลล์ที่ใช้ตัวอ่อนมนุษย์เพื่อการรักษาโรค เมื่อปี 2001 เธอโหวตให้ออกกฎหมายคุ้มครองสตรีมีครรภ์ที่ถูกทำร้ายจนบุตรในครรภ์เสียชีวิต ให้ผู้กระทำผิดต้องด้วยอาญา ซึ่งถือให้เป็นคดีอาญา แต่ร่างกฎหมายนั้นไม่ผ่านมติสภา ต่อมาในปี 2004 สภานำร่างนี้มาโหวตอีกครั้ง แต่คราวนี้เธอโหวตต่อต้าน เพราะมีสมาชิกสภาบางคนแก้ร่างกฎหมายด้วยการครอบคลุมกรณีการทำแท้งว่าเป็นการกระทำคดีอาญาด้วย ซึ่งเธอไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะรวมเอากรณีการทำแท้งมารวมไว้ในร่างกฎหมายนี้ ขณะนี้ร่างฯ นี้ก็ยังคงไม่ผ่านมติสภา
บุคลิกสาวใหญ่ใจนักเลง โผงผาง ตรงไปตรงมา ไม่เกรงใคร เธอภูมิใจในความเป็นนักเสรีนิยมอย่างสุดขั้ว หวังว่าจะนำพาให้เธอสามารถใช้อำนาจในการบริหารประเทศให้เริ่มหมุนเคลื่อนต่อไปข้างหน้าในระดับหนึ่ง หลังจากที่อเมริกาอยู่ในภาวะเคลื่อนถอยหลังมานานกว่า 10 ปี ยิ่งกว่านั้น หากเธอสามารถนำพาและสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันของพรรคเดโมแครตให้แข็งแกร่ง จะยิ่งทำให้การบริหารงานของประธานาธิบดีบุชในช่วง 2 ปีหลังนี้ท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีสงครามอิรัก ที่แม้ว่าขณะนี้เธอยังไม่มีท่าทีที่จะผลักดันการถอนทหารจากอิรักในทันที แต่เชื่อว่า เธอและเดโมแครตคงมีกลยุทธ์อยู่ในใจ
จุดเปลี่ยนนี้ทำให้การเมืองอเมริกันในศักราชใหม่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ จากประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณว่า ระบอบการเมืองสหรัฐฯ เปิดทางให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในระดับสูงแล้ว และในอีกไม่นาน เราคงได้เห็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอเมริกาก็เป็นได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|