อะไรที่นำกลับมาใช้ได้อีกต้องเอากลับมาให้หมด

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษโดยทั่วไปมักเป็นไม้เบื่อไม้เมากับปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับที่ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ นอกจากไม่ยอมปล่อยให้มีอะไรหลุดออกไปสร้างปัญหานอกโรงงานแล้ว ยังพยายามเอาของเสียทุกชนิดที่ได้จากทุกกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ให้หมด

โรงงานของฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ เป็นโรงงาน ผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาวเพื่อนำไปใช้ทำกระดาษพิมพ์เขียน โดยใช้วัตถุดิบคือ ปอแก้ว ไม้ไผ่ กระถินเทพา และยูคาลิปตัส โดยปัจจุบันยูคาลิปตัสถือเป็นวัตถุดิบหลัก ส่วนเยื่อกระดาษจากไม้ประเภทอื่นมีการผลิตบ้างตามแต่ลูกค้าจะกำหนด

เมื่อมีไม้เป็นวัตถุดิบหลัก ดังนั้น นอกจากพื้นที่ซึ่งถูกใช้เป็นที่ตั้งโรงงานประมาณ 1,000 ไร่แล้ว พื้นที่รอบๆ โรงงานอีก 4,123 ไร่ ก็ถูกใช้เป็นพื้นที่ปลูกป่ายูคาลิปตัส ภายใต้การดูแลของโรงงานเอง โดยใช้ชื่อโครงการว่า "โปรเจค กรีน" เพื่อให้มีวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงานอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากไม้ยูคาลิปตัสที่ได้ไปให้การส่งเสริมชาวบ้านปลูกไว้ทั่วภาคอีสาน เพื่อนำมาขายต่อให้กับโรงงานเป็นวัตถุดิบ

เยื่อกระดาษ คือส่วนที่เป็นเส้นใยที่อยู่ในเนื้อไม้ ดังนั้น กระบวนการผลิตจึงต้องนำไม้เข้าไปในเครื่องจักร เพื่อต้มให้เนื้อไม้สลายเหลือแต่ใย และนำใยดังกล่าวไปล้าง ก่อนที่จะนำมาฟอกขาวและอัดให้เป็นแผ่นส่งขายให้กับโรงงานผลิตกระดาษ

นอกจากไม้แล้ว น้ำจึงเป็นวัตถุดิบสำคัญอีกตัวหนึ่ง เพราะต้องถูกนำมาใช้ในขั้นตอนการต้มเยื่อ ล้างเยื่อ และฟอกเยื่อ

แหล่งน้ำที่นำมาใช้ในกระบวนการเหล่านี้คือ น้ำจากลำน้ำพอง

ตลอดกระบวนการตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนจบสายการผลิตในโรงงานฟินิคซฯ ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดของเสียขึ้น ซึ่งระบบกำจัดของเสียเหล่านี้ ในปัจจุบันได้ถูกออกแบบมาให้รัดกุมโดยพยายามนำของเสียเหล่านั้นกลับเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ให้มากที่สุด เหลือปล่อยออกสู่ภายนอกให้น้อยที่สุด

กระบวนการเหล่านี้เริ่มตั้งแต่...

เมื่อเกษตรกรนำไม้มาส่งให้โรงงาน ไม้เหล่านี้จะถูกตากให้แห้งก่อนนำเข้าสู่เครื่องปอกเปลือกไม้ และสับไม้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อสะดวกต่อการต้ม

ในกระบวนการปอกเปลือกและสับจะมีฝุ่นละอองเกิดขึ้น โรงงานจะมีเครื่องดักฝุ่นเหล่านี้ไว้ไม่ให้ลอยออกไปสู่บรรยากาศ

เปลือกไม้ที่ถูกปอกออกมารวมกับฝุ่นที่ถูกดักเก็บไว้ในเครื่องดักฝุ่นจะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาในหม้อต้มไอน้ำ

หลังจากไม้ถูกสับเป็นชิ้นเล็กๆ จะถูกนำส่งไปตามสายพานเพื่อเข้าสู่กระบวนการต้มเยื่อและล้างเยื่อ เสร็จแล้วก็จะเป็นกระบวนการแยกส่วนที่เป็นเยื่อออกจากน้ำยาล้างเยื่อ

องค์ประกอบของน้ำยาล้างเยื่อส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์ หลังจากที่ผ่านกระบวนการแยกส่วนที่เป็นเยื่อออกไปแล้ว น้ำยาล้างเยื่อที่ผ่านการใช้งานแล้ว จะถูกนำไประเหยให้เหลือแต่กาก และกากของน้ำยาล้างเยื่อนี้จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อต้มไอน้ำด้วยเช่นกัน

หม้อต้มไอน้ำที่ว่า จะมีบทบาทสำหรับการต้มไอน้ำเพื่อนำไปใช้ปั่นเป็นไฟฟ้า สำหรับใช้ภายในโรงงาน

ที่สำคัญ ส่วนที่เหลือของกากน้ำยาล้างเยื่อที่ผ่านการเผาจะถูกนำไปทำปฏิกิริยากับปูนขาว แล้วสามารถนำกลับมาใช้เป็นน้ำยาล้างเยื่อได้อีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่กากปูนขาวหลังจากทำปฏิกิริยากับของกากน้ำยาล้างเยื่อแล้ว หากเป็นกากปูนขาวที่ได้จากสายการผลิตที่ 2 ซึ่งใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบสามารถนำเข้าไปสู่หม้อเผาปูนเพื่อเผากลับมาเป็นปูนขาวกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้ง 100%

