ที่มาของเรือ “รักษ์น้ำพอง”

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เรือ "รักษ์น้ำพอง" ดูเหมือนเป็นงานเดียวที่เครือซิเมนต์ไทยสามารถอาศัยความชำนาญในงานด้านวิศวกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการกอบกู้ภาพลักษณ์ของโรงงานฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ กลับคืนมา

นอกเหนือจากการปรับปรุงเครื่องจักรและกระบวนการผลิตซึ่งถือเป็นงานหลักของเครืออยู่แล้ว

เรือรักษ์น้ำพองเกิดขึ้นภายหลังจากโครงการรักษ์บึงโจดระยะแรกเสร็จสิ้นลงและมีการจัดพิธีเปิดโครงการ โดยมอบสวนสาธารณะบึงโจดให้เป็นสาธารณสมบัติของจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2548

ภารกิจหลักประการหนึ่งของโครงการรักษ์บึงโจด คือการลอกผักตบชวา ที่เคยลอยเต็มแน่นผิวน้ำบึงโจดขึ้นมา เพื่อให้น้ำในบึงใส แสงแดดส่องลงไปได้ถึง ให้น้ำคืนสภาพ เพื่อที่ชาวบ้านจะสามารถใช้น้ำจากบึงมาอุปโภค บริโภค และสัตว์น้ำสามารถมาอาศัยอยู่ได้

ในการลอกผักตบชวาช่วงแรก เป็นการใช้แรงงานคน โดยฟินิคซฯ เป็นเจ้าภาพ เกณฑ์ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านห้วยโจด ร่วมกับพนักงานของบริษัทมาเป็นแรงงาน

แต่ปรากฏว่าหลังจากลอกผักตบชวาขึ้นมาได้หมดแล้ว เมื่อน้ำเริ่มใสสะอาดขึ้น แสงแดดสามารถส่องลงไปใต้น้ำได้ และน้ำมีออกซิเจนเพิ่มขึ้นแล้วกลับมีวัชพืชน้ำประเภทอื่น โดยเฉพาะสาหร่ายหางกระรอก แหน สันตะวา ได้เจริญงอกงามขึ้นมาจนแน่นบึงอีกครั้ง

เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ฟินิคซฯ จึงจำเป็นต้องนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการดูแลสภาพบึงแห่งนี้ไม่ให้กลับไปสู่สภาพเดิมอีก

ฟินิคซฯ ส่งทีมงานวิศวกรจากแผนกซ่อมเครื่องกลและงานส่งเสริมคุณภาพและโครงการพิเศษ เดินทางไปดูงานเรือกำจัดวัชพืชน้ำแบบต่างๆ ของกรมชลประทาน จนกระทั่งเดือนมกราคม 2529 ทีมงานได้คัดเลือกแบบเรือกำจัดผักตบชวาของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล ต.ลาดตากฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม มาเป็นต้นแบบในการจัดสร้าง

โดยได้เขียนแบบและดำเนินการก่อสร้างเองที่อาคารปฏิบัติงานของฟินิคซฯ

วันที่ 10 มกราคม 2549 เรือรักษ์น้ำพองได้ลงสู่บึงโจดเป็นครั้งแรก เพื่อทดสอบการทำงาน หลังจากนั้นในวันที่ 26 พฤษภาคม จึงได้มีพิธีมอบเรือลำนี้ให้กับจังหวัด

กานต์ ตระกูลฮุน ในฐานะตัวแทนของเครือซิเมนต์ไทย เป็นผู้ส่งมอบให้ด้วยตนเอง

ประสิทธิภาพของเรือรักษ์น้ำพองสามารถลดแรงงานคนในการทำความสะอาดวัชพืชน้ำได้มากกว่า ประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำงาน และทำงานได้รวดเร็วขึ้น เมื่อเปรียบเทียบการทำงานต่อ 1 ชั่วโมง ต้องใช้แรงงานคนถึง 30 คน ในการทำงานที่ปริมาณงานเท่ากัน

"บึงโจดนี่เป็นเรื่องยาวนานเหลือเกิน คือทำเรือเสร็จก็ไม่ใช่ว่าเสร็จ เพราะเรือนี้ต้องเอาไปลอกผักตบในลำน้ำ แล้วสาหร่ายที่มันขึ้นนี่ พอใช้เรือตักมาก น้ำก็ขุ่นอีก ชาวบ้านเดือดร้อนอีก เผลอๆ ต่อไปต้องลอกตะกอนข้างล่าง ต้องขุดออกให้หมด ตามที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเขาแนะนำ ต้องเอาออกให้หมด ถ้าไม่งั้นคุณก็ต้องตักอย่างนี้สัก 2-3 ปี มันถึงจะหมด แต่เราดูแล้ว เอาเรือลงไปมันก็ยังขึ้นอยู่เยอะ ต้องขุดรากถอนโคนกันเลย คือเล่นเอาตะกอนออกเลย" ธีระศักดิ์ จามิกรณ์ แสดงความรู้สึก

ปัจจุบันนอกจากภารกิจในการดูแลบึงโจดแล้ว เรือรักษ์น้ำพองยังถูกขอไปใช้ในการลอกผักตบชวาและวัชพืชน้ำในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของลำน้ำพองอีกหลายครั้ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.