แต่หากเป็นปูนขาวที่เกิดจากสายการผลิตแรกซึ่งใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบไม่สามารถนำไปเผากลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะกากปูนส่วนนี้จะมีสารซิลิกา ซึ่งผสมอยู่ในเนื้อไม้ไผ่ปนเปื้อนออกมา หากนำกลับไปเผา อาจสร้างความเสียหายให้ผนังอิฐภายในหม้อเผาปูน จึงต้องนำไปทิ้งด้วยวิธีการฝังกลบตามหลักวิชาการ

โดยแต่ละปี ฟินิคซฯ ต้องฝังกลบกากปูนขาวส่วนนี้ประมาณปีละ 7 หมื่นตัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันฟินิคซฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาวิธีการแยกสารซิลิกาออกจากกากปูนขาว เพื่อจะนำกากปูนขาวที่ได้จากสายการผลิตแรกกลับมาเผาใช้ใหม่ ไม่ต้องนำไปทิ้งเหมือนที่เคยทำอยู่

ทุกวันนี้ หม้อต้มไอน้ำเพื่อใช้ปั่นไฟฟ้าของฟินิคซฯ ใช้กากของน้ำยาล้างเยื่อเป็นเชื้อเพลิงถึง 75% ส่วนเชื้อเพลิง ที่เหลือจะใช้เปลือกไม้ 10% และฝุ่นที่ดักได้อีก 5% โดยเหลือ เป็นน้ำมันเตาที่ต้องซื้อจากภายนอกเพียงแค่ 10%

ส่วนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานได้จากหม้อต้มไอน้ำที่ปั่นไฟมาใช้เองถึง 85% ส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เหลืออีก 15% ค่อยซื้อจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

หลังผ่านกระบวนการแยกเยื่อออกจากน้ำยาล้างเยื่อแล้ว เยื่อที่ถูกแยกออกมาก็จะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการฟอกเยื่อให้เป็นสีขาว หลังจากนั้นจึงนำมาอัดเป็นแผ่นพร้อมส่งให้กับโรงงานผลิตกระดาษ

ในกระบวนการฟอกเยื่อจะมีน้ำเสียออกมา คือน้ำที่ผ่านกระบวนการฟอกเยื่อเรียบร้อยแล้ว ซึ่งองค์ประกอบของน้ำเสียเหล่านี้เป็นน้ำที่มีส่วนผสมของสารอินทรีย์ จึงจำเป็นต้องนำน้ำเสียส่วนนี้ส่งต่อไปยังบ่อบำบัด

วิธีการบำบัดน้ำเสีย ใช้วิธีการนำจุลินทรีย์เข้าไปกินสารอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำ แล้วปล่อยให้จุลินทรีย์เหล่านั้นตกตะกอน น้ำส่วนบนที่ผ่านการบำบัดแล้วจะค่อยๆ ล้นออกมาจากบ่อบำบัดน้ำเสีย และถูกส่งลงไปยังบ่อพัก

ซึ่งบ่อพักนี้มีการปล่อยปลาลงไปเลี้ยงเอาไว้เพื่อพิสูจน์ให้คนที่เข้ามาชมกระบวนการผลิตเห็นว่าน้ำที่ผ่านการบำบัดมาแล้ว ปลาสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้

ฟินิคซฯ เริ่มปล่อยปลาลงไปเลี้ยงในบ่อพักน้ำเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว มีปลาทับทิม ปลาไนทอง และปลานิล จากช่วงเริ่มต้นที่ปล่อยปลาลงไป 80 ตัว แต่ปัจจุบันจากการประมาณการคร่าวๆ ด้วยสายตา จำนวนปลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ่อพักน้ำมีเพิ่มขึ้นมาจากเมื่อ 4 ปีก่อนหลายเท่าตัว

ทุกวันนี้น้ำเสียที่ออกมาจากกระบวนการฟอกเยื่อมีปริมาณวันละ 2.1 หมื่นลูกบาศก์เมตร ขณะที่ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานสามารถรองรับน้ำเสียได้ถึงวันละ 6 หมื่นลูกบาศก์เมตร ส่วนบ่อพักน้ำเสียมีจำนวนถึง 5 บ่อ สามารถรองรับน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วได้ถึง 1.23 ล้านลูกบาศก์เมตรในช่วงเวลา 60 วัน

ส่วนน้ำจากบ่อพักน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้ง 100% จะไม่มีการปล่อยออกไปสู่แหล่งน้ำภายนอก แต่จะถูกสูบออกไปใช้เลี้ยงต้นยูคาลิปตัสที่ถูกปลูกไว้ในพื้นที่กว่า 4 พันไร่ ในโปรเจคกรีน

ต้นยูคาลิปตัสเหล่านี้ได้รับการบำรุงด้วยปุ๋ยหมักที่ทำมาจากตะกอนของจุลินทรีย์ที่ได้มาจากบ่อบำบัดน้ำเสีย

หากประมาณการจากกระบวนการผลิตทั้งหมด โรงงานฟินิคซฯ จะมีขยะอุตสาหกรรมปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัน แต่ทุกวันนี้ฟินิคซฯ ทิ้งขยะเหล่านี้ออกไปเพียงปีละ 7 หมื่นตัน ก็คือกากปูนขาวที่ได้จากสายการผลิตแรก

ส่วนที่เหลืออีกกว่า 2 แสนตัน ฟินิคซฯ ได้นำกลับเข้ามาใช้ซ้ำอีกครั้งในกระบวนการผลิตทั้งหมด

ถือเป็นโรงงานที่มองเห็นคุณค่าของขยะอย่างแท้จริงเลยทีเดียว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.